ในแวดวงการเมือง รักใครอย่ารักจนหมดหัวใจ และเกลียดใครก็อย่าเกลียดเขาจนหมด ทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น"
คือคำแนะนำถึงคนดู-คนฟัง-คนติดตามการเมือง ที่หลุดจากปากบุรุษผู้เคยอยุู่ทั้ง "เบื้องหน้า" และ "เบื้องหลัง" ม่านการเมือง
เคยสัมผัสบุคคลระดับ "เบื้องบน" และ "เบื้องล่าง"
จนสามารถเก็บรายละเอียด-ข้อเท็จจริง-บทสนทนาประวัติศาสตร์ ก่อนถ่ายทอด "เบื้องลึก" ในทุกแง่มุมผ่านหนังสือ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร"
แม้ "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่เคยร่วมงานกับ "นายกฯหญิง" นาม "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
แต่ประสบการณ์รับใช้ 7 นายกฯ 10 รัฐบาล ทำให้เขาอดติดตามลีลา-ท่วงท่าของ "นักแสดงนำ" บนเวทีการเมืองไม่ได้
"วิษณุ" เปิดปากรับสารภาพว่า รู้สึกเข้าใจ-เห็นใจ "ยิ่งลักษณ์" ที่ต้องขึ้นเป็น "นายกฯ คนที่ 28" ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง
มิหนำซ้ำ เข้ามาไม่ทันไร ก็ต้องรับมือกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย
"ถ้า จะให้ประเมิน ให้มอง อย่างไรเสียมันก็ดีไปไม่ได้หรอก ต้องให้เวลาหน่อย แต่ถ้าให้มองเฉพาะตัวคุณยิ่งลักษณ์คนเดียว เรื่องการปฏิบัติการในขีดความสามารถที่จำกัด หรือที่มีอยู่ ท่านทำได้ดีพอสมควร หรือเกินกว่าที่ผมคิดเอาไว้เยอะเลย ผมยังนึกว่าถ้าน้ำซัดมาตูมแรก คุณยิ่งลักษณ์คงนั่งร้องไห้ 7 วัน บังเอิญแกร้องอยู่วันเดียวแล้วจบ จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใครแนะอะไรก็ทำ แต่ บังเอิญคนแนะมันมีหลายคน แนะคนละอย่าง แกเลยทำอะไรไม่ถูก ก็ได้ทำไปดีเท่าที่คนคนหนึ่งจะพึงทำได้ในเวลาอันจำกัด และขีดความสามารถอันจำกัด ถ้าเป็นคนอื่น เขาอาจทำได้ดีกว่านี้ หรือถ้าเป็นคนอื่นแล้วดันทำได้เหมือนคุณยิ่งลักษณ์ ต้องโดนตำหนิมากแน่เพราะคุณเจนเวที นี่เขาทำได้แค่นี้ ผมถึงได้ให้คะแนนด้วยความเห็นใจ"
คือเสียงเชียร์จาก "วิษณุ" หลังสลัดบท "เนติบริกร" แล้วมานั่งชมละครการเมืองในฐานะ "คนดู" มาได้ 5 ปีแล้ว
ไม่ว่า "ยิ่งลักษณ์" จะแสดงดี-มีเรตติ้งหรือไม่ แต่ "วิษณุ" ยอมคารวะให้ในฐานะที่ "เธอ" คือ "ผู้นำ"
"เมือง ไทยเราเสียอย่าง ใครเป็นผู้นำ เราไม่เรสเปก (เคารพนับถือ) มีแต่จะเหยียบย่ำทำลาย หรือเหยียดหยาม ซึ่งมันผิดทั้งมารยาทและผิดวัฒนธรรมไทย"
ในภาวะวิกฤตธรรมชาติ ผู้นำแบบไหนจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวพ้นภัยได้?
เขาบอกว่า นิยาม "ผู้นำ" ที่ง่ายที่สุดคือคนที่คนเขายอมตาม ใครที่ขึ้นมาแล้วคนไม่ยอมตาม แปลว่าคนคนนั้นสักแต่ว่าเป็นผู้นำเพราะมีคนตั้งให้เป็น แต่เมื่อคนไม่ตาม คุณก็นำใครไม่ได้ วัวก็เป็นผู้นำได้ ถ้าฝูงโคยอมตาม แต่ถ้าผู้นำโคจะเลี้ยวซ้าย ฝูงโคจะเลี้ยวขวา หัวหน้าโคก็นำไม่ได้ฉันใด ผู้นำจึงต้องยอมทำให้คนตามฉันนั้น เราจะเห็นเทคนิคของผู้นำหลากหลาย บางคนใช้เงินเพื่อจะให้คนตาม บางคนใช้สติปัญญา บางคนใช้ความกล้า บางคนใช้คุณธรรม ดังนั้น สไตล์ใคร ศักยภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
"หาก ใช้สไตล์คนอื่นมาเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ ก็เป็นการไม่ยุติธรรม ต้องใช้ที่คุณยิ่งลักษณ์เองว่าสามารถทำให้คนตามได้หรือไม่ ผ่านมา 2 เดือนเศษ ผมมองว่ายังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนยังมองว่าเหนือคุณยิ่งลักษณ์มีคนอื่น ถ้าจะตามคือตามคนอื่นดูจะถูกเป้า และตรงประเด็นกว่า แต่คุณยิ่งลักษณ์เองก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างภาวะผู้นำของตัวขึ้นมา เท่าที่เห็นและเท่าที่ผมทราบมา มีหลายเรื่องที่ใครจะว่ายังไงก็ตาม แต่คุณยิ่งลักษณ์คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วแกก็ชนะด้วย แกก็ได้ด้วย"
อดีตเสนาธิการ ครม.ชี้ว่าคุณสมบัติที่ "ผู้นำ" พึงมี-พึงเป็น มีอย่างน้อย 4 ประการ
1.มีเวลาในการทำงาน แต่ของไทยอยู่ 3 เดือน 6 เดือน เดี๋ยวก็ยุบสภา เดี๋ยวก็ลาออก ทำอะไรยังไม่ทันเห็นผลสำเร็จก็ไปแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปรียบเพราะเป็นผู้นำคนแรกที่อยู่ครบเทอม 4 ปี ชนิดไม่มีรัฐบาลไหนเสมอเหมือน จึงได้ประโยชน์จากเวลา
2.มีเสนาคือ มีลูกมือเอาไว้คอยช่วยงาน ผู้นำที่เก่งคนเดียว คิดคนเดียว เหนื่อยคนเดียว ก็บ้าอยู่คนเดียว นายกฯไทยหลายคนคิดแล้วไม่มีคนเอาไปทำต่อ แต่หลายคนคิดแล้วมีคนเอาไปทำต่อ อย่าง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีบุญตรงนี้ พอคิดก็จะมีคนเอาไปทำต่อ ถ้าเศรษฐกิจ "เสนาะ อูนากูล" เอาไปทำต่อ ถ้ากฎหมาย "มีชัย ฤชุพันธ์" เอาไปทำต่อ การเมืองมีอีกคนเอาไปทำต่อ ดังนั้น ไม่ต้องคิดจนจบ คิดสัก 2 ประโยค ก็จะมีคนมาต่อให้ 3, 4, 5
3.มีวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องยกให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่เห็นอะไรนิดเดียว คิดไปคืบหนึ่ง พอเห็นคืบ คิดไปศอก
4.มีธรรมะ ซึ่งผู้นำไทยหาไม่ค่อยเห็นในเรื่องนี้
"ถ้า ผู้นำมีสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ง่าย จริงๆ นายกฯอย่างคุณชวน (หลีกภัย) คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) คุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่อาจจะยังไม่ครบ แต่คุณยิ่งลักษณ์อาจยังไม่มีเลยสักข้อ ก็ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมาให้ได้ ทำอย่างไรจะให้มีครบทุกข้อ หรือไม่ครบ แต่ทำได้สัก 2 ใน 4 ก็จะเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในใจคนได้"
นอกจาก "คุณสมบัติเฉพาะตัว" ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ผู้นำ" แต่ละคนต้องสร้าง-สั่งสมขึ้นเองแล้ว หลายครั้งเมื่อต้องเผชิญวิกฤต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทานกำลังใจให้รัฐบาล ดุจ "น้ำทิพย์ชโลมใจ"
ทว่าในช่วงที่ผ่านมาพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่รับสั่งกับคณะบุคคลต่างๆ มักถูกนำไปแปลความเข้าข้างตนเอง โดย "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" อดีตรองนายกฯ ใช้คำว่า "รู้สึกว่าเจ้านายท่านไม่กลับรับสั่งอะไรแล้ว?"
ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดราชสำนัก มีโอกาสเข้าเฝ้าฯพร้อมนายกฯหลายคน "วิษณุ" กล่าวยืนยันว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลเท่าเทียมกัน ในความหมายที่ว่าต้องการให้ท่านช่วยอะไร ท่านช่วยเสมอเหมือนกัน และไม่ต้องไปดูว่าพรรคไหน ใคร มาจากไหน เรื่องอย่างนี้คนอย่างคุณทักษิณรู้แก่ใจ คนอย่างคุณบรรหาร คุณชวน พล.อ.ชวลิตรู้อยู่แก่ใจทั้งหมดว่าหากไม่ได้พระมหากรุณา รัฐบาลจะเป็นอย่างไร และในฐานะที่ท่านเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำ ท่านมีอำนาจที่เราเปิดไม่เจอในรัฐธรรมนูญ แต่เขาพูดกันมาตั้งแต่โบราณ พูดมาตั้งแต่อังกฤษว่าพระมหากษัตริย์แม้จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีอำนาจตักเตือนรัฐบาล มีอำนาจจะให้กำลังใจรัฐบาล มีอำนาจจะแนะนำรัฐบาล เป็นอำนาจ ไม่ใช่หน้าที่ ดังนั้น ถ้าจะมาบอกว่าอ้าว! ทำไมไม่เห็นทรงแนะนำเลย ก็มันไม่ใช่หน้าที่ท่าน เมื่อเป็นอำนาจ ท่านจะทรงใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ทางที่ดีเนี่ย รัฐบาลขอพระราชทานให้ทรงใช้อำนาจเสียเองสิ ถ้าไม่ขอ ท่านก็ไม่พูด เพราะเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่รู้ใครจะเอาไปทำตามหรือเปล่า นายกฯหลายคนกล้ากราบบังคมทูลฯขอ แล้วได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมาทั้งนั้น"
ไม่ว่าจะเป็น "บรรหาร" ที่ก้มลงกราบพระบาท เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ในปี 2538 โดยบอกว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาไม่เคยเป็นนายกฯ ข้าพเจ้าหนักใจเหลือเกินว่าจะไม่สามารถจัดการปกครองบ้านเมืองให้ดีได้ กลัวเหลือเกิน ไม่มั่นใจ"
พระองค์ท่านรับสั่งเลยว่า "ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณบรรหารทำสุพรรณบุรีได้ คุณบรรหารก็ทำกรุงเทพฯได้ คุณบรรหารทำกรุงเทพฯได้ ก็ทำประเทศไทยได้ ช่วยทำกับประเทศไทยเหมือนที่ทำกับสุพรรณฯน่ะพอแล้ว" แค่นี้ชื่นใจแล้ว
หรือในรัฐบาล "พล.อ.ชวลิต" ซึ่งเกิดเรื่องใหญ่ จะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลคิดว่าควรจะลงพระปรมาภิไธย พอถวายขึ้นไป รับสั่งว่านายกฯ กลับเมื่อไรให้มาพบ จากนั้นเมื่อนายกฯได้เข้าเฝ้าฯ หายไป 2 ชั่วโมง
"พอกลับ ออกมาทุกคนรุมถามท่านว่าทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ พล.อ.ชวลิตถือกระดาษเปล่าออกมา บอกว่าไม่ทรงลง แต่พระราชทานสิ่งที่ดีกว่านั้น เอาไปทำกันเถอะ แล้วก็มาจัดการทำกัน หายไป 1-2 เดือน วิกฤตการณ์ผ่านไปโดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุเภทภัยใดๆ เกิดขึ้น พล.อ.ชวลิตจึงลงมือร่างหนังสือด้วยตนเอง กราบบังคมทูลฯว่า "ถ้าไม่ได้อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ เหตุเภทภัยจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณในวันนั้น ภยันตรายจึงผ่านพ้นไปด้วยดี" ในเวลาต่อมาเมื่อนายกฯไปเฝ้าฯ ท่านทรงถือจดหมายนั้นแล้วถามว่าท่านนายกฯคิดอย่างนี้จริงๆ หรือ พล.อ.ชวลิตบอกว่าคิดอย่างนั้นจริงๆ ก็ทรงพระสรวลอย่างพอพระทัย
"ดัง นั้น คนเป็นรัฐบาล ถ้าขอพระมหากรุณาก็จะได้มหากรุณา ในช่วง 3-4 วันนี้ เห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไปเข้าเฝ้าฯ ขอประทานพระราชกระแสเรื่องน้ำท่วม ก็กลับออกมาก็อิ่มเอิบยิ้มแย้มแจ่มใส รู้แล้วว่าควรต้องทำอย่างไร เรื่องอย่างนี้เวลาจะทรงแนะนำอะไร จะจบด้วยประโยคหนึ่งเสมอว่า "ก็แนะไปอย่างนั้น แต่เอาไปคิดดู ถ้าคิดว่าไม่ถูกก็ไม่ต้องทำตามนะ และถ้าคิดว่ามันไม่ถูกก็ช่วยมาบอกหน่อย คราวต่อไปฉันจะได้แก้ไขเสียใหม่ แต่ถ้าคิดว่าดีก็ลองทำเถิด" นี่คือพระเจ้าแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยครับ"
ท้ายที่สุดก่อนรูดม่านบนเวทีสนทนา "วิษณุ" ถูกถามถึงโอกาสหวนคืนเวทีทางการเมืองอีกครั้ง?
"คง ได้เห็นผมบนเวทีที่มานั่งคุยเรื่องหนังสือ มานั่งเซ็นหนังสือแน่ เพราะเขียนไว้อีกหลายเล่ม ส่วนเวทีการเมืองนั้น ผมไม่ได้คิดอยากจะเข้าไปตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นต้องเข้าไป และเมื่อออกมาแล้วยังจะดันดิ้นรนกลับเข้าไป โดยไม่ได้มีความจำเป็นอีกเนี่ย ผมก็ไม่รู้จะหาเรื่องไปทำไม ทุกวันนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว"
เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า "วิษณุ" ไม่สนใจรับบท "เนติบริกร" ให้รัฐบาลไหน เว้นแต่ "มีความจำเป็น"!!!
ที่มา - ส่วนหนึ่งของเนื้อหาบนเวทีเสวนาในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร : ความลับและความจริงในทำเนียบที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขอบคุณ มติชนออนไลน์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น