วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ศึกชิงของบริจาคอยากได้ไปหา…หัวคะแนน !?!?
“วันนี้ได้กี่ห่อ ที่ไหนหนักกว่า”
“อยุธยาน้ำท่วมทั้งเมือง ลพบุรีท่วมบ้านสูงกว่า 2 เมตรแล้ว”
“สิงห์บุรีน้ำขังมาเป็นเดือน ชาวบ้านไม่มีจะกิน ไปที่นี่ดีกว่า”
“แต่ที่ชัยภูมิก็ท่วมหนัก ยังไม่มีใครไปแจกของเลย”
สียงพูดคุยถกเถียงของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการแจกจ่ายถุงยังชีพดังขึ้นแต่เช้าตรู่…ภายในสนามบินดอนเมือง บริเวณชั้น 1 ส่วนแจกจ่ายของบริจาค ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่อาสาสมัครนักเรียนกลุ่มหนึ่งช่วยกันต่อแถวลำเลียงถุงยังชีพไปยังรถบรรทุกทหาร ที่จอดเรียงกันอยู่ด้านหน้าถนนกว่า 10 คัน
สุดท้ายมีคำสั่งให้รถทั้งหมดมุ่งหน้าไปยัง จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นจุดวิกฤติน้ำทะลักเข้าเมืองฉับพลันทำให้ชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัยทันทีหลายพันครัวเรือน โชคดีมีถุงยังชีพเหลืออีกกว่า 200 ถุง กลุ่มที่อยากไปช่วยชาวบ้านที่สิงห์บุรีจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือไปยังอาสาสมัครที่มีรถบรรทุกขนาดเล็ก ให้มาช่วยขนไปแจกจ่าย เพิ่มเติมด้วยข้าวเหนียวไก่ย่างและข้าวเหนียวหมูทอดอีก 200 ห่อ พร้อมน้ำดื่มจำนวนหนึ่ง
10 โมงเช้า วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม รถบรรทุกคันเก่าที่อัดแน่นไปด้วยน้ำใจพร้อมอาสาสมัคร 9 คน มุ่งหน้าออกถนนวิภาวดีรังสิต สู่เส้นทางปทุมธานี เพื่อเบี่ยงออกทางหลวงไปยังพื้นที่เป้าหมาย แต่ผ่านไปได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง รถติดอยู่บนทางแยกบางบัวทอง แดดเที่ยงเริ่มร้อนแรงขึ้น ข้าวห่อกับแกงกะทิและอาหารถุงจำนวนหนึ่งที่เตรียมไปบริจาคเริ่มส่งสัญญาณไม่ดี 2 ชั่วโมงแล้วรถยังเคลื่อนที่ไม่ได้
บ่ายโมงกว่า…ทีมงานตัดสินใจเปิดไฟฉุกเฉินขอทางรถบรรทุกถอยหลังลงจากสะพานข้ามแยก ก่อนหาทางลัดไปตามถนนเส้นเล็ก ระหว่างทางที่ขับรถผ่านสุพรรณบุรีนั้น ฝนตกลงมาอย่างหนัก ขณะเดียวกัน เสียงโทรศัพท์มือถือจากชาวบ้านที่นัดหมายไว้ก็เริ่มถี่ขึ้น พวกเขาพายเรือออกมารอรับของตั้งแต่เที่ยง !!
4 โมงเย็นกว่า…ถึงที่หมายบริเวณถนนด้านหน้าหมู่บ้านถอนสมอ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เมื่อเห็นรถบรรทุกถุงยังชีพหยุดตรงหน้าชาวบ้านกว่า 20 คนขยับเข้ามายืนเรียงแถวเป็นระเบียบ ขณะที่อาสาสมัครแจกถุงให้ตามลำดับนั้น ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งตะโกนว่า “พวกนี้น้ำไม่ท่วมจริง มีที่ท่วมมากกว่านี้แต่ออกมาเอาของแจกไม่ได้” การทะเลาะเบาะแว้งเริ่มรุนแรงขึ้น กลุ่มอาสาสมัครจึงตัดสินใจขับรถเข้าไปวนดูพื้นที่ว่าบริเวณไหนน้ำท่วมจริง
“ยง โพธิ์ศรี” หนุ่มใหญ่ผู้ยืนสังเกตการณ์อยู่ด้านนอก ตัดสินใจเดินเข้ามากระซิบเบาๆ ว่า มีเหยื่อน้ำท่วมหมู่บ้านพิกุลทองจำนวนหลายร้อยคนรวมกลุ่มอยู่แถวถนนที่ห่างไปประมาณ 1 กม. ทีมงานตัดสินใจบึ่งรถไปถนนเลียบแม่น้ำด้านหลังแทน
ปรากฏว่าตลอดแนวถนนมีชาวบ้านนำเตียงนอนและแคร่ไม้ไผ่มาวางเรียงใต้หลังคาผ้าใบที่สร้างแบบฉุกเฉิน บางซุ้มก็ใช้ผ้าใบผืนใหญ่ขึงไว้ 3 ด้านเสมือนกั้นริมถนนให้เป็นห้องนอนส่วนตัวชั่วคราว มีข้าวของเครื่องใช้จำเป็นบางชิ้นเท่านั้นที่ขนหนีน้ำออกมาทัน
“แถวนี้ทำนาข้าว กับทำสวนส้ม ตอนนี้น้ำท่วมขังมาเกือบเดือนแล้ว สิงห์บุรีเป็นจุดแรกที่น้ำท่วมตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วย มีแต่มาแจกถุงมาม่ากับข้าวกล่อง แล้วก็จดชื่อไป พวกเราต้องช่วยเหลือกันเอง ส่วนใหญ่มีอาชีพเสริมคือทำดอกไม้พลาสติก แต่น้ำท่วมก็ทำไม่ได้ ต้องมานอนข้างถนนแทน” ยงเล่าถึงที่มาของพวกเขา
ซุ้มฉุกเฉินที่ชาวบ้านสร้างริมถนนนั้น ตั้งห่างกันประมาณ 100-200 เมตร ทำให้รถต้องแวะไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่จอดจะมีเด็กเล็กและผู้หญิงและคนแก่เดินออกมาต่อแถวรับถุงยังชีพ แต่ของบริจาคมีไม่พอให้ทุกคน จึงต้องมีการขอร้องให้รับบางส่วนแล้วไปแกะถุงแบ่งกัน
พี่ชาญ คนขับรถตัดสินใจว่า จะหยุดรถเฉพาะซุ้มที่ไม่มีเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาวางอยู่ เขาทำใจไม่ได้ที่เห็นผู้ชายนั่งจับกลุ่มกินเหล้ากัน แล้วปล่อยให้เด็กๆ กับผู้หญิงมายืนต่อแถวรับบริจาคข้าวห่อ ผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง รถบรรทุกก็ว่างเปล่าเหลือเพียงเศษมาม่าหลุดออกมาไม่กี่ห่อกับน้ำเปล่า 3-4 ขวด ชาวบ้านในซุ้มฉุกเฉินที่เหลือเป็นระยะทางกว่า 2 กม. ต่างชะเง้อคอมองว่าทำไม่รถถึงขับผ่านไปโดยไม่จอด!!
หลังเสร็จภารกิจ…เอ็นจีโอที่ช่วยเหลือภัยพิบัติตั้งแต่สึนามิภาคใต้ โคลนถล่มอุตรดิตถ์ น้ำท่วมเมืองนคร จนถึงอยุธยาจมบาดาล สรุปบทเรียนการบริจาคถุงยังชีพให้ฟังว่า ศิลปะในการแจกของนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ค. คือ 1.ต้องเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ “คนอยากได้” เช่น เทียน ยากันยุง ไฟแช็ก น้ำเปล่า ยารักษาโรค น้ำปลา น้ำมันพืช สำหรับเหยื่อน้ำท่วมนั้น เสื้อผ้าไม่จำเป็นมากนักเพราะยังว่ายน้ำเข้าไปเอาได้ หากจะให้ข้าวสารต้องดูว่ามีที่หุงข้าวหรือไม่
2.”คงทน” เช่น การบริจาคข้าวกับแกงกะทิ อาจเน่าเสียหรือบูดกลางทางระหว่างขนส่งได้ ส่วนขนมปังก็ไม่เหมาะสม ควรเป็นข้าวเหนียวใส่มาพร้อมหมูเค็มหรือไก่ทอดแห้งๆ เนื้อแห้งๆ จะกินง่ายกว่า 3.”คุ้มค่า” เช่น ชัยภูมิขาดน้ำดื่มแต่ถ้าขนจากกรุงเทพฯ ขับรถไป 4 ชั่วโมงอาจไม่คุ้มค่าน้ำมัน
“ถุงยังชีพขนมาเท่าไรก็ไม่พอแจกหรอก แย่งกันทุกครั้ง ตะโกนขอร้องให้อย่าเวียนเทียน คนที่น้ำท่วมอยากได้เพราะหิว คนที่น้ำกำลังท่วมก็กลัวว่าจะไม่มีกักตุน ที่เจอบ่อยๆ คือ เอาของบริจาคไปโยนให้หน้าอำเภอ หรือหน้า อบต. เสร็จแล้วพวกหัวคะแนนขนไปแจกเฉพาะพวกพ้องตัวเอง ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้ เพราะน้ำท่วมอยู่ด้านในไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าจะให้พวกเราขนเข้าไปแจกก็ไม่มีเรือ เรื่องแบบนี้ต้องหัดทำใจนะ” ผู้มีประสบการณ์กล่าวปลอบใจกลุ่มอาสาสมัครหน้าใหม่
ข้อมูลล่าสุด วันที่ 12 ตุลาคม ระบุว่า เหยื่อน้ำท่วมพุ่งถึง 8.3 ล้านคนจาก 61 จังหวัด ดังนั้นถุงยังชีพที่ได้รับมาไม่กี่แสนถุงนั้น ต้องถูกแจกจ่ายออกไปอย่างมีศิลปะ เพื่อไม่ให้เกิด “ศึกชิงของบริจาค” ?!?
ข่าวโดย : คมชัดลึก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น