อารมณ์ความรู้สึกของนักการเมือง" (เพื่อประชาชน)
ประเทศไทยจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และมีการเลือกตั้งทั่วไปช่วงเดือนกรกฏาคม 2554 ท่ามกลางความสงสัยของบุคคลจำนวนมากว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือ ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงพลังของทหารในที่ตั้ง เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้กำลังใจผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 22 -23 เมษายนก็เกิดการปะทะกันที่ชายแดน จ.สุรินทร์ ระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทย เป็นการยังตอกย้ำความรู้สึกคนส่วนใหญ่ว่า ไม่น่าจะมีการเลือกตั้ง ตามที่รัฐบาลกำหนดแต่อย่างใด
ฝ่ายรัฐบาลและนักการเมืองต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น แต่ประชาชนและสาธุชนบางกลุ่มยังเห็นว่า สภาวการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใหม่ในคราวนี้ ยังไม่เป็นการแก้ปัญหาการสร้างความปรองดองและความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผลการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการชิงอำนาจระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมืองรุนแรงยิ่งขึ้น อาจนำมาซึ่งการใช้กำลังเข้าปะทะแย่งชิงอำนาจกันของคนสองกลุ่มสองฝ่ายขึ้นได้
ฝ่ายที่ต้องการให้มีการยุบสภา แล้วต้องการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเร็วๆนี้ มีเหตุผลและความเชื่อว่า เมื่อประเทศชาติมีปัญหาความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชนก็ดี ปัญหาความมั่นคงทั้งชายแดนด้านเขมร และด้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆเกิดขึ้นก็ดี ต้องรีบยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาใหม่ คืนอำนาจการจัดการปกครองบริหารประเทศให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนได้ตัดสินใจเลือกพรรคกรเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็เปิดโอกาสให้พรรคนั้นๆ เข้ามาปกครอง บริหาร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป
ความเห็น 2 ด้าน ที่แตกต่าง กันอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ ย่อมยากแก่การชี้ลงไปว่า ความคิดเห็นใด ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด นักวิชาการของรัฐและผู้นิยมการเลือกตั้งทั้งหลาย ต่างพากันโยนภาระความรับผิดชอบในการตัดสินใจครั้งนี้ คืนไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งเป็นการถูกต้องตามทฤษฎีการเมืองการปกครองในระบอบประเทศไทย แต่หาได้ถูกต้องตามหลัก ตรรกะ ความเป็นจริง ที่จริงแท้ และหลักแห่งการใช้ปัญญาแต่อย่างใดไม่
ตรรกะใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศชาติไม่ว่าจะปกครองในระบบใดก็คือ การจัดการปกครองและรักษาให้ประเทศชาติมีความสงบ มีความมั่นคง และมีความสันติสุข ยิ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่นักการเมืองทุกกคนทุกพรรค พร่ำบอกประชาชนว่า ต่างก็มีความจงรักภัคดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่สุด ความจำเป็นและความต้องการของประเทศชาติโดยส่วนรวม และของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ล้วนต้องการให้ประเทศชาติและประชาชน มีความสงบมั่นคงและสันติสุขอย่างแท้จริง
ข้อเท็จจริง ประเทศชาติและประชาชนของเรา ยังมิได้อยู่ในสภาวะทีเรียกว่า มีความสงบ มีความมั่งคง และมีสันติสุขใด ๆ เลย
ประเทศของเรายังไร้ความสงบ ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากศึกชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับนักการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและบริวาร กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและบริวาร ขยายวงกว้างออกไปสู่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่กลุ่มนปช. เรียกว่า กลุ่มอำมาตย์ และกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อหลากสี การขัดแย้งต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีพรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็ก คอยเป็นตาอยู่ คอยจ้องเข้าเสียบร่วมเป็นรัฐบาลกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทันทีที่โอกาสเปิดให้ ทางจังหวัดชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็เป็นมหากาพย์แห่งความไม่สงบมายาวนานนับร้อยปี ที่ไม่มีทีท่าว่าอำนาจรัฐจะสามารถจัดการระงับยับยั้งการเข่นฆ่าประหัตประหารทำลายล้างกันของกลุ่มโจรก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ทางรัฐ และกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ แม้รัฐบาลจะทุ่มกำลังงบประมาณลงไปนับแสนล้านบาท กำลังทหาร ตำรวจและพลเรือนนับแสนคนแล้วก็ตาม ความไม่สงบด้านนี้ยังเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไป แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้บริหารประเทศอีกกี่สิบครั้ง ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะการเลือกตั้ง ไม่ใช่ยาวิเศษในการแก้ปัญหาความไม่สงบในดินแดนแถบนี้ นอกจากจะใช้ปัญญาเข้ามาแก้ไขเท่านั้น
ความไม่สงบทางชายแดนด้านประสาทเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ หรือที่ปราสาทตาเมืองตาเมืองธม ตาควายที่จังหวัดสุรินทร์ ก็ร้อนระอุปะทุด้วยการใช้กำลังอาวุธระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ก็ไม่จบหรือยุติลง นับวันจะขยายวงกว้างออกไปอีก ลงมาสู่การแย่งชิงปราสาทสะล๊อกก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และการแย่งชิงเพื่อยึดครองพื้นที่ตลอดแนวชายแดน สระแก้ว จันทบุรี - และตราด รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังไม่มีฝีมือและปัญญา ยุติปัญหาลงได้
ในพื้นที่อื่นๆของประเทศก็ยังปรากฏมีความไม่มั่นคงในพื้นที่ ด้วยกองกำลังยาเสพย์ติด โจรผู้ร้ายอันเกิดจากความอดอยากแร้นแค้น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค น้ำมันแพงขึ้นๆทุกวัน
การเลือกตั้งจะเป็นยาวิเศษหรือยาปฎิชีวนะมาแก้ปัญหาความไม่สวยเหล่านี้ได้อย่างไร ยังไม่เห็นช่องทาง ตรงกันข้ามกลับจะเปิดช่องทาง ก่อความไม่สงบด้วยการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองครั้งใหม่ขึ้นอีก หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปผ่านไปแล้ว ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากอย่างแท้จริงแต่เพียงพรรคเดียว เพื่อเข้ามาจัดการแก้ปัญหาโดยเฉพาะ
เมื่อประเทศชาติขาดความสงบดังกล่าว แน่นอนว่า ความไม่มั่นคงและไร้ซึ่งสันติสุขของประชาชนและประเทศชาติย่อมตามมา ความไม่มั่นคงที่ร้ายที่สุดของประเทศชาติและประชาชนที่กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจน คือความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกและจิตใจของนักการเมืองเอง
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงนักการเมืองไว้ว่า "เขาขาดคุณธรรมสูงสุดข้อหนึ่งคือ ความไม่รู้สึกรับผิดชอบ" คือไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อประเทศชาติ และต่อโลกใบนี้ นักการเมืองขาดความรับผิดชอบ ก็หมายความว่า ในจิตใจความคิดสติปัญญาของนักการเมืองทั้งหลาย ก็ยังไม่มั่นคง ในความรับผิดชอบที่พึงจะมีอย่างถูกต้องดีงาม ต่อสังคมหรือประชาชน ต่อประเทศชาติและต่อโลกนั่นเอง และความรับผิดชอบสูงสุดของนักการเมืองก็คือ การสร้างความสงบสันติสุขขึ้นในบ้านเมือง
ท่านพุทธทาสภิกขุได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่ยิ่ง ก็คือ ผู้คนและนักการเมืองพากันไม่ยอมรับว่า การเมือง คือ ธรรมมะ ทั้งในฐานะที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรม นอกจากจะไม่ยอมรับแล้วก็เห็นว่า การเมืองกับธรรมะ เข้ากันไม่ได้ เป็นข้าศึกแก่กันและกัน นักการเมืองในโลกใบนี้ จึงต้องการแต่ประโยชน์ส่วนของตน ก่อนจะต้องการสันติภาพหรือสันติสุขของโลก ต้องการความสุขทางวัตถุมากกว่า การเมืองจึงดำเนินไปเพื่อการสนองความสุขทางวัตถุ นักการเมืองเอง พากันมีความอยาก ความรู้สึกว่า โลกหรือประเทศต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของเขา เขาพยายามครองโลก ครองประเทศ เพื่อประโยชน์ของเขาและพวกพ้อง นักการเมืองจึงเป็นผู้ไร้ธรรมะ ยอมตนตกเป็นทาสของกลุ่มนายทุน ปัจจุบันที่แท้จริงแล้ว กลุ่มนายทุนจะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศแต่ละประเทศและในโลกใบนี้ เพราะประชาชนและนักการเมืองต่างตกเป็นทาสของเงิน เงินสามารถบันดาลอะไรได้ทุกอย่าง ทางวัตถุและทางอำนาจ ในที่สุดก็พากันเข้าสู่วงจรการทุจริตคอร์รัปชั่น นักการเมืองก็กุมพวกกันเข้าเป็นพรรคการเมือง เพื่อครองอำนาจ ครองเมือง ถืออำนาจเป็นธรรมะ กิเลสตัณหาจึงเป็นธรรมะ ประจำจิตใจของนักการเมือง
ทุกวันนี้ นักการเมืองทุกพรรค ทุกกลุ่ม ทุกคนล้วนตกอยู่ในอารมณ์ ความรู้สึก กระหายในอำนาจ กระหายในลาภยศ ชื่อเสียง เกียนติยศ โดยอ้างเอาความรักความห่วงใยประชาชน ความจงรักภัคดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ขึ้นบังหน้า ซึ่งเราสามารถพิจารณาได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่น
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 เวลา 10.00- 12.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้วิดีโอลิ้งค์โชว์นโยบาย เสนอแนะให้พรรคเพื่อไทยนำไปใช้(เลี่ยงกฎหมาย) ยกเอาความจงรักภัคดีของตน ต้องการความปรองดอง ต้องการกลับประเทศ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยเจ้าของประเทศจะต้องนำมาคิดพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ประกอบกับการดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์(ก็คือประชานิยม)ของประชาธิปัตย์ การเปิดตัวรวมกลุ่มของพรรคการเมือง และนักการเมืองต่างๆเป็นเรื่องที่คิดให้ไกลและลึกหยั่งลงไปถึงธาตุแท้ทางการเมืองของนักการเมืองทั้งหลายว่า เป็นผู้มีความมั่งคง ในความคิดจิตใจ ในการรับผิดชอบสูงสุดเพื่อสร้างความสงบสันติสุขให้เกิดแก่ประเทศชาติและประชาชนจริงๆหรือ ปากอย่าง ใจอย่าง กระทำอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีสัจจะ ไม่มีจิตสำนึก
กระผมได้ทบทวนบทบาทนักการเมืองของประเทศไทยทุกพรรคและเกือบทุกๆคน แล้ว ชักจะมีความเอนเอียงที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย VOTE NO ไม่เลือกใครจะดีกว่า
เพราะเลือกเข้ามาแล้ว ก็จะมาชิงอำนาจกัน ใช้อำนาจเป็นธรรม ใช้กิเลสเป็นธรรม สร้างความไม่สงบ ไม่มั่นคง และความไร้สันติสุข เกิดขึ้นอีก
ประมวล รุจนเสรี
E - mail : Pramuanr @ hotmail.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น