โหวตโน...แล้วได้อะไร?
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
10 มิถุนายน 2554
การเลือกตั้งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับพลเมือง ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองโดยตรง และสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครองในระยะเวลาจำกัด ซึ่งโดยปกติอยู่ในระยะเวลา 4 ปี หรือ 5 ปี
หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง ในการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปให้ตัวแทนทำหน้าที่ใช้แทนประชาชน
อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาด้วยว่าการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงไร หากสิทธิและเสรีภาพในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเครื่องกำหนดที่มาของขอบเขตและอำนาจขององค์การทางการเมืองได้อย่างแท้จริงแล้ว สิทธิและเสรีภาพนั้นก็มีความสำคัญทางการเมือง
ตรงข้ามถ้าการเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางของการผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ หลอกลวง หรืออยุติธรรมแล้ว ความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของการเลือกตั้งก็จะหมดไป
การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในทรรศนะของนักวิชาการมีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งเป็นการต่อสู้แข่งขันในการรณรงค์เพื่อชัยชนะ ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เกิดตามความคาดหวังอันเป็นที่พึงพอใจ
หรือ การเลือกตั้ง หมายถึง กระบวนการทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศและตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชน
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาจึงจำเป็นต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีหลายคน หรือมีบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายบัญชี (ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อ) หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว หรือมีบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่พึงปรารถนา
ประการที่สอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีเสรีภาพบริบูรณ์ที่จะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ฉะนั้น หากมีการบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือบัญชีรายชื่อบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ย่อมถือว่าไม่ใช่การเลือกตั้งที่พึงปรารถนา
และ ประการที่สาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่น และมีโอกาสที่จะทราบความคิดเห็นรวมทั้งข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ก่อนการตัดสินใจเลือก ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งถูกต้องตามความเป็นจริงที่แต่ละคนชอบ
ฉะนั้น การเลือกตั้งที่ขาดเสรีภาพในการรับฟังความคิดเห็น จึงย่อมไม่ใช่การเลือกตั้งที่พึงปรารถนา
การออกเสียงเลือกตั้งจึงเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21(1) ความว่า "เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล ของผู้ปกครอง เจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงออกโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลา ด้วยการลงคะแนนเสียงอย่างทั่วถึง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่านั้น ด้วยกระทำเป็นการลับด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะประกันให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นไปโดยเสรี"
การเลือกตั้งยังมีนัยสำคัญในสองแง่มุม กล่าวคือ ส่วนแรก การเลือกตั้งในแง่มุมของปรัชญา และส่วนที่สอง การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมาย
การเลือกตั้งในแง่มุมของปรัชญา สามารถพิจารณาได้เป็น 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิตามธรรมชาติ มาจากแนวคิดที่ว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมากับบุคคลในฐานะที่บุคคลเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐ เพราะบุคคลย่อมเสมอภาคกัน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ หากบุคคลเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ มีวุฒิภาวะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว ก็ย่อมจะมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง
ประการที่สอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นภารกิจสาธารณะ มาจากแนวคิดที่ว่าความก้าวหน้าของสังคมย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการของบุคคลให้เป็นไปตามหน้าที่อย่างชาญฉลาด ดังนั้น การให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่บุคคล จึงจำกัดเฉพาะบุคคลที่มีความเหมาะสมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเท่านั้น การดำเนินการตามแนวคิดนี้ บุคคลอาจถูกจำกัดสิทธิในการลงคะแนนได้เสมอ หากเมื่อปรากฏว่าบุคคลนั้นเข้าลักษณะที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง
ประการที่สาม การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิคัดค้านการกระทำ มาจากแนวคิดที่ว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ลงคะแนนเพื่อคัดค้านการกระทำหรือนโยบายของรัฐบาลรวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทางราชการผู้ใดก็จะไม่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางราชการนั้นๆ ตรงข้ามผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็จะลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล
สำหรับ การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมาย ก็สามารถพิจารณาออกได้เป็น 3 ประการเช่นเดียวกันได้แก่
ประการแรก การเลือกตั้งในฐานะที่เป็นสิทธิ (rights) หมายความว่า ความสามารถที่แต่ละบุคคลกระทำได้ ภายใต้การยอมรับของกฎหมาย สิทธิจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในปัจเจกบุคคลแต่ละคน และกฎหมายให้การรับรอง หากถูกละเมิด กฎหมายจะให้การคุ้มครอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐจะให้การคุ้มครอง
ประการที่สอง การเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเอกสิทธิ์ (priviledge) หมายความว่า การที่บุคคลได้มาซึ่งเสรีภาพที่จะไม่ให้บุคคลอื่นแทรกสอดเข้ามาเกี่ยวข้องได้ การออกเสียงลงคะแนนจึงถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความเป็นอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างใดก็ได้ ที่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องของบุคคลอื่นเป็นสำคัญ
ประการที่สาม การเลือกตั้งในฐานะที่เป็นหน้าที่ (duty) หมายความว่า การที่บุคคลจำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นหน้าที่ก็ต่อเมื่อ กฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎหมายได้ระบุหรือบังคับว่าการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องกระทำ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในทางการเมืองที่บังคับโดยกฎหมาย
นอกจากนั้น การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยยังมีหลักเกณฑ์ที่เป็นแกนกลางที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกยอมรับกันโดยทั่วไป ได้แก่
ประการแรก หลักอิสระแห่งการเลือกตั้ง (freedom of election) หมายถึง การให้ความเป็นอิสระต่อการออกเสียงเลือกตั้ง โดยมิให้มีการขู่บังคับให้การเลือกตั้งถูกบิดเบือนไปจากเจตจำนงอันแท้จริงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนยังเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดให้มีการลงคะแนนที่เป็นความลับ เพื่อให้ประชาชนสามารถลงคะแนนได้อย่างอิสระ ปราศจากอิทธิพล อามิสสินจ้างหรือการข่มขู่ใดๆ อีกด้วย
ประการที่สอง หลักการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา (periodic election) หมายความว่า การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจนแน่นอน อาทิ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยปกติทุก 4 ปีหรือทุก 5 ปี เป็นต้น
ประการที่สาม หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริง (genuine election) หมายถึง การดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม รัฐบาลจะต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องป้องกันมิให้มีการคดโกงในการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ รวมทั้งอาจให้องค์กรที่เป็นกลางทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านการเลือกตั้งได้ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง
ประการที่สี่ หลักการออกเสียงทั่วถึง (universal suffrage) หมายถึง การเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า เว้นแต่ในกรณีที่มีข้อจำกัดอันเป็นที่รับรองหรือยอมรับกันโดยทั่วไป อาทิ การไม่อนุญาตสิทธิเลือกตั้งให้แก่เด็ก ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช บุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือผู้ที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นต้น
และ ประการที่ห้า หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค (equal suffrage) หมายความว่า บุคคลผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งย่อมมีสิทธิคนละหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน และคะแนนเสียงทุกคะแนนมีน้ำหนักเท่ากัน
ดังนั้น อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่า การเลือกตั้งเป็นการเลือกรัฐบาลที่จะมาทำการปกครอง ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งก็อาจเป็นเสมือน "ห้ามล้อ" ของการปกครองได้เช่นเดียวกัน เพราะผู้เลือกตั้งอาจจะไม่เลือกผู้ที่เคยเป็นรัฐบาล
กระบวนการเลือกตั้งจึงเป็นทั้งการนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลและจำกัดการกระทำของรัฐบาลไปด้วยในขณะเดียวกัน
สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยหลังการปฏิรูปการเมืองเมื่อ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ถือได้ว่ามีทั้งความก้าวหน้าและความล้าหลังไปในขณะเดียวกัน กล่าวคือ
ประการแรก การมีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เป็นกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเมือง
แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความล้าหลัง ได้แก่ ความไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้
มิหนำซ้ำยังมีปรากฏการณ์ของการทุจริตในการเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียงที่แพร่ระบาดมากขึ้น ประกอบกับการขาดความสามารถในการควบคุมการใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนด ได้นำไปสู่ความไม่เสมอภาคในการเลือกตั้งและเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนหรือพรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบในการแข่งขัน ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ประการที่สอง กฎหมายเลือกตั้งที่สะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้ง คือ เมื่อมีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน หรือพรรคการเมืองทุกพรรคที่เขาไม่ชอบได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในบัตรเลือกตั้งที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกาเครื่องหมายในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองใดเลยในระบบบัญชีรายชื่อหรือเรียกกันสั้นๆ ว่าเป็นการ "Vote No" จึงเป็นการสะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้งที่แสดงถึงสิทธิในการคัดค้านการกระทำของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าของกฎหมายเลือกตั้ง
ในขณะเดียวกันความล้าหลังที่เกิดขึ้นก็คือ การเขียนกฎหมายที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่สมบูรณ์ ว่าในกรณีการเลือกตั้งทั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือระบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่เสียงของผู้ใช้สิทธิคัดค้านหรือ "Vote No" มีจำนวนสูงสุดมากกว่าผู้ที่ "Vote Yes" ผลลัพธ์ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะต้องจัดการเลือกตั้งซ้ำใหม่หรือไม่ และจะต้องมีการนำเสนอผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่หรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การ "Vote No" ที่แสดงถึงการไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดเลย หรือพรรคการเมืองใดเลยนั้น ผลลัพธ์ในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นและสมควรจะต้องนำไปพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ
ประการแรก เป็นการสะท้อนสิทธิของการคัดค้านของประชาชน ซึ่งหมายถึงการสะท้อนถึงหลักปรัชญาของการเลือกตั้ง อันจะมีผลต่อความชอบธรรมของระบบการเมือง พรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้เป็นอย่างดี
ประการที่สอง ในกรณีที่เสียง "Vote No" มีจำนวนมากที่สุดหรือเป็นเสียงข้างมาก ย่อมสะท้อนถึงหลักการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เป็นหลักการสำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งจะไม่ได้รองรับในประเด็นดังกล่าวไว้ก็ตาม แต่ในหลักปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นจากเสียงข้างน้อยย่อมขาดความชอบธรรมในการปกครองโดยทันที
ประการที่สาม ในกรณีที่เสียง "Vote No" มีจำนวนน้อยจะจำนวนเท่าใดก็ตาม หลักการของระบอบประชาธิปไตย สิทธิของเสียงข้างน้อยย่อมจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองหรือให้ความเคารพ เสียงส่วนใหญ่ย่อมต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป เสียง "Vote No" เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง "น้ำเน่า" ที่ยังหมักหมมอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทย
และหากไม่รีบดำเนินการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าวนี้ การเมืองไทยจะนำบ้านเมืองเข้าสู่กลียุค และการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
4 ความคิดเห็น:
อยากรู้ว่า ถ้าvote No มากที่สุดจริง การปฏิรูปการเมืองที่ว่านั้น จะเป็นอย่างไร แล้วมันจะทำให้ต้องเลือกตั้งแล้ว ก็ต้่องเลือกอีกอยู่อย่างนั้นหรือเปล่า เพราะกลุ่มผู้สมัครเล่นการเมืองทั้งหลายก็หน้าเดิมๆ หรือเครือญาติดึงกันเข้ามาทั้งนั้น อยากให้มีการอธิบายแบบภาษาชาวบ้านหน่อย ให้เข้าใจง่ายๆ
หลายๆ ก็อยาก vote no แต่คนชั้นกลาง ถึงระดับล่าง เท่าที่ได้พูดคุยกันมาเรื่องการเมือง ส่วนใหญ่อยากvote no แต่ไม่รู้ว่าถ้าvote แล้วผลเป็นอย่างไร ไม่มีใครให้ความกระจ่าง
อันนี้แบบที่ว่าล่ะครับ เป็นข้อบกพร่องไม่รอบคอบทางกฎหมาย คือ สักแต่ว่าให้คนไปใช้สิทธิ์จึงออกช่องนี้มาในบัตร แต่ไม่แน่ชัดทางกฎหมาย แต่ส่วนตัวผมนะครับ มองง่ายๆคือ เค้าให้เลือกคนดี ไมา่ใช่เลวมาก น้อย ประชาธิปไตยคือเสียงข้างมาก ก็หวังว่าโหวตโนกันเยอะๆ น่าจะมีผลแน่นอนครับ และอีกอย่างที่ผมคิดก็คือ ในเมื่อระบบและกฎหมายในปัจจุบันเรารู้อยู่ว่าไม่ดี มีช่องโหว่เยอะ จึงต้องทำการปฏิรูปประเทศใช่มั้ยครับ แล้ว ทำไมต้องกลัวว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องมาจากความถูกต้อง และต้องตั้งอยู่บนความชอบธรรม กฎหมายจะมาทีหลังก็ไม่แปลกหรอกครับ
ลองดูทางขวามมือนะครับ ผมเก็บข้อมูลโหวตโนแบบชาวบ้านๆไว้หลายบท ในลิงค์บทความสำคัญน่ะครับเลือกอ่านได้เลยโดยเฉพาะ ของผม ( chorchang ) เขียนเองและเถียงเอง เป็นแบบชาวบ้านแน่นอน เพราะผมก็ไม่รู้อะไรทางการเมืองมาก่อนเลยเช่นกันครับ
แสดงความคิดเห็น