บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จิตสำนึกใหม่ ออกกฎเหล็ก แก้จิตสำนึกเหลว ถอดถอนง่าย ไล่นักการเมืองขี้ฉ้อ

การ ปฏิรูปการเมืองจะว่าไปไม่สำคัญเท่าตัว “นักการเมืองไทย”  เพราะจะร่างกฎหมาย มากมายเพียงใด หรือปรับปรุงเพื่อให้ทันกับยุคสมัยเปลี่ยนไป  หากฎเกณฑ์บทลงโทษเจ๋งๆ มาล้อมดักนักทุจริต คอรัปชั่น แต่ “คนการเมือง” ก็ยังหาช่องโหว่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำผิดกฎหมาย ทั้งที่อยู่ในยุคที่สังคมตื่นตัวเรื่อง“จริยธรรม- จิตสำนึก”

แน่นอน จิตสำนึกกินไม่ได้ และไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ แต่เป็น มาตรฐานที่ควรจะอยู่สูงกับ “ผู้ปกครอง” เรามีคำพูดมากมายที่ถามถึงประชาชนควรมีจิตสำนึกทางการเมืองอย่างไร   แต่สำหรับตัว นักการเมือง ที่ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่าง สมกับคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือก ปัญหาเรื่องขาดจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่ และการปฏิบัติของนักการเมืองไทยไม่จะรู้จักคำว่า “จิตสำนึก” จะมีทางออกอย่างไรเพื่อแก้ที่ตัว “คน”  ให้เคารพกฎเกณฑ์ในบ้านเมือง อยู่กับร่องรอย ไม่ทุจริต ใช้อำนาจฉ้อฉล ประพฤติมิชอบ
ตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา อดีตประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการ เมืองของสังคมไทย มองว่า  ปัญหาใหญ่ของนักการเมืองไทยคือ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ คิดแต่เรื่องตัวเองมากกว่าเรื่องประเทศชาติและประชาชน  มองแต่ประโยชน์ของกลุ่ม ก๊วน และของพรรคการเมืองที่สังกัดจนทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย  เช่น ที่เห็นชัดคือ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. หลายพรรคมีมีจุดยืนชัดว่าจะสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบ 400+100 แต่เมื่ออภิปรายในวาระแก้ไข กลับไม่กล้ายืนยันในจุดยืนตัวเอง สุดท้ายเมื่อลงมติก็ไปสนับสนุนสูตร 375+125  ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับจุดยืนตัวเอง  อ้างเพียงว่าต้องทำตามมติพรรค และก็ทราบมาว่า ส.ส.บางพรรค อยากร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก แต่เมื่อพรรคประกาศว่า คว่ำบาตร ไม่ร่วมแก้ด้วย ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดมาก

สำนึกสาธารณะ- ทำผิดต้องอายจนอยู่ไม่ได้

“สำนึกสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ นักการเมืองไทยต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่างในต่างประเทศ ค่านิยมที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณีทางการเมืองที่ดีงามของบ้านเขา เช่น ในญี่ปุ่น เมื่อผู้นำประเทศเขาทำตาม สัญญาเรื่อง ย้ายฐานทัพสหรัฐฯ จากโอกินาว่าไม่ได้ เขาก็ลาออก  มองเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ดังนั้น นักการเมืองไทยจำเป็นต้องปฏิรูปจิตสำนึกสาธารณะเป็นการด่วนเพราะเราอยู่ใน ขั้นมีปัญหามาก จะไปทางไหนก็อ้างว่า พรรคมีมติอย่างนี้ ซึ่งขัดต่อประโยชน์ส่วนรวม”

เขายกตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา นักการเมือง ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าของชาวบ้าน แต่เมื่อพื้นที่นั้นไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคตน จึงไม่ช่วยอย่างจริงจังจนปัญหาลุกลาม เพราะนักการเมืองคิดแต่เรื่องประโยชน์ที่ตนเองจะได้ หากทุ่มแล้วไม่ได้คะแนนก็ไม่ทำ ดังนั้น การแก้ปัญหานี้  ทุกฝ่ายต้องสร้างกระแส ค่านิยมเรื่อง “คุณธรรมนำสังคม” ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จ จากการรณรงค์ในเรื่องที่คิดว่า ไม่น่าจะทำได้  คือ การเลิกสูบบุหรี่
ส.ว.สรรหาผู้นี้ บอกว่า สังคมต้องสร้างกระแสให้เห็นว่า สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องให้ถือเป็น “เรื่องแปลกแยก”ที่สังคมต้องไม่สนับสนุน ไม่ต้อนรับ โดยเฉพาะสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากในการรณรงค์ ในเกาหลีใต้ถึงขนาดที่สื่อสามารถบอยคอตนักการเมืองที่มีประพฤติกรรมไม่ดี ทุจริต คอรัปชั่น โดยจะไม่นำเสนอข่าวของนักการเมืองคนนั้น  สื่อไทยก็สามารถทำได้ นักการเมืองคนใดมีพฤติกรรมแย่ เช่น ชกต่อยในสภา โกหก เราก็ไม่นำเสนอ หรือ กระทั่งรับไหว้ แต่ปัญหาคือสังคมไทยยังยืดถือคนรวย เมื่อมีเงินให้ทุกอย่างก็จบ  สำคัญคือ เราต้องกดดันสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับนักการเมือง เพื่อให้เกิดกระแสเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน  ซึ่งบางพื้นที่มีแนวโน้มที่ดี เช่น การเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพ ที่ได้คนอย่าง รสนา โตสิตระกูล เข้าสภา

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า อยากให้นักการเมืองไทยเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในบ้านเมืองนี้ คือ ความไม่เป็นธรรมในสังคม ถ้านักการเมืองมีจิตสำสาธารณะที่เข้าใจตรงนี้ก็จะนำมาสู่การทำงานที่ยึดหลัก สิทธิ มนุษยชน  เพราะปัญหาความไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในขณะ นี้  นอกจากนี้การเป็นผู้แทนปวงชนในระบอบประชาธิปไตย ต้องทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง การใช้อำนาจ บรรทัดฐานต่างๆ  ต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ตัดสินใจโดยนโยบายของรัฐ จนกระทบและละเมิดต่อสิทธิชุมชน  ดังนั้น นักการเมืองควรเข้าใจปัญหานี้ก่อน  เพราะขณะนี้ภาคประชาชนตื่นตัวไปไกลมาก แต่นักการเมืองไทยยังไม่เข้าใจ ไม่พัฒนา ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบการเมืองไทยจนก่อให้เกิดวิกฤตในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับทางออก นพ.นิรันดร์ เห็นว่า ขณะนี้ภาคสังคม สื่อมวลชน ราชการได้ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเร่งปฏิรูปตัวเอง และเคารพสิทธิมนุษยชน แต่นักการเมืองไทยก็ยังไม่เข้าใจ และยึดกับผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าส่วนรวม  เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ยังวนเวียนอยู่เรื่องประโยชน์ของนักการเมืองเป็นตัวตั้ง หรือ การแก้ปัญหาพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยล้มเหลวไม่สามารถแก้ปัญหาเขตแดนได้ ทั้งที่ภาคประชาชนได้ออกมาตรวจสอบและนำเสนอข้อมูล ดังนั้น สังคม สื่อมวลชน ต้องกดดันเรียกร้องให้นักการเมืองชำระล้างจิตสำนึกตัวเอง มิฉะนั้นก็คงไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ ตรงกันข้ามก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงต่อเนื่อง และการทุจริตคอรัปชั่นที่แก้ไม่จบ   การเมืองไทยวันนี้ ยังคงล้าหลังไม่ปฏิรูปตัวเอง นับจากการรัฐประหารปี 2490 ที่ฝ่ายทหารได้ยึดอำนาจ ปิดฉากยุคของคณะราษฎรเป็นต้นมา

สร้างกลไกกำกับ ประจานนักการเมืองโดดร่ม

ขณะที่  รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย มองว่า การจะเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาปฏิรูปจิตสำนึกตัวเอง คงทำไม่ได้เพราะนักการเมืองไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องคอรัปชั่น  แต่นักการเมืองทั่วโลกก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น ต้องสร้างกลไก มากำกับจิตสำนึก และพฤติกรรมเพื่อเอาผิด มีมาตรการลงโทษนักการเมืองที่โกง

“กลไกอย่างหนึ่งคือ การให้ประชาชนรู้ว่า นักการเมืองที่เขาเลือกมานั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เช่น เข้าประชุมสภากี่ครั้ง  ทำหน้าที่ในสภาครบถ้วนหรือไม่ เราต้องทำให้นักการเมืองกลัวประชาชนให้ได้ และต้องทำให้การเข้าสู่อำนาจของเขา ไม่ว่า ส.ส.หรือรัฐมนตรีถูกตรวจสอบได้”

รศ.สิริพรรณ บอกว่า ทางออกเฉพาะหน้าเบื้องต้น คือ การแก้ไขรธน. โดยแก้ที่โครงสร้างการตรวจสอบนักการเมืองด้วยการเปิดให้ภาคประชาชน ตรวจสอบนักการเมืองได้ง่าย เช่น การถอดถอน เพราะทุกวันนี้ รธน.เหมือนเขียนหลอกให้ตรวจสอบได้ แต่เมื่อมีการยื่นรายชื่อประชาชน เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ก็ไม่มีการถอดถอน และไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงซักครั้ง  นักการเมืองเขากลัวประชาชนมากที่สุด ดังนั้นเราต้องแก้กติกาว่า หากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่เกินกึ่งหนึ่งเข้าชื่อถอดถอนก็ให้เขาพ้น ตำแหน่งได้
ความเห็นของ อาจารย์รัฐศาสตร์ผู้นี้ ไม่ต่างจาก รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เธอมองว่า การจะปฏิรูปตัวนักการเมืองเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาการเมืองคือ ใช้เงินและอ้างว่า มาจากการเลือกตั้งทั้งที่การเลือกไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตยทั้งหมด จึงไม่ควรให้ความสำคัญไปที่ตัวนักการเมืองอย่างเดียว  แต่ต้องเน้นให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง มีพลังที่จะตรวจสอบนักการเมืองเพื่อให้นักการเมืองเกิดการปรับตัว

“จิตสำนึกของนักการเมืองจะต้องเกิดจากการตื่นตัวของประชาชน เหมือนพระสงฆ์ เมื่อมีปัญหาเรื่องสีกาผู้หญิง สังคมก็จะกดดันอย่างรุนแรง ซึ่งก็แรงกว่าพระบางรูปเจอปัญหาเรื่องโกงเงินทั้งที่ก็ผิดเหมือนกัน  นี่คือพลังของภาคประชาชน  แต่พลังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ นะ ประชาชนเองก็ต้องมีจิตสำนึกในเรื่องนั้นด้วย โดยต้องเห็นว่า เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องช่วยกันปลุก ต้องสร้างให้เกิดขึ้น”

เธอ ยกตัวอย่าง กรณี  โรห์ มู ฮุน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเพื่อหนีเรื่องอื้อฉาวจากการถูกสอบสวนกรณีที่ภริยาและ หลานรับสินบน เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดที่ถูกกระแสสังคมกดดันจนอยู่ไม่ได้  ความจริงที่เกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น และการใชอำนาจมิชอบเยอะมากและผู้นำของเขาก็ติดคุกรวมถึง 2 คุก แสดงว่า กลไก และ พลังของภาคประชาชนที่นั่นเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังมีกรณีรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ส่งข้อความเอสเอ็มเอสจีบแดนซ์เซอร์ จนสื่อมวลชนเปิดเผยออกมา คือต้องให้นักการเมืองอายต่อสังคมให้ได้  ที่สำคัญต้องทำให้นักการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แต่โครงสร้างการเมืองไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก

“เราควรมีประวัตินักการเมืองเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่า นักการเมืองคนใดมาประชุมสภากี่ครั้ง และ ลงมติอย่างไร ใช้สิทธิประโยชน์เดินทางไปไหนบ้าง  เหมือนในเกาหลีที่เขาสามารถบล็อกนักการเมืองที่มีประพฤติกรรมไม่ถูกต้อง โดยเครือข่ายภาคประชาชนของเขานำรายชื่อนักการเมืองที่มีปัญหาออกมาเปิดเผย พบว่า 90% ที่นำเปิดเผยนั้น ไม่ได้รับเลือก เราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนมองนักการเมืองในฐานะสินค้าเพื่อตรวจสอบอย่างถี่ ถ้วนก่อนลงคะแนนเลือก”

เหล่านี้เป็นมุมมองทั้ง นักวิชาการ ส.ว. การจะขอให้นักการเมืองรับผิดชอบ ลาออกคงยาก ด้านหนึ่งต้องสร้างกลไกกำกับ และสร้างระบบถ่วงดุลของภาคประชาชนขึ้นมาคานการใช้อำนาจของนักการเมือง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง