ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า นายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เตรียมเสนอแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-58 ให้ ครม.พิจารณาวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยมีสาระสำคัญ ด้านวงเงินสนับสนุนนโยบาย ที่ได้ประมาณการความต้องการใช้เงินเบื้องต้นตามข้อเสนอที่เป็นความต้องการ ของส่วนราชการ เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล รวม 4 ปี มีความต้องการใช้เงิน 11,485,517 ล้านบาท และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายดำเนินการภาครัฐอีก 3,952,000 ล้านบาท รวมเป็นความต้องการใช้เงินทั้งสิ้น 15,437,517 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้สุทธิทั้ง 4 ปีของรัฐบาลอยู่ที่ 8,901,000 ล้านบาท ส่งผลให้ความต้องการใช้เงินมากกว่าประมาณการรายได้สุทธิรวม 4 ปีทั้งสิ้น 6,536,517 ล้านบาท
สำหรับประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบาย รัฐบาล 4 ปี วงเงิน 11,485,517 ล้านบาท แยกเป็น 8 ด้านดังนี้ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกวงเงิน 2,778,268 ล้านบาท, นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ 1,283,994 ล้านบาท, นโยบายด้านเศรษฐกิจ 2,760,215 ล้านบาท, นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต 2,669,352 ล้านบาท, นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 752,233 ล้านบาท, นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 144,077 ล้านบาท, นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 28,581 ล้านบาท และนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 1,068,797 ล้านบาท
ขณะที่ แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ตามนโยบายของรัฐบาลในรอบ 4 ปี มาจากแหล่งเงินที่สำคัญดังนี้คือ จากเงินงบประมาณ 10,626,159 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินนอกงบประมาณ 859,358 ล้านบาท มาจากรายได้ 198,124 ล้านบาท, เงินกู้ในประเทศ 272,601 ล้านบาท, เงินกู้ต่างประเทศ 64,922 ล้านบาท และแหล่งเงินอื่นอีก 323,710 ล้านบาท
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนช่วงปี 2555-58 จะเป็นการลงทุนที่เน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งขยายโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุข การพัฒนาเพื่อวางรากฐานการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ระยะยาว ทั้งด้านขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี 58
อย่าง ไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความเห็นประกอบว่า ประมาณการความ ต้องการใช้เงิน 4 ปี วงเงิน 15,437,517 ล้านบาท อาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขีดความสามารถในการก่อหนี้ของภาครัฐ ภายใต้กรอบการรักษาวินัยการคลัง จำเป็นที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการลงทุนต่างๆ รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินทุนและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อลดภาระงบประมาณ และรักษาวินัยการคลัง
นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ในการดำเนินตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน คือการบูรณาการ ซึ่งพบว่ามีหลายแผนงานที่มีหลายหน่วยงานดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ขั้นตอนการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ควรมีการบูรณาการแผนการดำเนินงานและงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดังนี้ แผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เมือง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร การแก้ปัญหาภัยแล้ง และการจัดหาน้ำเพื่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ จำเป็นต้องมีการบูรณาการงานของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อให้ดำเนินการร่วมกันเป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน และใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะ ที่แผนงานที่ควรบูรณาการด้านที่เหลือคือ แผนงานเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่เออีซี ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ควรบูรณาการแผนดำเนินการทั้งด้านการพัฒนาระบบราง และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้มีความสอดรับกัน ขณะเดียวกัน การจัดการภัยพิบัติก็ควรบูรณาการแผนงานเช่นกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นระบบและลดความซ้ำซ้อน ส่วนนโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาในโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพัน กับรายได้ในอนาคต ซึ่งเป็นของกระทรวงศึกษาธิการที่มีความต้องการใช้เงินปีละ 27,000 ล้านบาท กับความต้องการใช้เงินของกระทรวงการคลังปีละ 43,000 ล้านบาท สำหรับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาควรกำหนดให้มีความชัดเจน.
ไทยรัฐ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น