บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อดีตกำลังไล่ล่า จตุพรกับพวก…เปิดตัวออฟฟิศลึกลับ ขนเงินลงทุนปริศนา 25 ล้าน


แกะรอยออฟฟิศลึกลับ“ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์”กับพวก”.ขนเงินลงทุน 5 แห่ง 25 ล้านก่อนปิดกิจการเรียบ พบเป็นที่ตั้งบ.อสังหาฯ ก่อนถูกโอนให้ บบส. ปี 44  ปัจจุบันสำนักงาน ม.“มหิดล”
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ได้ร่วมลงทุนทำธุรกิจกับ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย และนายฐาปนา จินดากาญจน์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2545 โดยจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. 5 แห่ง ได้แก่  หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ , หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี ,หจก.ศรีหมวดเก้า, หจก.บุตรตะวัน , หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์  รวมเงินลงทุน 25 ล้านบาท  (เฉพาะนายจตุพร 8.6 ล้านบาท)  ทั้ง 5 แห่งมีที่ตั้งเลขที่เดียวกัน เลขที่ 69/12 อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ชั้น 12 โซนเอ ถนนวิภาวดีรังสิต สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ แต่เปิดดำเนินการเพียงสั้นๆ และแจ้งเลิกกิจการพร้อมกัน วันที่ 24 ธันวาคม 2547
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา   ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)  ได้เดินทางไปยังสถานที่ตั้งของหจก. ทั้ง 5 แห่ง ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่ หจก.ทั้ง 5 แห่ง จะเลิกกิจการไป คือ  เลขที่ 69/12 อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ชั้น 12 โซนเอ ถนนวิภาวดีรังสิต สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ พบว่า ปัจจุบันอาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง มีการเปลี่ยนแปลชื่อใหม่ เป็นอาคารมิว หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาซื้ออาคารแห่งนี้ และจัดตั้งเป็นวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล   ซึ่งภายในตัวอาคาร และชั้นต่างๆ มีการเปลี่ยนสภาพเป็นห้องเรียนของนักศึกษา และสถานที่ทำงานฝ่ายต่างๆ ของวิทยาลัย ทั้งหมดแล้ว
จากการสอบถามพนักงานต้อนรับของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รับการยืนยันว่า ปัจจุบันอาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเริ่มเข้าปรับปรุงอาคารพร้อมใช้ประโยชน์ ในช่วงปี 2545-2546 แล้ว
เมื่อสอบถามว่า บริเวณชั้น 12 ของอาคาร ก่อนหน้าที่จะมหาวิทยาลัยจะเข้ามาใช้ประโยชน์เคยเป็นที่ตั้งของบริษัท หรือ หจก. อะไรมาก่อนหรือไม่  เจ้าหน้าที่ตอบรับรายนี้ ตอบว่า  เท่าที่ทราบ  พื้นที่ส่วนใหญ่ของชั้น 12 มีสภาพเป็นห้องชุด ใช้สำหรับพักอาศัยเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการเดินทางขึ้นไปสำรวจพื้นที่ชั้น 12 ของตัวอาคาร ในปัจจุบัน พบว่า มีการปรับปรุงให้มีสภาพเป็นสำนักงานออฟฟิศ ของวิทยาลัยการจัดการ ใช้สำหรับการติดต่องานด้านบุคคล เป็นหลัก  ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการยืนยันว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาใช้พื้นที่ชั้น 12 เพื่อทำเป็นสำหรับงาน เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)  รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเข้ามาครอบครองอาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มเข้าซื้อพื้นที่อาคารชั้นต่างๆ ของอาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546
โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ได้เข้าซื้อพื้นที่ ชั้น 8,9,10,11,12,13,14,15,16,17,18,19,20,21,22,23,24,25  จากนั้น ได้เข้าซื้อพื้นที่อาคารเพิ่มเติม คือ ชั้น 3,5,6,7 และ 26 ต่อมาเดือนธันวาคม 2548 ได้เข้าซื้อพื้นที่ ชั้น 4 และเดือนมกราคม 2548 ได้เข้าซื้อพื้นที่ ชั้น 2 และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549  ได้เข้าซื้อพื้นที่ชั้น  1 อีกครั้ง  ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดล ครอบครองพื้นที่ อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ได้เกือบหมด เหลือเพียงแค่ พื้นที่ของหจก.เบ็ลท แอนด์ แบริ่งส์ ซัพพลาย ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขอซื้อพื้นที่อยู่
ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลพนักงาน หจก.เบ็ลท แอนด์ แบริ่งส์ ซัพพลาย เกี่ยวกับข้อมูล หจก. 5 แห่ง ของนายจตุพร กับพวก ได้รับการยืนยันว่า ไม่เคยได้ยินชื่อ หจก. เหล่านี้ มาก่อน
สำหรับพื้นที่ชั้น  12  ของ อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง  ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ หจก. ทั้ง 5 แห่ง  ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซื้อมาในช่วงแรก พบว่า มีสภาพเป็นห้องชุด ขนาด 512 ตารางเมตร โดยห้องชุดแห่งนี้ ดังเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท จิบเสน ดีเวลลอพเม้นท์ จำกัด (ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ปรากฎชื่อ  นายวัฒนา เขียววิมลนายธีระศักดิ์ กาญจนศักดิ์ชัย ประธาน บมจ.ไทยเอนจิน เมนูแฟคเจอริ่ง,  นาย ชัยวัฒน์ ดำรงกิจกุลชัย,  นายหว่อง ซุน ฮง , นายลอร์เร้นท์ คาน ฟุควิง ,  นางสาว ศรีสุดา ธีรกุลพจนีย์  เป็นกรรมการ)   เมื่อปี 2533 ก่อนจะถูกโอนไปที่ธนาคารทหารไทย และโอนต่อไปที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พญาไท ปี 2544 และถูกโอนต่อไปทีบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ปี 2546 และมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าซื้อในเวลาต่อมา
เมื่ออาคารชุดชั้น ที่ 12  ดังกล่าวมีที่มาทีไปแบบนี้ เป็นปริศนาอย่างยิ่ง นายจตุพรกับพวกใช้ความสามารถเข้าไปใช้เป็นออฟฟิศลงทุนได้อย่างไร?
ที่มา :
www.prasong.com




ลึก!เงินลงทุน“จตุพรกับพวก”ปล่อยกู้อุตลุตให้ตัวเอง-บริวาร 23.7 ล้าน

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 20:00 น. เขียนโดย isranews หมวด isranews, Investigative

เจาะลึกงบการเงิน หจก. 5 แห่งปริศนา“จตุพร-พวก” กำไรแค่หลักร้อยถึงพันบาท ใจปล้ำปล่อยกู้พรวด 23.7 ล้านเกือบเท่าทุนจดทะเบียน ทั้งที่เพิ่งก่อตั้ง แถมค้างจ่าย ค่าสอบบัญชี - เงินสมทบประกันสังคม –ภาษีนิติบุคคลเพียบ ผู้ตรวจสอบบัญชีระบุไม่พบหลักฐานใครลูกหนี้?
          เงื่อนปมสำคัญกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับพวกคือ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย และนายฐาปนา จินดากาญจน์ อดีตผู้มัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. 5 แห่งรวด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2545 ได้แก่ 1.หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ 2.หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี 3.หจก.ศรีหมวดเก้า 4.หจก.บุตรตะวัน และ5. หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์ รวมเงินลงทุน 25 ล้านบาท (เฉพาะนายจตุพร 8.6 ล้านบาท)
         ทั้ง 5 แห่งมีที่ตั้งเลขที่เดียวกัน เลขที่ 69/12 อาคารอัลฟ่าบิลดิ้ง ชั้น 12 โซนเอ ถนนวิภาวดีรังสิต สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ ต่อมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ที่ตั้งดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท จิบเสน ดีเวลลอพเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2533 ก่อนจะถูกโอนไปที่ธนาคารทหารไทย และโอนต่อไปที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พญาไท ปี 2544 และถูกโอนต่อไปทีบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ปี 2546 และมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าซื้อตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546
        และ หจก.ทั้ง 5 แห่งแจ้งเลิกกิจการพร้อมกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547
        ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบงบดุลและงบการเงินของ หจก.ทั้ง 5 แห่งของนายจตุพรกับพวกพบว่า ในรอบปี 2545 (ก่อนเลิกกิจการ) มีรายการ “เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลหรือกิจการเกี่ยวข้อง” ถึง 23,700,000 บาท แบ่งเป็น
        1.หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,750,000 บาท
        2.หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,700,000 บาท
        3.หจก.ศรีหมวดเก้า มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,700,000 บาท
        4.หจก.บุตรตะวัน มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,800,000 บาท
        5.หจก.ศรีสมุย ลองสเตย์ มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,750,000 บาท
        ทั้งนี้ในรายการการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี คือ นายปัญญา อุดมระติ หมายเลขผู้สอบบัญชี 2653 ระบุว่าการตรวจสอบงบดุลของ หจก.แต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545 เหมือนกันว่า
       “ข้าพเจ้าไม่สามารถหาหลักฐานจนเป็นที่พอใจที่แสดงยอดลูกหนี้ให้กู้ยืมระยะ ยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีผลต่อฐานะการเงินของบริษัท”
        หจก.ทั้ง 5 แห่ง ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี คือ นายปัญญา อุดมระติ หมายเลขผู้สอบบัญชี 2653 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ปรากฏรายละเอียดดังนี้
         1.หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ จดทะเบียนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ทุน 5 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง ถมดิน ขุดดิน ปรับหน้าดิน
         ได้จดทะเบียนเลิกห้างซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 โดยจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546
        ทั้งนี้ ในส่วนงบกำไรขาดทุน มีการแจ้งรายละเอียดมีรายได้รวม 197,916.67 บาท มีรายจ่ายรวมจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 198,191.00 บาท มีกำไร(ขาดทุน)สุทธิ -274.33 บาท  
       สำหรับข้อมูลละเอียดในงบดุล มีการแจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 71,691 บาท มีดอกเบี้ยค้างรับ 197,916.67 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 269,607.67 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคล หรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,750,000 บาท รวมสินทรัพย์ 5,019,607.67 บาท
       ส่วนหนี้สิน พบว่า มีค่าสอบบัญชีค้างจ่าย 10,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมค้างจ่าย 9,882 บาท รวมหนี้สินหมุนเวียนอื่น 19,882 บาท รวมหนี้สิน 19,882 บาท      
       ส่วนทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน นายสถาพร มณีรัตน์ 1,800,000 บาท นายฐาปนา จินดากาญจน์ 1,600,000 บาท นายจตุพร พรหมพันธุ์ 1,600,000 บาท กำไร(ขาดทุน)สะสม -274.33 บาท รวมส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 4,999,725.67 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,019,607.67 บาท
       2. หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี จดทะเบียนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ผลิตสื่อโฆษณา
       ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2550 โดยจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546
        ทั้งนี้ ในส่วนงบกำไรขาดทุน มีการแจ้งรายละเอียด ว่า มีรายได้รวม 195,833.33 บาท มีรายจ่ายรวมจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 194,860 บาท กำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 973.33 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 194.67 บาท กำไร(ขาดทุน) สุทธิ 778.66 บาท
        สำหรับข้อมูลละเอียดในงบดุล มีการแจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 124,860 บาท ดอกเบี้ยค้างรับ 195,833.33 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 320,693.33 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,700,000 บาท รวมทรัพย์สิน 5,020,693.33 บาท
        ส่วนหนี้สิน พบว่า มีค่าสอบบัญชีค้างจ่าย 10,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมค้างจ่าย 9,720 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย 194.67 บาท รวมหนี้สิน 19,914.67 บาท
        ส่วนทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน นายจตุพร พรหมพันธุ์ 4,000,000 บาท นายสถาพร มณีรัตน์ 1,000,000 บาท กำไร(ขาดทุน)สะสม 778.66 บาท รวมส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,000,778.66 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,020,698.33 บาท
         3.หจก. ศรีหมวดเก้า จดทะเบียนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ทุน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ขุดถ่านหิน ขุด ขนแร่ต่างๆ
ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 โดยจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546
         ทั้งนี้ ในส่วนงบกำไรขาดทุน มีการแจ้งรายละเอียด ว่า มีรายได้รวม 195,833.33 บาท มี รายจ่ายรวมจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 196,914 บาท กำไร(ขาดทุน)สุทธิ -1,080.67 บาท
          สำหรับข้อมูลละเอียดในงบดุล มีการแจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 122,914 บาท มีดอกเบี้ยค้างรับ 195,833.33 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 318,747.33 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,700,000 บาท รวมสินทรัพย์ 5,018,747.33 บาท  
          ส่วนหนี้สิน พบว่า มี ค่าสอบบัญชีค้างจ่าย 10,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมค้างจ่าย 9,828 บาท รวมหนี้สิน 19,828 บาท ส่วนทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน นาย สถาพร มณีรัตน์ 4,000,000 บาท นาย จตุพร พรหมพันธุ์ 1,000,000 บาท กำไร(ขาดทุน)สะสม -1,080.67 บาท รวมส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 4,998,919.33 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,018,747.33 บาท  
        4. หจก.บุตรตะวัน จดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ทุน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการ ถมดิน ขุดปรับหน้าดิน ขายซื้อที่ดินทั้งหมด และ ขนถ่ายขุดถ่านหิน แร่ต่างๆทำเหมืองแร่ทั้งหมด
        ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 โดยจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546
ทั้งนี้ ในส่วนงบกำไรขาดทุน มีการแจ้งรายละเอียด ว่า มีรายได้รวม 200,000 บาท มี รายจ่ายรวมจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 198,968 บาท กำไร(ขาดทุน)ก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 1,032 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 206.40 บาท กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 825.60 บาท
สำหรับข้อมูลละเอียดในงบดุล มีการแจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 20,968 บาท มีดอกเบี้ยค้างรับ 200,000 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 220,968 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,800,000 บาท รวมสินทรัพย์ 5,020,968 บาท
ส่วนหนี้สิน พบว่า มีค่าสอบบัญชีค้างจ่าย 10,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมค้างจ่าย 9,936 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย 206.40 บาท รวมหนี้สิน 20,142.40 บาท
ส่วนทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน นายฐาปนา จินดากาญน์ 4,000,000 บาท นายจตุพร พรหมพันธุ์ 1,000,000 บาท กำไร(ขาดทุน)สะสม 825.60 บาท รวมส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,000,825.60 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,020,968 บาท
         5.หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์ จดทะเบียนวันที่ 12 มีนาคม 2545 ทุน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแก่ชาวไทยและต่างชาติเพื่อเป็นสมาชิกประกอบ ธุรกิจท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการจองที่พัก โรงแรม ในโครงการที่พักระยะยาว และประกอบกิจการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนา โครงการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน  
          ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 โดยจัดส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2545 ให้ผู้สอบบัญชี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546
           ทั้งนี้ ในส่วนงบกำไรขาดทุน มีการแจ้งรายละเอียด ว่า มีรายได้รวม 178,125 บาท มี รายจ่ายรวมจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 176,860 บาท กำไร(ขาดทุน)ก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 1,265 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 253 บาท กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 1,012 บาท
           สำหรับข้อมูลละเอียดในงบดุล มีการแจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 92,860 บาทดอกเบี้ยค้างรับ 178,125 รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 270,985 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 4,750,000 บาท รวมสินทรัพย์ 5,020,985 บาท
           ส่วนหนี้สิน พบว่า มีค่าสอบบัญชีค้างจ่าย 10,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมค้างจ่าย 9,720 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย 253 บาท รวมหนี้สิน 19,973 บาท
           ส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน นาย สถาพร มณีรัตน์ 4,000,000 บาท นาย จตุพร พรหมพันธุ์ 1,000,000 บาท กำไร(ขาดทุน)สะสม 1,012 บาท รวมส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,001,012 บาท รวมหนี้สินและส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน 5,020,985 บาท
           รวมเงินให้กู้ยืม 5 แห่ง 23,700,000 บาท 




 
“ตู่-จตุพร”ฉุน “อิศรา” คุ้ยปมเงินลงทุนปริศนา 25 ล้านผ่าน หจก. 5 แห่ง ปล่อยกู้พรวด 23.7 ล้านหลังก่อตั้งไม่กี่วัน “รูดซิป”ไม่ตอบข้อเท็จจริง  อัดนักข่าวบ้าเล่นไม่เลิก อย่าหลอกล่อถาม ยันแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ครบถ้วนไม่มีปัญหา!!

          กรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย และนายฐาปนา จินดากาญจน์ อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. 5 แห่งรวด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2545 ได้แก่ 1.หจก.สยามเชนจ์ พอยท์ 2.หจก.วิชั่น แอนด์ ซีนะรี 3.หจก.ศรีหมวดเก้า 4.หจก.บุตรตะวัน และ5. หจก. ศรีสมุย ลองสเตย์ รวมเงินลงทุน 25 ล้านบาท (เฉพาะนายจตุพร 8.6 ล้านบาท) และ หจก.ทั้ง 5 แห่งแจ้งเลิกกิจการพร้อมกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547
          ต่อมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบงบดุลและงบการเงินของ หจก.ทั้ง 5 แห่งของนายจตุพรกับพวกพบว่า ในรอบปี 2545 ก่อนเลิกกิจการ พบว่า มีรายการ “เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลหรือกิจการเกี่ยวข้อง” ถึง 23,700,000 บาท จากเงินทุนจัดตั้ง หจก.5 แห่ง รวมกัน 25,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมที่ชัดเจน
          ในช่วงบ่ายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังใช้ความพยายามในการติดต่อนายจตุพร ผ่านโทรศัพท์มือถือส่วนตัวหลายครั้ง เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้สังคมได้รับทราบ
          นายจตุพร ได้รับสายโทรศัพท์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยใช้เวลาพูดคุยกันนานถึง 7 นาที 12 วินาที เพื่อตอบคำถาม ถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดตั้ง หจก.ทั้ง 5 แห่ง

  • ขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้ง หจก. 5 แห่ง ในช่วงปี 2545
ผมไม่ตอบอะไร เป็นเรื่องเดิม ข่าวนี้ลงมาเป็นร้อยๆรอบแล้ว แต่สำนักข่าวอิศราเอาข่าวนี้มาลงใหม่ ความจริงเป็นของที่ “มติชน” ลงไปหลายรอบแล้ว ลงกันหลายฉบับนะ “ประชาชาติ” ก็ลงตามปกติ ไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย มันก็จบไปแล้ว

  • ทำไม หจก. ทั้ง 5 แห่ง แจ้งเลิกกิจการอย่างรวดเร็ว จัดตั้งปี 2545 และเลิกกิจการปี 2547
ผมไม่ตอบ.. (หัวเราะ) เรื่องมันจบไปนานแล้ว ลองไปดูข่าวซิตอนนั้นนะ มันเป็นข่าวไปแล้ว คือ เราไม่ฟื้นสิ่งที่พวกทีมที่ออกจากมติชนทำ ความจริง เขาก็ทำลงใน มติชนอยู่ ..(หยุดนิดหนึ่ง) คือ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่พวกน้องเอามาลงใหม่ ในตอนที่ยึดอำนาจเรื่องนี้ก็เอามาลง ต่างกรรมต่างวาระกัน พี่ว่าเรื่องนี้ลงเป็น 10 ครั้งแล้วมั่ง

  • การจัดตั้ง หจก. ทั้ง 5 แห่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่
ไม่ได้มีเรื่องอะไรใหม่ (เสียงแข็ง) ไม่เชื่อลองไปเปิดเช็คเครื่องคอมพิวเตอร์ดูเลย พอเรามาจับใหม่ แล้วพี่ต้องตอบสิ่งที่มันลงไปแล้ว พี่ว่ามันไม่ใช่นะ

  • มีการตั้งข้อสังเกตว่า คุณจตุพร เอาเงินไปตั้ง หจก. 8 ล้านกว่าบาท แต่เงินที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่ำกว่า เงินส่วนนี้มันหายไปไหน
(หัวเราะ).. ก็มันจบไปแล้ว พี่ก็แจ้งไปแล้ว ทุกอย่างถือว่าแจ้งครบไปหมดแล้ว

  • หมายถึงแจ้งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินไปหมดแล้ว
การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ก็คือ การแจ้งสิ่งที่มีอยู่จริงในช่วงที่แจ้ง (เน้นเสียง) ของเราก็ตรงไปตรงมา คือ ถ้ามีปัญหาเขา (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ) ก็ถลกหนังแดงเถือกอยู่แล้ว
          แต่ว่าเรื่องนี้ เครือข่าย ที่แยกตัวออกมาจาก “มติชน” แล้ว มาทำ “สำนักข่าวอิศรา” เขาเป็นคนเอาไปลงมติชนเอง ลงประชาชาติเองไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

  • ยืนยันว่าการจัดตั้ง หจก. 5 แห่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่
ลองไปดูซิ (เน้นเสียง) ลองไปเช็คในเน็ตดู พี่ก็ยังดูว่า ทำไมเอามาลง ในสิ่งที่คณะนี้ เคยลงหลายรอบแล้ว แล้วเราต้องมาตอบสิ่งซ้ำๆซากๆ มันเพื่ออะไร

  • แต่การจัดตั้ง หจก. 5 แห่ง เป็นข้อมูลใหม่
มันจะใหม่อย่างไง.. (เสียงแข็ง)

  • มีการตรวจพบว่า หจก.ทั้ง 5 แห่ง ปล่อยเงินกู้ให้กับหุ้นส่วนผู้จัดการเอง
(ถอนหายใจ) คือ มันจบไปแล้ว.. (ลากเสียงยาว) เราไปถามสิ่งที่มันลงไปแล้ว คือ เจ้าตัวที่เอาข้อมูลนี่มาลง มาเปิดในสำนักข่าวอิศรา ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่เคยเอาไปลงใน “มติชน” “ประชาชาติ” แล้ว มันก็จบไปแล้วไม่มีอะไรไง
“ เราไปถามสิ่งที่จบแล้วได้ไง แล้วพี่ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องมาตอบ แล้วมันเรื่องอะไรที่ทางคณะเดิมที่ย้ายออกมาจากมติชน แล้วก็มาทำสิ่งที่ทำไว้เดิม พอถึงเวลาก็มาเล่นที เราไม่ใช่ลูกไล่ ที่มันจะต้องมาชี้แจงทุกครั้ง มันเรื่องอะไรกัน”

  • ยืนยันว่าการเปิด หจก. ทั้ง 5 แห่ง ไม่มีปัญหาอะไร
ไม่ใช่ยืนยันหรือไม่ยืนยัน (เสียงแข็ง) แต่มันไม่เข้าท่าไง คือ ถ้าเป็นเรื่องของใหม่ก็พอว่า แต่นี่คณะนี้... เอามาเปิดหลายรอบแล้ว เราอาจจะเพิ่งมาทำ ก็ลองไปดูในเน็ตก่อนแล้วค่อยว่ากัน

  • กังวลเรื่องที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเข้ามาตรวจสอบหรือไหม
“มันจะกลัวอะไร (ลากเสียงยาว) ก็ยื่นมาไม่รู้กี่รอบแล้ว หมายถึงว่า หนึ่งก็คือเรื่องนี้เปิดมาไม่รู้กี่รอบ เราก็แสดงบัญชี ป.ป.ช. หลายรอบแล้ว”

  • หจก. ทั้ง 5 แห่ง ทำธุรกิจจริง หรือเปิดมาเฉยๆ
(หัวเราะ หึหึๆ )..ก็มันจบไปแล้ว เราไปถามสิ่งที่จบไปแล้ว เราพูดไม่รู้เรื่องนะ...(เสียงแข็ง) คือหมายความว่า เรามาถาม ถามเพื่ออะไร ถามในสิ่งที่คณะน้องบางคน เอาไปลงนสพ. ลงหลายรอบแล้ว อย่างที่พี่เล่าให้ฟัง ก็ไปย้อนดูซิ ถ้ามันเป็นเรื่อง ปานนี้มีเรื่องไปแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่ไง
“ก็คณะของน้องอ่ะ ลงมาตั้งแต่ยุคขับเคลื่อน ตั้งแต่ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ยึดอำนาจ ก็เปิดต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง ถ้ามันผิดจริง ปานนี่ผมถูกถลกหนังแดงเถือกแล้ว”
“ แต่มันไม่ใช่เรื่องใหม่ พี่ดูแล้วสำนักข่าวน้องที่ลง ให้เขาคลิปปิ้งข่าวดูทุกวัน ไม่ได้มีอะไรใหม่ ฉะนั้นเราไม่ตอบสิ่งที่มันจบไปแล้ว และเรามาถามสิ่งที่มันจบไปแล้ว มันไม่ถูก และโดยสำคัญที่สุด คนที่เอามาลง ก็เคยนำไปใช้ลงหนังสือพิมพ์ ต่างกรรมต่างวาระหลายครั้งอยู่แล้ว”

  • แต่สำนักข่าวอิศราต้องการให้ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้
มันเรื่องของน้อง ไม่ใช่เรื่องของพี่ (เสียงแข็ง) แต่เรื่องของพี่ก็คือ เรื่องนี้มันจบไปแล้ว และทีมที่แยกตัวมาจากมติชน ก็เคยเอาไปลงมาหลายรอบแล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ พี่ก็ไม่ได้ตื่นเต้น กับสิ่งที่ไม่ได้น่าตกใจอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ลงต่างกรรมต่างวาระหลายครั้งแล้ว

  • แล้วเรื่องตึกอัลฟ่า บิลดิ้ง ชั้น 12 หจก.ทั้ง 5 แห่ง เข้าไปตั้งอยู่ได้อย่างไร
ไม่ใช่เรื่องที่พี่ต้องตอบน้อง พี่บอกแล้วไงว่ามันจบไปแล้ว เรามาถามวนแบบนี้ พี่ก็อายุมากพอสมควร ไม่มีประโยชน์ที่น้องจะต้องมาใช้ลีลาอะไรกัน (เสียงดุ) แต่ว่านี่เตือนว่า เราก็บอกเท่านี้ น้องก็น่าจะรู้แล้ว ไปเช็คดูในเน็ต ในที่กลุ่มของน้อง แต่ไม่ใช่ว่าน้องจะใช้ความสามารถในการมาหลอกล่อถามมา มันไม่มีประโยชน์
“ที่พี่คุยด้วยอยู่นี่ เพื่อที่จะบอกว่า คณะที่ทำงานกับน้อง เอาเรื่องนี้มาลงแล้วหลายรอบ ลงหนังสือพิมพ์ด้วย ไม่ใช่ลงในเว็บ เหมือนกัน เนื้อหาเดียวกัน “มติชน” หน้าสองลงเต็มเลย ประชาชาติก็ลง หลายพวกหลายคณะก็ลง ผู้จัดการ เอเอสทีวี ก็เอาไปลง ลงหลายครั้ง เพราะฉะนั้น เราก็มาถามสิ่งที่จบไปแล้ว มันไม่มีประโยชน์ แล้วน้องก็มาหลอกล่อ ควรจะเคารพคนที่น้องต้องมาถามด้วย เพราะเรามันไม่ใช่นักการเมืองประเภทที่จะมาหลอกล่อจะอะไรมันไม่ใช่ เมื่อไรมันใช่ก็ใช่ แต่เรื่องนี้มันจบไปแล้ว เท่านั้นเอง ”

          “เรื่องนี้ไม่มีประโยชน์อะไร อยากจะทำอะไรก็เชิญ เพียงแต่ว่า พวกคุณเอามาเปิดต่างกรรมต่างวาระกันหลายรอบแล้ว คำว่า “อิศรา” มันควรจะมีคุณค่านะ (เสียงแข็ง) พอเปิดของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสร็จก็มาเปิดของพี่ต่อ แต่ของพี่มันเปิดหลายรอบแล้ว โดยคณะนี้ และเนื้อความไม่ได้แตกต่างอะไรเลย เหมือนกันเด๊ะ ลงไปเช็คดู ทำเป็นเรื่องตื้นเต้นไปได้ ตัวเองเปิดเองอะไรเอง คุณจะมาเปิดทุกครั้งมันก็บ้าแล้ว และเราจะมาตอบทุกครั้งมันก็ไม่ใช่คนปกติ มันไม่ใช่เรื่อง ...”  
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการลงทุนธุรกิจ 5 แห่งของนายจตุพรเคยปรากฏเป็นข่าวเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ในข่าวดังกล่าวมิได้ถูกตั้งคำถามเรื่อง เงื่อนงำ “ที่มา” ของเงินลงทุน 25 ล้านบาทและ “เงินให้กู้ยืม” จำนวน 23.7 ล้านบาท แต่อย่างใด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง