วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555
ผ่าข้อเสนอนิติราษฎร์
โดย Sattra Toaon
1.นิติราษฎร์เสนอให้ "ยกเลิก รธน ฉบับปี 50 และเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" โดยเสนอกรอบการทำงานให้คณะกรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญฯ มาจาการเลือกของ สส.และพรรคการเมืองรวม 20 คน สว.เลือกตั้ง 3 คน สว.สรรหา 2 คน
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นความพยายามเปิดทางให้มีการแก้ไข รธน ตามที่นิติราษฎร์ต้องการ แต่ยังแสดงออกถึงตรรกะความคิดของคณะนี้ในเรื่อง หลักผลไม้พิษ ที่มองว่าต้องยกเลิกผลทุกประการของการรัฐประหารรวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 ที่สมาชิกในคณะนี้มีส่วนในการทำงาน แต่จุดอ่อนของการตั้งหลักคิดที่ว่า เมื่อรัฐประหารไม่ชอบธรรม สิ่งที่ตามมาย่อมเสียไป จะมีขอบเขตเพียงใด ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คณะนี้เท่านั้นที่เป็นคนกำหนดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ควรถูกยกเลิก โดยมิได้คำนึงถึงบริบทใดๆ นอกจากหลักคิดที่วนเวียนไปมากับตรรกะแต่ไม่สอดคล้องกัีบสภาพความเป็นจริง
วิธีการอธิบายโลกและสังคมของนิติราษฎร์โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงและออกแบบมาตรการต่างๆให้สอดรับกับโลก การวนเวียนอยู่เพียงตรรกะของถ้อยคำทางกฎหมายและหลักการทำให้หลายครั้งการให้เหตุผลทางวิชาการของคณะนี้โดยเฉพาะ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เกิดผลประหลาดหลายครั้ง อาทิ กรณีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ป.อาญา โดยการลดโทษจนโทษของมาตราดังกล่าว (จำคุกไม่เกิน 3 ปี) ต่ำกว่าโืทษตาม ม.133 ป.อาญา ในความผิดฐานดูหมิ่น หมินประมาท ประมุขของรัฐต่างประเทศ ตัวอย่างนี้แสดงให้ถึงการบกพร่องทางวิชาการอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการมุ่งแต่จะแก้ไขโดยไม่ได้คำนึงถึงระบบกฎหมายทั้งระบบ และยังมีลักษณะการมองสมมุติฐานทางข้อเท็จจริวผิดพลาดว่ามีการกลั่นแกล้งทางการเมือง ทั้งในความเป็นจริงได้ปรากฏว่ามีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายจริงในสังคมไทย
การตั้งสมมุติฐานที่ผิดยังปรากฎให้เห็นในข้อเสนอนี้อยู่ต่อไป โดยไม่เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ 50 แท้จริง คือ รธน ที่เสริมความแข็งแกร่งของ รธน 40 ที่ล้มเหลวลงเพราะการทำลายของ เผด็จการทุนนิยมผูกขาดโดยพรรคการเมือง ดังนั้นในจิตวิญญาณของ รธน 50 จึงมี รธน 40 อยู่อย่างครบถ้วน ดังนั้นการอ้างเหตุวนเวียนแต่เรื่องรัฐประหารที่ผ่านไปแล้วนานแล้ว จนวนเวียนไปสืบถึง การปฏิวัติแบบสุดโต่ง ของ ปรีดี ใน ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 และ รธน 2475 เพื่อยกเลิก รธน 50 ที่แก้ไขปัญหาในยุคโลกาภิวัฒน์ ย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ผิดฝาผิดตัว ผิดกาละ เทศะ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึง องค์ประกอบของคณะกรรมการร่างฯตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่อิงแอบกับ สส และ พรรคการเมือง อันแสดงให้เห็นถึงความจงใจวาง รธน ไว้ให้ เผด็จการทุนนิยมโดยพรรคการเมือง เขียน กฎหมายสูงสุดของชาติ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะมองว่า ข้อเสนอให้ยกเลิก รธน 50 และ จัดทำ รธน ใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร เพราะนิติราษฎร์ไว้ใจโดยสุจริตเหลือเกินกับ ระบบการเลือกตั้ง รัฐสภา ที่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงคงอยู่ของทั้งสองสิ่ง แต่การไว้ใจโดยเชื่อแต่เฉพาะหลักการ เป็นการคิดที่ผิดหลักคิดตามธรรมชาติ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เสื้อโหล ต้องตัดให้เหมาะกับสังคม แค่เลือกช่างตัดเสื้อให้พวกเราก็เลือกผิดแล้วครับ วรเจตน์และพวก
2.นิติราษฎร์เสนอให้มีสภาเดียวมาจากการเลือกตั้ง
การเสนอให้มีสภาเดียวมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีวุฒิสภาคอยถ่วงดุลย์ตรวจสอบ ดูจะเป็นการไว้วางใจระบบการเืลือกตั้งมากเกินไปว่าเป็นคำตอบของคำว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" เป็นการไว้วางใจกับคำว่า สภาคือตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชน และให้สภาคือศูนย์เดียวสูงสุดของประชาธิปไตย
กรณีในอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 40 ได้มีการคณะ ครป. ซึ่งนักวิชาการหลายท่านได้ทำวิจัยออกมาหลายเล่ม ซึ่งกลายศูนย์กลางของการออกแบบโมเดลต่างๆตาม รธน 40 ที่นิติราษฎร์เองถือเป็น รธน ฉบับประชาชน ในรายงานการวัจยชุดดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยความพยายามในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับรัฐสภาทั้งสิ้น เช่น การออกแบบระบบรัฐสภาที่มีเหตุผล ( rational Parliament ) การจัดตั้งองค์กรอิสระเข้าตรวจสอบพฤติกรรมของ สส และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจน คณะรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้แสดงออกมาตลอดหลายสิบปีถึงความล้มเหลวของการทำงานโดยรัฐสภา การถอยหลังกลับไปไว้ใจรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศไทยที่อิงแอบกับ ระบบอุปถัมภ์ โดยนายทุนการเมืองที่มีเงินมหาศาล จึงเป็นความคิดที่สุดโต้งในการออกแบบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ในทางสังคมวิทยาจะนำไปสู่ เผด็จการสภาเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้การมีสภาเดียวโดยไม่กล่าวถึงที่มาของ สส.ว่ามาจากระบบแบ่งเขต หรือ บัญชีรายชื่อ ในสัดส่วนเท่าใดยังเป็นข้อบกพร่องอย่างยิ่ง เพราะเมื่อพิจารณาบริบทสังคมไทยที่มีการใช้เงินในระดับพื้นที่กันอย่างมหาศาลแบบยิงกันเขตต่อเขตทำให้ง่ายต่อการซื้อเสียงแล้ว การดำรงสัดส่วน สส.ในระบบแบ่งเขตไว้มากไม่เป็นผลดีแก้ประเทศเท่าที่ควร แนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนของ สส.แบบบัญชีรายชื่อให้มากขึ้น อันเป็นข้อดีของประเทศเยอรมนีที่ีมี สส บัญชีรายชื่อกว่าครึ่ง การแหว่งวิ่นทางความคิดตามที่กล่าวมา สุ่มเสี่ยงยิ่งที่ทุนจะยึดชาติแบบเบ็ดเสร็จ หากประเทศไทยจะมาสภาเดียว
เหตุดังกล่าว การอ้างตนว่า นิติราษฎร์ เป็น นิติศาสตร์เพื่อราษฎร โดยเอาการเลือกตั้งและสภาเดียวเป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตยแบบนิติราษฎร์ มาวางไว้บนบริบททุนครอบชาติจึงเป็นการออกแบบบ้านเมืองไปผิดทิศทาง และการผิดทิศนี้ยังส่งสะท้อนไปถึงมาตรการอื่นที่คณะนีั้้เสนอมา
3.การลดฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั่วไปอย่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นและให้องค์กรทุกองค์กรมีหน้าที่ต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ความข้อนี้สรุปมาจากข้อเสนอหลายประการของนิติราษฎร์ตั้งแต่ การปฏิรูป สถาบัน กองทัพและสถาบันการเมือง การจัดวางหมวดหมู่ของ รธน ให้มี 4 ส่วนแรกเป็น บททั่วไป สิทธิและเสรีภาพ สถาบันทางการเมืองและองค์กรอิสระ และ การต่อต้านรัฐประหาร ตลอดจนให้ประมุขของรัฐปฏิญาณตนต่อรัฐสภา และ ประธานศาลต้องได้รับการเสนอชื่อจาก ครมและสภาอนุมัติ
ข้อเสนอทั้งหมดมีหลักคิดง่ายๆตามสายโซ่ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง คือ ปชช เลือก สส. เข้าสภา รัฐสภาจึงเป็นองค์กรสูงสุดที่สถาบันการเมืองและองค์กรอิสระต้องเคารพ โดยลดฐานะของพระมหากษัตริย์ลงเป็นประมุขรัฐที่ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภา ความที่กล่าวมาจึงต้องจัดวางหมวดหมู่ รธนเสียใหม่ให้ หมวดสิทธิและเสรีภาพนำหน้า หมวดสถาบันการเมืองฯ ซึ่งแน่นอนที่ นิติราษฎร์ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งในหมวดที่ 3 ตาม รธนแบบนิติราษฎร์ ซึ่งไม่ต่างอะรไจาก รธน ฝรั่ง ซึ่งส่งผลโดยปริยายให้ต้องยุบหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ที่เป็นบทบัญญัติที่อยู่คู่ รธน ไทยมายาวนานโดยให้ถอยหลังกลับไปสมัย 2475 แทน ความดังกล่าวส่งผลเป็นการลดพระราชฐานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นการทำลายนิติประเพณีการปกครองของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ส่งเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ( รธน 50 ซึ่งสืบทอดบทบัญญัติ รธน ฉบับก่อนๆมาอย่างยาวนาน) กรณีจึงเป็นการล้มล้างการปกครองฯตาม มาตรา 68 วรรคหนึ่งแห่ง รธน 50 ซึ่งสามารถสั่งให้เลิกการกระทำได้โดยยื่นเรื่องให้อัยการและศาล รธน สั่งห้ามการกระทำ ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าว
การจัดวางให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในหมวด 3 ตามหลัง หมวดสองเรื่องสิทธิและเสรีภาพแสดงอย่างชัดเจนว่า นิติราษฎร์ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่หลังรัฐสภาที่มาจาการเลือกตั้ง และการยุบหมวด 2 ของ รธน 50 โดยปริยายทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียงสัญญลักษณ์ในฐานะประมุขของรัฐโดยสมบูรณ์ เหตุนี่นิติราษฎร์จึงต้องการให้ประมุขของรัฐสาบานตนต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นการตอกย้ำความคิดแบบ ลัทธิเลือกตั้ง และรัฐสภาแบบ สุดโต่ง ที่กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ยังต้องทรงปฏิญาณตนต่อสภาที่มี สส.อย่าง...(ใส่ชื่อกันเอาเอง) ความคิดดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่นิติราษฎร์ผูกโยงประธานศาล กองทัพ เข้ากับ ครม และรัฐสภา ซึ่งหากเอามาใช้ในสังคมไทยเราที่มีเผด็จการทุนนิยมผูกขาดโดยพรรคการเมือง ซึ่งใช้เงินผ่านการเลือกตั้งขึ้นมาอำนาจโดย ทุกสถาบันต้องอยู่ภายใต้รัฐสภาที่ถูกซื้อ อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ต่อไปนี้ ทักษิณ 1 ทักษิณ 2 ไปจนถึงนายทุนต่างๆคงอยู่เหนือทุกสถาบัน นายกรัฐมนตรีไทยก็ไม่ต่างอะไรจาก ประธานาธิบดีผู้เผด็จการ นี่คือการสถาปนาระบอบการปกครองอันน่าสะพรึงกลัว จากนักวิชาการเมาฝิ่นฝรั่งที่ชงชาติบ้านเมืองใส่มือนายทุน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่หรือก็ตาม ตื่นจากโรงฝิ่นวิชาการเถอะ อาจารย์ทั้งหลาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น