หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในเขตกรุงเทพมหานครรวม 30 เขต ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย รวมทั้งกรณีบ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
ภายใต้เงื่อนไขประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งคำร้องได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ที่ประสบภัยสำหรับกรณีที่เป็นเจ้าบ้าน ให้นำเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือรูปถ่ายถ้ามี ส่วนกรณีที่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน หรือผู้เช่าบ้าน ให้นำเอกสาร ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย (ถ้ามี) พร้อมด้วยหนังสือเซ็นรับรองจากประธานชุมชน หรือตัวแทนที่สำนักงานเขตรับรอง ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่เขตจะทำการตรวจสอบเอกสารแล้วจะนำรายชื่อผู้มีสิทธิส่งเข้ามายังส่วนกลาง โดย กรุงเทพมหานคร จะมีการตรวจสอบข้อมูล รับรองความถูกต้อง ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของครัวเรือนที่ประสบภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ก่อนจ่ายเงินช่วยเหลือ ก่อนจะส่งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อรอขั้นตอนการดำเนินการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณตรงให้ธนาคารออมสิน อนุมัติการสั่งจ่ายให้กับผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุดดำเนินการช่วยเหลือต่อไป นั้น
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนชาวเขตบึงกุ่มส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็น 1 ใน 30 เขต กรุงเทพมหานคร ที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการขอรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท โดยอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่ (ซึ่งไม่ทราบว่าจากส่วนไหน) นำแบบฟอร์มเอกสารมาให้กรอกขอคำร้องเพื่อรับเงินจำนวนดังกล่าว ทั้งที่ ในส่วนบริเวณบ้านของพวกเขา (พื้นที่ที่แจ้งว่ามีการนำเอกสารไปให้กรอก คือซ.นวลจันทร์ 14) ซึ่งจากกาารตวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงหลายๆหมู่บ้านในเขตบึงกลุ่ม น้ำเข้าท่วมไม่ถึง โดยบุคคลที่ให้มากรอกเอกสารอ้างว่า ได้งบฯประมาณมาแล้ว ขณะที่บางส่วนก็อ้างว่า คนที่นำเอกสารมาให้กรอก ระบุว่า ที่เหลือ ส.ส. (พรรคการเมืองหนึ่ง) จะจัดการเอง
เพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เรื่องดังกล่าว มีมูลความจริงการกระทำอันส่อความไม่โปร่งใสและเป็นการกระทำจากเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม หรือจากหน่วยงานใดหรือไม่ ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์จึงได้โทรศัพท์สัมภาษณ์นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม ถึงกรณีดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันว่า ทางสำนักงานเขตไม่ได้มีการรับงบประมาณใดๆ จากทางรัฐบาลมาเพื่อดำเนินการในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งนั้น เพียงแต่ว่าทางเขตเป็นเพียงแค่หน่วยงานที่ตรวจสอบข้อมูลบ้านเรือนต่างๆที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่ประสบภัย และได้รับความเสียหาย ซึ่งจากการตรวจสอบมีเพียงบ้านเรือนของราษฎร แค่ประมาณ19% ของพื้นที่เขตบึงกุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม และขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ก็พบว่าน้ำได้ลดลงเกือบแห้งสนิทแล้ว โดยหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายเต็มพื้นที่ และหนักสุด คือ หมู่บ้านมณียา แขวงนวลจันทร์ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ความเสียหายไม่มากเท่าไหร่
กับกรณีที่ว่า มีผู้นำเอกสารมาให้ประชาชนกรอกเพื่อขอรับเงิน 5,000 บาทนั้น ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม ยืนยันว่า คนที่ดำเนินการไปให้ชาวบ้านกรอกเอกสารไม่น่าจะใช่เจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่มอย่างแน่นอน ทางเขตมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งหมด 7 ข้อ ที่ตนตั้งไว้ เริ่มตั้งแต่การตรวจเอกสารคำร้อง การรับเรื่อง ส่งชุดคณะกรรมการออกไปตรวจสอบความเสียหายที่มีการยื่นเรื่องมา ก่อนที่จะมาคีย์ข้อมูลผู้ยื่นคำร้อง ตรวจเอกสารทั้งหมด และขั้นตอนสุดท้ายตนจะเป็นคนตรวจสอบว่า บ้านไหนที่ได้รับความเสียหายและสมควรที่จะได้รับเงินชดเชยเยียวยาจำนวนดังกล่าวจริง ขั้นตอนการตรวจสอบนี้ ทางเจ้าหน้าที่เขตมีข้อมูลหลักฐานที่เพียงพอซึ่งจะรู้ได้ว่า ใครได้รับผลกระทบมากน้อยเท่าไหร่ จากภาพถ่ายและวิดีโอที่ทางเจ้าหน้าที่เขตได้ลงพื้นที่ไปสำรวจตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมก่อนหน้านี้แล้ว ว่าบ้านไหนเป็นอย่างไร สภาพเสียหายแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ทางเขตเพิ่งจะมีการผ่านรายชื่อครอบครัวที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วประมาณ 200-300 ครอบครัวเอง จากทั้งหมดที่ยื่นเรื่องมา ประมาณ 3 พันครัวเรือนแล้ว ซึ่งการทำงานค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเราต้องการให้แน่ใจว่า คนที่มาขอยื่นรับเงิน ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ
ทั้งนี้ นายกฤษณ์ ก็ยอมรับว่า เท่าที่ทราบเรื่องตอนนี้มีขบวนการเหลือบไรคอยหากินกับความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ ซึ่งตนกำลังพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตรวจสอบเอกสารต่างๆที่มีการยื่นคำร้องมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อย่างเช่นตอนนี้ พบว่า มีคนมายื่นเอกสารขอรับเงินแต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่ใช่เจ้าของบ้านที่ถูกน้ำท่วมตัวจริง เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบให้เห็นกับตาเลยว่า เป็นอย่างไร มีพวกพยายามาแอบอ้างเยอะมาก เพราะฉะนั้นคนที่จะมาสวมรอยในการหาประโยชน์จากการรับเงิน 5,000 บาทนี้ ทำให้ทางเขตเราทำงานได้ยากลำบาก หรือแม้กระทั่งคนที่รับรองสุ่มสี่สุ่มห้า เราก็จะไม่ไว้วางใจเมื่อนำไปเทียบกับฐานข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับเดือดร้อนไม่พบว่าตรงกับความเป็น เป็นต้น ซึ่งตนก็มองว่า บางทีการตรวจสอบการช่วยเหลือเยียวยา ตามเงื่อนไข ของมติครม.นั้น มันก้ำกึ่ง แม้จะระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีรูปถ่ายมายืนยัน แต่ตรงข้อที่ระบุว่าต้องมีความเสียหาย นั้นต้องเสียหายมากน้อยแค่ไหน นั่นทำให้การดำเนินการของทางเขตเราทำงานได้ช้า ทั้งๆที่เราอยากจะช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว แต่ตอนนี้เพิ่งรับรองไปได้ไม่แค่กี่ร้อยหลังคาเรือนเอง
"ผมออกนโยบายอย่างชัดเจนว่า ทางเขตบึงกุ่มเราต้องไม่มีการคอรัปชั่นเป็นอันขาด การดำเนินการร้องขอ ผมเป็นคนตรวจสอบขั้นสุดท้าย เราทำงานกันหนักมาก แม้จะล้ากันบ้างจากการลงพื้นที่ทุกวัน แต่ต้อต้องทำต่อไป เพราะฉะนั้นวางใจได้ว่า จะไม่เกิดความไม่ชอบมาพากลกับการส่งเรื่องไปยังกทม.อย่างแน่นอน เมื่อได้รับเรื่องมาผมก็ส่งคณะกรรมการไปตรวจสอบมีการประชุมกันทุกเย็น ขณะที่การพิจารณาการให้เงิน ก็ไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งนั้น มีแต่ให้ กับไม่ให้ บ้านหลังไหนเข้าหลักการผมอนุมัติผ่านให้เลยแต่บ้านไหน คนมายื่นเรื่องน่าสงสัยผมไม่ให้ผ่านไปง่ายๆ เพราะถ้าทางเขตดำเนินการไม่ละเอียด เราก็เสี่ยงต่อความผิดเช่นกัน และยืนยันทางเขตเราไม่มีงบประมาณใดๆ ในการดำเนินการส่งเรื่องยื่นของ 5,000 บาททั้งสิ้น เราทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ตอนนี้เราพยายามดำเนินเรื่องให้เร็วที่สุด ไม่ให้ช้า แต่อย่างว่า พวกเหลือบไรมันเยอะ ผมกลัวจังเลยพวกหากิน และไม่มั่นใจว่า พวกนี้ไปหากินอะไรบ้าง ใครจะมาสวมรอยแอบอ้างไม่ใช่ง่ายๆผมมีเรคอคอร์ดไว้อยู่แล้ว รวมถึงยืนยัน เขตบึงกุ่ม เราดำเนินการเฉพาะของเราเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพวกส.ส. ส.ก.หรือ ส.ข. ในการส่งเอกสาร" ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่มย้ำ
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างของการดำเนินงานของสำนักงานเขตต่างๆ รวมถึงการดำเนินงานของการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วยว่า มักจะมีผู้แอบอ้างหรือพยายามหาผลประโยชน์ สวมรอยหากินกับความเดือดร้อนของชาวบ้านโดยอ้างอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นในการหลอกให้ประชาชนลงชื่อเพื่อนำไปดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากผู้ปกครองท้องถิ่นนั้นๆไม่มีความเข้มแข็งหรือขาดซึ่งการดูแลเอาใจใส่ ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากเงินค่าชดเชยความเสียหาย ก็จะเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสเอาได้ รวมถึงฝากเตือนไปยังประชาชน อย่าหลงเชื่อคำเชิญชวนหรือลงชื่อร่วมกรอกข้อมูลเอกสารอะไรก็แล้วแต่ที่มีความผิดปกติ น่าสงสัย เพราะนั่นอาจจะทำให้มีความผิด หรือถูกสวมรอยใช้สิทธิในการดำเนินการต่างๆได้
มติชนออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น