
วันนี้ (24 มิ.ย.) ในช่วงเสวนา “Vote NO มุ่งสู่การปฏิรูปประเทศ” นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ศ.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ พล.อ.อ.อรุณ พร้อมเทพ อดีตรอง ผบ.สส. ร่วมในการเสวนา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยนายสมปองกล่าวช่วงหนึ่งว่า ในต่างประเทศให้การยอมรับคะแนนโหวตโนหรือบัตรที่ไม่ประสงค์จะเลือกใคร และมีผลทางกฎหมาย โดยไม่ถือเป็นบัตรเสีย ทั้งยังมีระบุไว้ในกฎบัตรของสหประชาชาติด้วย โดยตนเห็นด้วยกับการที่บอกว่าคะแนนโหวตโนในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นขั้นแรกในการช่วยรักษาอธิปไตยของชาติไทยได้ ส่วนความคืบหน้าในการต่อสู้ในศาลโลกต่อกรณีข้อพิพาทไทย-กัมพูชานั้น ตนยืนยันว่ารัฐบาลต้องออกมาประกาศว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังสามารถทำได้ ไม่ต้องรอให้มีคำวินิจฉัยออกมา และไม่ได้เป็นการเสียศักดิ์ศรีด้วย เพราะในความเป็นจริงเราปฏิเสธอำนาจของศาลโลกมาหลายสอบปีแล้ว รวมทั้งกรณีการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒาไพบูรณ์ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกัมพูชานั้น ตนไม่เข้าใจเหตุใดคนไทย ไม่สามารถเดินในประเทศไทยได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นรัฐบาลก็ไม่ทำหน้าที่คุ้มครองคนชาติไทย และไม่รู้แม้กระทั่งเขตแดนของชาติตัวเอง
“ฝากความหวังประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว การป้องกันตัวสามารถทำได้ ไม่ต้องรอให้ใครมายิงเราก่อน” นายสมปองกล่าว
ด้าน นางยินดีกล่าวว่า การประกาศยุบสภาเป็นการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน แต่ครั้งนี้ประชาชนกลับไม่ดีใจ เพราะเห็นว่าเป็นการยุบสภาเพื่อหนีปัญหาของฝ่ายการเมือง ซึ่งการรณรงค์โหวตโน ถือเป็นการคว่ำบาตรนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง อย่างที่หลายฝ่ายพยายามมอง โดยตั้งแต่ที่ประเทศเรามีการเลือกตั้งมา เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้าไปครอบงำข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ จนทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่ง โดยไม่มีการท้วงติงจากผ็มีอำนาจที่สามารถทำได้ จนเกิดเป็นพลังในการคว่ำบาตรในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองที่ไม่คำนึงถึงประชาชน ไม่เลือกคนที่มีศักดิ์ศรี หรือมีศีลธรรมมาให้ประชาชนเลือก แต่กลับนำผู้ต้องหามาเป็นผู้สมัคร ส.ส. ดังนั้น เมื่อประชาชนมีศักดิ์ศรีมากกว่าผู้สมัคร แล้วเราจะมีผู้แทนราษฎรไปเพื่ออะไร
ส่วนกรณีคะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายหรือไม่นั้น นางยินดีกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับความเห็นของนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 88-89 ที่ว่าผู้ได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนมากกว่าผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน โดยตนมองในหลักของสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชน อิงหลักตามสิทธิทางรัฐธรรมนูญ ส่วนแง่มุมทางกฎหมายนั้นเชื่อว่าจะมีการตีความอีกครั้ง
ขณะที่ พล.อ.อ.อรุณกล่าวว่า ประเทศไทยได้หมดหวังแล้วกับนักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และนายกฯ ที่การศึกษาดีเป็นนักเรียกนอก ทำให้วันนี้หมดสิ้นความหวัง มีเพียงทางออกเดียว คือ การโหวตโน