บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

“แรงงานราคาถูก” วิกฤตและโอกาสในศตวรรษที่ 21


บทความจาก  www.siamintelligence.com
อารยธรรมโรมันที่เคยยิ่งใหญ่และยึดครองไปครึ่งค่อนโลกในท้ายที่สุดก็ล่มสลายลงด้วยน้ำมือของอนารยชนคนป่าเถื่อนที่ตนเองเคยหมิ่นแคลน
ศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาที่เคยเกรียงไกรด้วยแสนยานุภาพแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็กำลังทรุดโทรมเสื่อมถอยเมื่อเผชิญการท้าทายจากประเทศกำลังพัฒนาแห่งเอเชีย
“แรงงานราคาถูก” นับเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการบั่นทอนความเกรียงไกรของโลกตะวันตกเพราะแม้แต่คนอเมริกันที่ถูกกล่อมเกลาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดให้เลือดรักชาติอุ่นระอุก็กลับยินดีจะซื้อหาสินค้าราคาถูกจากจีนมากกว่าจะสนับสนุนสินค้าของเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน
ประเทศไทยที่เคยเชื่อถืองมงายในแนวทางการพัฒนาประเทศที่พร่ำสอนโดยโลกตะวันตกให้ละทิ้งยุทธศาสตร์แรงงานราคาถูกไปสู่แรงงานราคาแพงที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพและนวัตกรรมย่อมต้องกลับมาทบทวนตนเองอีกครั้งเพราะแม้แต่ปรมาจารย์ผู้พร่ำสอนก็ยังเอาตัวไม่รอดจากโลกาภิวัตน์ที่ไหลแรงเชี่ยวกราก
1. ความเย้ายวนของ “โลกาภิวัตน์ราคาถูก”
ชนชั้นแรงงานชาวตะวันตกไม่ได้หยิ่งทระนงอย่างที่เชื่อถือกันในฐานะปัจเจกชนพวกเขาอาจยินดีลดค่าแรงตัวเองให้สามารถแข่งขันกับชนชั้นแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงลิบก็เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้พวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นหากจะลดค่าแรงทั้งระบบเพื่อทำให้ค่าครองชีพถูกลง ก็จะเกิดปัญหาความเชื่อใจขึ้นมาว่า“ถ้าเราเป็นคนกลุ่มแรกที่ยินยอมลดค่าแรงแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนที่เหลือจะไม่บิดพริ้วคดโกง”
ระบบรัฐสวัสดิการและค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาดจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงานและโรงงานของบริษัทข้ามชาติมีความยากลำบากและต้นทุนที่สูงลิบหากทว่าเมื่อเทคโนโลยีการขนส่งและสื่อสารได้พัฒนาอย่างยิ่งยวดในปลายศตวรรษที่ 20 การย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกก็กลายเป็นเรื่องสะดวกสบายการเคลื่อนย้ายสินค้าราคาถูกไปยังประเทศพัฒนาก็กลายเป็นเรื่องสนุกสนานอารยธรรมราคาแพงและความเชื่อมั่นในตนเองของชนชาติตะวันตกจึงเริ่มตกต่ำลงนับจากบัดนั้นเป็นต้นมา
2. มายาคติเพ้อฝันของ “ประชานิยมเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ” (Dual Track Policy)
แนวคิดที่ว่าประเทศไทยควรพึ่งพาทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศควบคู่กันไปเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมหากทว่าวิธีการมักง่ายที่เน้นการแจกจ่ายเงินผ่านนโยบายประชานิยมและการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างมหันต์เพราะในระยะยาวแล้วจะทำให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลงสินค้าจากตลาดโลกที่ถูกกว่าหรือดีกว่าก็จะแห่กันเข้ามาดูดซับกำลังซื้อของคนไทยที่สูงขึ้นจากนโยบายประชานิยมไปจนหมดสิ้นนี่คือ หายนะที่ประเทศตะวันตกเผชิญมาแล้ว ประเทศไทยจึงไม่ควรก้าวย่ำซ้ำรอย
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีโดยมีต้นทุนต่ำตลาดภายนอกและตลาดภายในจึงแทบจะไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไปเพราะทั้งหมดได้เชื่อมร้อยกันเหลือเพียงตลาดเดียวนั่นคือ “ตลาดโลก” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนตั้งแต่ผู้ประกอบการและแรงงานจะต้องพัฒนาขีดความสามารถตนเองให้มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม
3. ประเทศไทยสำหรับทุกชนชั้น (Thailand for all)
การยึดติดจมปลักกับยุทธศาสตร์แรงงานราคาถูกเท่านั้นย่อมไม่ใช่เรื่องดีอีกต่อไปเพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงของทั้งจีนและเวียดนามที่กำลังมาแรง หากทว่าการพุ่งทะยานไปสู่ยุทธศาสตร์ค่าแรงราคาแพง ที่ไม่สามารถส่งมอบคุณภาพ นวัตกรรมและการออกแบบได้คุ้มค่ากับที่ลูกค้าจากตลาดโลกยินดีจะจ่ายก็ย่อมเป็นเรื่องโง่เขลาอีกเช่นเดียวกัน
ทางออกที่ดีกว่า คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับทุกชนชั้น นั่นคือขายได้ทั้งสินค้าราคาถูกคุณภาพดี ไปจนกระทั่งถึงสินค้าราคาแพงโก้หรูโดยเน้นไปที่การพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศให้สอดคล้องต้องกัน
ประเทศไทยต้องพัฒนาตนเองให้เป็น Labour Hub ในการเชื่อมร้อยแรงงานจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมมือกับแรงงานไทยในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
เริ่มต้นด้วย “แรงงานราคาถูก” จากประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าประเทศไทยโดยมีการดูแลด้านสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิดทั้งหมดนี้ย่อมทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับราคาสินค้าขั้นพื้นฐานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
สำหรับแรงงานทักษะสูงทั้งในเชิงนวัตกรรมและการออกแบบจากประเทศพัฒนาที่กำลังตกต่ำและมีปัญหาคนล้นงานก็ย่อมยินดีรับค่าแรงที่ถูกกว่าจากประเทศไทยหากเราสามารถรักษาสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่มีราคาถูกไว้ได้เมื่อแรงงานทักษะสูงหลากหลายเชื้อชาติได้หลั่งไหลเข้ามาทำงานร่วมกับคนไทยก็ย่อมบ่มเพาะฟูมฟักให้เกิดสภาวะแวดล้อมสร้างสรรค์ (Creative Ecology) ที่จะช่วยให้คนไทยพัฒนาทักษะในด้านนวัตกรรมและการออกแบบได้อย่างรวดเร็วและยิ่งมีคนเก่งมารวมตัวกันมากเท่าไรก็ยิ่งจะดึงดูดคนเก่งจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมมือกันได้มากเท่านั้น
ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งการแข่งขันไร้พรมแดนการหวังพึ่งตลาดที่กว้างใหญ่ของประเทศพัฒนาหรือตลาดภายในประเทศที่คิดว่าเป็นของตายย่อมไม่ใช่เรื่องฉลาดอีกต่อไปหากประเทศไทยยังต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองโดยการพัฒนาทรัพยากรแรงงานให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและราคาซึ่งสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง