บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ล้างนักการเมืองและข้าราชการคอร์รัปชั่น ด้วยมาตรการทางภาษี โดย อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผ่าน มติชน

ล้างนักการเมืองและข้าราชการคอร์รัปชั่น ด้วยมาตรการทางภาษี
          อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล
        
เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
          สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องต้นตอทุจริตคอร์รัปชั่น และทัศนคติของประชาชนต่อรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น ว่าประชาชนร้อยละ 74.2 ยังคงคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่จะมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้น ร้อยละ 77.6 เชื่อว่ามีนักการเมืองระดับชาติและบรรดาที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลังการแสวงหาผล ประโยชน์จากการทำธุรกิจของพวกพ้อง ร้อยละ 90.1 เชื่อว่ามีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในรัฐบาล ชุดปัจจุบัน
          และผลสำรวจยังพบด้วยว่า สัดส่วนของประชาชนที่มีทัศนคติยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ขอให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี(โกงไม่เป็นไรขอให้ตัวเองได้ผลประโยชน์ด้วย)เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 63.2 ในเดือนตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 76.1 ในปัจจุบัน
          จากการจัดอันดับ "ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น" (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2553 ของ "องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ" (Transparency International)ระบุว่า ประเทศไทยได้คะแนน 3.5 จากคะแนนเต็ม10 คะแนน (ค่าคะแนน 0 คือ คอร์รัปชั่นมากที่สุด10 คือคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด) อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
          แม้รัฐธรรมนูญจะได้กำหนดให้มีองค์กรและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ อย่างมากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันและสามารถแก้ปัญหา การทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยลงได้
          โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 การตรวจสอบทรัพย์สินมาตรา 259-264 ที่บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้อง ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐแสดงความ บริสุทธิ์โปร่งใสเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตจากการใช้อำนาจรัฐ ก็ตรวจสอบได้เพียงความถูกต้องและมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น
          ไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปว่าชอบด้วยกฎหมายและเสียภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่
          ทั้งๆ ที่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.จำนวนรวมกันไม่กี่ร้อยคนตามที่ ป.ป.ช.เปิดเผยต่อสาธารณะปรากฏว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินรวมนับพันนับหมื่น ล้านบาท และมีหลายรายที่เมื่อเปรียบเทียบทรัพย์สินและหนี้สินกับเงินได้ตามแบบแสดง รายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.90, 91) ของผู้นั้นที่ได้ยื่นไว้พร้อมกันแล้วมีมูลค่าไม่สอดคล้องกันและไม่สมเหตุสม ผล เราจึงได้เห็นนักการเมืองที่ไม่ปรากฏอาชีพสุจริตชัดเจนแต่มีฐานะร่ำรวย มหาศาล
          จากประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องอัล คาโปนนักธุรกิจหัวหน้าแก๊งอันธพาล ช่วงทศวรรษที่20-30 ที่เป็นวายร้ายป่วนเมืองทั่วอเมริกา ผู้ที่ทำให้ FBI ต้องปวดหัวหนักแม้จะมีประวัติอาชญากรรมหนากว่าพันหน้าแต่ก็เอาผิดเขาไม่ได้ จนกระทั่งเขาถูกจำคุกในข้อหา "หลีกเลี่ยงภาษี"
          และกรณีของนักการเมืองให้รัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดทรัพย์ในปี2534 จำนวน 11 คน และกรมสรรพากรโดยอธิบดีในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัยใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ประเมินภาษีจากทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้จนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่ สุดให้ชำระภาษีและเงินเพิ่มพร้อมทั้งค่าปรับตามที่กรมสรรพากรประเมินจำนวน 3 ราย คือพล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสารอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุบิน ปิ่นขยันอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายปริญญา ช่วยปลอดอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่10235/2539, 3665/2540 และ 8478/2540 ตามลำดับ
          เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญฯ 50 จึงได้นำหลักการประเมินภาษีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับ สูงของรัฐไปเสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ดังนี้
          รัฐธรรมนูญฯ 50 มาตรา 261 "บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนด ต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็น ประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาดและได้รับการร้องขอ จากศาล หรือผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
          ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจัดให้มีการประชุมคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความ มีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวโดยเร็ว" "หากปรากฏชัดแจ้งจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองตามมาตรา 259 วรรคหนึ่ง ที่ยื่นในกรณีที่เป็นการเข้ารับตำแหน่ง ครั้งแรกผู้ใดเมื่อเปรียบเทียบกับเงินได้ตามที่ปรากฏในสำเนาแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมาแล้วไม่ได้สัดส่วนกัน ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเรื่องให้เจ้า พนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีอากรทำการตรวจสอบและประเมิน ภาษีเงินได้ของผู้นั้น ย้อนหลังไปเป็นเวลาสิบปีนับแต่วันที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
          ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรมีคำสั่งให้ ชำระภาษีเงินได้ ตลอดจนเงินเพิ่มและค่าปรับเพิ่มเติมและผู้นั้นยินยอมชำระ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนยันตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินอากรดัง กล่าว ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้นั้นยินยอมชำระตามวัน เวลา ที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรกำหนดหรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่กรณี
          และผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาสิบปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง"
          เดิมหลักการนี้ได้บรรจุไว้ในร่างแรกของรัฐธรรมนูญฯ 50 เรียบร้อยแล้ว แต่อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า "คุณมองคนในแง่ร้ายอย่างนี้คนดีๆ ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่นการเมืองหรอก" และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ไปแถลงต่อคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญขอตัดหลักการนี้ออกไป โดยให้เหตุผลว่า "เป็นรายละเอียดควรไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก" ซึ่งผู้เขียนมาถึงบางอ้อก็เมื่อทราบข่าวจากสื่อว่าอดีตเลขานุการคณะ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญท่านนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน
          หากหลักการดังกล่าวยังคงบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 50 วันนี้ประเทศไทยอาจได้เห็นการปฏิรูปนักการเมืองเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้ เพราะเมื่อตรวจดูจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์แล้ว ตระกูลนักการเมืองไทยในปัจจุบันอาจหายไปจากวงการเมืองเกินกว่าครึ่งก็เป็น ได้
          ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหานักการเมืองและข้าราชการทุจริตคอร์รัปชั่นและนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมไทยตามที่ปรากฏจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ดังกล่าว ประชาชนไทยโดยเฉพาะสื่อมวลชนและกลุ่มมวลชนที่ออกมาเรียกประชาธิปไตยในขณะนี้ น่าจะรวมกันรณรงค์นำเอาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรีส.ส. และ ส.ว.ทั้งอดีตและปัจจุบันที่คณะกรรมการป.ป.ช.เผยแพร่ไว้มาตีแผ่ให้สังคมรับ รู้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีมีความสุจริตและจิต สาธารณะอย่างแท้จริง
          และคงต้องร่วมกันช่วยเรียกร้องให้สร้างความเข้มแข็งแก่ระบบตรวจสอบโดยนำ กระบวนการประเมินภาษีตามที่เสนอไว้นี้มาใช้โดยเร็วต่อไป
          "FBI ต้องปวดหัวหนัก
          แม้จะมีประวัติอาชญากรรมหนากว่า
          พันหน้าแต่ก็เอาผิดเขาไม่ได้ จนกระทั่งเขาถูกจำคุก
          ในข้อหา "หลีกเลี่ยงภาษี"
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 10 พ.ค. 2554 (กรอบบ่าย)--

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง