บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาลทำแท้ง กม.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เปิดทางสะดวกเมกะโปรเจ็กต์




ครม. ทำแท้ง ร่าง กม.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ภาค ปชช.-เอ็นจีโอ ชี้มี ขรก.-นักการเมืองต้องการสกัดตั้งแต่ต้น จับตาเปิดทางเมกะโปรเจ็กต์รัฐบาลหรือไม่
 

                เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่นำ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.....ที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภากลับมาสู่สภา เป็นอันว่าร่างกฎหมายที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางที่สุดฉบับหนึ่ง และจะเป็นทางออกให้แก่สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและจะเกิดตามมาระหว่างชุมชนและรัฐ-ทุน ต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 92

                กฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 ระบุไว้ในมาตรา 56 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า

                ‘การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าวทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ’

                หลักการนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีการเพิ่มเติมและตัดทอนบางถ้อยคำ ปรากฏอยู่ในส่วนที่ 12 ว่าสิทธิชุมชน มาตรา 67 วรรค 2 ว่า

                ‘การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและมีผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว’

                ทว่า ผ่านอายุขัยของรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ ระยะเวลา 15 ปี องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ก็ยังไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

 

จากคณะกรรมการสี่ฝ่ายถึง กอสส.

                หากย้อนดูที่มาของกฎหมายฉบับดังกล่าว มีต้นสายปลายเหตุจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่มาบตาพุด จนนำไปสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง ซึ่งพิพากษาให้ระงับโครงการ 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550

                “ศาลปกครองเห็นว่า รัฐบาลไม่มีการกำหนดเสียทีว่าประเภทกิจการใดที่เข้าลักษณะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงได้แก่กิจการประเภทใดบ้าง สอง-มาตรา 67 วรรค 2 บอกว่าต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพด้วย ซึ่งไม่มี และสาม-คือไม่มีองค์กรอิสระเกิดขึ้น เมื่อไม่มีก็เท่ากับโครงการต่างๆ ในมาบตาพุดไม่ผ่าน 3 เกณฑ์ใหญ่ตามมาตรา 67 จึงเปิดช่องให้เกิดการฟ้องร้อง” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง อดีตกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อธิบาย

                การระงับ 76 โครงการส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศและการลงทุนเกิดการชะงักงัน ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 โดยมี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งภายหลังเรียกว่า คณะกรรมการสี่ฝ่าย ประกอบด้วย-ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อหาทางออกอันเป็นยอมรับของทุกฝ่ายร่วมกัน

                คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยและกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภูมิภาคแก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยระหว่างที่ร่างกฎหมายยังอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ได้มีการตั้ง คณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ชุดเฉพาะกาล ขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทน

 

ทำแท้ง กอสส. เพื่อใคร?

                แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือร่างกฎหมายนี้ต้องตกไป เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่นำกลับมาพิจารณา ทั้งยังมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยยึดถือตามร่างของคณะกรรมการสี่ฝ่ายซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องจับตาดูว่าการยึดตามร่างของคณะกรรมการสี่ฝ่ายนั้นจะยึดเฉพาะส่วนที่ต้องการหรือไม่ เพราะตั้งแต่เกิดร่างกฎหมายนี้แรกๆ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้สุทธิ อัฌาศัยผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นกล่าวว่า

“ทางกระทรวงทรัพย์ฯ และ สผ. มีหน้าที่ในการพิจารณาร่างรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เขาจึงไม่อยากให้มีองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ซ้อนองค์กรเขา ซึ่งก็คือองค์กรนี้ เพราะถ้ามีขึ้นเท่ากับเป็นการตรวจสอบการทำงานของเขาอีกชั้นหนึ่ง เขาจึงไม่อยากให้เป็นรูปองค์กร แต่อยากให้เป็นรูปหลายองค์กรหมายความว่า ใครก็ได้ที่เป็นสถาบันการศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนจับคู่กันแล้วให้ความเห็นไปกับโครงการที่อยากให้ความเห็น แต่ถ้าเป็นรูปหลายองค์กร ความเห็นก็จะไม่ถูกขมวด เมื่อไม่ถูกขมวด มันก็แล้วแต่ว่าใครจะหยิบความเห็นใดมาก็ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็คล้ายๆ กับว่า สผ. ก็ทำงานง่ายขึ้น เขาจึงไม่เห็นด้วยกับรูปองค์กรแบบ กอสส. ในปัจจุบัน”

ขณะที่เพ็ญโฉมเปิดเผยว่า

“การที่รัฐบาลไม่รับพิจารณาต่อ ไม่ทราบว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร แต่ที่เราทราบมาโดยทั่วๆ ไปว่า มีข้าราชการหรือนักการเมืองบางคนไม่ค่อยสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. ฉบับนี้ อันนี้เห็นได้ชัดเจนมานานแล้ว เพราะหากรัฐบาลเห็นความสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ตัวกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพควรจะมีมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อผ่านมาจนบัดนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีกฎหมายลูกฉบับนี้ ไม่ต้องการให้มี กอสส. ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญ และนอกจากไม่ให้ความสำคัญแล้ว ยังไม่ต้องการให้กลไกตามรัฐธรรมนูญมีความพร้อม เพื่อที่จะได้ไม่ไปขัดขวางกระบวนการพิจารณาโครงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่อยากให้เกิด กอสส. เพราะผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว เพียงแต่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายจะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่อยู่เยอะ”

ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีนโยบายผลักดันโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งแลนด์บริดจ์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในชุดเซาธ์เทิร์น ซีบอร์ด การถมทะเล เหมืองแร่ การสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นไปได้หรือไม่ว่าการทำแท้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่โครงการต่างๆ ที่ว่ามา

ทว่า ผลที่เกิดจากการไม่มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กลับไม่ส่งผลดีในระยะยาว เพราะนอกจากจะไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่สังเคราะห์ วิเคราะห์ข้อมูล เป็นคนกลางเพื่อรับฟังความเห็น และลดแรงเสียดทานระหว่างประชาชนกับรัฐ-ทุนแล้ว ในแง่เศรษฐกิจยังก่อให้เกิดความไม่มั่นใจแก่นักลงทุนด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องผ่านการให้ความเห็นขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แต่เมื่อไม่มีองค์กรการดำเนินโครงการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

ภาคประชาชนดันต่อ-หาแนวทางตกผลึกร่วมกัน

                ในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ สุทธิกล่าวว่ากำลังหารือกับภาคประชาชนในหลายๆ พื้นที่ว่าจะเดินหน้าอย่างไรเพื่อให้เกิดองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ขึ้น อีกทั้งจะต้องมีการถามหาเหตุผลจากฟากรัฐบาลถึงการไม่ยืนยันร่างกฎหมาย

                “เมื่อเป็นอย่างนี้ รัฐบาลจะต้องมีคำตอบที่มีเหตุผลมากพอที่จะอธิบายให้แก่คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้ด้วยว่าทำไมจึงไม่นำกฎหมายตัวนี้กลับมาพิจารณาใหม่ เพราะฉะนั้นเราคงต้องรวบรวมพี่น้องประชาชนเพื่อยื่นหนังสือถามรัฐบาลอีกทีหนึ่งว่า เหตุใดจึงออกมาเป็นรูปแบบนี้ กลับไปนับศูนย์ใหม่ทั้งที่เรื่องนี้เดินหน้ามาไกลแล้ว”

                 อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงไม่จบ โดยเฉพาะอำนาจในการกำหนดประเภทกิจการรุนแรง เพราะ 18 ประเภทกิจการรุนแรงคือข้อเสนอที่คณะกรรมการสี่ฝ่ายเสนอ แต่ภายหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตัดออกเหลือ 11 ประเภท

“ตรงนี้ก็แสดงเจตนาชัดเจนว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องการให้เกณฑ์กำหนดประเภทกิจการรุนแรงผิดไปจากที่พวกเขาต้องการ หรือพยายามลดประเภทกิจการให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดภาระหน้าที่ของโครงการบางโครงการเพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้” เพ็ญโฉมตั้งข้อสังเกต

นอกจากการกำหนประเภทกิจการรุนแรงแล้ว อีกปัญหาคือความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการชุดเฉพาะการเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีที่กรรมการสายนักวิชาการบางคนสอดไส้รายงานการพิจารณาโครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล (ทีโอซี) จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการบางส่วนตัดสินใจลาออก จังหวะนี้จึงอาจเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการถกเถียงจนเกิดการตกผลึกกันอีกรอบ

                ข้อสรุปที่ภาคประชาชนและเอ็นจีโอเห็นตรงกันคือควรให้อำนาจองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เป็นผู้กำหนดประเภทกิจการรุนแรงเอง เพ็ญโฉม แสดงความเห็นว่าควรจะเพิ่มเติมบางประเด็นลงไป

“ข้อสำคัญข้อที่หนึ่งคือกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นกรรมการอาจจะต้องมีพิจารณาที่รัดกุมกว่านี้ สองคือเนื่องจากกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการเหล่านี้ ล้วนเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงมาก โดยส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการจะต้องมีการเปิดเผยทรัพย์สินทั้งก่อนและหลังรับตำแหน่ง คือต้องมีเกณฑ์หรือกระบวนการที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า กรรมการเหล่านี้ปลอดพ้นจากผลประโยชน์จากโครงการที่ตนเองกำลังพิจารณาอยู่

“อีกประการหนึ่ง หน้าที่ของ กอสส. ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้ความเห็นตามกระบวนการเดิมๆ คือพิจารณาไปตามรายงานการศึกษาที่มีอยู่ ซึ่งถ้าทำหน้าที่เพียงเท่านี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมี กอสส. เพราะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่คอยตรวจสอบรายงานการศึกษาอยู่แล้ว แต่ กอสส. ควรมีภารกิจที่จะต้องตอบสนองกับบทบาทหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และมีหน้าที่พัฒนากระบวนการการเพื่อให้กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่กรรมการเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ความเห็น แต่กรรมการจะต้องสร้างกระบวนการให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ให้ความเห็นต่อโครงการต่างๆ เหล่านั้นอย่างเต็มที่ อย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส”

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากไม่มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ คอยถ่วงดุล ให้ความเห็น และสร้างกระบวนการรับฟังอย่างรอบด้าน อนาคตย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้งและความเสียหายเช่นที่เกิดกับกรณีมาบตาพุด

 

 

ภาพจาก http://www.rsunews.net/News/Unlock6Projects.htm

ปรากฏในหน้าแรกที่: 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง