นักวิชาการชี้ไทยต้องใช้ ‘ฉลากอาหาร’แบบสัญญาณไฟ เหมือนตปท. จวกอย.ขัดมติครม.-ไฟเขียวใช้แบบแยกสารอาหาร ผู้บริโภคไม่เข้าใจ
ตปท.ยันฉลากอาหารสัญญาณไฟเข้าใจง่าย
คนเมืองผู้ดีกว่าร้อยละ 80 ระบุใช้เวลาแค่ 4 วินาทีก็เลือกอาหารได้
สมาคมแพทย์อังกฤษหนุนให้ใช้ ขณะที่แบบแยกปริมาณสารอาหารทำให้เสียเวลา
ขณะที่อย.ไทยตามใจผู้ผลิต ตีกลับงานวิจัยมหิดล
แต่กลับขัดมติครม.ประกาศใช้ฉลากแบบ
GDAทั้งที่ไม่มีงานวิจัยรองรับทั้งในและต่างประเทศ
แฉกลุ่มทุนบีบอียูสั่งใช้ฉลาก GDA
จากกรณีรศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมเสนองานวิจัย “ฉลากโภชนาการและสัญลักษณ์โภชนาการ” ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาอีกครั้ง หลังจากเสนอให้อย.เร่งพิจารณาติดฉลากบนห่ออาหาร พร้อมทั้งเสนอรูปแบบฉลากที่จะปรากฎบนหีบห่อดัง โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงส่วนผสมในอาหารนั้นๆ แต่อย.กลับอ้างว่า งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้รับการรับรอง และผู้ประกอบการไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย จึงตีกลับงานวิจัยและรูปแบบฉลาก ขณะที่ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า การติดฉลากบนห่ออาหาร มีกฎหมายบังคับอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตมักทำขนาดเล็กเกินไปหรือเข้าใจได้ยาก เช่นเดียวกับในงานวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคถึงร้อยละ 90 ไม่เข้าใจข้อมูลที่ปรากฎบนฉลาก
คนอังกฤษยันฉลากไฟจราจรเข้าใจง่าย
รศ.ดร.ประไพศรีศิริจักรวาล นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงกรณีการติดฉลากอาหารในต่างประเทศว่า จากการสำรวจทั่วโลก แต่ละประเทศจะใช้สัญลักษณ์โภชนาการที่แตกต่างกัน มีประเทศอังกฤษที่ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์จะใช้สัญลักษณ์รูปกุญแจ แบบเดียว หากสินค้าคุณภาพถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผู้ประกอบการสามารถติดตราได้ ถ้าไม่มีตราสัญลักษณ์ หมายถึงสินค้าคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ในประเทศอังกฤษ ผู้บริโภคร้อยละ 80 สนับสนุนการใช้สัญลักษณ์แบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคในประเทศอังกฤษสามารถเลือกสินค้า จากการดูสัญลักษณ์โภชนาการ ที่เป็นแบบสัญญาณไฟจราจร ได้ภายใน 4 วินาที เพราะสามารถเห็นได้ชัดเจน เมื่อวางเปรียบเทียบบนชั้นวางสินค้า
นอกจากนี้ British Medical Association (สมาคมการแพทย์อังกฤษ) ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการในการใช้ฉลากสัญญาณไฟจราจรบนผลิตภัณฑ์ด้าน หน้าของบรรจุภัณฑ์อาหารด้วย
อังกฤษทำวิจัยพร้อมๆกับที่เราทำ สุดท้ายอังกฤษเลือกใช้สัญญาณไฟจราจร ในยุโรปถือว่าอังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่ใส่ใจต่อผู้บริโภค สหรัฐอเมริกามีบ้างแต่จะทำเป็นบางรัฐ สัญลักษณ์แต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป
รัฐบาลประเทศอังกฤษ ได้ให้ Food Standard Agency หรือ FSA (องค์การมาตรฐานอาหาร) ศึกษาเรื่องฉลากโภชนาการพบว่า รูปแบบสัญลักษณ์ไฟจราจรของ FSA สามารถเข้าใจได้มากกว่า รายการสัญลักษณ์ข้อมูลเชิงตัวเลขของ Guidline Daily Amounts หรือ GDA ที่คิดค้นโดยกลุ่มบริษัทอาหาร ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศใช้อยู่ในประเทศไทยในขณะนี้
ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจร นอกจากจะบอกปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดแล้ว ยังจะมีสีเพื่อแจ้งถึงระดับมากน้อยด้วย
FSAชี้ฉลากตัวเลขเข้าใจยาก-เลือกได้ช้า
ทั้งนี้ FSA ระบุว่า สัญลักษณ์แบบของ GDA มีข้อบกพร่องในการแยกระดับปริมาณสารอาหารระหว่าง High, Medium และ Low ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่ายและรวดเร็วได้ ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ เข้าใจและสามารถนำประโยชน์จากฉลากโภชนาการ ที่แสดงถึงข้อมูลอาหารที่มีผลต่อสุขภาพไปใช้ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ได้แสดงถึงความต้องการที่จะแสดงข้อมูลคุณค่าของสารอาหารอย่างละเอียด และกระจ่างต่อผู้บริโภค ซึ่งสัญลักษณ์โภชนาการบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์อาหารนั้น ควรนำมาใช้เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากอาหารได้
อย่างไรก็ตามการตื่นตัวของกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน ทำให้รัฐบาลอังกฤษและกลุ่มประเทศยุโรป ส่งสัญญาณถึงกลุ่มผู้ผลิตอาหาร โดยหวังให้เกิดการริเริ่มการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ อาหาร โดยปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
จากการทำวิจัยของFSA ยังพบว่า หากมีการใช้สัญญาณไฟจราจรร่วมกับแบบ GDA จะช่วยให้ผู้บริโภคที่มีเวลาน้อย สามารถรับรู้ข้อมูลและตัดสินใจได้เร็ว และข้อมูลรายละเอียดที่มากขึ้นจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค
นอกจากอังกฤษแล้ว ประเทศสวีเดนและเดนมาร์ค มีการทำสัญลักษณ์โภชนาการ (Nutrition Signpost) เช่นกัน แม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกันก็ตาม
และ เมื่อปี 2003 European Heart Network ได้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับฉลากอาหารรวม 129 ฉบับ พบว่า เมื่อผู้บริโภคอ่านข้อมูลจากฉลากโภชนาการแล้วไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจได้มากขึ้น หากข้อมูลเหล่านั้นนำเสนอในรูปภาพของกราฟ
ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีแนวคิดที่จะดำเนินการให้มีสัญลักษณ์โภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารได้อย่างถูกต้อง
ผู้ผลิตอ้างไม่มีส่วน-อย.ตามน้ำตีกลับ
ดร.ประไพศรีกล่าวถึงการนำเสนอผลงานวิจัยต่อคณะกรรมการอาหารและยาว่า สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอผลงานวิจัยให้กับคณะกรรมการอาหารและยา มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่ง อย.ปฏิเสธไม่รับการใช้สัญลักษณ์แบบสัญญาณไฟจราจร เนื่องจากคณะอนุกรรมการโภชนาการและการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ หรือ อ.3 ที่แต่งตั้งโดยอย. เป็นคณะอนุกรรมการฯ ที่พิจารณาเรื่องฉลาก ซึ่งมีตัวแทนจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ สื่อ ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ไม่ยอมรับสัญลักษณ์นี้
ผู้ประกอบการอ้างว่า เป็นการทำวิจัยของนักวิชาการที่เขาไม่มีส่วนร่วม เหมือนกับอคติว่าเราทดสอบในส่วนที่เราต้องการ ไม่มีการเปรียบเทียบของที่มีอยู่ในตลาด และการที่ผู้ประกอบการไม่รับ เพราะกลัวว่า หากสินค้าของบริษัทมีสัญลักษณ์สีแดง แปลว่าห้ามกิน สินค้าจะขายไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้หมายความอย่างนั้น สีแดงหมายความว่าให้ระวัง ถ้าจะกินต้องกินแบบระวัง ถ้ามื้อนี้กินสีแดงแล้ว มื้อต่อไปควรเลือกที่เป็นสีเขียว ซึ่งการปิดฉลากโภชนาการ ต้องดูที่สารอาหารด้วย เราเข้าใจว่า นักวิชาการของ อย.เข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอ แต่ผู้ประกอบการไม่สนใจ อย.ไม่รับรองการใช้สัญลักษณ์นี้ เพราะเหตุผลของผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์หลายอย่างในขณะนี้ มีการทำฉลากโภชนาการแบบ GDA ไว้แล้ว เช่น สินค้าในเครือเทสโก้โลตัส (House Brand) เพียงเพิ่มสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจรเข้าไป จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามจะมีการนำเสนองานวิจัยอีกครั้งในเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการต้องออกมาค้านอีกว่า มีการประกาศใช้แบบ GDA แล้ว ซึ่งมีการลงทุนพิมพ์ซองอาหารแล้ว หากจะมีการเปลี่ยน รูปแบบฉลาก ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งถึงที่สุดแล้ว อย.จะยืนยันการใช้แบบ GDA อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ น่าจะสามารถยื้อใช้แบบนี้ไปได้อีก 5-10 ปี หลังจากนั้นคาดว่าคงจะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เคยยื่นหนังสือกับรมว.สาธารณสุข เมื่อเดือนเมษายน 2554 เพื่อให้คณะกรรมการอาหารและยา เลือกการประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร แต่ไม่เป็นผล ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2554 อย.ได้ประกาศใช้ฉลากแบบ GDAโดยให้เหตุผลว่า ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร ทำให้ผู้บริโภคสับสน และต้องการงานวิจัยสนับสนุนมากกว่านี้
ฉลากแบบ GDA ซึ่งจะแจ้งถึงปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิด เช่น เกลือ ไขมัน น้ำตาล ฯลฯ
ทีมวิจัยรุกต่อยันต้องใช้ฉลากแดง-เหลือง-เขียว
ด้านพชรในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดของ อย.ที่ไม่เลือกสัญลักษณ์แบบสัญญาณไฟจราจร แต่จากการทำแบบสอบถามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสัญลักษณ์โภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร มากกว่าการบอกเป็นเปอร์เซ็นต์แบบ GDA ซึ่งพชรเห็นด้วยกับการใช้สัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจร เพราะจะทำให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจกับเด็กได้ง่ายขึ้น เพราะการห้ามเด็กกินขนมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าจะจัดการอย่างไร และจะให้ความรู้กับเด็กๆอย่างไร
อย่างไรก็ตามนักวิชาการและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เห็นตรงกันว่า นอกจากการทำงานวิจัยแล้ว การให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องฉลากอาหาร เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งดร.ประไพศรีกล่าวว่า แม้แต่เด็กเล็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องสารอาหารในฉลาก และนำไปใช้ได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ทำไมไม่ทำให้ฉลากบนห่ออาหารเป็นเรื่องที่ง่าย และเข้าใจได้ทุกคน
ขณะที่พชรเห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่เข้าใจการโฆษณาบนฉลากอาหาร แยกไม่ออกระหว่างข้อกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ถูกต้อง ที่อย.กำหนด กับการโฆษณาบนฉลากว่าต่างกันอย่างไร ดังนั้นการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และควรเกิดขึ้นทุกระดับ
กลุ่มทุนบีบอียูดันใช้ฉลากแบบ GDA
พชรกล่าวต่อว่า มีกลุ่มบริษัทอาหารขนาดใหญ่ที่มีส่วนในการผลักดันให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศใช้ฉลากแบบ GDA ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักในการผลักดัน GDA มาสู้กับสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจรในประเทศอังกฤษด้วย
บรรษัทนี้เป็นกลุ่มทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ มีสินค้าอยู่ในมือและวางจำหน่ายทั่วโลกจำนวนมาก ทำให้สามารถโน้มน้าวผู้มีอำนาจรัฐทั่วโลก รวมถึงกลุ่มองค์กรใหญ่ๆอย่างสหภาพยุโรป เพื่อให้เห็นดีเห็นงามด้วย
ซึ่งสถานการณ์ในสหภาพยุโรปในปัจจุบันยังมีการติดฉลากโภชนาการแบบ GDAทำให้อังกฤษถูกบีบให้ใช้สัญลักษณ์แบบ GDA ด้วย ทั้งที่อังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจร และมีข้อมูลทางวิชาการรองรับชัดเจน กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ร่วมกัน คิดค้นฉลาก GDA และล็อบบี้เพื่อเปลี่ยนแนวคิด จนทำให้ผู้มีอำนาจขนาดใหญ่อย่างอียูเห็นชอบกับแนวคิดนี้
ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ฉลากแบบ GDA อยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ สินค้าในเครือเทสโก้โลตัส ซึ่งสินค้าของเนสท์เล่ใช้สัญลักษณ์แบบ GDA ก่อนที่อย.จะบังคับใช้ ซึ่งฉลากแบบ GDA ที่สินค้าเหล่านี้ใช้อยู่เป็นแบบสีขาวล้วน ไม่ได้บอกอะไรให้กับผู้บริโภค
พชรกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการบางรายใช้ข้อมูลกล่าวอ้างทางโภชนาการคู่กับ GDA ซึ่งผู้ประกอบการจะดึงข้อมูลที่มีประโยชน์แสดงต่อผู้บริโภค แต่ไม่บอกสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีสารอาหารบางตัวมากเกินไป
สช.จวกอย.ไม่ปฏิบัติตามมติครม.
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณ ได้ประมวลรายละเอียดการดำเนินงานเพื่อผลักดันมาตรการดังกล่าว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (รายละเอียดดังตารางแนบท้าย) ซึ่งจากการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อย.ได้ประกาศใช้สัญลักษณ์แบบ GDAซึ่งเป็นรูปแบบฉลากที่ยังไม่มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศรองรับ หรือมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้ฉลากโภชนาการ แบบดังกล่าวและได้ข้อสรุปว่า หน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมายอย่าง อย.ปฏิเสธองค์ความรู้ทางวิชาการ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ปัจจุบันเครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากแบบสีสัญญาณ ทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน ได้ร่วมทำงานวิจัย โดยการทำแบบสอบถามกับผู้บริโภคทุกกลุ่มในประเทศ โดยเน้นการเปรียบเทียบฉลากแบบสีสัญญาณและฉลากแบบ GDA เพื่อให้เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่า ที่ผ่านมาการทำงานวิจัยใช้ตัวอย่างเพียงแบบสัญญาณไฟจราจรเท่านั้น
แม้อย.จะประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบ GDA ไปแล้ว แต่ปัญหาฉลากอาหารยังไม่จบ เพราะการติดฉลากไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่สารอาหารที่อยู่ในซอง แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภคด้วย
จี้อย.เข้ม ‘ฉลากอาหาร’นำร่องขนมขบเคี้ยว 5ชนิด นักวิชาการดันซ้ำหลังถูกปฏิเสธทั้งผลวิจัย-รูปแบบฉลาก หวั่นกระทบสุขภาพคนไทย
นักวิชาการจี้อย.เข้ม “ฉลากอาหาร”
เตรียมเสนองานวิจัยอีกครั้ง หลังถูกปฏิเสธมาแล้วทั้งผลวิจัยและรูปแบบฉลาก
อ้างผู้ประกอบการไม่มีส่วนร่วม
ทั้งที่ผลวิจัยระบุชัดขนมกรุบกรอบส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้บริโภค
ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้มีกฎหมายบังคับอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตไม่เคยทำตาม
แถมผู้บริโภคกว่า 90เปอร์เซนต์ไม่เข้าใจข้อความในฉลาก
ขณะที่ส่วนหนึ่งขอฉลากที่มีข้อมูลอ่านแล้วเข้าใจง่าย
ติดฉลากห่อขนมเตือนภัยผู้บริโภค
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากโรคภัยต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพแล้ว ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนยังเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นชัดเจนในประเทศไทย ทั้งผู้ใหญ่ เยาวชนและเด็ก และจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะ ยาว และลุกลามไปสู่ปัญหาด้านอื่น ทั้งการศึกษา สังคม ครอบครัว ฯลฯ ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน มีผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มากเกินควร โดยเฉพาะการบริโภคน้ำตาล น้ำมัน และเกลือ รวมทั้งสารปรุงแต่งในอาหารที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย
จากรายงานการวิจัย ฉลากโภชนาการ และสัญลักษณ์โภชนาการ : การทบทวนเอกสารและงานวิจัย โดย รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบันเด็กไทยนิยมรับประทานขนม ขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น และจากการวิเคราะห์ฉลากโภชนาการและส่วนประกอบในขนม – อาหารว่างตามท้องตลาด พบว่า กลุ่ม ลูกอม หมากฝรั่งและเยลลี มีน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่นๆ เป็นส่วนผสมจำนวนมาก กลุ่มช็อกโกแลต มีส่วนประกอบของไขมันและน้ำตาลในปริมาณสูง กลุ่มถั่วและเมล็ดพืช มีไขมันและโซเดียมมาก กลุ่มปลาเส้นปรุงรสต่างๆปลาอบกรอบ แม้ว่าจะมีโปรตีน แต่มีโซเดียมสูง และยิ่งปรุงรสเข้มข้นยิ่งมีโซเดียมเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มมันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ข้าวอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ แป้งทอด จะเต็มไปด้วยโซเดียมและไขมัน ซึ่งขนมขบเคี้ยวและอาหารว่างเหล่านี้ เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่โยงมาสู่ปัญหาสุขภาพคือ ผู้บริโภคไม่เข้าใจข้อมูลในฉลากโภชนาการ ว่าข้อมูลนั้นบอกอะไร เนื่องจากข้อมูลในฉลาก ไม่ชัดเจน เข้าใจยาก ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับ และไม่สามารถประเมินคุณค่าทางโภชนาการได้ ซึ่งฉลากโภชนาการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นแบบ กรอบข้อมูลโภชนาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอยู่หลังซองอาหารทั่วไป เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจข้อมูลของสารอาหารที่อยู่ในอาหารมากขึ้น แต่รายละเอียดในกรอบโภชนาการจะค่อนข้างเข้าใจยาก
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้สัญลักษณ์ทางโภชนาการอย่างง่ายบน ห่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์
ข้อมูลโภชนาการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
จี้อย.เดินหน้านำร่องขนมขบเคี้ยว 5 ชนิด
ในปี 2547 สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยในการใช้ฉลากโภชนาการ และเลือกใช้รูปแบบสัญลักษณ์สัญญาณ “ไฟจราจร” ในการทดสอบกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ปกครองและเด็ก ซึ่งพบว่าผู้ทดสอบส่วนใหญ่เข้าใจฉลากโภชนาการมากขึ้น และเมื่อนำรูปแบบสัญญาณไฟจราจรควบคู่ไปกับแบบ “จีดีเอ” จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากยิ่งขึ้น และมีการนำเสนองานวิจัยนี้ให้กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นข้อมูลในการประกาศใช้ฉลากโภชนาการ ซึ่งอย.ปฏิเสธไม่รับรองงานวิจัยชิ้นนี้และยังไม่รับแนวคิดแบบ จีดีเอมีสีสัญญาณไฟจราจร ด้วย
เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากแบบสีสัญญาณ ประกอบไปด้วย นักวิชาการด้านโภชนาการ องค์กรเพื่อสุขภาพ และภาคประชาชน ได้พยายามขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อย.รับแนวทางฉลากโภชนาการ ดังกล่าว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) เป็นฉลากจีดีเอ (GDA : Guidline Daily Amonts)โดย บังคับกับขนมขบเคี้ยว 5 ชนิด คือ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดทอด/อบกรอบ ข้าวเกรียบ หรือขนมอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์ บิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ ต้องแสดงฉลากระบุค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันโดยรูปแบบฉลากแบบ GDA (GDA : Guidline Daily Amonts) จะแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์อาหาร บอกข้อมูลปริมาณพลังงานและสารอาหาร และเปอร์เซ็นต์ของพลังงานและสารอาหารต่อปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน ซึ่งสินค้าบางชนิดเริ่มนำมาใช้ ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตามอย.เปิดโอกาสให้นักวิชาการทำการศึกษาฉลากโภชนาการแบบสัญญาณ ไฟจราจรเพิ่มมากขึ้น และจะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งในระหว่างการศึกษา อย.ได้ประกาศใช้สัญลักษณ์ แบบจีดีเอล่วงหน้าไปแล้ว
แบบ จีดีเอ ที่ อย.ประกาศใช้
แบบจีดีเอ บวกสัญญาณไฟจราจร ที่นักวิชาการนำเสนอ
มีกฎหมายบังคับแต่ผู้ผลิตไม่เคยทำตาม
ทางด้าน พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการบังคับใช้ฉลากโภชนาการอย่างเป็นทางการ แต่อาหารและเครื่องดื่มเกือบทุกประเภท จะมีฉลากอาหารกำกับ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ว่าเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการผลิต โดยแสดงติดฉลากโภชนาการ เพื่อแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหาร เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องฉลากโภชนาการ ฉบับ 182 เมื่อปี 2541 เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคในการเปรียบเทียบเลือกซื้อสินค้าอาหารบริโภค
อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวไม่ได้บังคับใช้ ซึ่งอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ หลักๆมี 3 ตัวคือ1.อาหารที่ใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้โฆษณา 2.อาหารที่อ้างว่ามีสารอาหารนั้นๆ และ 3. อาหารตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้แสดงแต่เป็นไปตามสมัครใจของผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหาร เพียงแต่มีเงื่อนไขห้ามใช้เป็นข้อมูลโภชนาการเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย หรือระบุคุณค่าโภชนาการในการส่งเสริมการขาย
สำหรับรูปแบบของฉลากโภชนาการมี 2 แบบคือ แบบแรกเป็นแบบยาว ที่ระบุหน่วยบริโภคต่อซอง / ขวด คุณค่าโภชนาการต่อหน่วยบริโภค และรายละเอียดโภชนาการของผลิตภัณฑ์และส่วนผสม มีทั้งหมด 15 รายการ และแบบย่อสำหรับอาหารบางประเภทที่ไม่จำเป็นต้องแสดงข้อมูลทั้งหมด
พชรกล่าวต่อว่า การไม่มีฉลากโภชนาการ ถือเป็นช่องโหว่สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะถ้าหากต้องการให้ผู้บริโภคเลือกสินค้า สิ่งจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องพิจารณาคือฉลากโภชนาการ ดังนั้นการที่ไม่แสดงฉลากโภชนาการ ทำให้ผู้บริโภคลำบากในการเลือกซื้อสินค้า เพื่อให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งฉลากโภชนาการที่ใช้อยู่นั้น มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ผู้บริโภคเข้าใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของผู้บริโภคแต่ละคน
ผู้บริโภคไม่เข้าใจเนื้อหาในฉลาก
ดร.ประไพศรีกล่าวต่อว่า แต่ปัญหาของการติดฉลากที่พบในปัจจุบันคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจข้อมูลที่แสดงในฉลากอาหาร เนื่องจากข้อมูลที่แสดงใช้ภาษาที่ยาก อย่าง ร้อยละในการเปรียบเทียบคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมายว่า คุณค่าที่บอก นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร แค่รู้ว่าบอกอะไร แต่ใช้ประโยชน์ยังไงเขาจะไม่รู้ซึ่งสอดคล้องกับการทำวิจัยของมูลนิธิคุ้ม ครองผู้บริโภค ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับฉลากโภชนาการ ระบุว่า ร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เข้าใจข้อมูลที่ปรากฏในฉลาก มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้ข้อมูลจากฉลากโภชนาการในการตัดสินใจซื้อสินค้า
ทั้งนี้จากเอกสารฉลากโภชนาการ และสัญลักษณ์โภชนาการ : การทบทวนเอกสารและงานวิจัยระบุ ว่า จากการสำรวจความรู้ด้านโภชนาการของกลุ่มคนในกรุงเทพมหานครพบว่า ผู้บริโภคมีความรู้ทางด้านโภชนาการอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง และใช้ข้อมูลโภชนาการในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารน้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งมีการเสนอให้ทำฉลากให้ง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจและนำข้อมูลโภชนาการไปใช้ประโยชน์ได้ และประมาณร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการสัญลักษณ์ที่จะทำให้เข้าใจข้อมูลโภชนาการมากขึ้น
ดร.ประไพศรีกล่าวต่อว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว สถาบันฯ จึงมีการ reviewสัญลักษณ์ทางโภชนาการว่า สัญลักษณ์แบบใดผู้บริโภคจะเข้าใจได้มากที่สุด ซึ่งสถาบันได้พัฒนาเป็น 4 แบบ คือ รูปดาว 5 ดวง สัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ที่ผู้บริโภคน่าจะคุ้นเคยสัญลักษณ์รูปอาหาร เช่น น้ำตาล เกลือ ซึ่งเป็นรูปภาพสื่อชัดเจน และ สัญญาณไฟกับดาวรวมกัน และสัญลักษณ์ที่ผู้ตอบแบบาสอบถามเลือกมากที่สุดคือ สัญญาณไฟจราจร เพราะเขาจะรู้เลยว่า สีเขียวหมายถึงอะไร สีแดงหมายถึงอะไร สีเหลืองหมายถึงอะไร
ขอบคุณภาพจาก Google , สยามรัฐ
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น