- เขียนโดย ณัฏฐพัชร์ ทัศนรุ่งเรือง
การคอร์รัปชั่น นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ทุกสาขาอาชีพ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ จนกระทั่งธุรกิจระดับชาติ ยิ่งนานวันกลไกการโกงกิน ก็ยิ่งซับซ้อน หลากหลายรูปแบบ ขณะที่มูลค่าความเสียหาย ก็พุ่งขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว
มีข้อมูลจาก World Bank ประมาณการณ์ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และสังคมของโลกกว่า 3 ล้านล้านบาท ลำพัง ประเทศไทย จากการประเมินขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชั่น ในปี 2553 อยู่อันดับที่ 78 จาก 178 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 24 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ได้คะแนนดียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 10
ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ได้คะแนน 9.3
คำถามที่ว่า... คอร์รัปชั่นในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่ และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ ถึงวันนี้คงไม่สำคัญเท่าใดนัก หากเริ่มต้นช่วยกันทำ เฉกเช่น หนึ่งตัวอย่างที่ต้องจดบันทึกไว้เป็นอีกหน้าในประวัติศาสตร์ ก็คือ การที่หอการค้าไทย จับมือภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นธุรกิจน้ำดีกว่า 20 องค์กร ประกาศสงครามต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เลิกพฤติกรรมที่เคยๆ ปฏิบัติกันมาในอดีต
นั่นก็คือ “หยุดจ่ายใต้โต๊ะ”
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เก็บตกบางมุมมองมานำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงวิธีการดึงคอร์รัปชั่นออกมาจากมุมมืด...
"ดุสิต นนทะนาคร" ประธานกรรมการหอการค้าไทย
“ภาคเอกชนจะหยุดจ่าย เพื่อยุติข้ออ้างที่ว่า การโกง การคอร์รัปชั่นในทั้งผู้ให้และผู้รับ”
“การที่คนไทยยัง ทนกันได้มองคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายนี้ มิหนำซ้ำมีอีกบางส่วนมีความเห็นไปในทำนองที่ว่า ยอมให้โกงได้ถ้ามีผลงานเป็นประโยชน์ต่อชาติ
คิดดูหากคนที่คุณพูด ถึงกำลังโกง แต่คุณบอกยอมรับได้ ให้คนๆ นั้นมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของคุณ ธุรกิจที่คุณพ่อ คุณแม่ และบรรพบุรุษของคุณช่วยกันสร้างกันขึ้นมา มองภาพออกหรือไม่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณ
ผมบอกคุณได้เลยว่า เขาจะโกงคุณจนหมดตัว
คิดดูว่า การยอมให้คนโกงเหล่านี้ ทำลายชาติต่อไป เราจะปล่อยให้คนโกงรุ่งเรือง คนดีไม่มีความหมายต่อไปเรื่อยๆ อย่างนี้หรือ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องจะลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง ทำความดีให้ประเทศชาติสักครั้ง ลุกขึ้นมารวมพลัง ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
พวกเราภาคเอกชนจะหยุด จ่าย เพื่อยุติข้ออ้างที่ว่า การโกง การคอร์รัปชั่นในทั้งผู้ให้และผู้รับ หากภาคเอกชนไม่ให้ นักการเมือง และข้าราชการก็จะยุติการคอร์รัปชั่นด้วย
ครั้งที่หอการค้าไทย เริ่มประกาศตัวที่จะต่อต้านการคอร์รัปชั่น มีหลายคนกลับบอกว่า ยาก หลายคนบอก ไม่มีทางสำเร็จ เสียเวลาเปล่า ผมยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องมีการเริ่มต้น หากปล่อยทิ้งไว้ เหมือนมะเร็งร้ายกัดกร่อนประเทศไทย ถึงขั้นล่มสลายในที่สุด”
"พงศ์โพยม วาศภูติ" อดีตปลัดมหาดไทย -อดีตกรรมการปฏิรูป
“ตราบใดที่ไม่คำว่า "กล้า" กล้าต่อสู้กับความถูกต้อง หากไม่มีคำนี้
การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่กำลังทำอยู่ ผลก็จะไม่เกิด”
“มุมมองเรื่องคอร์รัปชั่น ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.ภาคราชการ ที่เงินเดือนน้อย มีอำนาจมาก โดยเฉพาะเรื่องดุลยพินิจของข้าราชการ ทำให้มีโอกาสคอร์รัปชั่นเยอะ 2.ภาคเอกชน ก็แข่งขันในทางที่ไม่ถูกหวังชนะ หวังงาน หวังได้ขายสินค้าของตัวเอง โดยการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างพวกเดียวกันเอง วิ่งเต้นเข้าหาราชการ และ 3.ภาคประชาชน ที่ไม่จิตใจต่อต้านคอร์รัปชั่น
อีกประเด็นหนึ่งที่คนอาจนึกไม่ถึง คือความกล้าหาญที่จะรักษาสิทธิ ความกล้าทำหน้าที่ของตัว ตราบใดที่ไม่คำว่า "กล้า" กล้าต่อสู้กับความถูกต้อง หากไม่มีคำนี้ การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่กำลังทำอยู่ ผลก็จะไม่เกิด
ขณะที่ข้าราชการรุ่นใหม่ เมื่อมีการสอนวิชาการ จริยธรรมแล้ว ก็อย่าลืมสอนความเป็นจริงในวงราชการไทยด้วย เพราะคอร์รัปชั่นในชีวิตจริง ไม่ง่ายอย่างที่พูดคุยกัน จะเห็นว่า มีการเรียกรับผลประโยชน์ ไม่มีการโกงกันทางบัญชีอีกแล้ว เขาโกงทางเรียกรับผลประโยชน์ อาจก่อนและหลังประกวดราคา ดังนั้นเรื่องของการคอร์รัปชั่นในระบบราชการ อย่ามองแต่กระทรวง ทบวง กรม อย่างเดียว เหนือนั้นคือนักการเมือง
ซึ่งนักการเมืองสมัยหลังๆ จะตอบแทนข้าราชการไม่ตามคิว จะลัดคิวให้ ล้วงเอาแถวหลังมา เพราะสั่งง่าย ที่ยกตัวอย่างมาก็เพื่อให้เห็นว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ตัวเงินอย่างเดียว เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ตำแหน่งหน้าที่ด้วย
ดังนั้น ในชีวิตจริงปัญหาคอร์รัปชั่น หากไม่แก้ที่ตัวคน ที่จิตสำนึก และการปฏิบัติแล้ว ไปออกกฎระเบียบ กฎหมายเท่าไหร่ก็อาจช่วยได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมด”
"สมพล เกียรติไพบูลย์" อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
“การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น เราต้องสร้างคนเสือก ขึ้นมาเยอะๆ ในประเทศไทย”
“ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทย ไม่ได้เพราะเรามีกฎหมาย หรือกฎระเบียบน้อยไป แต่เป็นปัญหามากจาก 1 เรื่องการบังคับใช้ (enforcement) 2.การปราบปรามเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องประจาน ต้องเปิดเผย ทุกขั้นตอนต้องเปิดเผยให้หมด คนที่ทำความเลว ถูกปรับ ลง Social Network ลงเว็บไซต์ สมัยนี้เทคโนโลยีฆ่าคนยิ่งกว่า ติดคุกเสียอีก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอกชนเขาไม่กลัวเรื่องการถูกปรับ แต่กลัวเรื่องการประจาน เรียกได้ว่า เป็นการประหารชีวิตทั้งเป็นๆ นี่คือ การเปิดเผยข้อมูล ยิ่งการบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด และ 3. ปัญหาการคอร์รัปชั่น เราต้องสร้างคนเสือก ขึ้นมาเยอะๆ ในประเทศไทย”
"ชาตรี อยู่ประเสริฐ" รองนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา
“ท้องถิ่นทุจริต เจตนามีหรือไม่ ตอบได้ว่า มี
ขณะเดียวกันท้องถิ่นที่ทำผิดระเบียบ กฎหมาย ด้วยความไม่รู้และไม่ตั้งใจ มีเยอะ”
“เมื่อพูดถึงองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คนจะนึกถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นก่อนเป็นลำดับแรก เป็นตราบาปที่พวกเราได้รับ ซึ่งต้องขอความเป็นธรรม ว่า ท้องถิ่นของไทย ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากกฎหมาย โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล ยกฐานะจากสภาตำบล ส่วนเทศบาล ยกฐานะจากสุขาภิบาล ยกโดยกฎหมาย ไม่ได้พัฒนาตามธรรมชาติ
ดังนั้น หากจะเปรียบท้องถิ่น เกิดโดยการผ่าตัดไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ ฉะนั้นท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ จึงมีปัญหาพอสมควร ประกอบกับแผนการกระจายอำนาจ บอกว่า ให้กระจายอำนาจ งาน เงิน คนไปสู่อปท.และพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมามีการกระจาย งาน เงิน คนพอสมควร แต่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก
การที่ท้องถิ่นมีระเบียบ มีกฎหมาย ที่ออกมาจากส่วนกลาง เชื่อได้ว่า ท้องถิ่นอยากทำให้ถูก และก็อยากรู้ว่า ระเบียบนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่ท้องถิ่นหาคนปรึกษาได้ยากมาก หรือหาที่ปรึกษาได้ แต่ก็ไม่ทันกับเหตุการณ์เสียแล้ว
ถามว่า ท้องถิ่นทุจริต เจตนามีหรือไม่ ตอบได้ว่า มี ขณะเดียวกันท้องถิ่นที่ทำผิดระเบียบ กฎหมาย ด้วยความไม่รู้และไม่ตั้งใจ มีเยอะพอสมควร ซึ่งผิดกับประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะเขียนว่า ห้ามทำอะไรเท่านั้น แต่ของเราเขียนว่า ให้ทำอะไรบ้าง แต่ก็เขียนไม่หมด ทำๆ ไปก็มีปัญหา”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น