บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิรูประบบแรงงานไทย ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเท่าเทียม"

ปัจจุบันจำนวนประชากรของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 69 ล้านคน แต่ประชากรที่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อปีมีเพียง 700,000 คนเท่านั้น ในขณะที่จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีพ.ศ 2553 มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 8 ล้านคน และมีการคาดการณ์กันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าคือปี พ.ศ. 2558 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 9.5 ล้านคน !!

ด้วยลักษณะของสัดส่วนประชากรของประเทศไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นนี้ทำให้แรง งานหรือคนที่ทำงานได้ 1 คน ต้องเลี้ยงดู 2 คน คือเลี้ยงดูตัวเองและเลี้ยงดูคนอื่นอีก 1 คน ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสภาพของสังคมในปัจจุบันทำให้แรงงาน 1 ชีวิตต้องใช้พละกำลังทุ่มเทในการทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงครอบครัวด้วยความยากลำบากยิ่ง

สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 60 ของแรงงาน มีรายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท แรงงาน 1 คนต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้จำนวนมากพอมาชดเชยค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่พอเลี้ยงชีพ และส่งให้อีกหลายชีวิตที่รออยู่ที่บ้านในชนบท นี่คือภาพสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่รัฐบาลใดก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูป ธรรม !!

ณรงค์ เพ็รชประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) ได้เขียนบทความเรื่อง "การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านแรงงาน" เพื่อต้อนรับวันแรงงานไทยที่จะมาถึงในวัน 1 พ.ค. นี้ โดยในบทความชิ้นนี้ ได้มีการวิเคราะห์เจาะลึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยและได้นำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาไว้อย่างน่าสนใจว่า "สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เห็นอย่างชัดเจนมี 5 มิติด้วยกันคือ มิติทางด้านรายได้ สิทธิ อำนาจ โอกาสและศักดิ์ศรี โดยเฉพาะแรงงานในประเทศไทยไม่เคยได้รับความเท่าเทียมใน 5 มิติที่ได้กล่าวมา ผมมองว่าแม้เรื่องเหล่านี้เราไม่สามารถทำให้เท่าเทียมกันทุกคนได้ แต่เราก็สามารถลดมันลงมาไม่ให้มันเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป"

อย่างไรก็ตามอาจารย์ณรงค์ ยังมองมุมกว้างของปัญหาแรงงานในสังคมไทยว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ ที่นำโดยการค้าและการอุตสาหกรรมทำให้เกิดลักษณะ 1 ครัวเรือน 2 วิถียังชีพ คือคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายายยังคงอยู่ในภาคการเกษตร แต่เยาวชนคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคการค้าและอุตสาหกรรม ครัวเรือนของเกษตรกรส่วนใหญ่จึงพึ่งรายได้นอกภาคเกษตรมากกว่ารายได้จากภาคเกษตรกร ดังนั้นหากลูกจ้างมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รายได้ของครอบครัวในภาคเกษตรก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วย

กรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.)ยังได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยในขณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมว่า...

"ผมมองว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาของแรงงาน ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำ 3 เรื่องนี้ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อต้อนรับวันแรงงานที่กำลังจะมาถึงคือ การเพิ่มรายได้ เพิ่มผลิตภาพ และเพิ่มสวัสดิการ ให้กับแรงงาน ซึ่งการแก้ปัญหาต้องรวมถึงแรงงานยากจนต่าง ๆ ด้วย"

" ในส่วนของการเพิ่มรายได้นั้นผมมองว่าในปัจจุบันรายได้ขั้นต่ำของคนไทยได้เพียง 206 บาท ทำงาน 26 วันหยุดเสาร์ อาทิตย์คนงานก็จะมีเงินรายได้เพียงแค่ 5,356 บาทต่อเดือน ด้วยจำนวนค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดเท่านี้ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ได้เงินในจำนวนมากๆ มาเลี้ยงครอบครัวทำให้แรงงานหลายส่วนขาดโอกาสที่จะได้อยู่กับครอบครัวได้พักผ่อนซึ่งเป็นสิทธิและโอกาสขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 250 บาทเพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างเพื่อครอบครัวมนุษย์กลับคืนมา" อาจารย์ณรงค์กล่าว

กรรมการปฏิรูปประเทศไทยท่านนี้ ยังได้เสนอให้มีการเพิ่มค้าจ้างที่เป็นค่าตอบแทนทักษะและฝีมือ ของลูกจ้าง โดยลูกจ้างคนใด มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น เขาก็จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าทักษะและค่าฝีมือของเขาด้วย พร้อมกันนี้นายจ้าง ควรจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานไว้คอยบริการแรงงานอาทิ การจัดบริการการศึกษาฟรี การสาธารณสุขฟรี ให้แก่บุตรธิดาของแรงงาน และการให้บริการหอพักให้แก่แรงงาน ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานได้ และเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในส่วนของระบบประกันสังคมนั้นทุกอาชีพจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้หมดไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง เกษตรกร หรือ อาชีพอิสระ

ทั้งนี้หลายคนกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยนั้น เกิดขึ้นจากการขาดอำนาจในการต่อรองเพื่อเพิ่มรายได้ หรือสวัสดิการของตนเอง เพราะถึงแม้ในรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 64 จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคม,สหภาพ,สหพันธ์ และ สหกรณ์ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้คืบหน้าได้ในสังคมไทย อาจารย์ณรงค์ จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขในประเด็นนี้อย่างชัดเจนด้วยว่า "หากแรงงานมีอำนาจที่จะใช้ต่อรองกับนายจ้างหรือกับรัฐบาล จะทำให้การเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ เป็นจริงได้ ดังนั้นรัฐ เองจะต้องให้สนับสนุนและให้เสรีภาพในการรวมตัวของคนงานกลุ่มต่างๆ และควรปฏิรูปรูประบบการออกเสียงเลือกตั้งส.ส. , ส.ว. , อบต. ,อบจ. ,สก. และ สข. โดยให้ลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่ใดๆ ในจังหวัดใดๆ ที่มีเวลาการทำงานนานตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ให้มีสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตั้งตัวแทนของเขตพื้นที่นั้นๆ ได้เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกตัวแทนของตน ที่เป็นตัวแทนในเขตพื้นที่ที่ทำงานอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้นำของลูกจ้างลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนของเขตพื้นที่นั้นๆ ได้ด้วยเช่นกัน"

นอกจากประเด็นเรื่องการปฏิรูปอำนาจ ในการต่อรองแล้วนั้น กรรมการปฏิรูปประเทศไทยท่านนี้ ยังได้เสนอทางออกเพิ่มเติมในการจัดตั้ง"ธนาคารแรงงาน" เพื่อแก้ปัญหาการเงิน ให้กับแรงงานอย่างเป็นระบบว่า "รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นแหล่งทุน กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ บรรเทาภาระหนี้สินนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 - 20 ต่อเดือน โดยให้รัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม แล้วนำมาให้แรงงานกู้ผ่านธนาคารของรัฐ ลูกจ้างสามารถกู้ได้ในวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ผ่อนส่ง 3 ปี แต่ผู้กู้ทุกคนต้องหักเงิน 10% จากวงเงินกู้ ฝากประจำไว้กับธนาคาร เพื่อเป็นการบังคับออม ด้านหนึ่งเป็นเงินประกันหนี้เบื้องต้น อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ เมื่อผู้กู้ชำระหนี้หมดแล้ว เงินที่ฝากประจำไว้นี้ จะนำไปจัดตั้งธนาคารของแรงงานเอง โดยมีแรงงานเป็นเจ้าของที่แท้จริง" อ.ณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

หากข้อเสนอเหล่านี้ได้ถูกนำไปสานต่อ และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง อนาคตของแรงงานไทยคงจะพัฒนาได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกับชนชั้นอื่นๆ ในสังคม และท้ายที่สุดวาทกรรม โง่-จน-เจ็บ ก็จะไม่ถูกหยิบลงมาเพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับชนชั้นแรงงานไทยอีกต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง