การ เข้ามาบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย กับความคาดหวังตามคำทำนาย “นารีขี่ม้าขาว” ที่ผูกมัดตัว “ผู้นำโคลนนิ่ง” ว่าต้องพิสูจน์ฝีมือภายใต้การชักใยของ “ทักษิณ ชินวัตร” พี่ชายบังเกิดเกล้าที่คอยสั่งการ ถ่ายทอดตั้งแต่สายเลือด จนถึงบทบาทหน้าที่การทำงาน
สุดท้าย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ไม่สามารถลบล้างคำครหาที่ว่า “ดีแต่เปลือก” ได้ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีในประวัติศาสตร์ชาติไทย ภายใต้การสั่งการของ “ศปภ.” ที่พิสูจน์แล้วว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทำงานได้ “ห่วย”
กระทั่งเกิดเหตุนายกฯหญิงเกิดอาการวีนใส่นักข่าวที่ถามคำถามเสียดแทงจิตใจ “เหวี่ยง” แถมงอนไม่ตอบคำถาม อ้างสื่อฯบางคนถามด้วยสีหน้าเคร่งเครียดและไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้รู้สึกถูกคาดคั้น โดยขอสื่อช่วยปรับใบหน้าให้ยิ้มแย้มเวลาถาม
“อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล” นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ตอกกลับนายกฯหญิงแบบยิ่งเสียดแทงใจว่า..."จาก ประสบการณ์งานในอาชีพสื่อสารมวลชนของผมตั้งแต่ปี 2526 ผมสรุปเป็นหลักคิดส่วนตัวว่า...เมื่อใดที่รัฐบาลใดมีปัญหา เริ่มโทษสื่อมวลชนเรื่องความถูกต้องในการรายงานข้อมูลข่าวสาร เมื่อนั้นคือเวลาที่รัฐบาลมีปัญหาการควบคุมหรือจัดการกับข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ "ความจริง" หรือ "ความไม่จริง" และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการที่รัฐบาลกำลังมีปัญหาในการจัดการกับตัวรัฐบาลเอง และวิกฤติที่รัฐบาลเผชิญอยู่"
“สัมภาษณ์พิเศษไทยอินไซเดอร์” สัปดาห์นี้จึงขอจับเข่าคุยกับ "อ.สมเกียรติ" อย่างเป็นทางการ ซึ่งนักสื่อสารมวลชนผู้นี้ได้วิพากษ์บทบาทของศปภ.ที่ถือเป็นจุดอ่อนของ รัฐบาล ที่ปกปิดข้อมูลข่าวสาร จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ล้มเหลว พร้อมวิพากษ์ถึงพี่ชายสุดจุ้นจ้านที่นิสัยไม่ดี แย่งซีนน้องสาวตัวเอง แถมกำลังจะ "ทำลายน้องตัวเองบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี" คำสัมภาษณ์เหล่านี้อาจแทงใจใครหลายคน...
Q : “เมื่อใดที่รัฐบาลใดเริ่มโทษสื่อมวลชนเรื่องความถูกต้องในการรายงานข้อมูล ข่าวสาร เมื่อนั้นคือเวลาที่รัฐบาลมีปัญหา เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการที่รัฐบาลกำลังมีปัญหาในการจัดการกับตัวรัฐบาลเองและ วิกฤติที่รัฐบาลเผชิญอยู่” สิ่งนี้คือสิ่งที่อาจารย์เขียนในเฟชบุ๊ค ช่วยอธิบายถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงวิเคราะห์แบบนี้?
A : อันนี้เป็นทฤษฎีทั่วๆไป ที่จริงพวกเราที่ทำสื่อมานาน เป็นทฤษฎีที่พวกเราวิเคราะห์กันเอาเอง อาจจะไม่มีสอน "Political Communication" แต่ว่าตลอดอาชีพการทำสื่ออันนี้ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทุกรัฐบาลในโลกนี้เวลาจัดการข้อมูลข่าวสารได้ในยามวิกฤตก็แฮปปี้แล้วก็ขอ ความร่วมมือกับสื่อมวลชน ในช่วงต้นพฤติกรรมของรัฐบาลต่างๆในโลกก็จะเป็นแบบนี้ พอไปๆแล้วมันคอนโทรลข้อมูลข่าวสารไม่ได้ ก็เริ่มหวั่นไหวไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนก็จะเริ่มซักถาม รุกเร้า รุนแรง ขึงขัง ไม่ยิ้มมากขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็จะไปหาข่าวเองมากขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล แล้วพอเรามาถึงในยุค New Medias หรือ "ยุคสื่อใหม่" ปรากฏว่าสื่อกระแสหลักก็ต้องแข่งกับสื่อใหม่ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า Social Network เมื่อ New Medias เขาพึ่งตัวเอง หาข่าวกันเอง อย่างผมเองก็หาข่าวในพื้นที่เมืองทอง ปากเกร็ด เพราะว่าจะได้รู้ว่าหมู่บ้านเราเป็นยังไง ซึ่งสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้ เขาเลือกตามกระแสกันไป เพราะฉะนั้นสื่อทางอินเตอร์เน็ท เว็บไซต์ เว็บบล็อก เฟซบุ๊ค เขาก็มีข่าวกันเอง เพราะฉะนั้นสื่อกระแสหลักก็ต้องแข่ง เว็บบล็อกต่างๆก็แข่งกับรัฐบาล ไม่พอใจรัฐบาล ทำให้มาดึงความสนใจไปจากการแถลงข่าวของรัฐบาล ซึ่งสับสนตั้งแต่ต้น ซึ่งทุกคนจะเห็นความสับสน คือนั่งกัน 2-3 คน ผลัดกันแถลง ไม่มีหลักว่าจะเอาใครเป็นหลัก เสร็จแล้วข้อมูลก็ไม่ได้จากนักวิทยาศาสตร์ พอรัฐบาลใช้นักวิทยาศาสตร์ปรากฏว่านักวิทยาศาสตร์ในช่องอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ.เสรี ศุภราทิตย์ (ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร) ซึ่งผมกำลังนั่งคอยแกทุกวัน มีเหตุผล มีวิธีการนำเสนอ มี Presentation ที่น่าเชื่อถือมากกว่า ลงพื้นที่ มีกราฟฟิค มีภาพทำได้ดีกว่ารัฐบาล
“ทั้ง หมดนี้รัฐบาลก็เลยต้องแข่งกับสื่ออื่น สื่อกระแสหลักก็ต้องแข่งกับ New Medias เพราะฉะนั้นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารจึงกระจัดกระจาย รัฐบาลก็เริ่มหงุดหงิด เพราะฉะนั้นก็เริ่มโทษสื่อ ทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลเก่าๆ พอมีเรื่องแล้วคุมไม่ได้ก็เริ่มโทษสื่อ ผมเคยเขียนเป็นโน้ตสั้นๆว่า โดยประสบการณ์แรกๆมันก็ดีทั้งนั้น พอไปถึงจุดที่คอนโทรลไม่ได้ก็โทษสื่อ George W. Bush(อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ก็ทำอย่างนี้ ประธานาธิบดีโอบามา(ประธานาธิบดีสหรัฐฯปัจจุบัน)ก็เกิดวิกฤตอย่างนี้เช่น เดียวกัน ในตอนที่ตัวเองแก้วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้”
Q : ความล้มเหลวของ “ศปภ.” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับวิกฤตข่าวสารได้ใช่หรือไม่ จนนำมาสู่เรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารจนถึงทุกวันนี้?
A : ผมก็คงเหมือนพวกเราทุกคน คือดูเท่าที่เห็น เพราะว่าไม่ได้เข้าไปข้างใน แต่ว่า Thaiflood เขาอธิบายเลยว่าขอเข้าไปข้างใน เขาก็ไม่ให้เข้า แล้วผมก็พึ่ง Thaiflood อยู่ เราก็ไปดูเองบ้าง เพราะฉะนั้นศปภ. รูปแบบการทำงานตั้งแต่ต้น ผมดูตามประสบการณ์ชีวิตการทำงานว่าวันแรกที่เห็นนั่งเป็นแผงเหมือนคณะ ปฏิวัติ แล้วแต่ละคนเราก็รู้จักหน้าว่ามันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ มันอธิบายอะไรไม่ได้ พงศพัศ(พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ )เป็นตำรวจ วิม(รุ่งวัฒนจินดา)เป็นนักการเมืองซึ่งดูแลสื่อในส่วนของชินคอร์ป นายกฯ(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)นี่ก็สื่อไม่เป็นอยู่แล้ว เพราะว่าภาษาไทยก็ไม่คล่อง ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี แล้วก็ยังไม่พร้อม ยิ่งพล.ต.อ.ประชา(พรหมนอก ผอ.ศปภ.)นี่ก็ตำรวจ คือ คนที่นั่งอยู่บนแผงไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีความรู้ เรากำลังทำสงครามกับธรรมชาติ ซึ่งอาศัยวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่น่าเชื่อถือ ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มาถึงอ.ธงทอง(จันทรางศุ)ก็ไม่ใช่อยู่ดี อ.ธงทองก็เป็นครู บรรยายอยู่นั่นแหละกว่าจะเข้าที่ เพราะฉะนั้นหน้าต่างของศปภ.มันไม่ใช่มืออาชีพ แล้วมีกันหลายคน ข้อมูลก็ไม่ดี มันไม่ดีตั้งแต่ต้น คนเขาก็หันไปหาดูทีวี
Q : การที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มันเลวร้ายมากขึ้น ผนวกกับการทำงานของศปภ.ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตทางข้อมูลข่าวสารตามไปด้วยใช่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการกระพือของข่าวที่รุนแรงตามมา?
A : ที่จริงในการเสนอข่าวสารไม่ว่าภาครัฐ เอกชน สื่อเล็กหรือสื่อใหญ่ "ความจริง" เป็น หลัก เพราะทุกคนต้องการความจริง...เท่านั้นเอง ไม่ต้องมาปกป้อง ปิดบังอะไรกัน ความขัดแย้งปกปิดกันไม่ได้ เพราะว่าในที่สุดมันก็เห็น ไม่ว่าจะในวิกฤตหนักมากน้อยแค่ไหนก็ขอให้เสนอความจริง แต่คราวนี้ผมคิดว่าทั้งผมและทุกคนรวมทั้งศปภ. และรัฐบาลด้วย ในช่วงก่อนเดือนตุลาคมเราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นวิกฤตระดับสงคราม ผมอยากจะเขียนว่าเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 3” แต่ก็ไม่อยากโพสต์อะไรที่คนอื่นไม่เข้าใจ Concept เดี๋ยวคนที่เข้าใจสำนวนฝรั่งจะเป็นเรื่องใหญ่ คือ ตอนนี้มันเหมือนสงครามครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นการทำสงครามกับธรรมชาติ บอกให้ประชาชนเข้าใจไปถึงพลวัตร ไดนามิกของน้ำ แล้วก็ไม่ต้องอ้อมค้อมกันมาก แล้วให้ระมัดระวัง...ก็จบ
แล้วผมคิดว่าสิ่งที่ซ่อนเร้น ซึ่งเราก็อ่านออก ผมว่าคุณก็อ่านออก ก็คือความขัดแย้งระหว่าง "กทม." กับ "ศปภ." ซึ่ง จะปกป้องกรุงเทพฯสุดชีวิตทุกตารางนิ้วให้แห้ง แล้วปัดน้ำออกตะวันตก ตะวันออก ซ้ายขวา ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาของรัฐบาลที่พยายามปกปิดความขัดแย้ง แล้วอ.สุขุมพันธุ์(บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.) ผมก็รู้จักแกดี เพราะเคยทำงานร่วมกัน สุภาพจะตาย ถ้าหน้าไม่เขม๋งเกรียวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งมันยิ่งชัดเจน ยิ่งทำลายลักษณ์อักษร ทำหนังสือ พอความขัดแย้งเป็นการเมือง มันก็ไม่มีเรื่องที่จะใช้วิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหา ผมคิดว่าเป็นปัญหามาก เพราะรัฐบาลใช้การเมืองแก้ปัญหา แล้วรัฐบาลต้องการเอาน้ำเข้าเมือง เข้าเมืองชัดๆ กรุงเทพฯต้องท่วมบ้าง ซึ่งตอนนี้คือสิ่งที่รัฐบาลทำ อ.สุขุมพันธุ์เขาไม่ต้องการ เขาเป็นเจ้าเมืองกรุงเทพฯเท่านั้น เขาไม่เกี่ยวกับเมืองอื่น เขาจะทำกรุงเทพฯให้แห้ง ซึ่งน้ำท่วม 2526 ปี2538 จะเห็นว่าถ้าท่วมจริงๆ เข้าในกรุงเทพฯมันก็จะอยู่แถวๆรามคำแหง แล้วก็แถวพัฒนาการ ผมเคยทำข่าวในช่วงนั้น มันไม่เข้าแบบนี้ มันเข้าแบบตะวันออก ตะวันตก ส่วนใหญ่ออกทางตะวันออก แล้วมันกระฉอกเข้ามาเท่านั้นเอง แถวประเวศ กรุงเทพฯถ้าเหนือบ่ากว่าแรงจริงก็ไปแถวรามคำแหง ตอนนี้มันไม่ไป รัฐบาล เอาน้ำ เอาคลองประปา เอาวิภาวดีฯ กับพหลโยธินทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำ อ.สุขุมพันธุ์ก็พูดอย่างนั้น ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลไม่แถลง แต่ว่าวิญญูชน สื่อมวลชนทุกคนมองออก เพราะว่ามันมีข้อมูลวงใน ศปภ.เสียความน่าเชื่อถือ
Q : ความน่าเชื่อถือของศปภ.ที่หมดไป คนส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าเพราะไม่ได้บอกข้อมูลความจริงแต่แรก
A : ใช่ๆๆ ไม่ได้บอกความจริงแต่แรกจริงๆ เพราะว่าพอพูดเรื่องน้ำที่ไหลมาปุ๊บ เราก็ไม่เข้าใจว่าอะไรกัน บอกน้ำระบายจากเขื่อน แต่ปรากฎว่าในวันเดียวกันพวกเด็กๆน้องๆผมซึ่งปัจจุบันมันก็โตเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยกันแล้ว มันก็โพสต์เอาตัวเลขน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มาให้ มีกราฟ มีสถิติ มีการขึ้นลงแบบวันต่อวันของกฟผ. ซึ่งไม่ใช่ความลับ พวกอาจารย์หนุ่มๆที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนฯลาดกระบัง ที่ผมรู้จักมันก็โพสต์มาให้ดู คือมันไม่ต้องคอยรัฐบาล ไม่ต้องกลัวรัฐบาลปกปิด เพราะประชาชน นักวิทยาศาสตร์หนุ่มๆสาวๆ มันฟิตกันเต็มที่ เราจึงรู้ข้อมูลเรื่องเขื่อน อย่างตอนนี้รัฐบาลกับประชาธิปัตย์ก็เถียงกันอีกแล้วว่าวันไหนน้ำในเขื่อน เป็นยังไงตอนเข้ามาตั้งรัฐบาล มาเถียงทำไม ผมรู้ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว การปล่อยน้ำในเขื่อนมันมีตัวเลข มันหลบไม่ได้ กฟผ.มีตัวเลข คือไม่ให้ความจริงในโลกที่ความจริงได้แค่กดปุ่ม แล้วคนที่รู้จักว่าจะคลิ๊กไปที่เว็บบล็อกไหนแค่นั้นเอง
Q : การอ้างว่าไม่อยากให้ข้อมูลมากเกินไปเพราะกลัวว่าประชาชนจะแตกตื่น ใช้เหตุผลนี้มาอธิบายได้หรือไม่?
A : ข้อมูลมากเกินไปมันควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นปรากฎการณ์ปกติของโลกไซเบอร์ หรือโลกโลกาภิวัฒน์ยุคข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลมากเกินไปเรารู้กันมาตั้ง 20 ปีแล้วนะ อันนี้มันข้อมูลปกติ ข้อมูลท่วมท้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องจัดการและแจกข้อมูลไปยังสื่ออื่นๆที่ต่างคนต่างหิว ข้อมูล ต่างไม่หากันเอง เพราะฉะนั้นศปภ.ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งยากและง่ายกับคนที่ต้องการ
Q : ศปภ.ตอนนี้ไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวสาร แต่กลายเป็นศูนย์ที่ใช้ตอบโต้ข้อมูลจากแหล่งอื่น
A : ผมรับข้อมูลข่าวสารทั้งวัน เพราะคนแก่อยู่กับบ้าน อย่างผมดูอ.เสรีช่วงแรกผมก็คิดว่าอาจารย์คนนี้มายังไง ผมดูแล้วเขาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชั้นดี เพราะว่าผมเคยทำงานด้านนี้มาก่อน เขาเรียกว่า Science Communicator แล้วเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์จริง อาจารย์เขา Present ดี แล้วเขารู้เรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็ดูแกทุกวัน พอสักพักปรากฏว่าช่องอื่นก็มีนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลไปลุยอ.เสรี แล้วลุยแบบอ้อมๆ ไม่เอ่ยชื่อ ผมก็เลยรู้ว่าเขาเริ่มลุยกันแล้ว ทำไมเราจะไม่รู้ ชาวบ้านอาจจะนึกไม่ออกว่าหมายถึงใคร เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่ารัฐบาลก็คอยดูสื่อกระแสหลักว่านำไปทางไหน แล้วตัวเองก็ไล่ตาม บังเอิญสื่อของศปภ.คุณดูทุกวันจะพบว่าเป็นที่ถ่ายภาพบุคคลมาบริจาค เป็นงานหลักเลย แล้วหลังจากนั้นก็สัมภาษณ์รัฐมนตรี สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง คุณสุภาพ คลี่ขจายบ้าง คุณจักรพันธุ์ ยมจินดาบ้าง คือพวกไทยรักไทยทั้งหลายก็ย้อนกลับมา พวกนักสื่อสารซึ่งเป็นอดีต แต่ไม่ใช่มืออาชีพทางด้าน Science Communicator ก็กลับมา ก็ได้แต่สัมภาษณ์นักการเมืองด้วยกัน เปิดดูช่อง 11 พบแต่การนั่งสัมภาษณ์บุคคล มันไม่มีข่าวเกี่ยวกับชาวบ้านจะเป็นจะตาย จะหลบไปทางไหนเท่าไหร่นัก
Q : การจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤตจึงต้องแตกต่างกับสถานการณ์ปกติ
A : ตอนนี้มันเป็น "การจัดการข้อมูลข่าวสารในยามวิกฤต" เพราะฉะนั้นรัฐบาล ต้องเป็นเจ้าของข้อมูล และข้อมูลต้องเป็นจริงเพราะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ น้ำไหล น้ำมาก รัฐบาลต้องเป็นแหล่งที่คนอื่นมาล้วงข้อมูลไป เช่นแถลง แล้วอัพเดตบนเว็บ แจกเอกสาร ออกอากาศทางวิทยุ แล้วก็แถลงตอนแรกก็ทำผิด คือมานั่งเป็นแผงแล้วแบบตัวเองไม่รู้เรื่อง แล้วตอนหลังบอกจะพูดคนเดียวก็ยังไม่พูดคนเดียว แล้วบอกจะเป็นลายลักษณ์อักษร จะอ่านประกาศเท่านั้น ก็ไม่ทำอยู่ดี คุณลองไปตามประวัติสิ ผมก็บันทึกไว้ มันไม่ทำอย่างที่พูดเลยสักทีนึง ถ้าแถลงแบบคณะปฎิวัติ คือแถลงการณ์ฉบับที่ 1,2,3 แล้วเขียนมาโดยนักวิทยาศาสตร์ตรวจสคริปต์ พอแล้วมันก็กระชับ ส่วนรายละเอียดพวกเราที่เป็นสื่อกระแสหลักก็ไปกดเอา อย่างนั้นจะทำให้ Control Data พื้นฐานของรัฐได้ ส่วนสื่อกระแสอื่นจะไปหาอะไรเพิ่มเติมก็ไม่ว่ากัน แล้วถ้าเขาอยากได้ข้อมูลของรัฐ อย่าง Thaiflood ที่เขาอยากจะมานั่งประชุมด้วย ก็ให้มา สมัยผมเป็นส.ว.สื่อมวลชนต้องการเข้ามานั่งในห้องประชุมกรรมาธิการ เพื่อจับข่าวเวลาเราร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ ก็ให้มานั่ง ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เราก็ให้มานั่งหมด สื่อมวลชนเนี่ย เพียงแต่ไม่ให้เขายกมือถามเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ไม่ให้สื่อเข้าไปดูการทำงาน มันก็ไม่มัน เขาก็ต้องหาข่าวเอง ผิดบ้างถูกบ้าง คือไม่ Control ข้อมูลจริงที่ตัวเองมีอยู่
Q : ในยามวิกฤตควรให้สื่อเข้าไปร่วมรับฟังการทำงานด้วย แต่ฝ่ายรัฐยังไม่อนุญาตเพราะเกรงว่าจะเป็นการไปล้วงข้อมูลหรือไม่
A : คือโลกของการแถลงข่าวต้อง "แถลงความจริง" แล้วในยามวิกฤตก็ต้องแถลงความจริง จะบอกไม่ให้ตื่นตระหนก...ก็ไม่ต้องบอก คือบอกให้รู้ความจริงแล้วอธิบายให้เข้าใจ ไม่ให้ตื่นตระหนก แต่ศปภ.ไม่ได้ให้ความจริง แล้วทุกคนก็รู้อะไรเป็นอะไร หรือเขาอาจจะไม่รู้ความจริงก็ได้ เช่นเขาไม่รู้หรอกว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ยังไง ตัวเขาเองยังต้องย้ายไม่ทัน แล้วตอนนี้ก็มาอยู่ตึกพลังงาน กะเดี๋ยวว่าต้องย้ายอีก แล้วก็บอกไม่ย้าย เพราะฉะนั้นเวลาเขาย้ายครั้งที่ 1 มันพิสูจน์ว่าเขาไม่รู้ว่าน้ำจะมาชนตัวเขายังไง แต่การขัดแย้งแล้ว ใช้พ.ร.บ.ป้องกันฯกับผู้ว่าฯกทม.มันชัดเจนว่าเขาต้องการใช้อำนาจในการระบาย น้ำเข้ากรุงให้เร่งไหล ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดถูก เราก็เห็นแล้วตามที่เขาต้องการ ซึ่งผู้ว่าฯก็พูดไม่ออก เปิดประตูก็เปิด ปิดก็ปิด ผมตอนหลังเราคงได้ความจริงถ้าหากอาจารย์สุขุมพันธ์เขียนบันทึก เขียนหนังสือเล่าเรื่องนี้ หรือเวลาเปิดประชุมสภาฯเดี๋ยวคงเห็นว่าจะลุยกันยังไง เขาบอกว่ามันอึกอัดอยู่
Q : ที่มีคนเชียร์ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เพราะข้อมูลมีความชัดเจนมากกว่าหรือไม่?
A : คือ...บังเอิญผมอาจจะลำเอียงเพราะรู้จักอ.สุขุมพันธุ์ คืออ.สุขุม พันธุ์ในฐานะผู้ว่าฯกทม. เขาพูดตั้งแต่วันแรกแล้วว่าให้ฟังเขาคนเดียว แล้วเขาจะแถลง แล้วเขาจะไม่ให้กรุงเทพฯน้ำท่วม ถ้าเกิดปัญหาเขาจะบอก เขาเป็นเจ้าเมืองกรุงเทพฯ เขาไม่ใช่เจ้าเมืองจังหวัดอื่น เพราะฉะนั้นเขามีหน้าที่ปกป้องกรุงเทพฯอย่างเดียว แล้วปกป้องอย่างเต็มที่ มันก็เหมือนกับการปกป้องกรุงเทพฯให้พ้นจากน้ำท่วมเมื่อปี 2538 หรือปี 2526 มันเหมือนกัน ทีนี้เวลาเขาทำ เขาก็ต้องคิดว่าระบายน้ำออกซ้าย-ขวาเท่านั้นเอง มันก็เป็นความน่าเชื่อถือ เพราะว่าเราอยู่ในกรุงเทพฯ เราก็ฟังเขา แต่พอมีกรมชลประทานมาเกี่ยวข้อง รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาก็ถูกสั่งในทางที่มันขัดใจเขา เมื่อให้กฎหมายเขาก็ต้องยอม ผมคิดว่าขณะนี้คนก็ยังเชื่อกทม.อยู่ แต่จะเห็นใจกทม.หรือไม่ไม่รู้เพราะว่าน้ำมันท่วมหมดแล้ว เหลือไม่กี่เขต
Q : มีคนโจมตีสื่อมวลชนว่านำเสนอข่าวแต่ในมุมวิกฤต จนทำให้คนเข้าใจว่าสถานการณ์มันเลวร้าย จนมองว่าน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงเกินไป
A : ที่จริงมันแรงนะ มันโกหกกันไม่ได้ มันมีประวัติศาสตร์ เราเคยทำข่าวน้ำท่วมปี 2526 ปี 2538 เราก็เห็นอยู่แล้วว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯมันโอบล้อมมาข้างนอก มันถึงเข่าแถวๆหัวหมาก คลองประเวศ พัฒนาการ มันไม่ได้มากเท่าครั้งนี้ แล้วครั้งถ้าดูปริมาณน้ำตามที่พวกนักวิทยาศาสตร์เขาบอกกันกี่ล้านกี่ล้าน ลูกบาศก์เมตร มันก็ย่อมมากกว่าครั้งที่แล้วอยู่แล้ว อันนี้เป็นข้อเท็จจริงทางการตรวจวัด มันไม่ใช่ว่าความรู้สึกที่สื่อมวลชนพูดกันเอาเอง แล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้มันก็ยังยืนยันอยู่ มัน ไม่มีฝนตกมาหลายวันแล้ว แล้วน้ำมันก็ค่อยๆไหลมาไม่ได้หายไปไหน นายกฯเองก็มาบอกเมื่อ 3 วันที่แล้วว่าอีก 2 วันคงจบ เพราะว่าไม่มีน้ำทะเลหนุนแล้ว นี่เข้าวันที่ 3 แล้ว อ.เสรีบอกว่า 45 วันถึง 2 เดือน คุณก็ดูสิ นายกฯก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
Q : ปรากฎการณ์ “แพะรับบาป” จะเกิดขึ้นกับ “กรมชลประทาน”หรือไม่?
A : ผมว่ากรมชลประทานกับกทม.เขามืออาชีพทั้งคู่นะ เขารับผิดชอบคนละพื้นที่เท่านั้นเอง กทม.ก็รับผิดชอบในเขตของตัวเอง กรมชลฯก็รอบนอก เพราะฉะนั้นถ้าเขาประสานงานกันตามปกติเหมือนสมัยก่อน โดยรัฐบาลไม่เข้าแทรกแซง มันก็ถกเถียงกันว่าจะเปิดจะปิดแค่ไหนเท่าไหร่แค่นั้นเอง ไม่ควรจะเป็นแพะทั้งคู่ เมื่อกรมชลฯอยู่ภายใต้การเมืองปุ๊บ แล้วรัฐบาลสั่งกทม.ไม่ได้ในช่วงต้นก็สั่งกรมชลฯ กรมชลฯเป็นข้าราชการก็...ครับผม ให้ทำอะไรก็ทำ รัฐมนตรีเกษตรฯก็อธิบดีกรมชลฯเก่า อธิบดีกรมชลฯรุ่นคลาสสิคก็คุณปราโมทย์ ไม้กลัด ก็ถูกเชิญเข้ามาอีก อธิบดีกรมชลฯจะไปพูดอะไร เพราะฉะนั้นกรมชลฯก็เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ต้องพูดกันเรื่องการประสานงานกทม. แล้วกทม.ดันเป็นของประชาธิปัตย์เข้าไปอีก ฉะนั้นมันก็เลยมีการเมืองแทรกเข้ามาอีก ผมว่าไม่ควรโทษทั้งกรมชลฯและกทม. ต้องโทษรัฐบาลที่ตัดสินใจแบบใด ปกติเราพร้อมให้อภัยเสมอ ผมว่าก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ ผมไม่มีบทบาทที่จะไปว่าใคร คุณ ยิ่งลักษณ์เราก็พยายามพูดสนับสนุน โพสต์ข้อความให้กำลังใจ ยกเว้นจะหงุดหงิดเวลาคุณทักษิณเข้ามาแทรก เพราะว่าเขามีหน้าที่ตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกต้อง ตอนนี้เมื่อข้อมูลเขาไม่ถูกต้อง เป็นคำแนะนำจากนักการเมืองด้วยกัน มันก็พลาด แล้วเวลาเขาแถลงก็แถลง...คืออายุการเมืองมันสั้นมาก ประสบการณ์น้อย แถลงบอกอีก 2 วันเสร็จ มันก็เหมือนฟันธง พอล้มเหลวก็ขอโทษตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมโน่นเลย ไฮเทค...อยุธยา คุณยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษหลายครั้ง เพราะว่าตัดสินใจแล้วประกาศการตัดสินใจทันที น่าจะฝึกการพูดแบบกำกวมบ้าง ซึ่งยังไม่เป็น ต้องใช้เวลามากในการแถลงแบบกำกวม
Q : ศปภ.กับกทม.เป็นเรื่องทางการเมืองที่ชัดเจนแล้ว
A : เป็น"การเมือง" แน่ นอนอยู่แล้ว 2 ค่าย(เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์)พูดกันไม่รู้เรื่อง ผมเห็นตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ยังไม่ใช้พ.ร.บ.ป้องกันฯว่าทำไมต้องออกหนังสือ ก็ดูจากเว็บของกทม.ว่าส่งหนังสือถึงศปภ.แล้ว ไอ้การทำลายลักษณ์มันทำก่อนหน้าจะถูกยึดอำนาจด้วยกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันฯ แล้ว ยิ่งตอนหลังอ.สุขุมพันธุ์มาแถลงว่าต้องทำหนังสือสั่งมาเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีคลองสามวา คือในยามวิกฤตเขายก โทรศัพท์คุยกันนะ ถ้ามันพวกเดียวกัน “เฮ้ย...ไม่ต้องห่วงกฎหมาย เดี๋ยวกูดูแลให้” แต่ทีนี้มันคนละพรรค ว่าถ้าไม่ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรผมไม่ทำให้ เพราะว่าคุณเล่นกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันฯ มันก็การเมืองชัดๆ แล้วเราก็จะเห็นในสภาฯ ซึ่งผมไม่อยากให้เปิดสภาฯเร็ว อยากให้ทุกอย่างมันเคลียร์แล้วค่อยทะเลาะกัน เปิดสภาฯปชป.เขาลุยเต็มสูบ
Q : ปรากฎการณ์น้ำท่วมสามารถสร้างแรงสะเทือนถึงขนาดล้มรัฐบาลได้หรือไม่?
A : มันไม่เคยมีหรอก คือถ้าเป็นสมัยก่อนน้ำท่วมมันเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติปกติ ไม่มีใครไปกำกับควบคุมมันมากนัก มันก็ไหลลงคลอง แช่น้ำกันพักนึงมันก็หาย ตอนนี้น้ำท่วมมันถูกกำหนดให้ท่วมโดยการตัดสินใจของผู้บริหารเมืองหรือรัฐบาล มันเป็นน้ำท่วมที่มีการจัดการ ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติจะไม่มีการทะเลาะกัน ชาวบ้านก็จะยอมรับไม่ไปพังคันกั้นน้ำ แต่เมื่อ มันมีการจัดการ กทม.ก็ต้องจัดการไม่ให้บ้านตัวเองท่วม เพราะชาวบ้านซ้ายขวา นครปฐม ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการเขาก็ต้องท่วม พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บมันไม่ใช่น้ำธรรมชาติ อันนี้คือการเมืองแล้ว ทำให้ที่หนึ่งแห้ง ที่หนึ่งท่วม แล้วพอรัฐบาลมาคิดว่าไม่ควรเป็นการตัดสินใจแบบกทม. ต้องตัดสินใจแบบรัฐบาล คือเกลี่ยน้ำไหลมาให้ทั่ว เพื่อหวังให้น้ำที่อื่นจะเบาบางลงเพื่อให้ประชาชนเฉลี่ยกันไป สบายใจกันบ้าง ทุกข์กันบ้างเท่าๆกัน ตอนนี้รัฐบาลกำลังถูกพิสูจน์แล้วว่าการตัดสินจะทำให้ลาดกระบังกับบางชัน นิคมฯอีก 2 แห่งที่เหลืออยู่จะท่วมหรือไม่ท่วม ถ้าท่วมความผิดอยู่ที่รัฐบาลเนื้อๆเลย ผมภาวนาไม่ให้ท่วม เพราะว่ามันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ให้เกิดการทะเลาะกันในการอภิปรายในสภา
รัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ผมคิดว่า โอกาสนี้เป็นวิกฤตก็จริงอยู่ แล้วพังอย่างไรก็ยอมรับกันไป แล้วถึงตอนที่ฟื้นฟูประเทศก็จะทำให้ได้คะแนนหรือชื่อเสียงกลับคืนมา อันนี้ก็ยกประโยชน์ให้ธรรมชาติไป แต่ก็ลำบากเพราะการจัดการมันล้มเหลวตั้งแต่ต้น ฉะนั้นรัฐบาลไม่ต้องรีบพูดเรื่อง “นิวไทยแลนด์” ไม่มีใครเข้าใจหรอก ควรจะลุยให้เต็มที่โดยการแจก เยียวยา การประกาศเข้าถึง เหมือนที่คุณยิ่งลักษณ์ไปอย่างวันนี้(หมายถึงที่ดอนเมือง) ไปทุกวัน ไปให้มันโชกเหงื่อไปเลย ไม่ต้องแต่งหน้า ผมเห็นแกแต่งหน้าทุกวัน แล้วรู้สึก...แต่งทำไม เป็นผมผมจะแกล้งทำให้หน้ายู่ยี่ทุกวัน อันนี้มันก็เป็น Political Communication อย่างหนึ่ง แสดงว่าแกมีเวลา ตกแต่งขอบตาสวยทุกวัน มันไม่มันเลย คือคนใกล้ชิดไม่รู้จักการ Presentation มันต้องลุย ต้องให้เปียก พูดง่ายๆคือถ้าลงลุยน้ำก็ไม่ต้องใช้กางเกงยาง เอาให้มันเปียกถึงกางเกงในเลย คืออย่างนี้สื่อเขาพร้อมที่จะช่วยถ่ายอยู่แล้ว คือมันสื่อไม่เป็น คือผู้นำมันไม่จำเป็นต้องไปเป็นไปตายกับประชาชน ไปตกค้างอยู่ที่ไหน แต่ว่ามันต้องแสดงออกถึงน้ำใจ
Q : บทบาทการทำงานคุณยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมามองแล้วเป็นอย่างไร?
A : โดยส่วนตัว "แบ็คกราวน์" พื้นฐานคุณยิ่งลักษณ์มันไม่มี ไม่พร้อม และไม่พอที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ อันนี้เป็นหลักปกตินะที่คุณต้องผ่านการเป็นส.ส. ผ่านการเป็นเลขาฯรัฐมนตรี ผ่านประสบการณ์มาเยอะ หลายคนผ่านมาตั้งแต่อบจ. เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการเตรียมตัวมันต้องใช้เวลาหน่อย ไม่ได้หมายความว่าเป็นนายกฯที่ดีไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลา การพูดการจาก็ยังใช้ไม่ได้ ยิ่งภาษาไทยไม่ควบไม่กล้ำอันนี้เรียนเท่าไหร่ก็ไม่ไหว(หัวเราะ) คือต้องค่อยๆไป เป็นนายกฯที่ดีได้ ผมเคยเขียนในเฟชบุ๊คว่าปชป.อย่าไปดูถูกเขานะ ถ้าให้เวลาเขาหาประสบการณ์ เขาอาจเป็นนายกฯที่ตัดสินใจอะไรดีๆหลายอย่างได้ ยังมีโอกาส คือช่วงนี้ตัดสินใจเยียวยาฟื้นฟู เข้าถึงประชาชนสั่งการให้เต็มที่ ไม่ใช่สั่งการในสัปดาห์แรกที่ตั้งศปภ.บอกให้ตำรวจไป 6-7 จังหวัด แล้วให้ทหารไปอีก 5- 6 จังหวัด ผมดูแล้วมันสั่งการกันแบบไหน แยกตำรวจกับทหาร เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่าทะแม่งๆ เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเขาควงอภิสิทธิ์(เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) ผบ.ทบ.ไปที่ไหนไปด้วยกัน ประชาธิปัตย์ไม่อยากเดินด้วยเลย
Q : คุณยิ่งลักษณ์ถือว่าโชคร้ายหรือไม่ที่ต้องมาเจอกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น?
A : ผมคิดว่าโชคดีนะ อย่าไปคิดว่าโชคร้ายสิ โชคดีเพราะมีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ตัดสินใจอะไรให้เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว พูดไม่เก่งไม่ได้มีปัญหา เพราะฉะนั้นต้องเป็นตัวของตัวเองให้มาก และฟังคนเก่งๆให้เต็มที่ เหมือนบริหารเอสซี แอสเซท แต่ว่าอันนี้มันใหญ่กว่า มันต้องมีคณะทำงาน นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตัดสินด้วยข้อมูล และฉะฉาน ที่ ผมติมากๆ 2-3 วันที่ผ่านมาว่าอย่าให้พี่ชายมาแย่งซีน คุณทักษิณนิสัยไม่ดี ชอบแทรกแซง แย่งซีน ควรจะโทรให้คำปรึกษาน้องเงียบๆ แล้วไม่ต้องโผล่มาบอกผมพูดเอง ให้คำปรึกษาหลายครั้ง นิสัยแบบนี้มันทำให้น้องไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสักทีนึง พอน้องตัดสินใจอะไรก็บอกว่าผมบอกน้องมาหลายครั้งแล้ว แถมยังทวิตมาอีก ผมเลยทวิตกลับไปว่าคุณทักษิณคุณอย่ายุ่งได้มั๊ย ผมก็เลยโดนเสื้อแดงด่าอีก
“ผม ต้องการให้คุณทักษิณอยู่แบบเบื้องหลัง จะไปห้ามไม่ให้เขาคิด พูดอะไรกับน้องคงไม่ได้ แต่ต้องให้โอกาสน้อง อย่าให้น้องต้องเสียหน้าทุกวันว่าที่แท้พี่เขากระตุกอยู่ข้างหลัง เมื่อไม่ช่วยน้องอันนี้ก็ทำลายน้องแล้ว ไม่รู้จะแก้ยังไงนะผมไม่ใช่ญาติโยมเขา”
Thaiinsider
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น