บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ยิ่งลักษณ์เยือนจีน หารือเต็มคณะ เซ็นสัญญาข้อตกลง 8 ฉบับ

เส้นทางการเดินสายเยี่ยมเยือนมิตรประเทศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาบรรจบที่ประเทศจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียเข้าจนได้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนประเทศเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการมาก่อนแล้ว


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนประเทศจีน
การเยือนจีนครั้งนี้เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ และนายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการแบบเต็มคณะกับทางการจีน ซึ่งนำโดยนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน

ผู้แทนของฝ่ายไทยประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ดังนี้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
หารือเต็มคณะ แท็บเล็ต-รถไฟ-พลังงาน-น้ำ

สำหรับประเด็นการหารือแบบทวิภาคีเต็มคณะ มีเรื่องที่น่าสนใจดังนี้

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาที่ยั่งยืนของไทย 4 สาขา ได้แก่ การจัดหาคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) แก่นักเรียนไทย ความร่วมมือด้านรถไฟ พลังงานสะอาด และการบริหารจัดการน้ำ
กำหนดทิศทางและตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย- จีน ใน 3 สาขาหลัก ดังนี้ การเพิ่มการค้าร้อยละ 20 ต่อปี การลงทุนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ความร่วมมือเป็นรายมณฑลของจีนกับไทย โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ 3 มณฑลของจีนแล้ว คือ ยูนนาน กวางตุ้ง และเซียะเหมิน ซึ่งไทยจะตั้งคณะทำงานร่วมกับมณฑลเสฉวนต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จีนจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ SMEs ที่เข้าไปลงทุนในจีนแบบครบวงจรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน
ขอให้รัฐบาลจีนอนุมัติการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นครกวางโจว
เชิญนายเวิน เจียเป่า เข้าร่วมการประชุม WEF ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่กรุงเทพฯ
ลงนามข้อตกลง 8 ฉบับ

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ร่วมการเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 8 ฉบับ ดังนี้ (ตัวเน้นสีโดยทีมงาน SIU)

1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างปี 2555-2559 (Joint Action Plan on Thailand-China Strategic Cooperation Between the Government of the People’s Republic of China 2012-2016) ซึ่งถือเป็นแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 สำหรับการดำเนินความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในสาขาต่างๆ กว่า 17 สาขา ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย ได้แก่ การเมือง การทหาร ความมั่นคง การค้า การลงทุน การเงินและธนาคาร เกษตรกรรม อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษาและการอบรม สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์-การแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยมีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายจีน คือ นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน

2) แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ไทย-จีน ระหว่างปี 2555-2559 ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าเชิงกว้างและเชิงลึก (Five-Year Development Plan on Trade and Economic Cooperation between the People’s Republic of China and the Kingdom of Thailand) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับจีนในระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2555 – 2559 ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้าง และเชิงลึกไทย-จีน อาทิ การอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

3) บันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและจีน (Memorandum of Understanding Between the Ministry of Commerce of the People’s Republic of China and the Ministry of Commerce of the Kingdom of Thailand on Agricultural Trade Cooperation) ซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายจีนที่จะจัดตั้งคณะทำงานเรื่องการค้าสินค้าเกษตร เพื่อหารือประเด็นที่ไทยและจีนมีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนา ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหาและป้องกันหรือกำจัดอุปสรรคทางด้านสินค้าเกษตร มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

4) บันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย และ State Administration for Industry and Commerce ของจีน (Memorandum of Understanding for Cooperation Between the Ministry of Commerce of the Kingdom of Thailand and the State Administration for Industry and Commerce of the People’s Republic of China) เป็นบันทึกความเข้าใจที่เน้นความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค การลงทะเบียนกิจการบริษัท และเครื่องหมายการค้า มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟ (Memorandum of Understanding Concerning Feasibility Study for Cooperation on railway Development Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) ที่ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานสำหรับการขยายผลความร่วมมือด้านรถไฟ โดยเฉพาะ สาย กทม. – เชียงใหม่ มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และฝ่ายจีน คือ นายเซิ่ง กวางจู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟจีน

6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการน้ำ (Memorandum of Understanding Concerning Feasibility Study for Cooperation on railway Development Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) ที่ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อประสานงานให้เกิดความร่วมมือด้านนี้ต่อไป โดยฝ่ายจีนจะมีการจัดทำรายงานด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือด้านระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ระบบการบัญชาการเดี่ยว โครงสร้างพื้นฐานของการป้องกันอุทกภัย เป็นต้น

7) ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศน์ทางทะเล (Agreement on Establishment of Thailand – China Joint Laboratory for Climate and Marine Ecosystem between Ministry of Natural Resource and Environment, Kingdom of Thailand and State Oceanic Administration, People’s Republic of China) เป็นข้อตกลงย่อยของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทะเลระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับทบวงกิจการมหาสมุทรแห่งชาติจีน เพื่อร่วมมือกันในด้านต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักเทดนิคและนักวิทยาศาสตร์ การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างกัน และการค้นคว้าวิจัย มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และฝ่ายจีน คือ นายหลิวชื่อกุ้ย ผู้บริหารทบวงกิจการมหาสมุทร (ระดับ รมช.)

8) ถ้อยแถลงร่วมระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Joint Statement Between the People’s Republic of China and the Kingdom of Thailand on Establishing a Comprehensive Strategic Cooperative Partnership)เป็นเอกสาร ผลลัพธ์การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-จีนที่มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อ เนื่อง ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงความพร้อมในการร่วมมือกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีอย่างรอบด้านในอนาคต

ข้อมูลจาก สำนักนายกรัฐมนตรี

รายละเอียดการหารือแบบทวีภาคี

วันนี้ (17 เม.ย.55) เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางถึงมหาศาลาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน รอให้การต้อนรับ ก่อนนำนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วยการขึ้นแท่นทำความเคารพ เดินตรวจแถว กองทหารเกียรติยศ ณ ลานหน้ามหาศาลาประชาชน ด้านทิศตะวันออก

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้าสู่อาคารมหาศาลาประชาชน เพื่อหารือข้อราชการแบบเต็มคณะกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายไทยประกอบด้วย ประกอบด้วย นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีเต็มคณะกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเยือนจีนครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี พร้อมขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความ สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมถือโอกาสนี้ แสดงความขอบคุณในความห่วงใยและความช่วยเหลือที่จีนให้แก่ไทย เมื่อครั้งไทยประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรง ซึ่งเป็นกำลังใจให้ไทยเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้

โดยในการหารือวันนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนความ ร่วมมือยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาที่ยั่งยืนของไทย 4 สาขา ได้แก่ การจัดหาคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) แก่นักเรียนไทย ความร่วมมือด้านรถไฟ พลังงานสะอาด และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในการเจรจาหารืออย่างต่อเนื่อง โดยขอให้มีการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศสองฝ่ายเป็นลักษณะยุทธศาสตร์ โดยเร็ว เพื่อขยายผลความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดทิศทางและตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย- จีน ใน 3 สาขาหลัก ดังนี้ การเพิ่มการค้าร้อยละ 20 ต่อปี การลงทุนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 3 เพื่อผลักดันความร่วมมือใน 3 สาขาหลักดังกล่าว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ไทย และจีนยังได้เน้นกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเป็นรายมณฑลของจีนกับไทย โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ 3 มณฑลของจีนแล้ว คือ ยูนนาน กวางตุ้ง และเซียะเหมิน ซึ่งไทยจะตั้งคณะทำงานร่วมกับมณฑลเสฉวนต่อไป รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างจังหวัดของไทยกับมณฑลต่าง ๆ ของจีน

สำหรับความร่วมมือด้านการ เกษตร ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้าเกษตรไทย-จีน ซึ่งเป็นกลไกในการเจรจาเพื่อเพิ่มพูนปริมาณการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและผลไม้ รวมทั้งเสนอให้มีการร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าต่างๆ ระหว่างกัน อาทิ การจำกัดโควต้าการนำเข้า และการปลอมปนข้าวไทยในจีน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ เช่น ความร่วมมือในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในประเทศที่สาม โดยรัฐบาลของสองประเทศจะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้การดูแลนักลงทุนไทยในจีน และขอให้ช่วยดูแลนักลงทุนไทยให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจในจีน โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จีนจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ SMEs ที่เข้าไปลงทุนในจีนแบบครบวงจรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน พร้อมใช้โอกาสนี้ เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนไปลงทุนในสาขาที่ไทยส่งเสริมการลงทุน อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ชิ้นส่วน ยานยนต์ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลมและพลังงานชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและเน้นการท่อง เที่ยวในเชิงคุณภาพมากขี้น โดยตั้งเป้าให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขอให้รัฐบาลจีนอนุมัติการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นคร กวางโจว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนได้ดีขึ้น พร้อมย้ำนโยบายของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับจีนในรายมณฑล โดยไทยประสงค์จะจัดตั้งคณะทำงานไทย-เสฉวน เพิ่มเติมจากที่มีคณะทำงานมณฑลยูนนาน กวางตุ้งและเมืองเซียะเหมิน

นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา 100 คน และขณะนี้ทราบว่ามีนักศึกษาจีนจำนวนมากที่สนใจเรียนภาษาไทย และนักศึกษาไทยก็สนใจเรียนภาษาจีนมากขึ้นเช่นกัน จึงขอให้รัฐบาลจีนสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยในจีน และขอให้จีนสนับสนุนการส่งครูอาสาสมัครจีนไปสอนในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจีนตอบรับตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือในภูมิภาคที่ผ่านมาไทยและจีนมีบทบาทสำคัญในการ พัฒนาเครือข่ายการเชื่อมโยงคมนาคมในภูมิภาค อาทิ การเปิดเส้นทาง R3A ที่เชื่อมโยงจากนครคุนหมิง ยูนนาน ผ่านลาว และเข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย และมาถึงกรุงเทพฯ และสะพานเชื่อมแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งกำหนดจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปีนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้จีนเร่งรัดการก่อสร้างสะพานดังกล่าวให้แล้วเสร็จตาม กำหนด ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลต่อการไปมาหาสู่ของประชาชนและการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำไทย-จีน ในฤดูแล้งอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีด้วย พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้เชิญนายเวิน เจียเป่า เข้าร่วมการประชุม WEF ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่กรุงเทพฯ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับผู้นำจากประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งไทยยินดีที่จะประสานกับ WEF เพื่อจัดกำหนดการพิเศษในลักษณะการสนทนาพิเศษร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.เคล้าส์ ชวับ ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง WEF

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความสนับสนุนอย่างยิ่งต่อความร่วมมือระหว่างสอง ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ไทย-จีน และแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยให้สองประเทศตั้งใจปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจีนยินดีอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่าย โดยขอให้ไทยอำนวยความสะดวกด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแร่โปแตสเซียมในไทยด้วย นอกจากนี้จะร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือด้านการเงิน เช่น การขยายสาขาธนาคารในสองประเทศ การชำระเงินโดยใช้เงินตราของไทยและจีนในการค้าการลงทุน

พร้อมกันนี้ จีนยินดีสนับสนุนการสร้างระบบรถไฟ และมอบหมายให้หน่วยงานทั้งสองประเทศไปร่วมกันดำเนินงานอย่างรวดเร็วและราบรื่น รวมทั้งการสนับสนุนวิสาหกิจด้านอวกาศและไอทีระหว่างกัน และจีนยินดีสนับสนุนด้านชลประทานตามที่ได้มีการลงนามร่วมกันไปแล้ว ที่สำคัญจีนขอให้ไทยส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายตามลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและจีนจะร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับจีนเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ประเทศในอนุภูมิภาค รวมทั้งเมียนมาร์โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ด้วย นอกจากนี้ไทยและจีนจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในกรอบอาเซียน เพื่อรองรับความท้าทายจากปัญหาสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

และในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของไทยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการใน ครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงสัมพันธภาพของทั้งสองประเทศ โดยในหลักการนายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความประสงค์ที่จะให้หมีแพนด้า (หลินปิง) อยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยจะให้หน่วยงานทั้งสองประเทศไปหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังการหารือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนจะร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 8 ฉบับ ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้า ภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ ห้องโถงตะวันตก ศาลามหาประชาชน

ข้อมูลจาก สำนักนายกรัฐมนตรี




View ResultsShare This

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง