การกลับมาของเพื่อไทย
ในปี 2553 SIU ได้มีการรายงาน 10 เหตุการณ์เด่นประจำปี พร้อมทั้งยกให้ อภิสิทธิ์-สุเทพ ครองคู่หูบุคคลแห่งปีด้วยการแสดงบทบาท ในการเป็นข้อต่อสำคัญของการเปลี่ยนจากยุคผู้นำเบ็ดเสร็จและรัฐบาลพรรคเดียว ของทักษิณ กลับเข้าสู่ยุครัฐบาลผสมและการแบ่งสรรอำนาจตามกลุ่มก๊วนทางการเมืองอีกครั้ง โมเดลในการจัดรัฐบาลรูปแบบนี้ดูไม่เป็นปัญหา แต่พันธมิตรประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย กลับพ่ายแพ้ราบคาบให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกเขายังต้องใช้แนวทางรัฐบาลผสมและการแบ่งสรรอำนาจให้กับกลุ่ม ก๊วนการเมือง แทนที่จะมีการรวบอำนาจผูกขาดอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณภาพลักษณ์ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ที่ดูประนีประนอมกว่าพี่ชาย พร้อมทั้งยุทธศาสตร์การกันตัวเธอออกจากเรื่องร้อนต่าง ๆ กระจายไปให้กับแกนนำทางการเมืองระดับรอง ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง หรือ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ช่วยประคองให้ยิ่งลักษณ์เอาตัวรอดไปได้ ในขณะที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คอยเดินเกมทั้งช่วยปูแนวทาง และประสานประโยชน์เกมพลังงาน – เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนจากนอกประเทศคอยท่าไว้ให้ ไม่ว่าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย การต่อสายกับผู้นำพม่า และการเจรจาการพัฒนาแหล่งพลังงานในเขตพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับ กัมพูชา และการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงถึงอ่าวไทย และถนนตัดขวางจาก ดานัง ทวาย และอาจเชื่อมโยงไปถึง อินเดีย เราจะเห็นการเจรจาประสานยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ (Grand Strategy) เช่นนี้ตลอดปี 2555 (ดูบทสัมภาษณ์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในเรื่องยุทธศาสตร์กางเขนหัวกลับ) ลำพังโปรแกรมการเยือน อินเดีย – จีน – ญี่ปุ่น ของยิ่งลักษณ์ หลังการเยือนประเทศอาเซียน ในปีใหม่นี้ก็ไม่ธรรมดาแล้ว (ดูบทวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย จีน และ ญี่ปุ่น – โปรดติดตามบทวิเคราะห์ของอินเดียในเร็ว ๆ นี้)
ทั้งด้วยปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายมองกันว่าแกนนำของขั้วไทยมีการเกี๊ยะเซี๊ ยะกับขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้ามที่ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ตอนรัฐประหาร 2549 และด้วยลักษณะโครงสร้างอำนาจที่มีการกระจายตัวมากขึ้นในพรรคเพื่อไทยเมื่อ เทียบกับในสมัยไทยรักไทย แต่อำนาจก็ไม่ได้กระจายตัวออกไปจนห่างมือ พ.ต.ท. ทักษิณ มากเกินไปเหมือนในสมัยพลังประชาชน ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถประคองตัวผ่านวิกฤตใหญ่น้ำท่วมที่ผ่านมาได้ รวมถึงระยะเวลาในตำแหน่งที่ยังไม่ยาวนานมากนักของยิ่งลักษณ์ ทำให้เราไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในปี 2554 ที่ผ่านมา
ปรากฎการณ์นิติราษฎร์
แต่ SIU จะนำเสนอปรากฏการณ์ที่เราเห็นว่ามีความโดดเด่นในปี 2554 ที่ผ่านมา นั่นคือการอภิปรายถึง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กลุ่มที่แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนหลักเรื่องนี้คือ “คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” นั่นเองในปีนี้คณะนิติราษฎร์เดินเกมขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 3 ระลอกด้วยกัน คือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ วันที่ 27 มีนาคม 2554 คณะนิติราษฎร์จัดงานเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามด้วยข้อเสนอการแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ในครั้งแรกนี้มีการตอบโต้จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบ้างแต่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่
จนกระทั่งมาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ในโอกาสครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 1 ปีการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ในการจัดแถลงการณ์ครั้งนี้ได้มีข้อเสนอชุดใหญ่ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ (1) การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (2) การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (3) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ (4) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จัดมาชุดใหญ่แบบนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะประเด็นการลบล้างผลพวงการรัฐ ประหาร 19 กันยายน 2549 ต่างพากันออกมาแสดงความเห็นสาธารณะคัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นจำนวน มาก คณะนิติราษฎร์มีการจัดเวทีให้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอ และตอบข้อซักถามต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็ยิ่งเรียกความเห็นคัดค้านกับฝ่ายไม่เห็นด้วยเพิ่มขึ้นอีกมาก (ดู นิติราษฎร์ Effect – ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์)
ปรากฎการณ์นิติราษฎร์ถูกคั่นด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก่อนประเด็นจะเปลี่ยนไปสู่ความร้อนแรงยิ่งขึ้นกับการตัดสินคดี “อากง SMS” จำคุก 20 ปี ต่อด้วยคดี โจ กอร์ดอน จนกระทั่งเกิดกระแสไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน ทั้งที่เห็นว่าพยานหลักฐานไม่สามารถยืนยันความผิดอย่างสิ้นสงสัย หรือแม้แต่ข้อกังขาตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 เอง จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ TPBS วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มาตอบโจทย์คู่กับ คำนูณ สิทธิสมาน สว. แต่งตั้ง, ไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม พร้อมคำถามลือลั่น “เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า?” จากภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา
ก่อนส่งท้ายปีเมื่อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ตัดข้อความพาดหัวข่าวว่า “นิติเรดเหิมหนัก ห้ามกษัตริย์มีพระราชดำรัส” ทั้งที่ในความเป็นจริง ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ กล่าวอภิปรายในงานเสวนา หัวข้อ “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยืนยันว่า ในระบอบประชาธิปไตยจะมีกรรมวิธีป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับระบอบ ประชาธิปไตย ภายใต้หลักการ “The King can do no wrong” โดยพระมหากษัตริย์จะไม่มีพระราชดำรัส “สด” คือหมายถึงพระราชดำรัสนั้น ผ่านการตรวจสอบจากผู้รับสนองพระราชโองการก่อน หากพระราชดำรัสนั้นผิด ก็ผิดที่ผู้รับสนองพระราชโองการ พระมหากษัตริย์ไม่ได้ผิด
ข้ามไปในปีใหม่นี้คณะนิติราษฎร์ยังน่าจะแรงไม่หยุดในการเคลื่อนไหวทางการ เมืองไทย เมื่อในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 และ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555 พวกเขาจะมีการจัดกิจกรรมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างต่อเนื่อง
เบื้องล่างยอดภูเขาน้ำแข็ง
หากจะว่าไปแล้วคณะนิติราษฎร์ไม่ได้เป็นกลุ่มแรกที่เสนอการอภิปรายเกี่ยว กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในแวดวงวิชาการไทยได้มีขอเสนออภิปรายในเรื่องนี้มานานแล้วแต่ยังไม่ได้มีข้อ สรุปไปทางหนึ่งทางใด ข้อเสนอที่ ‘ถึงราก’ ที่สุดน่าจะมาจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในงานอภิปรายวิทยานิพนธ์ “การเมืองว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นในประเทศไทยจาก พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2549” ของ เก่งกิจ กิติเลียงลาภ ซึ่งเป็นการอภิปรายร่วมกับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และสมชัย ภัทรธนานันท์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 สมศักดิ์ยืมกรอบวิเคราะห์ของหลุยส์ อัลธูแซร์ เสนอบทวิเคราะห์ที่แหลมคมว่าสังคมไทยปัจจุบันยังไม่ใช่สังคมสมัยใหม่ เพราะยังมีการบังคับนอกเหนือเหตุผลทางเศรษฐกิจ (extra-economic coercion) สังคมไทยมีลักษณะทวิอำนาจ (dual power) จึงทำให้ไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และปมเงื่อนนี้ไปอยู่ที่ลักษณะบางประการของสถาบันกษัตริย์ที่ยังมีความขัด แย้งกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ สมศักดิ์เสนอให้ตัดปมเงื่อนนี้ (Cut the Gordian Knot) โดยข้อเสนอ 8 ประการคือ(1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
(2) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
(3) ยกเลิกองคมนตรี
(4) ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491
(5) ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
(6) ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา “ตุลาการภิวัฒน์” ฯลฯ)
(7) ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
(8) ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจาก คำนูณ สิทธิสมาน ในบทความที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 คำนูณพยายามเชื่อมโยงข้อเสนอของสมศักดิ์กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ในเวลานั้นซึ่งเริ่มทวีความร้อนแรง และปัญหา “ประชาธิปไตย 4 วินาที” รวมถึงลักษณะพิเศษของไทย (ยุโรปก็ยุโรป ไทยก็ไทย จีนก็จีน ฯลฯ ทำไมจะต้องทำให้เหมือนกัน)
ในเวลาต่อมามีการกล่าวหาสมศักดิ์ว่าเป็น “แดงล้มเจ้า” และมีการเชื่อมโยงเขาเข้ากับ “ผังล้มเจ้า” ของศอฉ. และต่อมากองทัพบกได้มีการฟ้องร้องเขาในข้อกล่าวหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ผบ. ทบ. เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 โจมตี “นักวิชาการโรคจิต” ที่ “จ้องทำลายสถาบัน” จนทำให้สมศักดิ์ ต้องออกมาแถลงข่าว และย้ำว่า“ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และได้พูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ในการกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่ผมจะเสนอให้ “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์”
สงครามกฎหมายสองสำนัก
แน่นอนว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของรัฐไทย ที่ผ่านมามีการพูดถึงในเวทีสาธารณะไม่มากนัก เนื่องจากเหตุผลเรื่องความละเอียดอ่อนของหัวข้อนี้ ณัฐพล ใจจริง ได้นำเสนอมุมมองของเขาออกไปไกลขึ้นโดยเชื่อมโยงกับความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ละประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในบทความ “ประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ: การต่อสู้ระหว่างนักกฎหมายไทย 2 สำนัก” ในนิตยสารฟ้าเดียวกันปีที่ 6 ฉบับที่ 3 คือจากสำนักจารีตประเพณี (Traditionalism) และสำนักรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) โดยนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีส่นใหญ่จบมาจากอังกฤษและเป็นลูกหลานชนชั้นนำ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์นั้นมีความสมบูรณ์และ ต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์เพราะดำรงอยู่ตลอดเวลา ในขณะนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมมีภูมิหลังจากสามัญชน จบการศึกษาจากฝรั่งเศส เยอรมนี หรือภาคพื้นยุโรป จึงได้รับอิทธิพลจากนักคิดกลุ่มสัญญาประชาคมเช่น จอห์น ล็อก และรุสโซ สำนักนี้จึงเน้นเรื่องการจำกัดอำนาจรัฐและการตรวจสอบองค์กรของรัฐการถกเถียงของนักกฎหมายสองสำนักนี้อยู่ที่ “อำนาจสูงสุด” ของรัฐ ฝ่ายสำนักจารีตอธิบายความชอบธรรมของรัฎฐาธิปัตย์ไทยว่า พระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุด เพราะมีความเป็นมาอย่างยาวนาน มีการสั่งสมความรู้ เปรียบได้กับศีรษะของบ้านเมือง โดยแนวคิดนี้พัฒนามาจากการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ต่อมามีการปรับตัวเป็น “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” คือกษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์โดยควมเห้นชอบจากประชาชน ในขณะที่สำนักรัฐธรรมนูญนิยมมองว่าอำนาจมาจากการที่สมาชิกในสังคมมอบให้ผู้ ปกครอง ผู้ปกครองจึงสามารถถูกริบอำนาจคืนได้และผู้ปกครองจะต้องถูกจำกัดอำนาจและถูก ตรวจสอบจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยที่แท้จริง
ว่าด้วยลักษณะพิเศษของรัฐประหาร 2549
หากมองการรัฐประหาร 2549 อย่างเป็นวิชาการในทางรัฐศาสตร์ รัฐประหาร 2549 คือการเผยตัวของรัฐในสภาวะที่ไม่ผูกพันกับกฎหมายและมีการใช้ความรุนแรง คาร์ล ชมิตต์ อธิบายว่าในสภาวะยกเว้น (the state of exception) องค์อธิปัตย์เป็นผู้ถืออำนาจเด็ดขาดในสภาวะนี้ ซึ่งอำนาจอธิปไตยแบบนี้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยกเว้นในการใช้กฎหมาย จึงมีลักษณะนอกกฎหมายในเวลาเดียวกันคำถามที่สำคัญในกระแสกาลปัจจุบันคือ องค์อธิปัตย์ที่แท้จริงของรัฐไทยที่สามารถสร้างสภาวะยกเว้นได้นี้คืออะไร การทำรัฐประหารที่เคยถูกคาดคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะได้ผล แต่ในสภาวะความเป็นจริง กลับถูกโต้กลับจากขบวนการคนเสื้อแดงอย่างแข็งขัน ผลการเลือกตั้ง และการบีบจากประชาคมนานาชาติซึ่งยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไปจนถึงปรากฏการณ์ “คณะนิติราษฎร์” ตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา จนทำให้พลังของการรัฐประหารอ่อนแรงลงและไม่ได้ผลตามที่คาดการณ์เอาไว้นั้น
ใช่หรือไม่ว่ากำลังแสดงถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของรัฐไทยในกระแสกาล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น