-
เขียนโดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์
"กล้านรงค์" ระบุ"วัฒนา อัศวเหม" มีมูลคดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน พร้อมเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา ด้านสุวัจน์ รอด เหตุไต่สวน ไม่พบมีเอี่ยวทำความผิด
วันที่ 8 ธันวาคม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กันพวก 35 คน ทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ (คลองด่าน) ซึ่งเป็นสำนวนที่คณะอนุกรรมการไต่สวน ที่มี นายวิชัย วิวิตเสรี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้นำเสนอ
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากการไต่สวนโดยดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคล 114 ปาก รวบรวมพยานหลักฐานเอกสาร ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 403 รายการ มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 17,985 แผ่น รวมทั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาแล้ว สรุปความเห็นและมติของคณะกรรมการ ป. ป.ช. ได้ดังนี้ นายวัฒนา อัศวเหม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2540 ถึงวันที่ 9 ก.พ. 2544 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่า พฤติการณ์ของนายวัฒนา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157
แต่ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง ที่ อม.2/2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาให้ ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามระเบียบต่อไป
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้ถูกกล่าวที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2538 ได้เสนอโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกและ ฝั่งตะวันตก เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ในส่วนของเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับจ้างไปเป็นค่าที่ดิน ค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา สำหรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 17,045,889,431.40 บาทจำนวนหนึ่งและ 121,343,887.19 เหรียญสหรัฐอีกจำนวนหนึ่ง
“คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การกระทำของนายยิ่งพันธ์ เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2526 ฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสาม และมาตรา 26 รวมทั้งระเบียบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 ข้อ 7 เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการเสียหายแก่ภาครัฐ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157”
แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (1) คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้จำหน่วยเรื่องออกจากสารระบบเรื่องกล่าวหา
ส่วนนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นั้น นายกล้านรงค์ กล่าวว่า นายสุวัจน์ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวใน 2 ช่วงด้วยกัน คือ ในฐานะรัฐมนตีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างเดือนธันวาคม 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540
สำหรับประเด็นการพิจารณานั้น แบ่งออกเป็น 2ส่วนคือ 1.นายสุวัจน์ ได้เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดโครงการฯ หรือไม่ และ 2.ได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทประยูรวิศว์ การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวของนายสุวัจน์ หรือไม่ซึ่งข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ปรากฎว่า การดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้ถูกกล่าวที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจในการสั่งจ้างตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 โดยนายสุวัจน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาดังกล่าว เพราะขณะนั้นนายสุวัจน์ เป็น ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน”
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า นายสุวัจน์ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวอีกครั้งใน สมัยเป็น รมว.คมนาคม และถึงแม้ในตำแหน่ง รมว.คมนาคม ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จะเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้หนึ่งด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบงานของ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า นายสุวัจน์ ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จูงใจ หรือครอบงำ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือ ครม. ให้ความเห็นชอบ ในเรื่องที่นายสุวัจน์ ได้ร่วมประชุม ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะในเรื่องการปรับปรุงแบบการก่อสร้างโครงการ หรืออนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งเกิดจากการกระทำของนายยิ่งพันธ์ ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่า นายสุวัจน์ ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในโครงการดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเอกฉันท์ให้ข้อกล่าวหาตกไป
จากนั้นเมื่อถามว่า นายวัฒนาอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับ ป.ป.ช. จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวได้อย่างไรนายกล้านรงค์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการตามระเบียบต่อไป ส่วนถ้านายวัฒนา ไม่เดินทางมาด้วยตนเอง ก็สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการชี้แจ้งข้อกล่าวภายใน 15 วันหลังจากได้รับแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว หรือถ้ามีกรณีที่ไม่สามารถชี้แจ้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถขอขยายเวลาได้
ด้านนายวิชัย วิวิตเสรี กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการ กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาสามารถทำได้ โดยการส่งเอกสารไปยังภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา
อ่านรายละเอียดมติ ป.ป.ช. เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 36 รายได้ที่ www.nacc.go.th
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น