ไหนๆ ไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งกันแล้ว
คอลัมน์พระบาทก็จะใช้พื้นที่มากหน่อยพูดถึงเรื่องนี้
และหวังว่าจะเป็นความรู้สำหรับผู้อ่านไม่มากก็น้อย
ขอเริ่มจากปัญหาเรื่องการเลือกตั้งแล้วกัน
เรารู้ๆ กันอยู่ว่า เลือกตั้งในบ้านเรามีปัญหาที่เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ตรงที่เราเลือกส.ส.ทีไรได้ ส.ส.ที่มาจากการซื้อขายเสียงทุกที และเมื่อเลือกตั้งใหม่คนพวกนี้ก็ใช้วิธีซื้อขายเสียงกลับเข้ามานั่งในสภา
วงจรอุบาทว์นี้ เราจึงได้ส.ส.เดิม คุณภาพเดิม
พยายามแก้กัน แต่ก็แก้กันไม่หาย
วงจรอุบาทว์ในที่นี้ก็คือ ระบบการซื้อขายเสียงที่เราควรวิเคราะห์
และต้องทำความเข้าใจว่า ส.ส.ซื้อขายกันอย่างไร
เพราะหากเราเข้าใจ จะได้ช่วยกันคิดว่าจะแก้กันได้อย่างไร
จึงจะยุติการซื้อขายเสียงนี้ได้เสียที เพราะมันผิดกฎหมายและเป็นการได้ส.ส.มาอย่างไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม
แต่เราจะต้องดูว่าในบริบทของสังคมไทยนั้น มีช่องโหว่อยู่มาก
อย่างน้อยค่านิยมไทยเรื่องบุญคุณและการตอบแทนคุณคนเป็นเรื่องสำคัญ
การจ่ายเงินซื้อเสียง โดยผู้ให้เงินกับผู้รับเงินเป็นการแลกเปลี่ยนที่กลายเป็นว่า การให้กับการรับที่มีบุญคุณต่อกัน ไม่ใช่แลกกันเฉยๆ
สังคมไทยมีขนบธรรมเนียม ประเพณีดังเดิมที่การตอบแทนระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ผู้ใหญ่กับผู้น้อย คนมีอำนาจกับผู้ด้อยอำนาจ นายกับบ่าว ฯลฯ อิทธิพลความเชื่อเหล่านี้
เมื่อปรับกับการเมือง
ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องที่ต้องตอบแทนกัน
ผู้สมัครส.ส.ในต่างจังหวัดนั้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มักจะเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด
ดังนั้นจึงเป็นที่เคารพของชาวบ้านโดยนัยยะอยู่แล้ว
เมื่อหันมาลงสมัครรับเลือกตั้งและเริ่มแจกเงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียง
ชาวบ้านเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องตอบแทน เพราะผู้สมัครเป็นคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รักใคร่
หรือเคยทำความเจริญมาให้พื้นที่ของตนมาก่อน
ดังนั้นการลงคะแนนจากเงินที่ให้มาจึงเป็นเรื่องมากกว่าตอบแทนค่าของเงิน
แต่เป็นเรื่องของบุญคุณกันเลยทีเดียว
สำหรับส.ส.ที่แม้จะไม่ใช่ผู้มีบารมีแต่มีอำนาจเงินเพียงอย่างเดียว เงินก็ถูกจัดการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
ผ่านทางหัวคะแนนครับ
หัวคะแนนอาจเป็นผู้มีอิทธิพล
บ้างก็เป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านที่ประชาชนนับถืออยู่แล้ว
การซื้อเสียงก็จะง่ายเข้า การควบคุมเงินและคะแนนก็ง่าย
ส.ส.ก็ใช้เงินแบบเหมารวมและไม่ต้องออกพื้นที่ให้เหนื่อยยากทุกวัน แค่ปราศรัยเป็นบางจุดใหญ่ๆ ก็พอ
การซื้อขายเสียงนี่ ไม่ใช่แค่จะมีแต่ในต่างจังหวัดเท่านั้นนะครับ
ชานเมืองกทม.บางเขตก็มีเหมือนกัน
ไม่ใช่ไม่มีและจ่ายกันหัวละพันบาทครับ
นอกเหนือจากการซื้อๆ ขายๆ แล้ว ยังมีรายการแจกจ่ายสิ่งของอีกมากมาย รวมทั้งพวกให้สัญญาว่าจะสร้างโน่นสร้างนี่ต่างหาก ที่นิยมกันมาก แม้ในกทม.ก็คือที่พักป้ายรถเมล์ สะพานในสลัม ถนนสายต่างๆ ฯลฯ การให้สัญญาแบบนี้ความจริงผิดกฎหมาย แต่นิยมทำกันเกือบทุกพรรคแหละครับ
เรื่องการซื้อขายเสียง แก้อย่างไรก็แก้ได้ยาก
แถมยังมีการพัฒนาให้ทันสมัยไปอีกมาก เทคนิคการซื้อเสียงได้ก้าวหน้าทันสมัยไปเยอะจนจำไม่หวาดไม่ไหว
มีการพัฒนาไปเป็นศาสตร์และกลายเป็นหลักวิชาสำหรับการเลือกตั้งเพื่อให้การโกงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แนบเนียนยิ่งขึ้น
ส.ส.ที่มีความรู้ เรียนหนังสือมาเยอะ เป็นกลุ่มที่ใช้หลักวิชาเข้ามาจัดการเลือกตั้งให้รัดกุมขึ้น
เรียกว่าให้ซื้อเสียงอย่างละเอียดมากขึ้น
มีวิชาการทันสมัย มีเครือข่ายก้าวหน้า ทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ทีวี ระบบงานและกลยุทธหรือเล่ห์กลอีกมากมาย
เราอาจจะกล่าวมาบ้างในตอนแรกนี้พอให้เข้าใจได้บ้าง
สำหรับคอลัมน์พระบาท อาทิตย์นี้เราพอจะสรุปสั้นๆ ว่าวิชาการเพื่อการซื้อเสียงนี้ทำกันมาร่วมสิบกว่าปีแล้ว
และใช้กันแพร่หลายแบบประกันสอบได้แน่ๆ เสียด้วย
จะขอเกริ่นพอเป็นสังเขปดังนี้ เพื่ออธิบายอีกทีในครั้งหน้านะครับ
วิธีบริหารเลือกตั้ง เรียกว่า อีเล็กชั่น แมนเนจเม้นท์ หรือ Electioneering เป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่ผู้สมัครจะชนะการเลือกตั้ง (ในที่นี้ด้วยการซื้อเสียง)
การซื้อเสียงทำได้ด้วยการบริหารคะแนน หรือ ที่เรียกว่าโหวตแมนเนจเม้นท์ (Vote Management) ซึ่งผู้สมัครจัดการซื้อเสียงด้วยวิธีเข้าไปจัดการกับการซื้อคะแนนเสียงครับ
นอกจากสองสามอย่างที่กล่าวมานี้ยังมีอีกสองสามอย่างที่จะกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนหน้าครับ
ในการบริหารเลือกตั้ง หัวใจสำคัญของเป้าหมายคือต้องเอาชนะคู่แข่งขันให้ได้
นั่นหมายความว่าจะต้องใช้เงินและดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้ได้คะแนนเหนือกว่าผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งทุกคน
การบริหารเลือกตั้งซึ่งนำไปสู่การซื้อเสียงอย่างเป็นระบบ จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการบริหารพื้นที่เขตเลือกตั้งของผู้สมัคร
ซึ่งแบ่งง่ายๆ เป็นพื้นที่แข่งขันกันในระดับสูงมาก สูงปานกลาง และสูงน้อย
แต่ละระดับใช้เงินมากน้อยเรียงกันลงมา
เมื่อรู้พื้นที่แล้วก็จัดแบ่งหมู่บ้าน แยกจำแนกประชากรในหมู่บ้าน ตำบลอำเภอออกมาให้ชัดเจน
จัดหาบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครบ
จัดระบบหัวคะแนนให้ครบในแต่ละพื้นที่
วางระบบสื่อสาร การขนส่ง จัดระบบรถยนต์หาเสียง หน่วยเคลื่อนที่ติดโปสเตอร์ ระดมคนช่วยในกิจการต่างๆ เฉพาะกิจฯลฯ
จัดตั้งสำนักงานกลางและสำนักงานสาขาในการหาเสียง
ให้มีห้องวอร์รูมหรือห้องวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งซึ่งข้างในห้องจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ
มีแผนที่เขตเลือกตั้ง
มีบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง
มีหน่วยตรวจสอบการทำโพลล์รวมอยู่ด้วย
นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเคยเห็นมาในการหาเสียงของผู้สมัครบางคนเมื่อหลายปีมาแล้วในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน
ผู้สมัครท่านนี้จบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ
เคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐมาก่อน และมีเงินมากพอที่จะเล่นการเมือง
แต่ต้องมาใช้เงินสู้กับส.ส.ในพื้นที่ที่ซื้อเสียง (ไม่ได้ซื้อทุกพื้นที่)
ผลคือเขาชนะอย่างท่วมท้นและมาเป็นที่หนึ่งด้วยระบบแมนเนจเม้นท์ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า
กลับมาพิจารณาเรื่องการซื้อเสียงในระบบ Vote Management กันอีกที
หัวใจของระบบนี้คือบริหารบัญชีรายชื่อครับ
เรียกว่าการใช้เงินเพื่อซื้อคะแนนให้ได้ประสิทธิภาพ
สมัยก่อนยี่สิบบาทต่อคะแนนก็ได้แล้วครับ
ต่อมาก็เพิ่มเป็นสี่สิบบาทและแปดสิบบาทในเขตเมืองก็ร้อยบาท
มีคนบอกผมว่าชานเมืองในกทม.หัวละ ๕๐๐ บาท หรือ ๑,๐๐๐ บาท ต่อครัวเรือนก็มี
ในการแบ่งเงินเพื่อบริหารคะแนนตามบัญชีรายชื่อนี้จะทำกันเป็นสายงานโดยให้หัวคะแนนรับผิดชอบเป็นสายๆ ไป
และให้ไปแจกกันสองรอบ
รอบแรกจ่ายกันไปแล้วก็ต้องซ้ำเพื่อดูว่าเข้าเป้าหรือเปล่า
เหตุที่ต้องจ่ายกันสองรอบเพราะว่าคู่แข่งขันอาจจะมาทีหลัง แล้วจ่ายมากกว่าทำให้เราต้องเสียคะแนนไปดังนั้นจึงต้องซ้ำทำให้เงินฝ่ายเรา มากกว่า หลังการจ่ายรอบแรกไปแล้ว
หน่วยสุ่มวิจัยก็จะออกไปสำรวจละครับ
การสำรวจก็เพื่อดูว่าคะแนนนิยมของเราเป็นอย่างไรบ้าง
จะได้รู้กันแจ่มแจ้งไปว่า หมู่บ้านไหนเป็นอย่างไร
ทีมนักวิจัยมีไว้ไม่ใช่แค่ทำวิจัยเป็นรอบๆ
แต่ยังมีหน้าที่ไปสังเกตการณ์ขณะผู้สมัครเดินหาเสียงด้วย
ตัวอย่างเช่นถ้าเดินไปหาเสียงพบว่าหมู่บ้านไหนชาวบ้านมาฟังการอภิปรายโดยยืนกันไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย
แสดงว่าหัวคะนนจัดตั้งลูกบ้านไม่มีวินัย
และการแจกเงินอาจจะไม่มีประสิทธิภาพได้
แม้ว่าการบริหารคะแนนและการบริหารการเลือกตั้งจะมี ประสิทธิภาพแค่ไหนแต่บางครั้งก็อาจจะเกิดช่องโหว่ได้เสมอ หากเงินไม่ถึงหรือคู่แข่งมีความชำนาญมากกว่าก็อาจจะชนะได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้วิธีบริหารการเลือกตั้งที่ทันสมัย
ระบบการซื้อเสียงนี้ทางราชการพยายามที่จะป้องกันมาทุกสมัยและใช้วิธีการต่างๆ นานา แต่ก็ไม่อาจจะสำเร็จ
ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อการเลือก ตั้ง ซึ่งองค์กรกลางประกอบด้วยเอ็นจีโอ นักวิชาการและบุคคลากรในภาครัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง องค์กรกลางยังมีหน่วยแจ้งเหตุ ทีมนักกฎหมาย ฝ่ายรณรงค์ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับโรงเรียน มหาวิทยาลัยในภูมิภาค
องค์กรกลางจึงทำงานในระดับชาติและทำงานเชิงลึกด้วย
เชิงลึกคือลงไปถึงหมู่บ้าน และลงไปดูการซื้อขายเสียง
แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งๆ ที่เห็นกันตำตา ไปแจ้งใครก็ทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อคนซื้อเสียงขายเสียงคือพวกเจ้าหน้าที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเสียเอง แม้แต่ในหน่วยเลือกตั้งการทุจริตก็ยังเกิดขึ้นได้เสมอ
ด้วยเหตุนี้ การซื้อขายเสียง จึงเป็นเสมือนวงจรอุบาทว์ในระดับล่างสุดของสังคมไทยที่สุดจะเยียวยาและได้ กลายมาเป็นประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง
เราจึงได้ส.ส.หน้าเก่า
ที่ขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลหน้าเก่าๆ
บริหารบ้านเมืองแบบไม่เอาไหนกันนี่แหละครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น