ก่อนที่อาเซียนจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 อาเซียนผ่านอะไรมาบ้าง ทั้งสาเหตุของการรวมกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาค ทั้งความท้าทายหลายหลากที่มีทั้งอุปสรรคและโอกาสก่อเกิดให้กลายเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังจะพัฒนาเป็นประชาคมอาเซียนที่มี 3 เสาหลักสำคัญ
ทั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการรวมกลุ่มของอาเซียนที่พัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงลึกมากขึ้นท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลก
ความเป็นมาของอาเซียน
44 ปีสำหรับการรวมตัวของ ASEAN นับตั้งแต่ปี 1967 เป็นความร่วมมือที่พัฒนามาจาก ASA ที่ก่อตั้งในปี 1961 แต่ล้มเหลวเพราะประเทศสมาชิก (ไทย มลายา ฟิลิปปินส์) ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ นำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนที่แม้จะมีปฏิญญากรุงเทพที่มุ่งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงก่อตั้ง แต่นัยซ่อนเร้นทางการเมืองที่สำคัญเกิดจากความต้องการแก้ไขความขัดแย้งภายในประเทศสมาชิกว่าด้วยเขตอำนาจอธิปไตยทับซ้อน อาทิ มาเลเซียกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์กับมลายา (มาเลเซีย) ที่มีปัญหาอธิปไตยเหนือเกาะบอเนียวหรือซาบาห์ และความหวาดกลัวจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จากจีนและสหภาพโซเวียตที่แผ่ขยายมายังเวียดนามเหนือในทศวรรษ 1960
อาเซียนในยุคแรกเริ่ม จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐให้ดีขึ้นและรวมตัวกันเพื่อป้องปรามภัยจากคอมมิวนิสต์ร่วมกัน ถึงกระนั้นในปี 1975 คอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือสามารถยึดครองเวียดนามใต้ได้ ลาวและกัมพูชายังถูกยึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เช่นกัน ตลอดจนการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามที่ยาวนานนับ 10 ปี ตั้งแต่ 1979-1989 ที่อาเซียนผนึกกำลังร่วมกับแรงสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติอันนำไปสู่การถอนทหารของเวียดนาม
20 ปีแรกของอาเซียนถือเป็นความร่วมมือที่เน้นการเมือง-ความมั่นคงเป็นหลัก เมื่อล่วงเข้าสู่ต้นทศวรรษ 1990 การล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและในสหภาพโซเวียตกอปรกับกระแสโลกาภิวัตน์ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โลกและอาเซียนเริ่มให้ความสำคัญจากการเมือง-ความมั่นคง ไหลริน (spill over) ไปสู่ด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
ผลประโยชน์ที่ลงตัวภายใต้ความร่วมมือ
ต้นทศวรรษ 1990 อาเซียนเริ่มเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขณะเดียวกันได้มีเวทีเพื่อการปรึกษาหารือภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) จนกระทั่งปี 1995 ความร่วมมือจากกลุ่มประเทศหลักที่ร่วมก่อตั้ง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ได้ขยายวงสมาชิกเพิ่มขึ้น คือเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีพัฒนาการไปในทางที่ดีจนเกิดความร่วมมือขนาดย่อยภายใต้กรอบอาเซียนเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Growth Triangle SIJORI) ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซียบริเวณเกาะบาตัมจังหวัดริเอา และมาเลเซียบริเวณรัฐยะโฮร์ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT: Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Quadrangle Economic Cooperation) ประกอบไปด้วย จีน พม่า ลาว ไทย ความร่วมมือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย กัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือแบบ อาเซียน+ หรือ ASEAN Plus เพื่อการสานผลประโยชน์ร่วมกันผ่านกรอบความร่วมมือขนาดเล็กทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างรัฐมากขึ้น
เส้นทางสู่อาเซียน 2015
บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้อาเซียนได้เรียนรู้ว่าไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังภายใต้กระแสทุนนิยมโลก ขณะเดียวกัน กระแสการก่อการร้ายเริ่มขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเห็นได้จากการโจมตีสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา และในเอเชียคือการก่อการร้ายวางระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซียในปี 2002 รวมถึงโรคระบาดที่แพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น โรคซาร์สที่ลุกลามจากจีนมายังฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ แคนาดา และขยายไปทั่วโลก โรคไข้หวัดนก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่ ท้าทายประเทศต่างๆ ทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค ให้แสวงหาวิถีทางในการรวมตัวกันเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ดังนั้น แนวคิดในการการรวมกลุ่มและร่วมมือกันมากขึ้นน่าจะช่วยให้อาเซียนร่วมอยู่ในเวทีประชาคมโลกได้อย่างไม่ลำบากนัก
รัฐภาคีอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน หรือ Bali Concord II เมื่อปี 2003 เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme 2004-2010) โดยมี 3 เสาหลักสำคัญตามที่กล่าวมาข้างต้น และได้ลดระยะเวลาที่จะเข้าสู่ประชาคมในปี 2020 เป็นปี 2015 โดยเฉพาะในด้านการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ AEC จะทำให้มีตลาดและฐานการผลิตเดียว ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือมีความเสรีมากขึ้น ภายหลังเป็นประชาคมอาเซียนเต็มตัวในปี 2015 ประเทศสมาชิกจะรวมตัวเป็น ตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดถึง 600 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างสะดวก
แน่นอนว่าการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกในด้านสินค้าและบริการจะเพิ่มมากขึ้น เพราะอัตราภาษีจะเท่ากับร้อยละ 0 และยังขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายอาจต้องหาแรงจูงใจและแรงดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัวบทกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเป็นประชาคมอาเซียนดังกล่าว และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับประชาคมอาเซียนเศรษฐกิจให้มากขึ้น อย่างน้อยควรให้ความรู้และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการให้มีการเชื่อมโยงความรู้ และสามารถผลักดันกลไกดังกล่าวในทางที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลต้องหาทางเพิ่มทักษะและความรู้ให้แก่แรงงานไร้ฝีมือ เพื่อพัฒนาเป็นแรงงานมีฝีมือ ที่ส่งผลให้ช่วยลดอัตราการว่างงาน ที่ทำให้ระดับพัฒนาการในสังคมมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถหาเลี้ยงชีพได้ แนวโน้มของอัตราการก่ออาชญากรรมจะลดลง
ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แต่ละประเทศต้องพยายามรักษาบริหารบ้านเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อสนับสนุนให้มีการค้าการลงทุนในประเทศของตนมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันขยายตัวลุกลามไปทั่วโลก การปกครองบ้านเมืองให้เกิดเสถียรภาพจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและทำการค้าขายกับประเทศนั้นๆ เมื่อรายได้ภายในประเทศเพิ่มพูน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันอาเซียนจะสามารถประคับประคองสถานะตนเองไม่ให้ประสบกับวิกฤตทางการเงินได้อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1997
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รัฐภาคีอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในด้านนี้ควบคู่กับการเมืองความมั่นคงและเศรษฐกิจ เนื่องจากการเรียนรู้วิถีชีวิตและการเข้าใจวัฒนธรรมของรัฐภาคีร่วมกันจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง-ความมั่นคง จะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันมากขึ้น มากกว่าจะขับเคี่ยวกันด้วยการแข่งขัน เพราะทุกประเทศได้ร่วมเข้ามาอยู่วงไพบูลย์เดียวกัน ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดชะตาอาเซียนไปพร้อมๆ กัน
ความร่วมมือของอาเซียนเกิดมานานนับ 4 ทศวรรษแล้ว อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะขยับเข้าสู่การเป็นประชาคม ขณะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการเริ่มตื่นตัวพร้อมที่จะรับมือกับโอกาสและความ ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น ภาคประชาสังคม และประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อปรับตัวเข้าสู่การบูรณาการความร่วมมือในเชิงลึกของอาเซียนและประสบความสำเร็จ
ขอบคุณข้อมูลจาก siamintelligence
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น