บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สยามประชาภิวัฒน์ เปิดเวทีแฉระบบเผด็จการพรรคการเมือง กินรวบประเทศไทย

สำนักข่าวอิศรา

"ดร.บรรเจิด ชี้เมืองไทยมีเสื้อคลุมเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในเผด็จการพรรคการเมือง ด้าน "ดร.จรัส" เปรียบสังคมไทย ไม่ต่างอะไรจากสังคมแบบโจร แย่งชิงเงินภาษีไปเข้ากระเป๋าตนเอง มีนักการเมือง-ขรก.ร่วมมือกันหักหลังปชช.


วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สยามประชาภิวัฒน์ จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “วิกฤตประเทศ ใครคือตัวการ?” ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ในช่วงแรก ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลายเป็นระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนเต็มตัว เนื่องจากพบว่า มีการทำลายหลักการของความเป็นประชาธิปไตย (the principle of democracy) ด้วยการบังคับให้ ส.ส. ทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ทำตามมติพรรค มิฉะนั้นอาจถูกพรรคมีมติให้พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ ทำให้พบการโหวตตามใบสั่งของพรรค

“ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการบังคับในลักษณะดังกล่าว ทำให้ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐในระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ต่างจากในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เดนมาร์ก ส.ส. สามารถใช้มโนทัศน์ในการบริหารและออกเสียงได้ด้วยตนเอง”ศ.ดร.อมร กล่าว และว่า สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ต้องเริ่มแก้ที่ระบบสถาบันการเมือง โดยคนไทยต้องร่วมกันคิดว่าจะแก้อย่างไร

จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง “วิกฤตประเทศ ใครคือตัวการ?” โดยนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ เกิดวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติ และวิกฤตทางการเมืองตลอดเวลา เนื่องจากมีผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการสร้างความแตกแยก แบ่งคนออกเป็นฝักฝ่าย เพื่อลดทอนอำนาจของประชาชน ในการต่อสู้กับทุนผูกขาดทางการเมือง ขณะเดียวกันยังเกิดวิกฤตจริยธรรมทางวิชาการของนักวิชาการ ซึ่งพบว่า มีการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง นำเสนอข้อมูลทางวิชาการแบบตัดตอน ทั้งนี้ เพื่อ นำเสนอรูปแบบที่ตนต้องการ และเอื้อประโยชน์ต่อคนบ้างกลุ่ม โดยอ้างประชาธิปไตย ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว และถ้าเมื่อใดคนในชาติรวมตัวกันได้ นักธุรกิจการเมืองจะไม่ได้ประโยชน์จากการที่คนในชาติแตกความสามัคคี

ขณะที่ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นวิกฤตของประเทศเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้น และเป็นวันที่รัฐธรรมนูญไทยถูกหักยอดมงกุฎ เนื่องจากมีคนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทำผิดกระบวนการยุติธรรม จากนั้นในวันที่ 19 ก.ย.2549 รัฐธรรมนูญก็ถูกฌาปนกิจ และในปัจจุบันระบบต่างๆ กำลังเข้าสู่วังวนเดิมอีกครั้ง เนื่องจากการผูกขาดอำนาจทางการเมือง โดยบริษัททางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ว่า คนที่สามารถเข้าสู่เวทีการเมืองได้นั้น ต้องสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองในปัจจุบันเป็นสมบัติส่วนบุคคล ถามว่า การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ เมื่อคนที่มีรีโมทสามารถคุมได้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร” รศ.ดร.บรรเจิด กล่าว พร้อมตั้งคำถาม บ้านเรา 1 ครอบครัวมีนายกรัฐมนตรี 3 คนเป็นไปได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ประเทศตะวันตกไม่มีทางเข้าใจประเทศไทย เนื่องจากประเทศตะวันตกเข้าใจว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันประชาธิปไตย

รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า บ้านเรามีเสื้อคลุมเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในเป็นเผด็จการจากเจ้าของพรรค และหากย้อนดู ในสมัยที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จะพบว่า ส.ส. ยังมีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร แต่ปัจจุบันทั้งที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ส.ส. ได้ทำอะไรบ้างหรือไม่

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบอุปถัมภ์หนักแน่นมาก เราไม่สามารถปล่อยให้สังคมเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ได้ และก่อนที่ประเทศจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีหนี้สาธารณะสูง ต้องร่วมกันคิดหาทางออกจากวังวนดังกล่าว"

โจทย์แก้รธน.เพื่อยกระดับกินรวบให้เข้มแข้งขึ้น

ส่วนศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสังคมบ้านเราขณะนี้เกิดการแย่งชิงเงินภาษีของประชาชนไปเข้ากระเป๋าตนเอง และมักพบว่า ใครใหญ่กว่าแย่งได้มากกว่าก็เอาเงินไปหมด ส่วนคนที่แพ้ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น ในสภาวการณ์เช่นนี้ ไม่ต่างอะไรจากสังคมแบบโจร ขณะที่พบว่ามีการหักหลังประชาชน โดยที่นักการเมืองและข้าราชการร่วมมือ จนทำให้ระบบการปกครองในปัจจุบันกลายเป็นระบบเผด็จการทุน อำมาตย์ผูกขาด ดังนั้น จึงเห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันแทนที่จะมาคุยถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การจะมี สสร. หรือแต่งตั้งคนบางกลุ่มขึ้นมานั้น ควรหันให้ความสนใจกับเรื่องการปฏิรูปการเมือง เพื่อทำให้การแย่งชิง หักหลังหลุดออกไป

“ที่ผ่านมาไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกี่สิบครั้ง ก็ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญยังไม่มีความสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการแก้ไข แต่หากโจทย์ของการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อลดอำนาจผูกขาดทางการเมือง การแก้ก็จะทำให้เราติดกับดักเดิมๆ รวมทั้งยกระดับการกินรวบให้มีความเข้มแข้งมากขึ้น”

ทั้งนี้ ศ.ดร.จรัส กล่าวถึงวิธีหลุดพ้นจากระบบการเมืองแบบผูกขาดด้วยว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจ ให้คนในพื้นที่ได้ปกครองตนเอง ใช้เงินภาษีของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดขนาดตะกร้าที่ใหญ่ลงได้ และตัดวงจรการแย่งกัน ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้มีเข็มแข้ง โดยต้องมีกฎหมายให้อำนาจกับประชาชนในการตรวจสอบ แฉ บอยคอต ประณาม ไม่ว่าจะนักการเมือง หรือข้าราชการ ทั้งนี้ เชื่อว่า จะช่วยปิดประตูไม่ให้นักการเมือง ข้าราชการรวมหัวกันได้ อีกทั้งยังจะช่วยทำลายภาพลวงตาที่นักการเมืองสร้างขึ้น เพื่อเป็นเกาะบังหน้าในการหาประโยชน์ส่วนตน

ด้าน ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงปัญหาของการเมืองไทยว่า เกิดจากการที่ตัวแทนในแต่ละจังหวัดมาจากคนไม่กี่ตระกูล จนกลายเป็นประชาธิปไตย แบบกรรมพันธุ์ ในลักษณะที่ว่า พ่อแม่เป็น ส.ส. ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะเป็น ส.ส. เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไทยอยู่กับภาวะผิดปกติ จนเป็นปกติ และในขณะเดียวกันได้ทำให้เจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่ต้องการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพการเมือง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การมีส่วนร่วมถูกบิดเบือนไปสู่การสัมปทานอำนาจในท้องถิ่น เปิดช่องให้คนที่ทรัพยากรมากกว่าได้เปรียบ

“ฉะนั้น ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ผลักงบประมาณ ภารกิจ และคนไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้เวทีการเมืองระดับชาติลดทอนลง ขณะเดียวกันการให้ความสำคัญกับคุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพของการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้น องค์กรอาชญากรรมทางการเมืองจะกลายเป็นตัวทำลายประเทศ ไม่ต่างจากองค์กรค้ายาเสพติด”

ส่วน รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดตามระบอบทักษิโณมิกส์ และเครือข่ายนั้นจะทำให้ประเทศก้าวสู่หายนะ เนื่องจากพบว่า สถานะทางการเงินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยู่ในสภาวะที่ไม่มีกระแสเงินสดมาลงทุน เนื่องจากภาระหนี้สินในอดีต ทั้งหนี้จากกองทุนฟื้นฟูฯ หนี้สาธารณะ ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินดำเนินการตามโครงการประชานิยม จึงมีความพยายามในการขายรัฐวิสาหกิจ ให้ตกอยู่ในมือของพวกพ้อง เพื่อกลับเข้ามาผูกขาดประเทศผ่านระบบอุปถัมภ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเผชิญหายนะ เช่นเดียวกับกรีซ และอาเจนติน่า

“นอกจากนี้ยังพบว่า ความพยายามในการจับมือกับทุนต่างประเทศ รุกคืบเข้ามาถือครองที่ดินการเกษตรในประเทศไทยเพื่อรองรับภาวะการขาดแคลนอาหารจากสภาวะโลกร้อนในอนาคต รวมถึงการยึดครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งพลังงานใต้ทะเล ดังนั้น สยามประชาภิวัตน์ จะเน้นสร้างความองค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่ประชาชน โดยยึดหลักนิติรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรี ความเสมอภาพ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ที่ไม่เปิดช่องทางให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสังคม”

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง