กาแฟดำ
ผมติดตามการ “ประชุมวิกฤติหนี้” ของประเทศในยูโรโซน 17 ประเทศ
และอีก 10 ประเทศยุโรปที่ไม่ใช้เงินสกุลยูโรในช่วงปลายที่ผ่านมาอย่างใจจดใจจ่อ เพราะมีความหวั่น ๆ ว่าเงินสกุล “ยูโร” อาจจะมีอันต้อง “ล่มสลาย” เพราะ “เอาไม่อยู่”
แม้
จะตกลงกันได้ว่าทั้งหมด (ยกเว้นอังกฤษไม่เอาด้วย)
ว่าจะรับรองกฎกติกาชุดใหม่ที่มีบทลงโทษสำหรับประเทศที่ไม่ทำตามเพดานที่
กำหนดสำหรับการสร้างหนี้ แต่ก็ยังไม่ได้แปลว่าจะแก้วิกฤติได้ทั้งหมด
นายกฯ อังกฤษเดวิด คาเมรอน บอกว่า ที่ไม่ยอมลงนามร่วมด้วย “เพราะเงื่อนไขใหม่ไม่เป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ”
หนึ่งในมาตรการที่ดูเหมือนจะส่งสัญญาณทางบวกที่ตกลงกันได้หลังจากประชุมมาราธอน คือ การเพิ่มเงินกองทุนสู้วิกฤติอีก 200,000 ล้านยูโร ซึ่งต้องถือว่าเป็นการ “อัดฉีด” ครั้งใหญ่
เพราะถ้าคราวนี้ “เอาไม่อยู่” ก็จะพังกันเป็นแถบเหมือนกัน
ข่าวบอกว่า การประชุมที่มีผู้นำเยอรมัน และฝรั่งเป็นเป็น “หัวหอก” สำคัญ
ที่กรุงบรัสเซลส์นั้น ต้องสุมหัวถกกันข้ามวันข้ามคืนกันทีเดียว
เพราะความเห็นว่าใครจะต้องลงมือทำอะไร ใครจะหาเงินเท่าไร
และใครต้องอุ้มใครนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะตกลงกันได้ง่าย ๆ
ต้องไม่ลืมว่า ประเทศที่อยู่ใน “ยูโรโซน” มี 17 ประเทศ แต่ที่เป็นยุโรปและอยู่นอกยูโรโซนนั้นมีอีก 10 ประเทศ ที่ชะตากรรมเหมือนจะผูกกันแนบแน่น หากเศรษฐกิจใครเจ๊งขึ้นมาเพราะหนี้สินหนักหน่วง, ก็กลัวกันว่าจะเกิดอาการระบาดลามปามไปหมด
แต่ครั้นจะตกลงกันว่าต้องช่วยกัน “ลงขัน” เพื่อจะอุ้มประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติ, ก็
ต้องตอบคำถามผู้เสียภาษีของประเทศที่ต้องออกสตางค์ว่าจะเอาเงินของเขาไปช่วย
อีกประเทศหนึ่งที่รัฐบาลบริหารเละเทะจนบ้านเมืองเสียหายมากมายได้อย่างไร
เยอรมันถูกมองว่าจะต้องเป็นผู้เข้ามาอุ้ม, แต่นายกฯ แองเกลา แมร์เคิล ก็หวั่นว่าหากเธอตัดสินใจเช่นนั้น, เธอจะถูกประชาชนเยอรมันขับออกจากตำแหน่งเพราะเอาเงินภาษีของชาวบ้านไปช่วยคนอื่น และไม่มีอะไรรับรองได้ว่าช่วยแล้วจะรอด หรือรอดแล้ว, ประเทศนั้นๆ จะปรับเนื้อปรับตัวให้มีวินัยในนโยบายการเงินการบริหารหรือไม่
“สามเสือ” ของสหภาพยุโรป…เยอรมัน ฝรั่งเศส และ อังกฤษ (นายกฯ แมร์เคิล, ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี, นายกฯ
เดวิด คาเมรอน) ปิดประตูคุยกันก่อนการประชุมเต็มรูปแบบกับสมาชิกอื่นๆ
แล้ว…ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุข้อตกลงอะไรใหม่
เพราะต่างคนต่างก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ไม่มีใครยอมเสียสละเพื่อใคร
แม้จะกลัวว่าผลเสียหายจากประเทศที่เจ็บป่วยหนัก อย่าง กรีซ อิตาลี
และอื่นๆ จะลามปามมาสร้างความเสียหายให้กับตนได้มากเพียงใดก็ตาม
ถ้าถามบรรดา “กูรู” ของวงการวาณิชธนกิจระดับโลก อย่าง JP Morgan, Nomura International, Morgan Stanley, UBS รวมไปถึงสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก อย่าง Moody’s Investor Service, และ Standard & Poor ก็จะได้ยินเสียงเตือนเกือบจะเหมือนกันหมดว่า
ความเสี่ยงของ “ยูโรโซน” ที่จะแตกสลาย กลายเป็นเรื่อง “ตัวใครตัวมัน” นั้น มีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทุกที
ร่าง
ข้อเสนอที่ส่งไปให้ตัวแทนแต่ละประเทศได้พิจารณาก่อนการประชุมสุดยอดครั้งนี้
มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ให้ทุกประเทศกำหนดเพดานที่จะสร้างหนี้ได้ที่ 0.5% ของจีดีพีของตนเอง…ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการ “รัดเข็มขัด” ที่ฉับพลันและรุนแรง เนื่องเพราะเพดานปัจจุบันอยู่ที่ 3%
เยอรมัน
กับฝรั่งเศสผลักดันให้มีกฎกติกาว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด
กว่าเดิมและขอให้เขียนกำหนดเป็นลายกลักษณ์อักษรไว้ในกฎบัตรของสหภาพยุโรปเลย
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการ “เบี้ยว” เกิดขึ้น
และยังขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีอำนาจในการใช้มาตรการลงโทษประเทศที่ทำผิดกติกาด้วยการกู้เงินเกินเพดานที่กำหนดไว้
ที่ผ่านมา แม้จะมีข้อตกลงหลวมๆ เรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีมาตรการลงโทษประเทศไหนที่ฝ่าฝืนแต่อย่างไร
อีก
ข้อเสนอหนึ่งที่ส่งเข้าพิจารณาคือเงื่อนไขใหม่ที่บอกว่าการที่จะหาเงินมา
ช่วยประเทศใดที่มีวิกฤติหนี้นั้นจะต้องไม่บังคับให้นักลงทุนเอกชนเข้า
มารับผิดชอบร่วมแบกภาระด้วย…อย่างที่เกิดขึ้นในกรณีเข้าไปช่วยกรีซที่ผ่านมา
เพราะว่าการบังคับให้เอกชนเข้ามาร่วมรับกรรมด้วยนั้น เป็นมาตรการที่ไม่ยุติธรรม และก่อให้เกิดความแตกตื่นไปทั่วโลกได้
ประโยคชัดๆ ของนายกฯ หญิงเหล็กเยอรมันที่ดูจะตอกย้ำความรุนแรงของปัญหา คือ ที่เธอประกาศอย่างไม่เกรงใจใครว่า
“ยูโรได้สูญเสียความน่าเชื่อถือแล้ว เราจำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นทันที”
และที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สำทับว่า
“ไม่เคยมีครั้งใดที่ยุโรปมีความจำเป็นขนาดนี้ และไม่เคยมีครั้งใดที่ยุโรปตกอยู่ในสภาพอันตรายขนาดนี้…”
หากว่า ยูโร ล่มสลาย สหรัฐก็จะพลอยเสียหายหนัก แม้จีนที่ดูจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดวันนี้ก็ยังยอมรับว่าน่าหวาดหวั่น
แม้
ว่าผลการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะดูเหมือนมีผลเป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม
แต่ก็ยังต้องพิสูจน์กันด้วยการลงมือทำจริงหรือไม่ แค่ไหน
เรียกว่าประมาทกันไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
ประเทศเล็กๆ เปราะบางอย่างเราเตรียม Big Bag เศรษฐกิจหรือยัง? และแม้ว่าจะมี “พนัง” กั้นวิกฤติเศรษฐกิจ, ก็ต้องถามตัวเองอย่างจริงจังว่า “เอาอยู่ไหม?”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น