เมื่อเวลา 16.30 น. ที่โรงแรมทอปแลนด์ จ.พิษณุโลก นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เรียกร้องให้ นายอภิิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ออกมาชี้แจงเรื่องการประชุมลับกับทางกัมพูชา เพื่อตกลงผลประโยชน์ ว่าในข้อเท็จจริงการพบปะกันที่ฮ่องกงระหว่างนายซก อาน รองนายกฯ กัมพูชากับนายสุเทพ ซึ่งนายสุเทพเองก็ได้ชี้แจงแล้วว่า ขณะนั้นเกิดปัญหา นายอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้ไปเป็นผู้ดำเนินการ และที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นการเจรจาลับนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเพียงการคุยกันนอกรอบ 2 ครั้ง ไม่มีวาระอะไรพิเศษ เป็นเพียงแค่การหารือเพื่อสร้างความคุ้นเคย ที่ฮ่องกง และคุณหมิง ประเทศจีน เมื่อสมเด็จฮุนเซ็นแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และรัฐบาลขณะนั้นรู้ดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ รู้ดีในปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากที่สุดเพราะเป็นผู้สั่งการให้ นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศขณะนั้น เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ร่วมไทย-กัมพูชา (เอ็มโอยู) 2544 ดังนั้นจึงถือว่าเขาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ จึงเป็นที่มาของการยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว
ส่วนกรณีที่มีการกล่าว อ้างว่า นายสุเทพ ไปพบกับนายซก อาน ที่คุณหมิง ประเทศจีนเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 นั้น ขอเรียนว่าครั้งนั้นตนก็ไปด้วย เป็นการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างวันที่ 14-18 ก.ค. 2553 โดยนายสุเทพ และ นายซก อาน เป็นหนึ่งในวิทยากร จึงได้มีการประสานเพื่อพูดคุยกัน ไม่ได้มีการหารือลับอะไรเลย ไม่มีการพูดคุยหลังฉากอะไรทั้งสิ้น
"เรื่องการตรวจสอบนี้ถือเป็น เรื่องดี และผมขอท้าทายรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่จะมีการค้นหาในเรื่องนี้ ไปขอคำตอบจากกัมพูชา ขอให้รีบทำ และทำแล้วอย่าหยุด ขอให้ทำให้เต็มที่ในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล และผมเองในฐานะที่เคยทำเรื่องนี้ ก็จะทำเช่นเดียวกัน และพร้อมที่จะชี้ให้เห็นว่าเอ็มโอยูปี 2544 มีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างไร ทำไมถึงต้องยกเลิก และจะได้ชี้ให้เห็นว่าทำไมในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณได้เข้ามามีตำแหน่งเป็นนายกฯ ได้ 2-3 เดือน ทำไมถึงรีบเร่งการลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าว เพื่ออะไร คุณสุรพงษ์ไม่ต้องห่วง ทำให้เต็มที่ สืบสวนให้เต็มที่ว่าท่านสุเทพ ไปคุยอะไรกับซกอาน และสืบไปให้หมดว่าในการพูดคุยแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง และผมจะทำเช่นเดียวกัน พร้อมจะเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนทราบว่ารัฐบาลไหนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทาง ทะเลกับกัมพูชา"
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า ตนจะนำจดหมายเชิญนายซก อาน หลังจากที่นายสุเทพเดินทางไปคุนหมิงและได้พบกับนายซก อาน โดยเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ได้มีจดหมายเชิญนายซก อานเข้าร่วมประชุม โดยจดหมายฉบับนี้ จะยืนยันได้ว่า ไม่มีเรื่องใดเป็นเรื่องความลับ เพราะได้มีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการ และได้มีการพูดคุยกันว่า ควรจะมาหารือกัน ซึ่งเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำจดหมายอย่างเป็นทางการ เชิญมาคุยที่ประเทศไทย แต่ปรากฏว่า ทางไทยมีเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้นก่อน นายซก อาน จึงไม่ได้เดินทางมา และในจดหมายที่เชิญไปนั้น ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล แต่จะพูดในเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน เพราะเห็นว่าในขณะนั้นปัญหามีมาก ทั้งเรื่องปราสาทพระวิหาร และเห็นว่านายสุเทพอยู่นอกกรอบของกระทรวงการต่างประเทศ จึงอยากให้เป็นผู้แทนไปเจรจา เพื่อสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นที่จะต้องให้กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือถึงกัมพูชาเพื่อให้ยืนยัน ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไรหรือไม่นั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ตนกล่าวฝากไปถึงนายสุรพงษ์ให้ช่วยไปบอกกัมพูชา และออกมายืนยันเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน และเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลบอกว่าจะสอบเรื่องนี้
"ปัญหาของเอ็มโอยู ฉบับนี้ มีบันทึกตั้งแต่ปี 2542-43 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯว่า เอ็มโอยูฉบับนี้มีปัญหาตรงเส้นที่กัมพูชาลากทับ ซึ่งทางทีมเทคนิคของไทยหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะลากผ่านเกาะกูด จ.ตราด เข้ามาในอ่าวไทย ซึ่งทางเราก็บอกว่า คงรอไม่ได้ แต่เมื่อคุณทักษิณมาเป็นนายกฯได้ 4 เดือน กลับสั่งให้นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ เซ็นและยอมรับ ตรงนี้คงไม่เป็นไร ผมจะสู้ให้ถึงที่สุด" นายชวนนท์ กล่าว.
ไทยรัฐ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น