'
กางเอกสารคำให้การ“ณัฐวุฒิ”ปมตั้ง บ.เคลียร์ท่อก๊าซ-นอมินี “ได้หุ้นฟรี-ค่าตัว 3 หมื่น” : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
เปิดคำชี้แจง“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”ปมตั้ง บ.รับงานเคลียร์มวลชน ปตท. ยัน“เพื่อน”ชวนนั่งบริหาร ได้หุ้นฟรี ค่าตอบแทนจิ๊บๆ 3 หมื่นบาท ก่อนโอนต่อให้พี่ชายจัดการ พบข้อมูลใหม่ “ไทย คอนซัลแตนท์” ใช้ผู้สอบบัญชีร่วม2 บ.เครือข่าย ช่วงประมูลงาน
จากกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกับนายสนธยา ทิพย์อาภากุล ก่อตั้ง บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ต่อมาได้โอนหุ้นต่อให้นายเจตนันท์ ใสยเกื้อ พี่ชาย และปรากฎว่าบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาโครงการเป็นที่ปรึกษามวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซ ของ ปตท.หลายโครงการซึ่งบางโครงการมีบริษัทที่เป็นเครือข่ายของบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่นเข้าร่วมประมูลด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเอกสารคำชี้แจงของนายณัฐวุฒิต่อกรรมาธิการพลังงานซึ่งมีนายมนตรี ปาน้อยนนท์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 หลังจากถูก น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนก่อนหน้านี้
นายณัฐวุฒิได้ชี้แจงใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1.ความเกี่ยวข้องระหว่างนายณัฐวุฒิ กับ บริษัท ไทยคอนซัคแตนท์ฯ ทั้งในเรื่องความเป็นเจ้าของ และการโอนหุ้นให้พี่ชาย
2. การร่วมประมูลงานในโครงการจ้างที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ของ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่นฯ และบริษัท แม็ส มีเดียฯ
•เพื่อนให้หุ้นฟรี –ชวนนั่งบริหาร
นายณัฐวุฒิ ได้ชี้แจงว่า บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ จดทะเบียน จัดตั้งเมื่อปี 2544 โดยมีนายสนธยา ทิพย์อาภากุล เป็นกรรมการบริษัทเพียงคนเดียว ซึ่งนายสนทยา เคยประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษามวลชนสัมพันธ์ ในโครงการท่อส่งก๊าซไทยมาเลเซียมาก่อน ในช่วงต้นปี 2544 นายสนธยา ซึ่งคบกันในฐานะเพื่อนได้ชักชวน ให้มาดำเนินธุรกิจร่วมกัน โดยให้มีตำแหน่งเป็นกรรมการ และมีอำนาจร่วมกัน พร้อมให้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ ประมาณ 20,000 หุ้น จึงได้ดำเนินการบริหารธุรกิจร่วมกันมา ซึ่งในขณะนั้น ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคชาติพัฒนา แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกระทั้งในเวลาต่อมา เริ่มเข้าสู่การเมืองมากขึ้น จึงได้แจ้งนายสนธยา ว่า จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท เพื่อมาทำงานการเมืองเต็มตัว ในตำแหน่งโฆษกรัฐบาล และหลังจากลาออก ในปี 2550 ก็ไม่เคยเข้าติดต่องานกับ ปตท.
“หลังจากที่ผมลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ แล้ว นายสนธยา ได้ชวนนายเจตนันท์ พี่ชายของผม และเพื่อนสมัยเรียนคนอื่น เข้าร่วมทำธุรกิจต่อไป และในช่วงที่ลาออกมาแล้ว ก็ไม่เคยเข้าไป บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ ร่วมถึงยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท แต่อย่างใด” นายณัฐวุฒิระบุ
•ได้ค่าตอบแทนแค่เดือนละ 3 หมื่น
นายณัฐวุฒิ ยังระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาที่บริหารงานบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าสวัสดิการ เป็นจำนวนแค่ 20,000-30,000 บาท เท่านั้น และก่อนหน้าที่จะลาออกได้ทำหนังสือยินยอมให้บริษัทดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นที่ได้ถือครองอยู่ และไม่ทราบถึงการบริหารจัดการหุ้นของบริษัท ในส่วนที่ตนเคยถืออยู่แต่อย่างใด
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่า บริษัท ทั้ง 3 ราย มีความสัมพันธ์กัน และเข้าร่วมประมูลงานโครงการจาก ปตท. พร้อมกัน เนื่องจากตนได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ แล้ว จึงไม่สามารถให้ข้อมูลแทนได้
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews) ถึงความคืบหน้าการสอบสวนเรื่องนี้ ว่า ภายหลังจากที่ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาชี้แจงข้อมูล นับตั้งแต่รับเรื่องร้องเรียนจาก น.ส.มัลลิกา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21มีนาคม 2555 นายณัฐวุฒิ ได้เดินทางเข้าชี้แจงข้อมูลกับ กมธ.พลังงานเรียบร้อยแล้ว
“คุณณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ออกไปจากบริษัทตั้งแต่ปี 2550 ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไร ส่วนการเข้ามาบริหารงานบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ ก็บอกว่า เพื่อนชวนมาทำ เพราะเห็นว่า คุณณัฐวุฒิ มีความสามารถพูดเก่ง เจรจาเก่ง เขาก็เลยเอาคุณณัฐวุฒิเข้ามา ในนามเพื่อนกัน ซึ่งเรียนมาจากนครศรีธรรมราชด้วยกัน เป็นกลุ่มบริษัทคนใต้ ให้นั่งทำงานเป็นผู้จัดการ พอออกไปก็โอนหุ้นให้พี่ชาย”
นายมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในระหว่างการชี้แจง คณะกรรมาธิการ ได้ซักถามว่า แล้วหลักฐานการโอนหุ้นอยู่ที่ไหน นายณัฐวุฒิ ตอบว่า ไม่ค่อยรู้ไม่มั่นใจว่าอยู่ตรงไหน
“คุณณัฐวุฒิ หมายความว่า เขาก็มาทำงาน แต่ก็ไม่รู้รายละเอียด ถ้าเขารู้ว่ามันมีเรื่องที่จะมีปัญหาแบบนี้ เขาคงไม่รับตั้งแต่ต้น แต่มันไม่ได้แล้ว เพราะเขารับไปแล้ว ทุกอย่างทำไปแล้ว เป็นเอกสารอะไรแบบนี้ เรื่องการโอนหุ้นต้องตามดูตรงนี้ให้ได้”
•ปธ.กมธ.ยันรับโอนหุ้นต้องเสียภาษี
เมื่อถามว่า การรับโอนหุ้น มาต้องเสียภาษีหรือไม่ นายมนตรี ระบุว่า “คุณนายณัฐวุฒิ บอกว่าไม่เสีย เขาได้หุ้นมาก็ไม่ต้องเสียตังค์ ซึ่งเขาบอกว่า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขอไปดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง อะไรแบบนั้น เพราะตอนที่มาชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ไม่ได้เอาเอกสารอะไรมาเลย มาแต่ตัว แต่เราก็ให้เจ้าหน้าที่กรรมาธิการบอกไปแล้ว ว่าขอให้ส่งกรรมการ”
เมื่อถามว่า การโอนหุ้นให้ นายเจตนันท์ พี่ชาย และนายมฆวัต กาญวัฒนะกิจ ต้องเสียภาษีหรือไม่ นายมนตรี กล่าวว่า “เรื่องนี้คุณณัฐวุฒิ แกบอกแกไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ คงต้องให้ คุณณัฐวุฒิ ไปชี้แจง ป.ป.ช.อีกที”
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าโอนหุ้นต้องเสียภาษี นายมนตรี กล่าวว่า “ เรื่องโอนหุ้น มันต้องเสียภาษีนะ ไม่ใช่แบบหุ้นเทมาเส็ก นะที่จะโอนแล้วไม่เสียภาษีได้ (หัวเราะ)”
นายมนตรี กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องหุ้นของนายณัฐวุฒิ กมธ.พลังงาน ได้มีมติสรุปให้ส่งเรื่องนี้ ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนต่อไป โดยจะแจ้งให้ น.ส.มัลลิกา เป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เอง
•“เต้น”ยังไม่ส่งเอกสาร กมธ.
เมื่อถามว่า เหตุผลที่คณะกรรมาธิการพลังงาน ต้องส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. สอบสวนต่อ คืออะไร นายมนตรี ระบุว่า “ต้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ เพราะว่ามันมีเรื่องการโอนหุ้น อะไรพวกนี้อยู่ เรื่องการเซ็นใบโอนหุ้น ซึ่งยังไม่ได้รายละเอียดที่ชัดเจน และในการเข้าชี้แจงข้อมูลต่อกรรมาธิการฯ คุณณัฐวุฒิ ยังไม่ได้ นำมามอบให้ด้วย เบื้องต้นกรรมาธิการฯ ได้ร้องขอไป ทางคุณณัฐวุฒิ ก็รับปาก ว่าจะเอาเอกสารมาให้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้นำมาส่งมอบให้”
“เรื่องหุ้นก็คงจะให้ ป.ป.ช. สอบต่อ เพราะเป็นมติที่ประชุมกรรมาธิการแล้ว โดยให้คุณมัลลิกา เป็นผู้ร้องไปยัง ป.ป.ช. ต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการ ฝั่งพรรคเพื่อไทย หลายคน เห็นว่า ควรให้ตัดประเด็นนี้ออกไป พร้อมแสดงความเห็นว่า เรื่องการฮั้วประมูล ก็ไม่ถึงคุณณัฐวุฒิเช่นกัน เพราะเขาออกไปจากบริษัทก่อนแล้ว ซึ่งถ้าจะดูเรื่องนี้ต่อไป ให้ละเอียดก็ควรส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไปเลย”
เมื่อถามว่า มองอย่างไร เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการฮั้วประมูลของ 3 บริษัท นายมนตรี กล่าวว่า “ถ้าพูดกันข้างนอก มันก็น่าจะมีปัญหานี้ เพราะมันเหมือนกับการจัดสรรกันอยู่ และยังเรื่องที่อยู่ การถือหุ้นไขว้สลับกันไปกันมา แต่มันก็ต้องดูรายละเอียดให้มากกว่านี้ ก่อนจะไปตัดสินว่าเขาผิดอะไร และงานเคลียร์มวลชน มันก็ต้องใช้บริษัท ที่เก่งพอสมควร จะให้ใครไปเคลียร์ธรรมดาไม่ได้ ต้องมีทหาร มีตำรวจ อย่างประจวบคิรีขันธ์ หรือเชียงใหม่ ก็ต้องให้ระดับ ส.ส.ไปช่วยเคลียร์ มันยากไม่ล่ะ งานแบบนี้”
•ตั้งกก. ชุดเล็กลุยสอบปมฮั้วประมูล
นายมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็น เรื่องการฮั้วประมูลของ 3 บริษัท คณะกรรมาธิการฯ จะมีการตั้งคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อไล่ตามต่อ โดยมอบหมายให้ นางอานิก อัมระนันทน์ รองประธานกรรมาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบ
เมื่อถามว่า ข้อมูลเรื่องการฮั้วประมูล ที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง นายมนตรี กล่าวว่า ในจำนวน 13 โครงการ ที่ ปตท. เปิดประมูล ส่วนใหญ่ ก็มีบริษัท 3 ราย นั้นแหละที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเข้ามารับงาน และก็มีรายเดียวที่ได้รับงานไปคือ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ฯ พอได้ตัวผู้ชนะมา ก็มีการต่อรองราคากัน”
เมื่อถามว่า เท่าที่พิจารณาข้อมูลที่ได้รับมา มองประเด็นเรื่องการฮั้วประมูลอย่างไรบ้าง นายมนตรี กล่าวว่า “เขา (ปตท.) ให้ข้อมูลว่า ต้องเอาคนที่มีความสามารถพิเศษจริงๆ ในการที่จะเคลียร์มวลชนสัมพันธ์ ถ้าจะคนอื่นมาทำมันก็ไม่ได้ เอาบริษัทก่อสร้างมาเคลียร์มันก็ไม่ได้ แต่รายนี้ (บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์) เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ ปตท.ก็เชื่อใจ เอาแบบนั้น ดีกว่า”
นายมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องโครงการเคลียร์มวลชน ของ ปตท. มันไม่ได้ มีแค่ บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ เท่านั้น มีหลายที่ทั่วประเทศที่ทำ ซึ่งบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ ได้สัดส่วนในรอบกทม. ส่วนพื้นที่อื่นเป็นบริษัทอื่นๆ ทำแบบแบ่งโซนพื้นที่กัน
เมื่อถามว่า ลักษณะการเข้ามารับงานเป็นเหมือนกันหรือไม่ นายมนตรี กล่าวว่า “มันก็คงเป็นลักษณะเดียวกันผมว่านะ”
•“มัลลิกา”บี้เตรียมยื่นสอบ ป.ป.ช.
น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เช่นกันว่า ในเร็วๆ นี้ จะเข้ายื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบประเด็นเรื่องการโอนหุ้นของนายณัฐวุฒิ และการเข้าประมูลงานว่าจ้างที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ของ บริษัทเอกชน 3 ราย จาก ปตท. ซึ่งขณะนี้ทีมงานฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีหนักฐานแน่นหนามากที่สุด โดยประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย นอกเหนือจากการปรากฏข้อมูลกรรมการ ถือหุ้นไขว้สลับกันไปมาแล้ว ในการจัดทำบัญชีงบดุลบริษัท ทั้ง 3 รายที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังใช้ผู้สอบบัญชี คนเดียวกันอีกด้วย
• พบ 3 บ.ใช้ผู้สอบบัญชีคนเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2551 บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ส่งงบดุลบริษัท 3 ครั้ง คือ ปี 2551, 2552 และ 2553 โดยใช้ผู้สอบบัญชี คนเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง คือ นายมนตรี ฉายสิริสัมพันธ์ หมายเลขผู้สอบบัญชี ที่ 5726
ส่วนบริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น ทีม จำกัด นับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัท วันที่ 17 มิถุนายน 2551 ได้ส่งงบดุลบริษัท 3 ครั้ง คือ ปี 2551, 2552 และ 2553 โดยใช้ผู้สอบบัญชี คนเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง คือ นายมนตรี ฉายสิริสัมพันธ์ หมายเลขผู้สอบบัญชี ที่ 5726
ขณะที่บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด นับตั้งแต่ จดทะเบียน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 ได้ส่งงบดุลบริษัท 10 ครั้ง คือ ปี 2544, 2545 , 2546 , 2547, 2548 , 2549 , 2550 , 2551, 2552 และ 2553
ทั้งนี้ การจัดทำงบดุล ปี 2544 ใช้ผู้สอบบัญชี คือ นายเกียรติพงษ์ บริหารกิจอนันต์ หมายเลขผู้สอบบัญชี 5603
ปี 2545-2548 ใช้ผู้สอบบัญชี คือ นางรัชฎากร รามจันทร์ หมายเลขผู้สอบบัญชี 5843
ขณะที่ปี 2549-2553 ใช้ผู้สอบบัญชี คือ นายมนตรี ฉายสิริสัมพันธ์ เช่นเดียวกับ บริษัท แม็ส มีเดีย แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัท แอคทีฟ คอนสตรัคชั่น ทีม จำกัด
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาปี 2551-2553 เป็นช่วงเวลาที่บริษัท เอกชน ทั้ง 3 แห่ง เข้าประมูลงาน จาก ปตท. ด้วย
................
(หมายเหตุ : กางเอกสารคำให้การ“ณัฐวุฒิ”ปมตั้ง บ.เคลียร์ท่อก๊าซ-นอมินี “ได้หุ้นฟรี-ค่าตัว 3 หมื่น” : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org/))
จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
503980
Search
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน