"ทวิดา" นักวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติ วิพากษ์ ศปภ. เริ่มต้นช้า ข้อมูลสับสน ทิศทางไม่ชัด
มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยรอบนี้
กวาดพื้นที่หลายจังหวัดภาคกลางให้กลายสภาพเป็นทะเลสาบ จมนิคมอุตสาหกรรม 7
แห่ง สร้างมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท ขณะที่การรับมือสถานการณ์ของ
ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)
กำลังถูกตั้งข้อกังขาอย่างหนักหน่วง
ภาพการทำงาน ศปภ. ที่ออกสู่สาธารณะบางครั้งสร้างความสับสนแก่ประชาชนผู้รับสาร บ่อยครั้งข้อมูลระหว่าง ศปภ. และกรุงเทพมหานครก็ขัดแย้งกันเอง ยังไม่นับปัญหาการเมือง ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ระหว่างชาวบ้าน ทั้งหมดนี้ตอกย้ำภาพการบริหารจัดการที่เรียกได้ว่าล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งในสถานการณ์ปกติอาจไม่กระไรนัก แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้ ปัญหาในการบริหารจัดการหมายถึงความสูญเสียอันทวีคูณ
แม้ระยะ 4-5 ปีมานี้ ประเทศไทยจะประสบภาวะภัยพิบัติจากธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ทว่า ปัญหาด้านการจัดการภัยพิบัติกลับยังเคลื่อนตัวไม่ทันกับปัญหา ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติ ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าว TCIJถึงการจัดการภัยพิบัติครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และควรเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับการจัดการภัยพิบัติในอนาคต
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช
ภัยพิบัติ วิทยาศาสตร์อย่างเดียวจัดการไม่ได้
ดร.ทวิดา เริ่มอธิบายว่าการจัดการภัยพิบัติแต่เดิมเป็นวิธีการจัดการแบบโครงสร้างคือ อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงการสร้างคันกั้นน้ำ การใช้เรดาห์ตรวจจับพายุ แต่ในสถานการณ์จริงมีหลายเรื่องที่โครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ เช่น เตือนแล้วประชาชนไม่อพยพ การช่วยเหลือเข้าไม่ถึง การคาดการณ์ผิดพลาด เป็นต้น
“เมื่อสักสามสี่สิบปีที่แล้วจึงเกิดแนวความคิดว่าจะศึกษาการจัดการภัย พิบัติด้วยสังคมศาสตร์ มองว่าใครมีความรู้ที่จะทำให้การจัดการภัยพิบัติในส่วนที่เป็นการบริหาร จัดการและชุมชน สังคม ดีขึ้นโดยนำเอาศาสตร์ของภัยพิบัติบวกวิทยาศาสตร์บวกการบริหารจัดการ”
เริ่มต้นรับมือช้าเกินไป
“ถามว่ามองสถานการณ์ตอนนี้ยังไง บอกตรงๆ ว่าเอาไม่อยู่หรอก เพราะน้ำท่วมครั้งนี้มันใหญ่โตกว่าที่เราคิดมาก ตอนนี้ต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ แต่เราเริ่มช้าไปหน่อย ในการจัดการภัยพิบัตินั้น การเริ่มช้าเร็วมันเป็นเรื่องสำคัญมาก”
การจัดการภัยพิบัติมี 3 ขั้นตอนคือก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิด กรณีที่เป็นภัยพิบัติขนาดไม่ใหญ่มากหรือเกิดครั้งเดียวจบ การจัดการจะเป็นไปทีละขั้นตอน แต่กรณีน้ำท่วมครั้งนี้แตกต่างออกไป ขณะที่อยุธยาท่วม กรุงเทพกำลังวางแผนป้องกัน นครสวรรค์กำลังเริ่มเยียวยาซึ่งการต้องเผชิญกับ 3 ขั้นตอนพร้อมกัน ดร.ทวิดา มองว่าเป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเกินไป
“แต่เหตุผลที่เกิด 3 ขั้นตอนเพราะก่อนหน้านี้เราเริ่มต้นช้าไปนิดหนึ่ง และที่อาจารย์คิดว่ามีปัญหาที่สุดคือการวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งไม่รอบด้านเท่าที่ควร ถ้าการเตรียมพร้อมทำได้ช้า การลดผลกระทบจะต่ำ หมายความว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงของเรามีปัญหา ข้อมูลค่อนข้างกระจัดกระจาย เวลามีการเตือนจากภาควิชาการหรือหน่วยงาน ผู้บริหารจะตอบสนองต่อคำเตือนพวกนี้ค่อนข้างช้า แต่งานนี้ไม่ได้จะหาใครผิดนะ เพราะปกติภัยพิบัติไม่ใช่อันดับแรกในความสนใจของผู้บริหารอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา”
และกล่าวต่อว่า “น้ำท่วมครั้งนี้ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะเยอะขนาดนี้ แล้วจะจัดการยังไงกับการไม่คาดคิดหรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงช้า หนึ่ง เราต้องเปลี่ยนวิธีการรับรู้ รัฐบาลต้องเปลี่ยน อย่าใช้วิธีวิ่งตามหลังปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดแล้ววิ่งไปแก้ ต้องมีการวิเคราะห์ว่าฉันจะมีความเสี่ยงในขณะนี้ แล้วจะทำยังไง ถ้าทำแบบนี้จะทำให้การวางแผนรับมือได้ดีขึ้น เมื่อเริ่มช้าจึงเกิดภาวะที่ศัพท์ทางภัยพิบัติเรียกว่า ‘ท่วมท้น’มันไม่ไหวแล้ว วันนี้จึงเป็นการตั้งรับเสียเยอะ แต่วิธีคิดของการจัดการภัยพิบัติคือตรงไหนรุกได้ต้องรุก”
การวิเคราะห์ความเสี่ยงต้องนำข้อมูลจากวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านภัย พิบัติหลายชุดมาประมวล เพื่อหาแนวทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อหาวิธีจัดการกับพื้นที่และต้องแจ้งด้วย ว่าระยะเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ ซึ่งโดยปกติจะบอกเป็นช่วงระยะเวลา อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ความเสี่ยงเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากเป็นความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ยาก ผู้วิเคราะห์มักจะถูกกล่าวหาว่าพูดจาเลื่อนลอย
บูรณาการคือเอกภาพและประสานงาน
เหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 ทำให้ภาครัฐต้องใส่ใจคำว่า ‘บูรณาการ’ในการจัดการภัยพิบัติ มีการปรับกฎหมายและนโยบาย การเขียนแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ แผนการใช้งบประมาณ กำหนดโครงสร้างหน่วยงาน และมีการฝึกซ้อมแผนอยู่เป็นระยะ แต่ ดร.ทวิดา กล่าวว่า การบูรณาการไม่ใช่การนำแผนของแต่ละหน่วยงานมาต่อกันหรือการเรียกทุกหน่วยงาน มารวมกันและมีแผนงานลักษณะเดียวกัน
ทว่า บูรณาการหมายถึงความเป็นเอกภาพและการประสานงาน เนื่องจากในการจัดการภัยพิบัติมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การประสานงานอย่างชัดเจน แม่นยำ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การจัดการดำเนินไปในทิศทางเดียวกันหรือมีเอกภาพ
“แต่การมีเอกภาพไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจ การทำให้เกิดเอกภาพคือการควบคุมการทำงานให้มีทิศทางเดียวกัน ซึ่งตรงนี้จะให้น้ำหนักกับภาวะผู้นำและการสื่อสารที่ดี หลักการการจัดการภัยพิบัติทั่วโลกเรียกว่า Incident Command System (ICS)เป็นระบบที่ออกแบบมาให้หน่วยที่ต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤตปฏิบัติการอยู่ ในระบบเดียวกันหมด ใครจะเป็นคนสั่งการ มีกองกำลังอะไรหนุน จะโอนอำนาจให้ใครจะทำอย่างไร”
ดร.ทวิดา อธิบายว่า ICSเป็นระบบที่ถูกออกแบบมาให้มีผู้บัญชาการในการประสานงานระหว่างหน่วยย่อยกับส่วนกลางเพื่อควบคุมทิศทาง
“แต่เผอิญว่าการควบคุมทิศทางและการสื่อสารมันสับสนไปนิดหนึ่ง เอกภาพในการทำงานต้องอาศัยภาวะผู้นำ ต้องรู้ว่าการตัดสินใจที่สำคัญยิ่งยวด ต้องอาศัยภาพรวม เพราะอย่าลืมว่านี่คือการประสานงานหน่วยย่อยซึ่งมีภาพของตัวเอง พื้นที่ใครพื้นที่มัน ดังนั้น หน่วยย่อยจะมีข้อจำกัด หน่วยใหญ่ซึ่งมีข้อมูลทั้งหมดจะต้องประมวลผลให้เร็วที่สุดและออกแนวทางร่วม กันให้เร็วที่สุด นี่คือวิธีการทำให้เกิดเอกภาพ”
การจัดการภัยพิบัติข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเกิดเอกภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะต้องอาศัยข้อมูลด้วย ดร.ทวิดา ใช้คำพูดว่า ฐานข้อมูลในการจัดการภัยพิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยนำข้อมูลจากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ เช่น จำนวนประชากร ผู้ป่วย เด็ก ผู้หญิง คนชรา ถามว่าจำเป็นอย่างไร และอธิบายว่า การอพยพชุมชนที่มีคนชราอยู่มากย่อมแตกต่างจากชุมชนที่มีผู้ชายมากกว่า เนื่องจากในภาวะภัยพิบัติต้องมีการแบ่งกำลังเพื่อช่วยเหลือจากจุดที่วิกฤต มากที่สุดก่อนและการจัดการจะต้องเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
“ข้อมูลในการปฏิบัติก็ต้องพร้อม ข้อมูลเรียลไทม์ รับจากหน่วยย่อยประเมินผลแล้วต้องรีบส่งออกนะ ไม่ใช่รับมาผ่านขั้นตอนนี้ๆๆ กว่าจะถึงตอนแถลง ผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง แล้วจะเกิดอะไรขึ้น นักข่าวในพื้นที่สัมภาษณ์เลย ข้อมูลก็วิ่งไม่ทันนักข่าว กลายเป็นว่าข้อมูลในพื้นที่ไม่ตรงกับที่แถลงแล้ว ทั้งที่ไม่เจตนา การจัดการพวกนี้ต้องเร็วมาก
“ยกตัวอย่างการจัดถุงบริจาคแบบเหมือนกันหมด ถูก เพราะเป็นภาวะเร่งด่วน การแจกรอบแรก แจกด้วยหลักการเพื่อให้อยู่รอดและผ่อนเบาความรู้สึกไม่เท่าเทียม มันเป็นเรื่องจิตวิทยาด้วย แต่รอบสองต้องรู้แล้วว่า พื้นที่นี้ผู้หญิงเยอะ ผ้าอนามัยต้องใช้หรือเปล่า เด็กมีกี่คน คุณไปแล้วรอบหนึ่งนี่ ต่อให้ไม่ไปก็ต้องมีข้อมูล ดังนั้น ข้อมูลต้องอัพเดทตลอด ไม่ใช่ 10 ปีแล้ว เด็กทารกกลายเป็นเด็ก 10 ขวบแล้ว จะขนนมผงเข้าไปทำไม”
ไม่ใช่แค่รวดเร็วเพียงอย่างเดียว ข้อมูลที่ส่งออกสู่สาธารณะต้องเป็นข้อมูลชุดเดียวกันที่ไม่สร้างความสับสน แก่ผู้รับสาร เท่านั้นยังไม่พอ แม้ข้อมูลจะเป็นชุดเดียวกัน แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงระดับของผู้รับสาร ดร.ทวิดา กล่าวว่า ยังมีประชาชนอีกกลุ่มใหญ่ที่ต้องการรู้แค่ว่า มีเวลาอีกแค่ไหน น้ำจะขึ้นอีกกี่เซนติเมตร เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือถูก
“ถ้าอยากจะชี้แจงข้อมูล ทำได้ แต่ต้องเป็นข้อความแบบสั้น เข้าใจง่าย คนสามารถปฏิบัติได้เลย”
ข้อมูลยังช่วยให้การบริหารจัดการน้ำใจของประชาชนที่เข้ามามีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ภัยพิบัติ เครือข่ายนอกภาครัฐจะเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน เอ็นจีโอ หรือภาคประชาชน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มักไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในโครงสร้างรัฐด้วยมองว่ามีความ ยุ่งยาก ซับซ้อน
แน่นอนว่าเครือข่ายเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแผนการจัดการภัยพิบัติของรัฐ ถึงกระนั้น พลังของกลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะมองข้ามไปได้ คำถามก็คือจะทำอย่างไรจึงจะรวมเครือข่ายเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนและประสานงาน ได้ทันที
“เพราะถ้ารัฐสามารถใช้ข้อมูลจากเครือข่ายเหล่านี้และให้ข้อมูลแก่เขา จะช่วยลดความวุ่นวายลงได้ ถ้าเราทำฐานข้อมูลได้ เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ เครือข่ายที่กระจัดกระจายอยู่ต่อให้ไม่เข้ามาร่วม แต่สามารถรับรู้ข้อมูลได้ ระบบจะจัดการตัวมันเองได้ดีขึ้น ในแง่ไหน สมมติว่าอาจารย์ไปเปิดโรงอาหารทำกับข้าวสามพันกล่อง ขณะที่พันกล่องแรกเสร็จ อาจารย์เช็คได้มั้ยว่าที่ที่อาจารย์ไปถึงได้โดยข้าวไม่บูดคือที่ไหน แล้วตรงนั้นมีคนอยู่เท่าไหร่ ใครเอาเข้าไปแล้วบ้าง ถามว่าจะเช็คได้จากไหน หน่วยย่อยที่สุดของท้องถิ่นคือ อบต. ระบบแบบนี้มันวางได้ ขอให้รู้ว่าต้องถามใคร ขอให้มีระบบฐานข้อมูล”
คนไทยมีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แปลก
ดังที่กล่าวไปตอนต้น การจัดการภัยพิบัติเกี่ยวพันถึงวัฒนธรรม วิธีคิด และวิธีปฏิบัติของสังคม ซึ่งเป็นอีกข้อ ดร.ทวิดา เห็นว่า สังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความปลอดภัย เนื่องจาก ณ ขณะนี้กำลังเกิดสิ่งที่อาจารย์เรียกว่า “Climate Corruption” ซึ่งอาจารย์หมายถึงความผิดปกติทางสภาพภูมิอากาศที่มองเห็น แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ประสบการณ์และความรู้เก่าที่มีย่อมไม่พอ แน่นอนว่าชุมชนย่อมรู้จักพื้นที่ตัวเองดีที่สุด ดร.ทวิดา ยกตัวอย่างว่า เวลาน้ำท่วมจะไม่รู้แล้วว่าถนนอยู่ตรงไหน แต่ชาวบ้านรู้ ผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่บนถนน แต่ชาวบ้านทำงานอยู่บนความคุ้นเคย เมื่อถนนไม่มี ชาวบ้านจะทำงานได้ และรู้ว่ามีประชากรในพื้นที่เท่าไหร่ พื้นที่ไหนสูง-ต่ำ แต่เมื่อเกิด Climate Corruptionแล้ว การประมาณการว่าภัยพิบัติจะมีขนาดเท่าไหร่ ความรู้เดิมอาจไม่เพียงพอ รัฐซึ่งมีเทคโนโลยี มีคนมีความรู้ จะต้องสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่องค์ความรู้เก่าๆ อธิบายไม่ได้
“อีกทั้งสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แปลก เราต้องเปลี่ยนความคิดข้อหนึ่ง เพราะการเตือนแล้วไม่เกิดเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทย รัฐเองก็สะเทือน เตือนแล้วตื่นตระหนกกลัวจะหมดภาพลักษณ์ เรามีวัฒนธรรมนี้อยู่ ซึ่งที่อื่นไม่มี ถ้าเราโตมากับภัยพิบัติ อาจารย์เชื่อว่าเราจะมีความคิดว่า วิ่งฟรี ดีกว่าตายอ้วน เตือนมาเถอะ ฉันไปก่อน ถ้าไม่เกิด ก็ดี อย่างกรณีญี่ปุ่นหลังสึนามิแล้ว เขาก็เตือนอาฟเตอร์ช็อกทุกๆ 3 วัน ชาวบ้านเขาก็เตรียมพร้อม แต่บ้านเราถ้าเตือนแล้วไม่เกิด แกต้องลาออก เพราะแกทำให้เศรษฐกิจแย่ แล้วคนไทยแปลกอย่าง เวลาเกิดภัยพิบัติชอบขโมยของ ญี่ปุ่นไม่มีเลยนะ ถ้าโตมากับวัฒนธรรมเตือนแล้วต้องไปและรู้ว่าไม่มีขโมย คุณก็จะทิ้งบ้านได้อย่างสบายใจเหมือนคนญี่ปุ่น”
อีกประการหนึ่งที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจคือ เวลาเกิดภัยพิบัติ ผู้ที่เป็นด่านแรกคือประชาชนและท้องถิ่น ซึ่งควรต้องเรียนรู้วิธีรับมือให้ได้ในระดับหนึ่งก่อนที่ความช่วยเหลือจะ เข้าไป และจัดการให้เกิดความช่วยเหลือจากผู้ที่วิกฤตมากที่สุดก่อนเพราะในสถานการณ์ ภัยพิบัติผู้รับความช่วยเหลือไม่ควรรอการพึ่งพาแบบเต็มร้อย
หลังจากนี้...
“หลังจากนี้แบบทันทีก่อน อาจารย์ชอบการจัดการอย่างหนึ่งของ ศปภ. คือการตั้งคณะกรรมการคู่ขนานในการเยียวยา เป็นก้าวที่อาจารย์ชอบมาก เพราะแปลว่ารัฐมองว่ากำลังเผชิญกับหลายขั้นตอนมาก จะรอให้กรุงเทพฯ น้ำแห้งแล้วขึ้นไปเยียวยานครสวรรค์ก็ตลก ตอนนี้ต้องเข้าไปเยียวยาบางส่วน แต่การทำแบบนี้หมายถึงต้องแบ่งทรัพยากรไป การฟื้นฟูในแต่ละพื้นที่อาจจะมีความต่างกัน การสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูต้องนั่งคิดว่าจะชดเชยอย่างไรและต้องเตรียมใจรับ ความโกลาหลอีกรอบ”
ส่วนในระยะยาว ดร.ทวิดา เชื่อว่าหลังสถานการณ์น้ำท่วมรอบนี้ ทุกหน่วยงานคงต้องกลับมาทบทวนโครงสร้างน้ำของเมืองไทยกันใหม่ ว่าเพียงพอที่จะรับมือกับความวิปริตของสภาพอากาศหรือไม่
ดร.ทวิดากล่าวว่า ในการจัดการภัยพิบัติ วิทยาศาสตร์จะต้องให้คำตอบบางอย่างก่อน ขณะนี้เราใช้ทุกเขื่อนแล้ว แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ ทั้งหมดนี้อาจหมายความว่าเราต้องการโครงสร้างการรับน้ำที่ดีกว่านี้หรือไม่ เพราะต่อให้ใช้คนที่เก่งกว่านี้มาบริหารจัดการหรือเริ่มรับมือเร็วกว่านี้ ก็คงเอาไม่อยู่ เนื่องจากโครงสร้างหลักของประเทศรับไม่ไหว
“แม้จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าน้ำไม่ได้เยอะขึ้น แต่พฤติกรรมน้ำไม่เหมือนเดิม เมื่อเป็นแบบนี้ต้องทบทวนโครงสร้าง แต่ภายใต้โครงสร้างเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือโครงสร้างเหล่านี้เมื่อสร้างขึ้นมาต้องตอบสนองเป้าหมายหลายอย่าง ผลิตพลังงานไฟฟ้า ชลประทาน แก้ไขน้ำท่วม ทั้งสามอันนี้วัตถุประสงค์ต่างกัน จะพร่องน้ำต้องดูว่าน้ำพอสำหรับการเกษตรและผลิตไฟฟ้าหรือเปล่า หลังจากนี้อาจต้องมีการวางแผนใหม่ ต้องนั่งคิดกันว่าความเสี่ยงหรือผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างไหนจัดการ ได้ยากกว่ากัน”
“จะสังเกตได้ว่าเอ็นจีโอเขื่อนจะคัดค้านการสร้างเขื่อนเรื่อยมา ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเพราะมันมีผลกระทบ แต่ช่วงสองสามปีให้หลังมันมีข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าโครงสร้างในการรับน้ำ ของประเทศเรามีปัญหาแล้วคิดว่าต้องมีการทบทวนเรื่องโครงสร้างน้ำทั้งหมดของ ประเทศ บางพื้นที่ที่ต้องการเขื่อนจริงๆ อาจต้องเร่งทำความเข้าใจและหาโมเดลที่รบกวนประชาชนให้น้อยที่สุดแต่ต้องไป คุยกับชาวบ้านก่อนนะ”
ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะสายเกินไปหรือไม่ ที่ ศปภ. จะปรับวิธีการบริหารจัดการเพื่อรับมือสถานการณ์หลังจากนี้ แต่เชื่อว่าการทำการงานที่ผ่านมา สังคมไทยคงตัดสินได้เองแล้วว่า การจัดการภัยพิบัติของ ศปภ. เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นของศาสตร์การจัดการภัยพิบัติหรือไม่
ภาพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจาก http://www.pohtecktung.org/rescue/?p=8428
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น