Siam Intelligence
อีกแง่มุมในแวดวงการเมืองไทยที่น่าสนใจก็คือ “สถาปัตยกรรมเชิงอำนาจ” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้ดูจะลงตัวกับ “ระบอบนายกคู่” ที่มียิ่งลักษณ์คุมงานเบื้องหน้า และทักษิณคอยดูแลอยู่เบื้องหลัง
ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้าน เราต้องยอมรับว่า ศูนย์กลางของการเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เกินสิบปี อยู่ที่คนๆ เดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรืออดีตนายกรัฐมนตรีผู้โดนรัฐประหารก็ตาม เขาก็ยังมีบทบาทอย่างเด่นชัด และเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งตลอดมา
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “นวัตกรรมทางการเมือง” ของพรรคไทยรักไทยที่สร้างขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ หาเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เปลี่ยนโฉมวงการการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง
และมาถึงบัดนี้ปี 2555 เราก็ยังไม่สามารถหาคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลย ทำให้เขายังมีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้
แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริงของรัฐบาลไทยหลายสมัย กลับไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ทำให้เขาต้องหาลู่ทาง สร้างระบบการปกครองประเทศมาจากภายนอก
ป้ายหาเสียงพรรคเพื่อไทย "ยิ่งลักษณ์เป็นนายก"
ระบอบที่ว่านี้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจใช้ “ระบอบนอมินี” มอบหมายให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวแทนในการบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี และมี พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายอยู่เบื้องหลัง
แต่ระบอบนี้ก็มีจุดอ่อนที่ว่านายสมัครมีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนเกินไป จนสุดท้ายเกิดสภาวะ “แก๊งสี่คน” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถควบคุมสั่งการได้ แถมในช่วงนั้นรัฐบาลสมัครก็ถูกรุมเร้าจากปัญหาภายนอกคือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคดีทำกับข้าว จนสุดท้ายรัฐบาลสมัครก็ต้องล่มสลายลง
พ.ต.ท.ทักษิณ แก้จุดอ่อนเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว โดยใช้ “ระบบเครือญาติ” ส่งน้องเขยอย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่น่าจะควบคุมได้ง่ายกว่านายสมัคร (ผ่านนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “เจ๊แดง” น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง) เพียงแต่สถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นก็ยังร้อนแรง บวกกับ “บารมี” ของนายสมชายที่ภาพลักษณ์ดูอ่อนแอ แถมยังไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนมากนัก ก็ทำให้รัฐบาลพลังประชาชนล้มลงไปอีกครั้งจากกรณียุบพรรคพลังประชาชน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามครั้งที่สามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ดูจะประสบความสำเร็จ เมื่อ “นอมินี” คนใหม่เป็น “สายตรง” หรือ “โคลนนิ่ง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็ยอมรับว่า “พี่ทักษิณมีบุญคุณเปรียบเสมือนพ่อคนที่สอง” ยิ่งแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของบุคคลทั้งสอง ที่การันตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถบัญชาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ดั่งใจ
นอกจากจุดอ่อนเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีแล้ว การใช้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังแก้ปัญหาเรื่อง “บารมีทางการเมือง” ที่ล้มเหลวในสมัยรัฐบาลสมชายมาก่อนได้สำเร็จ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร่วมหาเสียงในฐานะ “ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” มาตั้งแต่ต้น และเสน่ห์ส่วนตัวของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา บุคลิกความเป็นผู้หญิง ประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชน ก็ทำให้เกิดกระแส “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” ชนะเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย
ความเป็นหญิงและวัยวุฒิ-คุณวุฒิที่ถือว่า “เด็กมากในทางการเมือง” กลับกลายเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากศัตรูทางการเมือง ถึงแม้ว่าคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะไม่พอใจกับการอ่านสคริปต์แบบนกแก้วของ การตอบคำถามที่ผิดพลาดหลายครั้ง หรือการเลี่ยงที่จะตอบปัญหาในประเด็นสำคัญๆ จนถูกวิจารณ์อยู่บ่อยๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์หลีกเลี่ยงการปะทะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีประโยชน์ต่อรัฐบาลเพื่อไทยตรงที่ลดความร้อนแรงทางการเมืองลง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผิดพลาดมาก่อนในรัฐบาลไทยรักไทยสมัยที่สอง
พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกที่จะคุมเกมการเมืองภายในพรรคเพื่อไทยเอาไว้เองทั้งหมด ดังที่เราเห็นข่าว ส.ส. ของพรรคเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนคุมเกมในสภาและในพรรคแบบเบ็ดเสร็จ ป้องกันความผิดพลาดในรัฐบาลสมัครที่กลายเป็นรัฐอิสระในพรรคพลังประชาชน และป้องกันปัญหา “งูเห่า” แบบกรณีของนายเนวินในการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงไปได้
ถึงแม้รัฐบาลเพื่อไทยจะขลุกขลักไปบ้างในช่วง 4-5 เดือนแรก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทย แต่หลังจากผ่านการปรับแต่งแก้ไขอยู่หลายครั้ง รัฐบาลเพื่อไทยก็เริ่มมั่นคงและมีเสถียรภาพมากกขึ้น ดุลย์อำนาจระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มลงตัว เกิดเป็นสภาวะ “นายกรัฐมนตรีคู่” ที่อาจไปได้ดีและตอบโจทย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างตรงประเด็น
ใน “ระบอบนายกรัฐมนตรีคู่” จะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ให้กับนายกรัฐมนตรี 2 ระดับ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของประเทศไทย รับผิดชอบงานบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปผ่านการทำงานของคณะรัฐมนตรี (โดยมี “มือดี” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งเข้ามาช่วยมากมาย) และงานพิธีการต่างๆ ตามหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเนื้องานบริหารมากนัก จุดสำคัญคือภาพลักษณ์ “รอมชอม” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ค้ำจุนรัฐบาลเอาไว้ และได้เสียงสนับสนุนจากคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีเงา” จะดูแลเกมการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มคนเสื้อแดง (ผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ) ดูแลยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ (ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเยือนประเทศนั้นๆ ก่อนหรือหลังการเยือนอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์) และนโยบายระดับมหภาคหรือเมกะโปรเจคต์ทั้งหลาย (ตามสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ให้ไว้ตอนหาเสียง)
ระบอบนายกคู่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรับงานที่ต้องออกหน้าและติดต่อกับประชาชนโดยทั่วไป ดึงเสียงสนับสนุนการปรองดองจากประชาชนส่วนใหญ่ ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำงานเบื้องหลังที่มีความสำคัญในระดับ “ขาดไม่ได้” เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น จุดอ่อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สร้างศัตรูได้ง่าย ถูกแก้ไขโดยไม่ออกมาเป็นคนเบื้องหน้าคอยปะทะโดยตรง
ความเข้มแข็งของ “ระบอบนายกคู่” เวอร์ชัน 3.0 นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาล และถ้าในปี 2555 นี้ ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ได้สำเร็จ สถานะของรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ “นายกคู่” จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เมื่อประกอบกับความอ่อนแอของภัยคุกคามภายนอก ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังติดในวังวนการเมืองแบบเดิมๆ และกลุ่มพันธมิตรที่พลังเสื่อมถอยลงไปมาก ทำให้โอกาสที่รัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ยาวยิ่งมีสูง
อย่างไรก็ตาม “ระบอบนายกคู่” อันเกิดขึ้นจากข้อจำกัดทางกายภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้มีแต่จุดแข็งเสมอไป
การคงอยู่ของระบอบนายกคู่ เกิดจากการที่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ในประเทศเพียงคนเดียว และมี “ระยะห่าง” ระหว่างกลุ่มก๊วนทางการเมืองในประเทศกับตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่นอกประเทศไทย
การสั่งงานต่างๆ ถึงจะขาดประสิทธิภาพไปบ้างเพราะเจ้าตัวไม่ได้อยู่คุมเอง แต่ก็ตรงไปตรงมาเพราะมาตามสายการบังคับบัญชาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วางเอาไว้แล้ว และการการันตีด้วยสายเลือดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่มีวันทรยศพี่ชายอย่างแน่นอน
แต่สุดท้ายแล้ว ปลายทางของ “ระบอบนายกคู่” ก็คือการเตรียมความพร้อมทางการเมือง เพื่อให้ “นายกตัวจริง” ได้กลับบ้านอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549
แต่การกลับเมืองไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้ “ดุลยภาพ” ของระบอบนายกคู่สูญเสียไป เพราะสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหมดความหมายลง เหลือเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงในนามเท่านั้น อำนาจที่แท้จริงจะถูกรวบไปอยู่ในมือของ “นายกตัวจริง” ที่ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่นั่งบัญชาการอยู่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า
คำถามคือ ความสัมพันธ์ของ “นายกรัฐมนตรีคู่” จะเป็นอย่างไรต่อไป และมันจะกลายเป็น “จุดเริ่มต้นของการล่มสลาย” ของระบอบนายกคู่หรือไม่
และหลังจากนั้น การเมืองไทยจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ เหมือนกับตอนปี 2548-2549 อีกครั้งหรือเปล่า?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น