บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

แจงเหตุผล ทำไมไทยต้องมีกฎหมายต้านทรมาน

ที่มา : TCIJ

‘พูนสุข พูนสุขเจริญ’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจงกรณีร่วมกับองค์กรภาคประชาชนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมาน อธิบายทำไมไทยต้องออกกฎหมายต้านทรมานตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ


ก่อนสิ้นปี 2554 มีความเคลื่อนไหวสำคัญอีกอย่างหนึ่งในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการร่างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. ... โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เป็นเจ้าภาพหลักที่เคลื่อนไหวควบคู่ไปพร้อมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการร่างแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากคนในพื้นที่ว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพระหว่างถูกควบคุมตัวในช่วงก่อนหน้านี้

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในทีมงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ อธิบายเหตุผลที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายต่อต้านการทรมานว่า ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้ มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญา CAT แห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 ทำให้ประเทศมีพันธกรณีจำเป็นต้องออกกฎหมายตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานผู้ต้องขังเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูล

ขณะเดียวกัน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในส่วนของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มว่าจะมีการร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยการเพิ่มบางมาตราเข้าไป เช่น นิยามการซ้อมทรมานและเพิ่มฐานความผิดในเรื่องของการทรมาน ฉะนั้นภาครัฐจะยังใช้กลไกเดิมอยู่

นางสาวพูนสุข กล่าวด้วยว่า เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมที่จะเสนอกลไกใหม่ออกมา เพราะเห็นว่า กลไกเดิมไม่เอื้อต่อการลดการทรมานได้ โดยเสนอให้มีคณะกรรมการเฉพาะ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน และคณะกรรมการเยียวยา เพื่อให้การทำงานประเด็นการซ้อมทรมาน สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ซึ่งต่างจากกลไกเดิมที่ผู้ถูกซ้อมทรมาน ต้องหาหลักฐานมายืนยันว่าถูกซ้อมจริง แทนที่ควรจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะพิสูจน์ว่า ไม่ได้ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว

ที่ผ่านมามีตัวอย่างผู้ถูกควบคุมตัว ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้องเรียนต่อองค์กรอิสระว่า ถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในระหว่างการถูกควบคุมตัว ซึ่งแทนที่จะมีกลไกตรวจสอบสืบสวน สอบสวนตามข้อเท็จจริง เพื่อพิสูจน์ว่ามีการซ้อมทรมานจริงหรือไม่ กลับถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องข้อหาแจ้งความเท็จ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะร้องเรียนเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่

“คดีนักศึกษายะลาถูกซ้อมทรมานเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่สามารถเอาผิดทางอาญาเจ้าหน้าที่กระทำผิดได้ เพราะไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่กระทำการซ้อมทรมานนักศึกษา จึงทำให้สามารถฟ้องร้องได้แค่ในส่วนของทำร้ายร่างกายอย่างเดียว” นางสาวพูนสุขกล่าว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) ได้พยายามให้มีการแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว โดยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ แต่ต้องมีเสียงสนับสนุน 10,000 รายชื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะถูกเสนอพร้อมๆ กับร่างกฎหมายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาจุดร่วมที่ดีที่สุดของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยจากภาครัฐ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการตั้งคณะทำงานที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ” นางสาวพูนสุขให้ข้อมูล

นางสาวพูนสุข กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เตรียมประสานงานกับองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการร่วมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ www.naksit.org หรือข่าวประชาสัมพันธ์จากองค์กรภาคีในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน โดยคุณสมบัติประชาชนที่สามารถมาร่วมเสนอร่างกฎหมายต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง และได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย ส่วนหลักฐานประกอบคือสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมกรอกข้อมูลยินยอมด้วย เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นความยินยอมจากประชาชนจริง แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะให้ชื่อแก่เครือข่าย ก็สามารถมีส่วนร่วมในทางอื่นได้ เช่น การรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมาน เป็นต้น


รายงานโดย: อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง