วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
'สัมปทาน'ใครรับประทาน?
'สัมปทาน'ใครรับประทาน? : ต่อปากต่อคำ โดย ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com /twitter@DoctorAmorn
พอพูดเรื่องสัมปทานเป็นต้องได้กลิ่นหรือมีเรื่องคาวๆ เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงกล่าวหากันออกมาอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะสัมปทานหรือการได้ถือสิทธิครอบครองเก็บกินผลประโยชน์ระยะยาวในหลายโครงการทั้งในน้ำบนดินและเหนือน่านฟ้า ขนาด “คลื่นที่มองไม่เห็น” เรายังเอามาแสวงหากำรี้กำไรร่ำรวยกันไม่รู้เรื่อง
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ได้ยิน “นักการเมืองสองฟากฝั่งทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน” ออกมาโจมตีชี้ถูกผิดไปตามจุดยืนที่ตัวเองสังกัด พูดกันไปถึงเรื่องอำนาจ จรรยาบรรณ หน้าที่ความรับผิดชอบต่อกรณีการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าลอยฟ้า (บีทีเอส) ออกไปอีกยาวนานร่วมๆ 30 ปี เรียกว่า คนที่ผลักดัน นับถึงวันท้ายสุดของสัญญา ยังไม่ค่อยแน่ใจจะเหลือรอดอยู่ถึงวันนั้นกันกี่คน แต่เรื่องนี้ถูกนำไปเป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรี ทีใครทีมัน”
มีทั้งวิจารณ์ไปถึงเรื่องตลาดนัดสวนจตุจักรที่เดิมอยู่ในความดูแลของ “กทม.” ถึงค่าเช่าจะถูกแสนถูก ก็ยังมีคนนินทาว่าร้ายกล่าวหาไป มีทั้งที่บอกว่าถูกเพราะทุกฝ่ายสมประโยชน์แต่ราคาจริงที่จ่ายนั้นแพงลิบลิ่ว เรื่องนี้เท็จจริงเช่นไรก็ไม่เห็นมีใครเอาหลักฐานมาโชว์หรือยืนยันให้เห็นดำเห็นแดง พอมาถึงเรื่องสัมปทานเลยทำให้ คนชอบนินทาได้นินทาต่อไปอีกว่า เป็นการ “เอาคืน” ของทาง กทม. ที่ต้องปล่อยทำเลทองซึ่งอุ้มชูดูแลมาหลายสิบปีคืนกลับให้การรถไฟฯ โดย กทม. ก็ยืนยันว่าที่รีบต่อสัญญานั้นไม่ผิดกฎกติกามารยาท แต่ต้องทำก็เพราะกลัวนักการเมืองจะมาฮุบเอาผลประโยชน์มหาศาลไปเป็นของตัว
ของแบบนี้ ได้ยินมาแบบนี้ เราเป็นชาวบ้านนั่งอ่านข่าว ฟังเขาพูดคนละทีสองที ใครพูดเก่งมีวาจาน่าเชื่อถือก็อาจหลงเชื่อไปครึ่งหนึ่ง แต่ผลประโยชน์ของบ้านเมืองจะมาอาศัยเพียง “ลมปากคน” พูดกรอกใส่หูให้เราเชื่อง่ายๆ ก็ดูไม่ต่างกับ “การเป็นพวกหูเบา ตื่นตูมเหมือนกระต่ายในนิทานอีสปอย่างไรอย่างนั้น” จึงจำเป็นต้องตั้งสติคิดให้รอบคอบว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะตรงไปตรงมาไม่มีนอกในหรือคดเคี้ยวเลี้ยวลดลงเหวไปถึงไหน
ตาม พรบ.ร่วมทุนรัฐเอกชน ถ้าจะถือเอาเกณฑ์ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตีความกรณี กสท กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในการดำเนินกิจการสามจี ซึ่งชี้แจงว่าไม่ถือเป็นการเข้าข่ายข้อกฎหมายร่วมทุน เพราะมิใช่เป็นการนำเอาทรัพย์สินของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐไปหาประโยชน์ เนื่องด้วย กสท ในสถานะปัจจุบันกลายสภาพเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่มาจาก กสทช ต่างจากในอดีตที่เป็นผู้เอาคลื่นมาจัดสรรเองได้
ถ้าจะนำเอากรณีนี้มาเทียบเคียงก็อาจมองได้ว่าในแง่ของกฎหมาย ทาง กทม. จะอ้างเป็นเจ้าของที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่วางรางให้รถไฟวิ่งคงฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องด้วยที่ดินทั้งหมดเป็นทางสาธารณะ (สมบัติของแผ่นดิน) วิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.ร่วมทุนจะพบว่าต้องการให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มีความโปร่งใส ให้มีคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแล แต่ที่ผ่านๆ มามีทั้งบทวิเคราะห์และข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ร่วมทุนนี้กันของหลายหน่วยงานทางราชการ
ทำให้โดยส่วนตัวมีใจโน้มเอียงไปทางเห็นว่า การดำเนินการในการต่ออายุสัมปทานของ กทม. กับทางบีทีเอสนั้นน่าจะเข้าข่าย พรบ.ดังกล่าวนี้ แม้การทำสัญญาจะไม่ใช่ทาง กทม.กระทำโดยตรง แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า “ตัวแทน” ซึ่งเข้าไปเชื่อมต่อในการขยายอายุสัญญาสัมปทานนั้น ได้รับมอบหมายอำนาจมาจากผู้ใดหรือหน่วยงานใด ซึ่งใครผิดถูกอย่างไร ทำได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นมุมมองทางวิชาการ ส่วนตัวคงต้องอาศัยนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญชี้ชัดลงไป ผมเข้าใจว่าในทางการเมือง ทางซีกรัฐบาลกำลังเดินหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความและเห็นว่าจะเอาผิดกันถึงเรื่อง “กฎหมายฮั้ว” และให้ ปปช. พิจารณาความโปร่งใสต่างๆ พวกเราในฐานะประชาชนก็อยากเห็น “การทำความจริงให้ปรากฏ” ว่าเรื่องสำคัญและมีเม็ดเงินมหาศาลขนาดนี้จะจบลงแบบที่ผ่านๆ มาหรือไม่ เมื่อผลประโยชน์ลงตัว ก็ซุกปัญหาเอาไว้ ทำลืมๆ กันไปเหมือนเคย ใครผิดใครถูกใครพูดจริงใครพูดโกหก เราเองก็อยากรู้เหมือนกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น