บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อัยการกับขื่อแปของบ้านเมือง

       อัยการเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เดิมสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นกรมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2465 ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ฉบับที่ 47 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 เปลี่ยนชื่อกรมอัยการเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดให้เป็นส่วนราชการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ในปี 2549 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549 วินิจฉัยว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ โดยลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจจึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย
       
        และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวจึงมีการผลักดันให้มีบทบัญญัติมาตรา 255 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม
       
        ต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติ องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้อัยการสูงสุดมีอำนาจอย่างกว้างขวาง เช่น
       
        มาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
       
        ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดโดยความเห็นชอบของ กอ.
       
        ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม
       
        มาตรา 22 ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 21 ซึ่งได้แสดงเหตุผลอันสมควรประกอบแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
       
        ต่อมาอัยการสูงสุดได้ประกาศระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 มีสาระสำคัญว่า โดยที่พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ตามระเบียบข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 9 และในข้อ 11 ให้นำความในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 มาใช้บังคับ แก่กรณีที่พนักงานอัยการจะไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม
       
        ประกาศดังกล่าวอัยการสูงสุดลงนาม ณ วันที่ 22 เมษายน 2554 หลังจากนั้นไม่นานราวปลายเดือนกันยายน 2554 อัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฎีกาคดีภาษีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องจำเลยบางคน และให้รอการลงโทษจำเลยบางคน สร้างความฉงนแก่สังคม ทำให้สังคมสงสัยว่า การกระทำของอัยการสูงสุดจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เห็นว่าแม้กฎหมายจะให้อิสระแก่พนักงานอัยการในการสั่งคดีก็ตาม พนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งคดีโดยปราศจากการแทรกแซงเท่านั้น หาใช่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจไม่ ต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลและไม่ล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย
       
        การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องจำเลยบางคนและให้รอการลงโทษแก่จำเลยบางคนนั้น โดยเหตุผลต้องฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน หาใช่ใช้ความรู้สึกสำนึกของตนเองว่าเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยถูกต้องแล้ว การใช้ดุลพินิจดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล การกระทำของอัยการสูงสุดจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549 นอกจากนั้นการที่กฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาหรือถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์-ฎีกา โดยพนักงานอัยการอื่นไม่มีอำนาจ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 255 ที่ให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี
       
        เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 อัยการสูงสุดได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาทพนักงานอัยการในกระบวนการยุติธรรม” ให้แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 16 ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม อัยการสูงสุดเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามละเมิดการใช้ดุลพินิจของอัยการเพื่อคุ้มครองเช่นเดียวกับศาล ให้ยอมรับให้ได้ว่าสั่งอะไรต้องยุติไม่ต้องอธิบายต่อสาธารณะอยู่อย่างทุกวันนี้ เห็นว่า ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์จึงสั่งลงโทษผู้กระทำผิดได้
       
        การกระทำหน้าที่ของศาลเปรียบเสมือนกรรมการห้ามมวยบนเวทีซึ่งมีกติกาให้อำนาจไว้ ศาลผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีของคู่ความถ้าไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลแล้วศาลจะควบคุมการพิจารณาได้อย่างไร จึงต้องมีบทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลไว้เพื่อใช้ควบคุมการพิจารณาคดี พนักงานอัยการเป็นเพียงทนายแผ่นดินทำหน้าที่ว่าความเช่นเดียวกับทนายความหาใช่ผู้ควบคุมการพิจารณาคดีเหมือนผู้พิพากษาจึงไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจเช่นเดียวกับศาล ถ้าอัยการถูกวิจารณ์ในการทำหน้าที่จนถึงขั้นหมิ่นประมาทอัยการย่อมฟ้องศาลได้ หาใช่ให้อำนาจสั่งลงโทษโดยไม่มีการไต่สวนซึ่งผิดหลักของการลงโทษอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม
       
        บทสรุป จากการวิเคราะห์บทบัญญัติในพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554
       
        และสรุปคำบรรยายของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ในหัวข้อบทบาทพนักงานอัยการในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 16 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่อัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาได้ในคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เช่น เรื่องลักทรัพย์ ถ้าสั่งไม่ฟ้องไม่กระทบกระเทือนผู้ใดอัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้องได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นคดีเกือบทุกเรื่องอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้
       
        หากเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสาธารณะจึงขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้เสียหายอุทธรณ์ ฎีกาได้แม้มิได้เป็นโจทก์ร่วม ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจมีสิทธิฟ้องหรือต่อสู้คดีได้เองหรือจะมอบให้อัยการดำเนินคดีแทนก็ได้ และในกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น อัยการต้องฎีกาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง