โดย:อติภพ ภัทรเดชไพศาล
มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลำดับชั้นในทางโครงสร้าง โดยหลักฐานที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือกรณีของคำแทนตัวหรือคำสรรพนามที่เรามีใช้อย่างหลากหลาย ทั้งผม คุณ กู มึง ข้าพเจ้า ท่าน ข้าพระพุทธเจ้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น
ลำดับชั้นของคำสรรพนามเหล่านี้ทำให้การสนทนานั้นมีลักษณะของการจำแนกลำดับสูง-ต่ำ ของผู้พูด-ผู้ฟังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพียง I กับ You เท่านั้น จึงนับว่าเป็นภาษาที่มีคุณลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าภาษาไทย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก
แต่ยังนอกจากเรื่องของคำสรรพนามแล้ว ที่จริงในการใช้ภาษายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรพูดถึง นั่นคือเรื่องของสำเนียง (intonation) หรือท่วงทำนองและจังหวะในการพูดจา ซึ่งเป็นตัวกำหนดอารมณ์และบทบาทหน้าที่ของข้อความต่างๆ ที่มนุษย์ใช้สื่อสารในลักษณะที่แตกต่างกัน
ข้อความว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เป็นข้อความที่ชนชั้นสูงใช้แยกแยะกลุ่มบุคคลที่แตกต่างออกไปจากตน (ซึ่งมักแปลว่าอยู่ “ต่ำ” กว่า) สำเนียงในการพูดหมายถึงท่วงทำนองในการพูด หมายถึงลักษณะการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ การเน้นคำ และรวมไปถึงการเว้นจังหวะจะโคนในการพูดด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังสามารถรู้ได้ว่า กำพืดของผู้พูดนั้นเป็นอย่างไรและมาจากท้องถิ่นไหน
เพราะภาษาไม่ได้หมายถึงเพียง “ภาษา” อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเป็นกลุ่มชน และ “เกี่ยวพันกับ ‘วัฒนธรรม’ และ ‘อำนาจ’ หรือ ‘ชนชั้น’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (ดูบทความ ภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการ? ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับประจำวันที่ 5-11 ส.ค. 54)
สำเนียงและวิธีการพูดจา จึงมีส่วนกำหนดท่าทีของการสื่อสารหรือภาพลักษณ์ของผู้พูดได้ไม่น้อยไปกว่าสารที่ผู้พูดนำเสนอ
การที่นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขานุการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อเครือเนชั่นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงการที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มักพูดผิดๆ ถูกๆ ว่าเป็นเพราะความที่ท่านเป็น “คนบ้านนอก” นั้น (ดู http://www.suthichaiyoon.com/detail/16432) ส่วนหนึ่งอาจเป็นการขอความเห็นใจจากคนบ้านนอกจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตที่ตรงประเด็นอย่างที่สุด
เพราะในสังคมที่ควบคุมด้วยรัฐราชการแบบในประเทศไทย เมืองหลวงย่อมถือว่าเป็นสุดยอดของความศิวิไลซ์ และคนที่พูดภาษาด้วยสำเนียงคนกรุงเทพฯ ได้ชัดเจนเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา ดังนั้นเราจึงดูถูกดูแคลนสำเนียงบ้านนอกมาแต่ไหนแต่ไร เราดูถูกสำเนียงสุพรรณ ดูถูกสำเนียงทองแดง และดูถูกชาวเขาที่พูดไทยไม่ชัด
เรามักดูถูกคนที่เขียนภาษาไทยไม่ได้ พูดไทยไม่ชัด และใช้ภาษาราชการไม่เป็น โดยไม่เคยตั้งข้อสังเกตเลยว่าแท้จริงแล้ว “ภาษาราชการ” นั้นมีรากเหง้าเดียวกันกับภาษาในราชสำนัก (เพราะเป็นภาษาของ “ข้า” ราชการ) และในความเป็นจริงแล้ว ภาษาแบบราชสำนักนั้นไม่เคยมีที่ทางอย่างกว้างขวางในสังคมไทยมาก่อนเลย โดยเฉพาะในสังคมชนบท
เช่นภาษาราชการแบบในกฏหมายตราสามดวงนั้นก็เห็นชัดๆ ว่าไม่ได้เขียนไว้ให้คนทั่วๆ ไปอ่านอยู่แล้ว
กรณีสำเนียงการพูดจาและลักษณะการใช้ภาษาของนักการเมืองไทยนั้น เท่าที่ผมลองสืบค้นและฟังดูจากการประชุมสภาในหลายๆ ครั้ง (ผมจะจำกัดเฉพาะตัวอย่างการพูดของ ส.ส. หญิงเท่านั้นในที่นี้) พบว่าเราอาจจัดกลุ่มสำเนียงและลักษณะการพูดจาของ ส.ส. หญิงออกได้คร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม
(การแบ่งกลุ่มในที่นี้ไม่มีนัยยะเชิงเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มไหน)
1) กลุ่มที่พูดจาฉาดฉาน ชัดเจน มีความเป็นสำเนียงเมืองหลวงเต็มที่ พูดจาด้วยภาษาที่รัดกุมและเป็นแบบ “ราชการ” และที่สำคัญคือ จะไม่เน้นการเน้นเสียงเบาเสียงดังหรือใช้สำเนียงสูงๆ ต่ำๆ มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็น “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ที่มั่นคง (คือมีความเป็นผู้ดีตามนิยามของระบบการศึกษาไทยสูง) แต่มีการแบ่งวรรคตอนในการพูดที่เหมาะสมและเป็นจังหวะจะโคน ส.ส. ในกลุ่มนี้มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แลคุณฐิติมา ฉายแสง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะทั้งสองคนนี้เป็นนักการเมืองอาชีพและผ่านเวทีปราศรัยมาแล้วอย่างมากประสบการณ์
2) กลุ่มนี้ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือมักจะพูดจาไม่ราบรื่นนักเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก (ขอเน้นทำความเข้าใจตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่านี่ไม่ใช่ข้อตำหนิ แต่เป็นข้อสังเกต) มักมีปัญหากับการเรียงประโยคตามหลักไวยากรณ์ อีกทั้งยัง “ใส่อารมณ์” ในการพูดค่อนข้างมาก มีการเน้นเสียงสูงต่ำอย่างเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปพูดคุยกัน แล้วเผลอๆ ยังแอบหลุดสำเนียงท้องถิ่นมาให้ผู้ฟังได้ยินอีกด้วย กรณีแบบนี้มีตัวอย่างเช่นคุณรังสิมา รอดรัศมี เป็นต้น
3) กลุ่มสุดท้ายมีจำนวนมากที่สุด และจัดอยู่ในประเภทกลางๆ คือไม่ถึงกับพูดฉาดฉานสมบูรณ์แบบเช่นในกลุ่มแรกนัก แต่ก็ควบคุมสำเนียงและลีลาการพูดให้มีความเป็นทางการได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างในกลุ่มนี้มีคุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ที่ยังติดถ้อยคำแบบที่ไม่ใช่ภาษาราชการ เช่นการลากเสียงคำว่า “เนี่ย” แบบที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปพูดกัน หรือบางครั้งอาจไม่สามารถจัดวรรคตอนและการหายใจได้เหมาะสม และยังไม่ใส่ใจกับการควบกล้ำหรือ ร เรือ ล ลิงมากนัก เช่นเดียวกับคุณนาถยา เบญจศิริวรรณ ที่ยังคงมีอาการตะกุกตะกักบ้าง และบางครั้งก็เรียงประโยคผิดไวยากรณ์ ที่น่าสนใจคือ ส.ส. ทั้งสองคนนี้ จัดอยู่ในกลุ่มกลางๆ ในซีกที่ค่อนไปในทางที่ใช้ท่วงทำนองการพูดแบบมีสำเนียงสูง-ต่ำ และความหนัก-เบาที่บ่งบอกถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ในการอภิปรายด้วยอยู่มาก
ขณะที่กลุ่มกลางๆ อีกซีกหนึ่งนั้นค่อนข้างจะมีความจงใจควบคุมสำเนียงการพูดให้เป็นไปอย่างเรียบๆ มากกว่า ซึ่งมีตัวอย่างเช่นคุณรสนา โตสิตระกูล (ส.ว.) คุณอนุสรา ยังตรง และคุณอรุณี ชำนาญยา เป็นต้น การอภิปรายของ ส.ส. ซีกนี้มีความเป็นราชการค่อนข้างสูงขึ้นมาอีก (จึงทำให้คนส่วนมากรู้สึกว่าออกจะน่าเบื่อ) แต่ก็ยังมีการพูดผิด พูดซ้ำๆ เว้นวรรคผิด เรียงประโยคกลับกันบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ - ลักษณะการพูดจาอภิปรายจะเป็นไปด้วยน้ำเสียงที่เรียบๆ ไม่เน้นการใช้เสียงหนัก-เบา สูง-ต่ำ เพื่อแสดง “อารมณ์ความรู้สึก” นัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เอง
(แต่ถ้าสังเกตการตอบคำถามหรือการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดูดีๆ โดยเฉพาะในรายการของคุณจอม เพชรประดับ หรือคุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ในช่วงก่อนเลือกตั้ง จะพบว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ (ในขณะนั้น) สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว ซึ่งสื่อให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะคุ้นเคยกับการแสดงความคิดในลักษณะที่ไม่เป็นทางการนักมากกว่า)
เป็นที่รู้ๆ กันว่าการอภิปรายหรือการปราศรัยนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอีกว่าคุณสมบัติข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้วเราอาจเห็นคนมีความสามารถอีกหลายๆ คนที่พูดไม่เก่งหรือพูดไม่เป็นเลย - ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก
จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อาจเป็นคนที่พูดไม่เก่ง พูดผิดๆ ถูกๆ บ้างในบางครั้ง แต่โดยรวมๆ แล้วย่อมไม่ถึงกับจัดเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่อง และว่าที่จริงถ้ากล่าวถึงการคุมประเด็นและรักษาเนื้อความที่ต้องการนำเสนอแล้วยังควรจัดว่าอยู่ในขั้นค่อนข้างดีด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าการฝึกฝนให้สามารถพูดจาแบบคนภาคกลางและด้วยภาษาราชการสวยๆ หรูๆ นั้นย่อมเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น แต่แน่ใจหรือ - ว่าการสื่อสารด้วยสำเนียงและภาษาแบบราชการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเพียงหนึ่งเดียว
ลองถามตัวเองดูก่อนว่าทุกวันนี้ เราอยากอ่านหนังสือราชการหรืออยากจะอ่านหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดาที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ มากกว่ากัน
ที่มา:ประชาไท
//////////////////////////////////////////////////////////////
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น