บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จับตารัฐบาล-กองทัพแบ่งเค้ก"ดับไฟใต้


การ เดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อวันอังคารที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา หน่วยในพื้นที่ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงาน ผบ.ทบ.ว่า ปีหน้าจะใช้งบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาในพื้นที่กว่า 10,000 ล้านบาท
          ขณะที่ในด้านกำลังพล จะมีการถอนกำลังของกองทัพบก (ทบ.) ออกจากพื้นที่เป็นบางหน่วย และได้จัดสรรกำลังพลที่เป็นทหารพรานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้เข้าปฏิบัติหน้าที่ทดแทน เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป โดยจะมีการจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มอีก 2 กรม จำนวน 3,000 นาย จาก 7 กรมที่มีอยู่เดิม และจะทยอยดำเนินการจัดตั้งให้ครบตามจำนวนอีก 3 กรม (รวมเป็น 5 กรมใหม่) เพื่อให้กำลังพลครอบคลุมการปฏิบัติทุกพื้นที่
          นี่คือความเคลื่อนไหวในภารกิจดับไฟใต้จากทางฝั่งกองทัพ และหน่วยงานในพื้นที่
          ทางด้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งนั่งหัวโต๊ะประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย. และมติจากที่ประชุมคือตั้ง ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบ.กช. ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยปฏิบัติ
          ส่วนนโยบายเรื่องการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า "นครปัตตานี" ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ นายกฯบอกว่ายังไม่ไปถึงตรงนั้น เพราะประชาชนต้องการเรื่องความปลอดภัยก่อน
          ขณะเดียวกันก็มีข่าวมาตลอด 2-3 สัปดาห์ว่า รัฐบาลจะส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต. แทน นายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่ตั้งในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
          ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวหลักๆ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นในห้วง 1 เดือนเศษของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลจะยังไม่มีนโยบายอะไรชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดการปัญหาจะยังคงอยู่ในมือของฝ่ายทหารเป็นส่วน ใหญ่ และอาจสวนทางกับยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ที่ได้รับการยอมรับ แต่ระยะหลังเริ่มไม่ค่อยมีใครพูดถึงแล้ว

ทุุ่ม 2.7 พันล้านตั้ง 5 กรมทหารพราน
          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการเตรียมการเพิ่มกำลังทหารพรานอีกหลายพันนายใน พื้นที่ ซึ่งหากพิจารณาท่าทีเช่นนี้ของฝ่ายกองทัพแล้ว ย่อมชัดเจนว่าสวนทางกับเสียงเรียกร้องให้ลดกำลังพลลง และเลิกใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากการแก้ไขปัญหายังผูกติดกับมิติเดิมๆ
          สำหรับการเพิ่มกำลังทหารพรานนั้น เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค.2554 อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้จัดตั้งกองบังคับการกรมทหารพรานเพิ่มเติม อีก 5 กรม วงเงิน 2,692 ล้านบาทเศษ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นการใช้งบประมาณประจำของกระทรวงกลาโหม แยกเป็นงบประมาณของปี 2554 จำนวน 18 ล้านบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีกราว 2,673 ล้านบาทเศษ เป็นงบประมาณประจำปี 2555 ถึงปี 2556
          นอกจากนั้นยังขออนุมัติงบประมาณประจำปีเพิ่มเติมในปี 2556 เป็นต้นไปสำหรับหน่วยงานทหารพรานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยใช้งบเพิ่มอีกปีละ 688 ล้านบาทเศษด้วย
          ปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนใต้มีกรมทหารพรานปฏิบัติภารกิจอยู่แล้ว 7 กรม ประกอบด้วย
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ที่ อ.รามัน จ.ยะลา
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ตั้งอยู่ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ตั้งอยู่ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ตั้งอยู่ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา
          แต่ละกรมมีกำลังพลเต็มอัตรากำลังจำนวน 1,489 นาย (แต่ส่วนใหญ่จะมีไม่ครบ) ทั้งยังมีกำลังพลจากทหารพรานหญิงอีก 4 หมวด รวมยอดกำลังพล ณ ปีงบประมาณ 2554 เฉพาะทหารพรานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 10,921 นาย
          สำหรับการจัดตั้งกรมทหารพรานใหม่ตามที่ ครม.อนุมัติ จะจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 5 กรมทหารพราน และ 5 หมวดทหารพรานหญิง พร้อมปฏิบัติงานส่วนแรกในเดือน ต.ค.2554 และเต็มจำนวนในเดือน เม.ย.2555 เพื่อรองรับกำลังทหารหลักจะถอนกำลังกลับจำนวน 7 กองพัน
          ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีทหารพรานทั้งสิ้น 12 กรมทหารพราน กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิงเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในพื้นที่ควบคู่กับกองพลทหารราบที่ 15 ตัวเลขกลมๆ เฉพาะทหารพรานราว 18,000 นาย
          ทั้งนี้ ในส่วนของกรมทหารพรานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปี             2554-2555       รวม 5 กรมทหารพรานนั้น กองทัพบกได้มอบหมายให้แต่ละกองทัพภาคเปิดรับและฝึกอบรมด้ังนี้
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 โดยกองทัพภาคที่ 1
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 โดยกองทัพภาคที่ 2
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 โดยกองทัพภาคที่ 3
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 โดยกองทัพภาคที่ 4
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 โดยกองทัพภาคที่ 4
          แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่า โครงการจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้นี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพื่อถอนกำลังพล “ทหารหลัก” จากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ออกจากพื้นที่ เพื่อส่งมอบให้ “ทหารพราน” ซึ่งเปรียบเสมือน "ทหารบ้าน" มีความชำนาญพื้นที่ และเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นเป็นอย่างดี รับผิดชอบสถานการณ์ต่อไป

เทหมื่นล้านสถาปนา "ทัพน้อยที่ 4"
          นอกจากเพิ่มกรมทหารพรานอีก 5 กรมในพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว กองทัพบกยังมีแผนจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 (ทน.4) เพื่อรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ด้วย โดยที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพเดียวที่ไม่มีกองทัพน้อย
          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม นขต.ซึ่งมี ผบ.ทบ.เป็นประธาน ได้รับทราบถึงการเสนอขอเตรียมจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 โดยมีเหตุผลเนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ เปลี่ยนไป ทำให้กองทัพภาคที่ 4 ต้องปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน และภารกิจอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          ทั้งนี้ กองทัพน้อยที่ 4 จะตั้งหน่วยที่ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีกรอบระยะเวลาการจัดตั้ง 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ             2555-2558      
          แหล่งข่าวจาก ทบ. กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพเดียวใน 4 กองทัพที่ไม่มี “กองทัพน้อย” ฉะนั้น การจัดตั้งกองทัพน้อยขึ้นนับว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพื่อแบ่งเบาภารกิจของ กองทัพใหญ่ โดยเฉพาะในภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนซึ่งเป็นปัญหา ยืดเยื้อ หากมีกองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง ทำให้กองทัพใหญ่มีสรรพกำลังและความพร้อมเพียงพอในการทำงานด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
          ฉะนั้นหากจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 เรียบร้อย กองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ โดยเป็นกำลังหลักใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็อาจจะต้องมีการบรรจุกำลังพลเพิ่มและเปิดอัตราใหม่บ้าง
          “เรื่องนี้จะไม่กระทบกับนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะส่วนนั้นเป็นการถอนกำลังจากกองทัพภาคอื่นๆ ที่ลงมาช่วย คือกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 แต่การตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 เพื่อรับผิดชอบงานดับไฟใต้โดยตรง แต่ไม่ได้ไปแทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะโครงสร้าง กอ.รมน.ประกอบกำลังจากหลายหน่วย แต่กำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 จะเป็นกำลังหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
          อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กองทัพน้อยที่ 4 ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมหน่วยกำลังที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ เช่น กรมทหารพรานที่จะเพิ่มอีก 5 กรมภายในปี 2555 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่มีอยู่เดิม จึงมีการขอเปิดอัตรากำลังใหม่กว่า 300 อัตรา ซึ่งขัดกับมติ ครม.และมติสภากลาโหมที่กำหนดว่าการจัดตั้งหน่วยใหม่จะต้องไม่เพิ่มกำลังพล เพราะจะเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว แต่ให้ใช้วิธีเกลี่ยกำลังในกองทัพของตนเองแทน
          นอกจากนั้น โครงการจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ยังขัดกับแผนแม่บทการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม ที่มีแผนให้ยุบกองทัพน้อยที่มีอยู่ 3 กองทัพในปัจจุบัน คือ กองทัพน้อยที่ 1 กองทัพน้อยที่ 2 และกองทัพน้อยที่ 3 ภายในปี 2559 ด้วย เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็น จึงทำให้เกิดคำถามว่าการที่กองทัพบกผลักดันให้จัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 จะขัดกับแผนแม่บทการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมหรือไม่
          สำหรับงบประมาณสำหรับจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 แม้จะยังไม่มีการเปิดเผย แต่คาดว่าต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพราะมีการเปิดอัตราใหม่ และยังต้องก่อสร้างสาธารณูปโภค ทั้งอาคารกองบัญชาการ อาคารสำนักงาน ที่พัก เรือนนอนของกำลังพล ขณะที่ก่อนหน้านี้มีโครงการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) และกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) ซึ่งใช้การเกลี่ยกำลังพล ก็ใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทเช่นกัน

คำถามถึงยุทธศาสตร์ดับไฟใต้
          จาก 2 โครงการยักษ์ของกองทัพบก คงพอมองเห็นภาพอนาคตของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะอยู่ใน กำมือของทหารไปอีกนาน แม้จะมีการส่งสัญญาณทำนองว่าจะเร่งถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ แต่ก็มีโครงการตั้งกรมทหารพรานเข้าไปแทน และจัดตั้้งหน่วยเหนือเพิ่ม (กองทัพน้อยที่ 4) เพื่อบังคับบัญชาหน่วยกำลังอีกชั้นหนึ่ง
          ที่ผ่านมามีบางฝ่ายประเมินว่า การจัดตั้ง ศบ.กช.ของรัฐบาลเพื่อบูรณาการภารกิจดับไฟใต้ทั้งในระดับนโยบายและระดับ ปฏิบัติ เป็นการ "ลดทอน" อำนาจทหาร เพื่อเพิ่มอำนาจฝ่ายการเมือง และดึงงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่ ศอ.บต.รับผิดชอบมาบริหารจัดการเอง
          แต่นั่นเป็นเพียง "ฉากหน้า" เพราะหากหากพิจารณาลึกลงไปจะพบว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก "ที่มา" ของโครงสร้าง ศบ.กช.แท้ที่จริงแล้วเสนอโดยกองทัพภาคที่ 4 โดยรับกรอบแนวคิดมาจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ซึ่งปัจจุบันถูกยืมตัวไปช่วยราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.13 กับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็น่าจะชัดว่าโครงสร้างนี้สนองตอบการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานด้านความมั่นคงเองมากกว่า
          ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งมีสายสัมพันธ์ดีเยี่ยมกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ลงไปบัญชาการแทน นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ คนปัจจุบันอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่โครงสร้าง ศบ.กช. จะตั้งขึ้นเพื่อดึงงบจาก ศอ.บต.มาบริหารเอง หนำซ้ำรัฐบาลยังจะใช้ ศอ.บต.เข้าไปขับเคลื่อนงานมวลชนและพัฒนาเพื่อแย่งชิงความนิยมในพื้่นที่ฐาน เสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็น 5 จังหวัดรวมสงขลากับสตูลด้วย
          ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ไม่ได้ประกาศนโยบายหรือทิศทางใหม่ใดๆ สำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่พรรคเพื่อไทยเคยชูเป็นนโยบายหา เสียงมาเอง หรือยุทธศาสตร์ด้านความเป็นธรรม (สิทธิการประกันตัว / ยกเลิกกฎหมายพิเศษ / แนวทางตั้งศาลชารีอะฮ์) ที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาเนิ่นนาน หรือแม้กระทั่งการเจรจาสันติภาพที่แอบทำกันลับๆ มาหลายปี
          ฉะนั้นทิศทางนโยบายดับไฟใต้ ณ นาทีนี้ จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่สาระสำคัญ นอกเสียจากการแบ่งเค้กงบประมาณก้อนโตระหว่างกองทัพกับรัฐบาล และการยึดกุมตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานบริหารระดับพื้นที่ เพื่อผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้นเอง...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพการฝึกทหารพรานจากเว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันเสาร์ที่ 1 ต.ค.2554

ทีมข่าวอิศรา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง