บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ท่าเรือปากบารา : แผนพัฒนาเพื่อประชาชนชาวไทย

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแผนเก่าเก็บราว 30 ปีก่อนที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นใหม่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสานต่อด้วยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และสืบเนื่องมาจนกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

แผนพัฒนาดังกล่าวนอกจากจะมีการก่อสร้าง ท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ยังรวมไปถึง การก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างสงขลาและสตูล การวางท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน คลังน้ำมันขนาด 5,000 ไร่ การขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมเส้นทางหลวงสตูล-เปอร์ลิส (ไทย-มาเลเซีย) ยังไม่รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมหลากชนิด ที่กรีฑาทัพมาเพื่อริดรอนสิทธิและผลประโยชน์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ และได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน โดยแทบจะไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงในการพัฒนาดังกล่าวให้คนในพื้นที่รับรู้

ทะเลสตูล : ทรัพยากรธรรมชาติที่ยากจะตีค่าเป็นตัวเงิน
การสร้างท่าเรือปากบารา อาจจำเป็นต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญตั้งแต่การใช้พื้นที่กว่า 4,700 ไร่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติ การระเบิดภูเขาถึง 8 ลูก ที่อาจส่งผลกระทบถึงสภาวะอากาศและเป็นการเปิดช่องทางให้ฝุ่นควันและสารพิษจากเขตอุตสาหกรรมเข้ามาในเมืองสตูล




นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ทรายกว่า 20 ล้านคิวเพื่อถมทะเล และทรายเหล่านั้นก็มาจากชุมชนใกล้เคียงนั่นเอง ยังไม่นับการเวนคืนที่ดินอีกมหาศาลและการสูญเสียแหล่งทำกินที่ประชาชนต้องเผชิญ

อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำสาขาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าในโครงการจัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน จ.สตูล เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของทะเลสตูลไว้อย่างหลากหลายมิติ

‘ทะเลสตูลเป็นแหล่งสะสมอาหารที่มาจากทั้งทางบกและทางทะเล เป็นพื้นที่ที่มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการังอุดมสมบูรณ์ และเป็นรอยต่อช่องแคบมะละกา ระหว่างคาบสมุทรอินเดียและคาบสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมระบบนิเวศน์ทางทะเลคือ ป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย หาดโคลน แหล่งปะการัง และหญ้าทะเล ครบถ้วนสมบูรณ์’

นอกจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว อาจารย์ศักดิ์อนันต์ยังเสริมว่าบริเวณชายฝั่งแถบอันดามันตอนล่าง มีลักษณะที่มีภูเขาอยู่ด้านหลัง ซึ่งหากเกิดมลพิษหรือขยะ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ได้ถูกพัดพาไปไหน แต่จะตกตะกอนหรือลอยอยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อมลภาวะ แตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่มลภาวะทุกอย่างจะถูกคลื่นพัดพาไปหมด

แต่อย่างไรก็ดี จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA กลับได้ผลว่าปากบาราเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งออกจะขัดจากความเป็นจริงที่ปากบารานั้นอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด เช่น หอยนางรม หอยปากเป็ด หอยเสียบ อีแปะทะเล หอยมะระ ไส้เดือนทะเล และปูทหาร ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้มีปริมาณค่อนข้างมากและกระจายอยู่ตามหน้าดิน

การประเมินต้นทุนทางธรรมชาติ : ตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่อยากพูดถึง
แทบทุกครั้งในการประเมินมูลค่าโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่จำเป็นต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมักมองต้นทุนทางธรรมชาติเพียงผิวเผิน และประเมินอย่างฉาบฉวยเป็นตัวเงินง่ายๆ ที่มีมูลค่าน้อยนิดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเมกะโปรเจกต์มูลค่ามหาศาล เช่นที่ปากบารา นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนามักมองเพียงว่า บนหาดนั้นมีสัตว์ทะเลเศรษฐกิจกี่ตัว คิดเป็นมูลค่ากี่บาท หรือการทำแบบสอบถามถึงผู้มีอาชีพประมง และประเมินเงินได้ที่ได้จากการประกอบอาชีพดังกล่าว โดยลืมมองไปว่า ธรรมชาตินั้นทรงคุณค่ามากกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจ



หากเรามองปากบาราใหม่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จะพบว่าสัตว์ทะเลเช่นปูทหาร ที่ดูเหมือนจะไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นตัวแปรสำคัญในเชิงนิเวศ ซึ่งปูทหารนั้นนอกจากจะทำหน้าที่คุ้ยดินเพื่อกินเศษซากอินทรีย์ ยังขุดดินเพื่อเพิ่มคุณภาพดิน ทำให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยของชีวิตอื่นๆ และสัตว์หน้าดินเหล่านั้นเองก็จะเติบโตเป็นอาหารในห่วงโซ่แก่สัตว์อื่นต่อไป

แม้แต่หอยนางรมเอง ก็เปรียบเสมือนเครื่องกรองน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งหากมองในแง่นี้แล้ว ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างเครื่องจักรมาทดแทนหน้าที่ของเหล่าสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ หอยปากเป็ด ก็ถือเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่หายาก และแทบจะไม่มีการพบเห็นในพื้นที่อื่นของประเทศไทย ซึ่งถึงแม้จะไม่มีมูลค่าในตลาด ก็กลับมีมูลค่าสูงมากในเชิงนิเวศวิทยา ยังไม่นับผลกระทบต่อทะเลที่เป็นแหล่งหญ้า และแนวปะการัง ซึ่งผลกระทบเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของมรดกอาเซียน อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตรุเตา


สิทธิชุมชนกับข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือน
ท่าเรือปากบารา และสารพัดแผนพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นให้ประชาชน ไม่ต่างอะไรจากนโยบาย ‘ขายฝัน’ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ในการตะล่อมให้ประชาชนในพื้นที่ยินยอมให้เกิดการ ‘พัฒนา’ ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะไหลเวียนสู่จังหวัดสตูล การเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งตลาดแรงงานที่จะมีการขยายตัว คนสตูลจะมีงานทำ และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชาติ แต่หากประชาชนเชื่อภาพที่รัฐพยายามสร้างขึ้น สุดท้ายสตูลก็คงไปหนีไม่พ้นชะตากรรมที่จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ไม่ต่างจากมาบตาพุด

น้อยนักที่จะมีคนจากส่วนกลางไปพูดความจริง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างถิ่น ที่พร้อมจะเบียดบังแรงงานไร้ฝีมือที่ช่ำชองในการประมงหรือการทำเกษตรกรรมให้ไม่มีอาชีพ และโครงการดังกล่าวย่อมไม่จบลงแค่เพียงท่าเรือ สิ่งที่จะตามมาคือระบบขนส่งน้ำมัน

การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนพลังงานให้โรงงานเหล่านั้น และการควบคุมแบบไทยๆ ที่ทำให้ทะเลปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ตามมาด้วยการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และการล่มสลายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ในมุมกลับกัน ผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการลงทุนก็จะไหลเข้าสู่กระเป๋าของนายทุน กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จะมีก็เพียงเศษเงินที่ปันส่วนให้กับประชาชนผู้มีถิ่นฐานในพื้นที่ และสุดท้ายผลกรรมทั้งหมดก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ อยู่กับธรรมชาติ ที่ยากจะฟื้นคืน



สุดท้าย ผู้เขียนขอเตือนว่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศนั้น เป็นเพียงมาตรวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงคร่าวๆ และมีข้อจำกัดมากมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ GDP ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้ชี้วัดการกระจายรายได้หรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าทรัพยากรธรรมชาติของเรายังคงอุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญที่สุด มันไม่ได้รับรองว่าประชาชนชาวไทยจะมีความสุขจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม




inShare

ข้อมูลบทความ
วันที่: 31/03/2012
หมวดหมู่: headline, headline3, Practical Report, เศรษฐกิจ
ป้ายคำ: ทะเลสตูล, ท่าเรือน้ำลึกปากบารา สตูล, ท่าเรือปากบารา, รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง, หอยปากเป็ด, แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง