5รมต.ไทยบินพม่าถก ‘ทวาย’ เดินหน้าเต็มที่โปรเจกยักษ์ ท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรม คนเมืองกาญจน์ตื่นตัวคาดได้ประโยชน์อื้อ
5 รมต.ไทยบินประชุม ‘ทวาย’ รุกคืบโปรเจกยักษ์
“ท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรม” พลิกเบื้องหลังพบเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร
สุนทรเวช อิตาเลียนไทยรับหน้าเสื่อสำรวจเส้นทางจากไทยถึงทวาย
ซุ่มเงียบวางแผนผุดถนนรับตั้งแต่กรุงเทพฯ หลังสำรวจพื้นที่ตั้งนิคมฯ
พร้อมทำโรงงานทุกรูปแบบตั้งแต่อุตฯต้นน้ำยันปลายน้ำ ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่
โดย ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ
นับเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ กับเมกะโปรเจค
“โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย” หลัง
การเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่า และรัฐบาลไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เมื่อครั้งเดินทางร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.2554ที่ผ่านมา
โดยเนื้อหาสำคัญในการเจรจาครั้งนั้น
รัฐบาลไทยเห็นชอบที่จะให้การสนับสนุนผลักดันโครงการอย่างเต็มที่
โดยนายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่า โครงการนี้
นับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ล่าสุด วันที่ 7ม.ค.2555 รัฐมนตรีไทยและพม่า 5 กระทรวง ประกอบด้วย
กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง
และกระทรวงคมนาคม ยังเดินทางเยือนประเทศพม่า และประชุมร่วมกันอีกครั้ง ณ
เมืองทวาย โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญในการประชุม คือประเด็นเรื่อง
“ความร่วมมือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”
ซึ่งถือว่าเป็นการเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการกำหนดทิศทางของไทย
ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาขนาดยักษ์นี้
ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย
เป็นการเปิดประเด็นร้อนรับปีศักราชใหม่ ที่เชื่อว่าจะไม่จบลงง่ายๆ
โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังทยอยเกิดขึ้นในทุกมิติ
และดูเหมือนว่าจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นับจากการประชุมร่วมของ
5รัฐมนตรีจาก 5กระทรวงในครั้งนี้
ไทยกับเมกะโปรเจค “ท่าเรือน้ำลึกทวาย”
ศูนย์ข่าว TCIJ ประมวลข้อมูลย้อนกลับไปพบว่า
จุดเริ่มของไทยกับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551
คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช
มีมติให้ความเห็นชอบกรอบความร่วมมือในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเมือง
ทวาย ประเทศพม่า
โดยเหตุผลที่เล็งเห็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับจากโครงการนี้
จนต่อมารัฐบาลไทย โดย รมว.ต่างประเทศของไทยและพม่า
จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)
ว่าด้วยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และถนนจากท่าเรือมายังประเทศไทย
และอีก 1 เดือนถัดมา
บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการท่าเรือของรัฐบาลพม่า
หลังจากได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลพม่าในการเป็นผู้สำรวจเส้นทางและพื้นที่
ภูมิภาคทวายที่เป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายเพื่อเดินหน้า
โครงการอย่างต่อเนื่อง
ผลการสำรวจพื้นที่ทั้งหมด 7 เส้นทาง ในพื้นที่เขต จ.ทวาย
เมืองหลวงของเขตตะนาวศรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายฝั่งทะเล ในที่สุด ITD
ได้เลือกพื้นที่ ต.นาปูเล่ (Nabule) เมืองเล็กๆ ที่มีหาดทรายยาวมากว่า
12กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองทวายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ
35กิโลเมตร เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
เนื่องด้วยความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการหลายอย่าง
ต.นาปูเล่ (Nabule)เป็นเมืองเล็กๆ ที่ยังคงสภาพเดิมๆ
ของเมืองชายฝั่งทะเล พื้นที่หน้าทะเลมีน้ำลึกประมาณ 25-40 เมตร
ซึ่งถือว่าเป็นร่องน้ำที่มีความลึกมาก เหมาะกับการทำท่าเรือน้ำลึก
ด้านหลังยังเป็นพื้นที่เรียบบริเวณกว้างใหญ่อยู่ห่างจากชายแดน
จ.กาญจนบุรีของไทย เพียง 160 กิโลเมตร ซึ่งผู้พัฒนาโครงการมองว่า
เป็นทำเลสำคัญที่จะสามารถเชื่อมโยงด้านการคมนาคมสนับสนุนท่าเรือน้ำ
ลึกเป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากเส้นทางมายังประเทศไทยแล้ว
ทางการพม่าเองก็เตรียมที่จะพัฒนาเส้นทางคมนาคมต่างๆ ไปยังเมืองย่างกุ้ง
รวมถึงพัฒนาสนามบินภายในประเทศในเมืองทวายให้มีศักยภาพมากขึ้น
จึงทำให้เมืองแห่งนี้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ยังไม่นับรวมถึงธรรมชาติอันสวยงาม
ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ที่สำคัญ บริเวณพื้นที่ใน ต.นาปูเล่ ยังมีเกาะกำลังลมตามธรรมชาติ
และพื้นที่ราบกว้างเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้
เป็นอย่างดี
พื้นที่แห่งนี้จึงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
ขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลพม่าตั้งความหวังว่าจะสามารถรองรับสินค้าได้มากถึง 200
ล้านตันต่อปี หากโครงการแล้วเสร็จในปี 2563
ไทยซุ่มเงียบเตรียมผุดถนนรับโครงการ
ภายหลังการเดินหน้าสำรวจและกำหนดพื้นที่เสร็จสิ้น ต่อมาวันที่ 2
พฤศจิกายน 2553 ITD จึงร่วมลงนามใน Framework Agreement กับ Myanma Port
Authority, Ministry of Transport ของสหภาพพม่า
เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม
และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า
ซึ่งบริษัทฯเป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการในรูปแบบการดำเนินการสร้าง
ดำเนินการ และโอนคืนกรรมสิทธิ์แก่รัฐตามระยะเวลาที่ตกลงไว้
ในระยะเวลาโครงการ 75 ปี โดยโครงการต่างๆ ประกอบด้วย
1.เส้นทางคมนาคมระหว่าง จ.กาญจนบุรี และท่าเรือน้ำลึกทวาย
จะก่อสร้างเป็นถนน 4 เลน ระหว่างบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง
จ.กาญจนบุรี ไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายรวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 160 กิโลเมตร
ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และเมื่อคิดระยะทางจาก
กรุงเทพฯ-บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี – ท่าเรือน้ำลึกทวาย ต.นาปูเล่ จ.ทวาย
จะมีระยะทางเพียง 350 กิโลเมตรเท่านั้น
ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ประกาศเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวบริเวณบ้านพุน้ำร้อน
จ.กาญจนบุรี กับบ้านธะหมี่ของพม่า เพื่อให้ทั้งเจ้าหน้าที่และเครื่องจักร
วัสดุอุปกรณ์
รวมทั้งพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ
ผ่านเข้าออกได้ตามที่ จ.กาญจนบุรีกำหนด
2.การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ขนาดใหญ่พร้อมท่าขนถ่ายสินค้าจำนวน 3 ท่า
โดยท่าที่1 ขนส่งสินค้าเหลว เช่น ปิโตรเลียม (ความจุ 35 MT/ปี)
และขนส่งสินค้าสินค้าส่งออกและเหล็ก (ความจุ 50 MT/ปี) ท่าที่
2 ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (ความจุ 45 MT/ปี)และขนส่งสินค้าเทกอง เช่น ถ่านหิน ข้าวและน้ำตาล (ความจุ 55 MT/ปี) สำหรับ ท่าที่
3 เป็นท่าเรือเชื่อมโยงกับทางรถไฟสาย Dawei-Yunnan ของรัฐบาลจีน
3.นิคมอุตสาหกรรม เป็นโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ประมาณ 250
ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 156,250 ไร่
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ราว 2 แสนไร่ประกอบด้วย
โซน A เขตอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือ ประเภทโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด4,000 เมกะวัตต์ และโรงงานเหล็ก
โซน B เขตอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประเภทก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้า
โซน C เขตอุตสาหกรรม ต้นและปลายน้ำ
โซนD เขตอุตสาหกรรมขั้นกลาง พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง เช่น
อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์โรงงานผลิตยางรถยนต์ โรงงานกระดาษ
และโรงงานผลิตยิบซั่มบอร์ด
โซน E เขตอุตสาหกรรมเบา พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย
ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ
เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าขนาด
440 เมกะวัตต์ โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า
ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ
และพื้นที่ส่วนราชการเพื่อดูแลจัดการและบริหารอื่นๆ
รวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟในพม่า เป็นต้น
คาดไทยได้ประโยชน์ท่าเรือทวาย
ภายหลังการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเดินหน้าร่วมกับรัฐบาลพม่าพัฒนาโครงการ
ท่าเรือน้ำลึกทวาย หน่วยงาน องค์กร ทางเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น
วิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจและผลที่ไทยจะได้รับจากโครงการนี้กันอย่างคึกคัก
โดยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากโครงการทวายแล้วเสร็จ
จะสามารถยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
และยังมีส่วนกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
โดยเฉพาะภายหลังการเปิดเสรี ภายใต้กรอบ AEC Connectivity ในปี 2012
ศูนย์วิจัยกสิกร ธนาคารกสิกรไทย
วิเคราะห์ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเดินหน้าโครงการนี้ไว้เมื่อ
ครั้งรัฐบาลรัฐบาลประกาศหนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกพม่าใหม่ๆ ว่า
นอกเหนือจากประเด็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการเป็นฮับของเส้นทางโลจิสติกส์ใน
ภูมิภาค แล้ว
โอกาสที่สำคัญของไทยอีกประการหนึ่งคือการขยายการลงทุนในพื้นที่ตะวันตกของ
ไทย ทั้งการลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
และการลงทุนเพื่อขยายการผลิต โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโลจิสติกส์
และบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ
โดยจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสินค้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ
ในระยะปานกลางถึงระยะยาว และยังคาดการณ์ด้วยว่า หากท่าเรือทวายสร้างเสร็จ
น่าจะดึงดูดให้มีการลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตและส่งออกสินค้าในพื้นที่
จังหวัดฝั่งตะวันตกของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในแถบ จ.กาญจนบุรี
ซึ่งปัจจุบันเป็นนิคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม
และยังมีศักยภาพในฐานะแหล่งผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น อ้อย ข้าวโพด
ข้าวและมันสำปะหลัง ซึ่งเอื้อต่อการทำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
รวมทั้งยังสร้างโอกาสการลงทุนในจังหวัดใกล้เคียงแถบภาคกลางและภาคตะวันตก
ตลอดจนการเพิ่มโอกาสในการจ้างงงาน
สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่มากขึ้นในรูปแบบธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย
โดยปัจจุบัน
หลังรัฐบาลพม่าประกาศเขตเมืองทวายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดน
พื้นที่จังหวัดตะวันตกของไทย นำโดย จังหวัดกาญจนบุรี
พากันตื่นตัวเป็นอย่างมาก มีการรวมตัวกันของภาคธุรกิจในพื้นที่
เริ่มมองหาช่องทางในการพัฒนาการลงทุนทั้งในพื้นที่ประเทศไทย และ
เมืองทวายเอง โดยการนำนักธุรกิจในพื้นที่เดินทางลงพื้นที่ เมืองทวาย
เพื่อเริ่มหาช่องทางในการลงทุนกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน
ได้มีการผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการประกาศพื้นที่ จ.กาญจนบุรี
เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเช่นเดียวกัน
เพื่อความคล่องตัวในการค้าขายระหว่างสองประเทศด้วย
ขณะนี้คนในจังหวัดกาญจนบุรีตื่นตัวกันมาก
เพราะเชื่อว่าการเกิดท่าเรือน้ำลึกทวายจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน
พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในรูปแบบต่างๆ มากมาย รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ
ใกล้เคียงด้วย ตอนนี้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้าน
ประชาชนได้รับรู้ถึงผลดีที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้จะมองเห็นข้อดีด้านธุรกิจการค้า แต่ในเชิงสังคม
เราก็ได้พยายามที่จะให้มีการศึกษาผลกระทบในรอบด้าน
เพื่อเป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อรัฐบาล เช่นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ
ปัญหาด้านสังคมอื่นๆ โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
และ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมกันทำการศึกษา
เก็บข้อมูลวิจัยเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้
คงจะเป็นเรื่องของการเข้ามาเก็งราคาที่ดินในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี
ซึ่งราคาขึ้นสูงไปมาก และพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง
ดังนั้นจึงคงจำเป็นต้องมีการดำเนินการผลักดันเกี่ยวกับกฎหมาย
แต่สำหรับมุมมองของนักลงทุนแล้วเรายังคงเห็นประโยชน์จากโครงการนี้อยู่
และที่ผ่านมาเราก็ได้นำนักธุรกิจที่สนใจไปดูพื้นที่ ที่ จ.ทวายแล้ว
ก็พบว่ามีช่องทางทางธุรกิจที่ดีมาก
นายนิพัฒน์ เจริญกิจการ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์กับ
TCIJ ถึงความตื่นตัวของภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จ.ทวาย
ที่รัฐบาลพม่าได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไปก่อนหน้านั้น
แล้ว
รู้จักทวาย เมืองหลวงแห่งรัฐตะนาวศรี
ก่อนหน้านี้คนไทยรู้จักทวาย ในฐานะของเมืองชายทะเลแห่งหนึ่งของพม่า
และกำลังเริ่มรู้จักมากขึ้น เมื่อ “โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”
ถูกกล่าวถึงและตกเป็นข่าวแพร่หลายในสื่อมวลชน “ทวาย”
จึงกลายเป็นเมืองที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดเมืองหนึ่งในขณะนี้
ทวายนับเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ควบคู่กับสยามประเทศมาตั้งสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีจารึกศิลาจารึกระบุว่า
ว่า
แต่เดิมตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกได้
แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และ ในพงศาวดาร ยังปรากฏด้วย
มิชชันารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา
บันทึกชื่อของเมืองทวายและตะนาวศรี ว่าเป็นเมืองในอาณาจักรสยามด้วย
นอกจากนี้จากประวัติศาสตร์ ยังปรากฏหลักฐานข้อมูลว่า เมืองมะริด
และตะนาวศรี รวมถึงทวายซึ่งเป็นเมืองในเขตเดียวกัน
เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากด้านเศรษฐกิจของไทย เช่น ในรัชสมัย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ่อ
ค้าต่างประเทศทางอินเดีย
และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทยผ่านเมืองสำคัญเหล่านี้
โดยในสมัยนั้น
ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล
และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้
ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริด ตะนาวศรี
กันบ่อยครั้งซึ่งมีปรากฎในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย-พม่าตลอดมา ทำให้
ไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนนี้
ในปลายรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษ
เริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทะวาย
ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี
พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่
เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้
เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็น
อาณาเขตของประเทศไทย ภายหลัง
จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มี
การปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองทวาย(Dawei หรือ Tavoy)ปัจจุบันคือ เมืองหลวงของเขตตะนาวศรี
(Tanintharyi Division) ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของพม่า
โดยทิศเหนือของเขตตะนาวศรีติดกับรัฐมอญ (Mon State)
ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับทะเลอันดามัน ส่วนทิศตะวันออกติดกับ จ.กาญจนบุรี
จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ของ
เขตตะนาวศรีมีพื้นที่ 43,328 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน
เมืองหลวง คือ เมืองทวาย โดยแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 3 จังหวัด ได้แก่
ทวาย มะริด (Myeik) และเกาะสอง (Kawthaung) 10 อำเภอ 328 ตำบล
เขตตะนาวศรีเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของพม่า
เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และ
อัญมณีมีค่า ทรัพยากรประมง พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ
และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ซึ่งดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล
รวมทั้งมีภูมิประเทศที่สวยงาม ตลอดจนวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ทำให้ เมืองต่างๆ
เขตตะนาวศรีมีเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว
โดยมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นสถานที่ๆ
ในท่องเที่ยวที่มีศักยภาพได้ โดยเฉพาะ ทวาย เมืองหลวงของเขตตะนาวศรี
โดยบ้านเรือนและศาสนสถานเป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นที่น่าสนใจ
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น บ่อน้ำพุร้อนหลายแห่ง
ในแถบชานเมือง มีหาด Maungmagan ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 45 นาที
เป็นหาดที่มีน้ำสะอาดและทรายสีขาว และพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ถึง 243 ฟุต
อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 30 นาที ในเจดีย์ Lawka Tharapui
นอกจากนี้ในเขตนี้ยังมี หมู่เกาะมะริด
ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตตะนาวศรี ประกอบด้วยเกาะราว 800 เกาะ
เป็นหมู่เกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
และได้ชื่อว่าเป็นหมู่เกาะที่มีทิวทัศน์งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวัน
ออกเฉียงใต้ หมู่เกาะมะริดเป็นแหล่งดำน้ำติดอันดับ 1 ใน 10
แหล่งดำน้ำที่สวยงามที่สุดของโลก
ซึ่งยังคงสภาพแวดล้อมและความสะอาดไว้ได้อย่างสมบูรณ์
นอกเหนือจากการดำน้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ว่ายน้ำ แล่นเรือ
แคมปิ้งและเดินป่า
ฯลฯโดยหมู่เกาะแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย ซึ่งร่มรื่นด้วย
ป่าเขียวชอุ่ม หาดทรายขาว และแนวปะการังที่สวยงาม
อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
โดยมีทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ป่าหลากชนิด สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ
ที่น่าสนใจของหมู่เกาะมะริด อาทิ Lampi Marine National Park และหมู่บ้าน
Salone ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนเผ่า Salone ที่เป็นชาวเลดั้งเดิมของพม่า
และด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในพื้นที่
ภายหลังการเปิดตัวโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมถึงการพัฒนาโครงการต่างๆ
ที่เริ่มทยอยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตลอดเส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ
ที่แม้จะถูกกล่าวถึงอย่างมากในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่มิติของสังคม
“โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”
กลับกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามว่า
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเมืองทวายนี้
จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนชาวพม่าได้อย่างแท้จริงหรือไม่
การประชุมร่วมของรัฐมนตรี 5กระทรวง
ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
จึงเปรียบเสมือนการเปิดฉากประเด็นร้อนทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ที่เชื่อว่าจะเริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้แน่นอน !!!!
ขอบคุณภาพจาก
www.ongo.com,
www.irrawaddy.org, www.weekendhobby.com
เปิด ‘HIA ทวาย’ เดชรัต สุขกำเนิด ชี้ผลกระทบอื้อ
ซัลเฟอร์ฯอ่วมปีละกว่า 4 แสนตัน ป่าตะวันตกถูกตัดขาด ถนนบางใหญ่-กาญจน์
ทำน้ำท่วมหนัก
นักวิชาการดังคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ‘เดชรัต
สุขกำเนิด’เปิดงานวิจัย HIA กับการลงทุนข้ามพรมแดน :
กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ประเทศพม่าหวังชี้ให้เห็นผลกระทบที่มีเพียบ ระบุ 6 ประเด็นหลักที่น่าห่วง
ตั้งแต่ก๊าซคาร์บอนฯปีละ 30 ล้านตัน ที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้า ก๊าซซัลเฟอร์ฯ
จากนิคมอุตสาหกรรม ปีละกว่า 4 แสนตัน ใช้น้ำจืดวันละ 5.9 ล้านลบ.ม.
เถ้าถ่านหินปีละ 1.3 ล้านตัน ขยะอุตสาหกรรมกว่าปีละ 7 แสนตัน
ชุมชนชาวพม่าได้รับผลกระทบกว่า 20 หมู่บ้าน 3.2 หมื่นคน ส่วนในฝั่งไทย
ผืนป่าตะวันตกอาจถูกตัดขาด และแนวถนนสายใหม่จากบางใหญ่
จ.นนทบุรี-นครปฐม-กาญจนบุรี จะขวางทางน้ำหลาก
หวั่นเกิดน้ำท่วมหนักอีกในอนาคต
โดย วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงงานวิจัย เรื่อง HIA
กับการลงทุนข้ามพรมแดน : กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ประเทศพม่า ว่า จุดประสงค์ของการทำงานวิจัยชิ้นนี้
เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาคประชาสังคมในประเทศพม่า
ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมของพม่าเคยมาอบรมที่เสมสิกขาลัย ประเทศไทย
และมีการหารือกันในประเด็นนี้อีกหลายครั้ง
ว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีการศึกษาถึงผลกระทบบ้าง
พร้อมทั้งขอให้ช่วยทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา
และจากนี้ต่อไปตนจะมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและส่งให้ภาคประชาสังคมของพม่าต่อ
ไป
งานวิจัยชิ้นนี้นับว่าเป็นต้นแบบการจัดทำ HIA (Health Impact Assessment) ได้
ในระดับหนึ่ง มีองค์ประกอบการศึกษาเกือบทุกด้าน แต่อาจจะขาดในเรื่องพื้นที่
เนื่องจากไม่ได้เห็นพื้นที่จริง
แต่การศึกษาได้ใช้พื้นที่ในประเทศไทยที่ใกล้เคียง เป็นตัวอย่างในการศึกษา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางการของประเทศพม่าจะเชื่อถืองานวิจัยฉบับนี้หรือไม่
ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมพม่าต้องทำงานต่อไป
โดยการนำเสนอกับรัฐบาลพม่า ส่วนบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการนี้
คงจะได้รับทราบเนื้อหาของงานวิจัย จากการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานวิจัยดังกล่าว มีทั้งหมด 15 หน้า
โดยเบื้องต้นเป็นการกล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำ
ลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในประเทศพม่า
พร้อมคำสัมภาษณ์นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องจากประเทศไทย
พร้อมทั้งผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
จากนั้นเป็นบทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
(ฉบับเต็ม)
HIA กับการลงทุนข้ามพรมแดน : กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า
บทนำ
ในขณะที่ประเทศทั้ง 10
ประเทศในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN
กำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีพ.ศ.2558
การเชื่อมโยงกันของระบบเศรษฐกิจ การค้า
และการลงทุนในประเทศเหล่านี้ก็กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรา
และเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างแจ่มชัดขึ้นทุกทีเช่นกัน
การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสู่การ
ลงทุนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งนำไปสู่การขยายโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าและทางเศรษฐกิจ
แต่ผลกระทบทางสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากการขยายพรมแดนการค้าและ
การลงทุนในกลุ่มอาเซียน ทั้งทางบวกและทางลบ
กลับยังไม่ได้มีการหารือและศึกษากันอย่างจริงจังแต่อย่างใด
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า
เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการขยายการลงทุนข้ามพรมแดนจากประเทศไทยสู่ประเทศพม่า
เพื่อที่จะนำทรัพยากรพลังงานและผลผลิตต่างๆ
กลับมาหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
ทั้งยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมจากประเทศพม่า ผ่านประเทศไทย
ไปสู่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย
โครงการนี้จึงเป็นเสมือนรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของการเปิดประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน โครงการนี้จึงได้รับความสนใจจากผู้ร่วมลงทุนหลายประเทศ
และได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
หรือรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็ตาม
บทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการประมวลข่าวความคืบหน้าในการลงทุนในโครงการนี้
ทั้งในเชิงภาพรวมของโครงการ และในโครงการย่อยที่สำคัญต่างๆ
รวมไปถึงการขยายแนวคิดเรื่องเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค
และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมุมมองของเจ้าของโครงการ จากนั้น
บทความนี้จะเริ่มต้นฉายภาพให้เห็นถึงผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น
และจำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงและการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวด
ล้อมและสุขภาพในภาพรวมหรือในระดับยุทธศาสตร์
ก่อนที่จะดำเนินการโครงการตามแผนที่วางไว้
สุดท้ายบทความนี้จะเสนอข้อเสนอแนะที่น่าจะเป็นประโยชน์การคุ้มครองและการ
สร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ
ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพหรือ
HIA นั่นเอง
รูปแบบการลงทุนในภาพรวมของโครงการ
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท
อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
พื้นที่ 250 ตร.กม.ในประเทศพม่ากับสื่อมวลชนว่า บริษัท ทวาย ดีเวลล็อปเมนท์
จำกัด หรือ ดีดีซี ซึ่งปัจจุบันอิตาเลียนไทยฯ ถือหุ้น 100%
จะเป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนา และจัดหาผู้ร่วมลงทุนในแต่ละโครงการ
โดยขณะนี้นักลงทุนพม่าแสดงความจำนงถือหุ้นดีดีซีแล้ว 25% และในระยะต่อไป
บ.อิตาเลียนไทยฯ จะลดสัดส่วนหุ้นในดีดีซีเหลือ 51% [1]
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) อ้างว่าได้ใช้เวลา 16
ปี
ในการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า
เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะต่อการลงทุน
รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553
รัฐบาลพม่าได้ลงนามสัญญากับอิตาเลียนไทยฯ
เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 75 ปี ซึ่งบ. อิตาเลียนไทยฯ
ได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์
เพื่อพัฒนาโครงการนี้ [2]
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด
ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า
บริษัทได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้พัฒนาโครงการดังกล่าวบนพื้นที่ 250
ตร.กม. หรือประมาณ 2 แสนไร่ ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า[3]
ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้พื้นที่โครงการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dawei
Special Economic Zone) หรือ DSEZ แล้ว
ส่งผลให้เป็นพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service)
เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด
รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งมาตรการด้านภาษี
เพื่อจูงใจนักลงทุน [4]
การลงทุนโครงการระยะแรก ดีดีซีจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ 6,100
ไร่ ก่อสร้างถนนจากทวายมายังชายแดนไทย-พม่า บริเวณ จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 132
กม. ขนาด 4 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 4,000
เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 2,300 ไร่ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ [5]
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการระยะแรกจะใช้เงินลงทุน 2.4 แสนล้านบาท
ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี 6 เดือน ประกอบด้วย
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รองรับสินค้าคอนเทนเนอร์ปีละ 20 ล้านตัน หรือ 2 เท่าของท่าเรือแหลมฉบัง
ระยะต่อไปจะพัฒนาให้รองรับได้ถึงปีละ 100 ล้านตัน [6]
ที่ผ่านมา นายสมเจตน์เล่าว่า
บริษัทได้สำรวจพื้นที่โครงการทั้งบนบกและในทะเลแล้ว
ทั้งพื้นที่แนวราบและแนวตั้ง ได้ก่อสร้างถนนชั่วคราว
เพื่อใช้ขนส่งวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการก่อสร้างจากกาญจนบุรีไปยังทวาย
ในอนาคตจะพัฒนาเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร
รวมทั้งการสำรวจพื้นที่เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาด 500 ล้านลูกบาศก์เมตร
อยู่ห่างจากนิคมฯ 18 กม. ทั้งนี้ SCB เป็นผู้ให้กู้เบื้องต้น 4,000
ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานปัจจุบันทั้งศึกษาและจ้างที่ปรึกษา [7]
การลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการย่อยต่างๆ
การลงทุนโครงการท่าเรือและนิคมฯทวาย
ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย หรือ Offshore Investment
ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลไทยส่งเสริมและสนับสนุนมาตลอด
และยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการนำรายได้เข้าประเทศ
จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เช่นเดียวกับประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน
ก็สนับสนุนให้มีโครงการลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น
การลงทุนในโครงการย่อยต่างๆ ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย
จึงเป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่จากหลากหลายประเทศ
ดังที่จะนำเสนอรายละเอียดของโครงการย่อยที่สำคัญ ดังนี้
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและถนน มูลค่าเงินลงทุน 3,500
ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง
ญี่ปุ่น (เจบิก) 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะ 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 12.3%
ผ่านธนาคารขนาดใหญ่ของไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย [8]
โครงการท่าเรือดังกล่าว DDC ถือหุ้นทั้งหมด มีพื้นที่ 6,000 ไร่
ขณะนี้ตั้งบริษัทลูกแล้ว
โดยการแปลงที่ดินเป็นทุนและอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุน คาดว่าจะเป็นญี่ปุ่น
โดยมีต่างชาติ 3 รายแสดงความสนใจเข้ามาแล้ว ส่วนโครงการสร้างรถไฟ มูลค่า
2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ DDC กำลังตัดสินใจว่าจะกู้เงินจากจีนหรือญี่ปุ่น [9]
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4 พันเมกะวัตต์ พื้นที่ 2,300 ไร่
มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จะส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยประมาณ 3,600 เมกะวัตต์
ส่วนที่เหลือใช้ในพม่า [10] ล่าสุดบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด
(มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ยืนยันจะร่วมถือหุ้น 30%
เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้า DDC ถือหุ้น 40 %
ที่เหลือเป็นผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ที่คาดว่าจะเป็นญี่ปุ่น [11]
ส่วนแหล่งถ่านหิน จะนำมาจากเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย [12]
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) กล่าวว่า
ในระยะแรกบริษัทจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ขนาดโรงละ 130 เมกะวัตต์ รวม 3
โรง หรือราว 400 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายภายในนิคมฯ
โดยคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ปี 57 ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ดังนั้น
บริษัทคาดว่าธุรกิจการจัดหาถ่านหินและท่าเทียบเรือในอนาคตน่าจะมีความร่วม
มือกันเพิ่มเติม [13]
ส่วนโครงการก่อสร้างโรงเหล็กขนาดใหญ่ 1.3 หมื่นไร่
มีการจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเช่นกัน [14] โดยการแปลงที่ดินเป็นทุน
และมีบริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลกสนใจเข้าร่วมทุนหลายราย อาทิ กลุ่ม
Posco จากเกาหลี กลุ่ม Mittal จากอินเดีย และกลุ่ม Nippon Steel จากญี่ปุ่น
ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียด [15]
ขณะที่โครงการก่อสร้างปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์
กำลังเจรจากับนักลงทุนหลายราย เช่น กลุ่มมิตซูบิชิ กลุ่มโตโย กลุ่มโตคิว
รวมทั้งบริษัทในคูเวต และกาตาร์ การก่อสร้างโรงงานต่างๆ
จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายใน 3 ปี นับจากเดือนม.ค. 2555 [16]
เช่นเดียวกับบริษัทร่วมทุนโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ ประมาณ 4,000-5,000 ไร่
ก็เริ่มมีบริษัทสนใจแล้วเช่นกัน [17]
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.
จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ปตท.สนใจการลงทุนในพม่า
เพราะมีศักยภาพด้านพลังงานน้ำและถ่านหิน
รวมถึงพม่ากำลังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ที่จะมีการลงทุนในท่าเรือน้ำลึก ขนส่งทางถนน ขนส่งทางท่อ และโรงไฟฟ้า
โดยจะมีรูปแบบการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดของไทย ซึ่ง
ปตท.สนใจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานในนิคมเหล่านี้” [18]
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด
เจ้าของโครงการย้ำว่า
สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้นักลงทุนไทย
ที่ต้องการลงทุนโครงการในนิคมฯทวาย
และการให้สิทธิประโยชน์หรือการส่งเสริมการลงทุน
ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ต้องเร่งออกกฎหมาย
เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น [19]
ท่าเรือชั่วคราวเพื่อใช้ในการขนส่งระหว่างก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของภูมิภาค
นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลี่ยนไทย
ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรมว่า
โครงการดังกล่าวคิดและพัฒนาโดยประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า GMS southern
corridor เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งประเทศจีน
เวียดนาม สปป.สาว และ กัมพูชา นายเปรมชัยเชื่อว่า
โครงการที่เรือนำลึกทวายจะเป็นฮับคอนเทนเนอร์
ที่สามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆได้ เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ
จนถึงแอฟริกาใต้ได้ ซึ่งสามารถประหยัดเวลา 4-5 วัน
จากเดิมที่ต้องผ่านประเทศสิงคโปร์ [20]
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเขตพื้นที่ทวายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม
คือ ระบบคมนาคมทางถนนจากกรุงเทพมหานครมายังเขตทวายมีระยะทางประมาณ 300
กิโลเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบทางของรัฐบาล
และมีพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำ บริเวณแม่น้ำทวาย รองรับน้ำได้ถึง
400 ล้านลิตร สามารถใช้ได้ทั้งปี [21]
ประเทศไทยจะมีเส้นทางขนส่งออกสู่ทะเลอันดามันเพิ่มขึ้น
โดยระยะเวลาการขนส่งจะลดลง
เพราะพม่าจะก่อสร้างถนนจากท่าเรือผ่านนิคมฯทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน
จ.กาญจนบุรี สอดรับกับแผนงานของกรมทางหลวง
ซึ่งมีแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์จากบาง
ใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี เชื่อมต่อกับเส้นทางดังกล่าว
และเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังกัมพูชา ผ่านเมืองศรีโสภณ เสียมเรียบ
พนมเปญ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม โดยผ่านโฮจิมินห์
เพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก [22]
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด
ย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการคือ
ผลักดันโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี
เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือและนิคมฯทวาย
สร้างระบบโลจิสติกส์รองรับการค้าการลงทุนและการขนส่งในอนาคต [23]
ล่าสุด นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า
กรมทางหลวงได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552
และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวด
ล้อมในช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง ตั้งแต่ปี 2541 ส่วนช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี
ได้รับความเห็นชอบตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันกรมทางหลวง
อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและรูปแบบการลงทุนโครงการในรูปแบบ Public Private
Partnership หรือ PPPs โดยให้เอกชนร่วมลงทุน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการในการศึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี
คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2555 [24]
ทั้งนี้ เพื่อให้การเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี
สามารถเชื่อมต่อไปถึงชายแดนพม่าได้ นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง
ระบุว่า กรมทางหลวงได้จ้างบริษัทศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม
และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการมอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย-พม่า
ที่บ้านพุน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 70 กม. ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี
2555 คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
ผลกระทบในมุมมองของผู้ลงทุน
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบในด้านบวกจากโครงการดังกล่าวว่า
โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายมีแผนการสร้างที่อยู่อาศัยภายใน
โครงการกว่า 2 แสนยูนิต สำหรับประชากร 2 ล้านคน
ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรม
จะสามารถรองรับแรงงานได้ถึง 6 แสนคน [25]
อย่างไรก็ตาม นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย
ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ได้ชี้ให้เห็นข้อควรระวังของการลงทุนในพม่าว่า
การลงทุนจะต้องไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลและประชาชนพม่าให้ความสำคัญมาก
นักลงทุนจึงต้องดำเนินการตามกฎระเบียบและกติกาต่างๆ อย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก แม้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นก็ตาม
จะเห็นว่าที่ผ่านมาพม่าสั่งระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 1.2
แสนล้านบาทในแม่น้ำอิระวดี เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
เพราะการสร้างเขื่อนจะมีผลต่อกระแสน้ำในแม่น้ำอิระวดี
จึงได้รับการต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น
นายสมเจตน์จึงย้ำว่า นักลงทุนและบริษัทจะต้องทำตามกติกาโลก เช่น กลุ่ม
Posco ของเกาหลีใช้เวลากว่า 7 ปี
กว่าจะได้ก่อสร้างโรงงานเหล็กในนิคมฯโอริสสาของประเทศอินเดีย [26]
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับทวาย
ทวายหรือ Dawei (เดิมเรียกว่า Tavoy)
ในภาษาอังกฤษเป็นเมืองหลวงของแคว้นตะนาวศรี (หรือ Tanintharyi region)
ในประเทศพม่า มีจำนวนประชากรราว 5 แสนคน มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้แก่
ทวาย มอญ กระเหรี่ยง และอื่นๆ ภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาทวาย [27]
พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเรียกว่า Nabule แขวง Yebyu
เขตเมืองทวาย ในพื้นที่ 250 ตร.กม. ที่มาทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม
จะต้องเวนคืนที่ดินและอพยพประชาชนกว่า 20 หมู่บ้าน ประมาณ 4,000
หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรที่จะต้องอพยพประมาณ 32,000 คน
ประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง เช่น สวนผลไม้ สวนยาง
คล้ายกับภาคใต้ของประเทศไทย
ประชาชนในพื้นที่อพยพส่วนใหญ่ทราบเรื่องที่จะต้องอพยพออกจากพื้นที่
แต่จากการบอกเล่าของผู้แทนประชาชนจากประเทศพม่าที่มาประชุมในประเทศไทย
เมื่อเดือนธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องการจ่ายค่าชดเชย
และความพร้อมของสถานที่รองรับการอพยพ
ขณะเดียวกัน
ประชาชนและภาคประชาสังคมในพม่าก็เริ่มแสดงความห่วงกังวลกับผลกระทบทางสิ่ง
แวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้
และเรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตามาตรฐานสากล
และผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ [28]
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
การสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักจะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน
เพื่อที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนานิคม
อุตสาหกรรมทวาย
ผู้เขียนจึงได้จำลองอัตราของผลกระทบแต่ละด้านเมื่อเทียบกับพื้นที่และขนาด
การผลิต
โดยเทียบเคียงจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตา
พุด
ดังนั้น
การประมาณการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในบทความนี้จึงเป็นการประมาณอย่าง
คร่าวๆ
เพื่อจุดประเด็นและจุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญในการประเมินผลกระทบทาง
สุขภาพในเชิงยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง ก่อนที่จะพัฒนาโครงการย่อยต่างๆ
ตามที่บริษัทเจ้าของโครงการได้วางแผนไว้
เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบเช่นเดียวกับที่ประชาชนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบ
ตาพุด (ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่านิคมอุตสาหกรรมทวายมาก)
ต้องแบกรับมาเป็นเวลานาน
1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ย่อมส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อันเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่เมื่อเผาไหม้แล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ
ทั้งนี้ ประมาณการณ์ในเบื้องต้นว่า
เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 4,000
เมกะวัตต์แล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 30
ล้านตัน/ปี[29]
ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศพม่าทั้ง
ประเทศในปีพ.ศ. 2551 ถึง 2 เท่า (ปีพ.ศ. 2551
ประเทศพม่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12.8
ล้านตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์/ปี[30]) และเนื่องจากประมาณร้อยละ 90
ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมายังประเทศไทย
โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการผลักภาระทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับ
ประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมอื่นๆ
ที่ใช้พลังงานเข้มข้นและเป็นต้นเหตุหลักของก๊าซปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น
อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า
ประเทศพม่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5
เท่าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน
ภายหลังจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายเต็มรูปแบบ
2) มลภาวะทางอากาศ
นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังนำมาซึ่งการปลดปล่อยมลสารหลายชนิดที่กลาย
เป็นมลภาวะทางอากาศด้วย
หากเทียบเคียงจากประสบการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 194 ตร.กม.[31] ในเขตทวาย
อาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากถึง 442,560 ตัน/ปี[32]
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนได้มากถึง 354,000 ตัน/ปี[33]
และฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกไม่น้อยกว่า 88,500 ตัน/ปี[34]
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงการปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,000
เมกะวัตต์ ซึ่งในการเผาไหม้ถ่านหินประมาณ 11 ล้านตัน/ปี
ก็อาจจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากถึง 118,000 ตัน/ปี
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนได้มากถึง 119,000 ตัน/ปี รวมทั้ง
ฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกไม่น้อยกว่า 10,300 ตัน/ปี[35]
การเพิ่มขึ้นของมลสารที่เป็นต้นเหตุของภาวะฝนกรดประมาณ 1 ล้านตัน/ปี
และฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกกว่า 1 แสนตัน/ปี
จะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศขึ้นในพื้นที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ด้วยสภาพภูมิประเทศของทวายที่มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นภูเขาสูงขนาบทางทิศ
ตะวันออก ทำให้สภาพมลภาวะทางอากาศสะสมอยู่ในพื้นที่
และอาจจะส่งผลกระทบทางลบอย่างมาก
ทั้งต่อการทำการเกษตรและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
นอกจากมลสารที่ทำให้เกิดฝนกรดแล้ว การปล่อยมลสารประเภทโลหะหนักเช่น ปรอท
จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งอาจจะมีปริมาณสูงถึง 10,000 กิโลกรัมในแต่ละปี
โลหะหนักเหล่านี้จะถูกฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ
และสะสมในสัตว์น้ำและในห่วงโซ่อาหาร
เมื่อมนุษย์นำสัตว์น้ำมาบริโภคก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางสมอง
โดยเฉพาะของเด็ก และทารกในครรภ์
สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นห่วงสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้คือ
การกำหนดและการรักษาพื้นที่กันชนระหว่างเขตอุตสาหกรรมกับเขตชุมชน (หรือ
buffer zone) เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและอุบัติสารเคมี
ดังเช่นที่ทราบกันดีในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กันชนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
และพื้นที่อุตสาหกรรมก็ขยายมาติดพื้นที่ชุมชน
จนทำให้มลพิษคุกคามชุมชนโดยตรง
และต้องมีการย้ายโรงเรียนและโรงพยาบาลในที่สุด
ส่วนในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมทวาย จากการศึกษาแผนแม่บทของบริษัท
อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ยังไม่ปรากฏพบการจัดเตรียมพื้นที่กันชนไว้แต่อย่างใด
ถนนจากบริเวณชายแดนจ.กาญจนบุรี ไปยังทวาย ประเทศพม่า
3) ทรัพยากรน้ำ
แรงกดดันทางด้านทรัพยากรน้ำ
จะเกิดขึ้นทั้งจากความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น
การปล่อยมลสารลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
รวมถึงจากมลภาวะทางอากาศที่ถูกฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำด้วย
และภาวะการขาดแคลนน้ำในแง่ของนิคมอุตสาหกรรม
หากนิคมอุตสาหกรรมทวายมีการเติบโตเต็มพื้นที่ 194 ตร.กม. ตามแผนที่วางไว้
ก็อาจจะมีความต้องการน้ำจืดสูงถึง 5.9 ล้านลบ.ม./วัน [36] หรือประมาณ 2,150
ล้านลบ.ม./ปี เพราะฉะนั้น อ่างเก็บน้ำขนาด 400-500 ล้านลบ.ม. ที่บริษัท
ทวาย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด วางแผนก่อสร้างไว้จึงยังคงไม่เพียงพอ
และคงต้องมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง
การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่รอบๆ
ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสังคมตามมา นอกจากนั้น
ยังอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางช่วงเวลาด้วย
ในส่วนของน้ำเสีย
หากเทียบเคียงจากอัตราการปล่อยน้ำเสียที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
นิคมอุตสาหกรรมทวายที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะปล่อยน้ำเสียมากถึง 1.5
ล้านลบ.ม./วัน หรือประมาณ 550 ล้านลบ.ม./ปี
เมื่อรวมกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฝนกรดจากมลภาวะทางอากาศที่ได้กล่าวไป
แล้วข้างต้น
ผลกระทบทางด้านคุณภาพน้ำก็นับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องมีการประเมินและ
ศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินโครงการจริง
ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายแห่งนี้จะตั้งอยู่
ทางตอนเหนือของเมืองทวาย ฉะนั้น หากเกิดภาวะน้ำเสีย หรือโลหะหนักปนเปื้อน
หรือภาวะน้ำขาดแคลนจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในเมืองทวาย
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำในพื้นที่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้อง
ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
นอกเหนือแหล่งน้ำจืดแล้ว
โรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีการนำน้ำทะเลเข้ามาใช้ในการหล่อเย็นอีกไม่น้อยกว่า 20
ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน หรือประมาณ 6,700 ล้านลบ.ม./ปี [37] แม้ว่า
การนำน้ำทะเลเข้ามาใช้ในการหล่อเย็นจะไม่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรประมงทางชายฝั่ง
ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรหลักของอาชีพประมงได้เช่นกัน
4) กากของเสีย
ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่ติดตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ
กากของเสียจำนวนมหาศาลจากภาคอุตสาหกรรม
โดยในการเผาไหม้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์
จะทำให้เกิดเถ้าถ่านหินถึงประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี นิคมอุตสาหกรรมขนาด 194
ตร.กม. จะทำให้เกิดกากของเสียอุตสาหกรรมถึง 757,000 ตัน/ปี [38]
และมีกากของเสียอันตรายที่จะต้องกำจัดอีกประมาณ 45 ตัน/ปี[39] นอกจากนั้น
ยังมีของเสียครัวเรือนในพื้นที่พักอาศัยอีกไม่น้อยกว่า 101,000
ตันต่อปี[40] รวมแล้วมีกากของเสียที่จะต้องจัดการไม่น้อยกว่า 2
ล้านตันในแต่ละปี
หากการจัดการกากของเสียไม่เป็นไปอย่างรอบคอบ และเข้มงวด
ก็จะเกิดการลักลอบทิ้งกากของเสีย และเกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
เช่นน้ำใต้ดิน ดังที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด
5) ผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิต
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับชุมชนไม่น้อยกว่า
20 หมูบ้าน และประชากรกว่า 32,000 คน ที่จะต้องโยกย้ายถิ่นฐาน
และเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ใหม่
โดยเฉพาะชาวสวนที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ต้นไม้จะให้ผลผลิตที่เป็นราย
ได้แก่ครัวเรือน
นอกจากนั้น
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอาจส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่รอบๆ นิคม
ทั้งโดยตรง (เช่น มลภาวะทางอากาศและมลภาวะทางน้ำ) และทางอ้อม (เช่น
การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ การปนเปื้อนของมลสารในห่วงโซ่อาหาร
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประชากรในพื้นที่กับประชากรที่อพยพเข้ามา
และความไม่เพียงพอของบริการสาธารณะในพื้นที่)
ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเมืองทวายที่อยู่ทางตอนล่างด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะหากเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำทวาย
จุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย
6) ผลกระทบในฝั่งประเทศไทย
แน่นอนว่า เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมนั้นตั้งขึ้นที่ชายฝั่งประเทศพม่า
ประกอบกับพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่าในบริเวณนี้
มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นภูเขาสูงกั้นอยู่
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทางฝั่งไทยจึงน้อยมาก
เมื่อเทียบกับที่ประชาชนชาวพม่าที่จะต้องกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงที่จะ
เกิดผลกระทบทางลบขึ้นในพื้นที่
อย่างไรก็ดี การสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ทั้งถนน ทางรถไฟ
ท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดจากกรุงเทพ ผ่านนครปฐม
กาญจนบุรี ไปยังทวาย
ก็ทำให้มีผู้ห่วงกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในฝั่งไทยอย่างน้อย 2
ประเด็นด้วยกันคือ
• การตัดขาดพื้นที่ผืนป่าตะวันตก
ที่เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ทอดยาวจากอ.อุ้มผาง จ.ตาก
ไปจนถึงเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วยเส้นทางขนส่งขนาดใหญ่
ทำให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอาจลดน้อยลงไป
• แนวทางหลวงใหม่ที่จะตัดผ่านจากบางใหญ่ไปจนถึงนครปฐม
อาจกั้นขวางเส้นทางการไหลของน้ำในพื้นที่ทุ่งพระพิมลในยามที่น้ำหลาก
และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการจัดการน้ำในช่วงที่มีน้ำมากหรือเกิด
อุทกภัย
สรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
เนื่องจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเป็นโครงการขนาด
ใหญ่ ที่มีประเทศผู้ลงทุนและผู้ได้รับผลประโยชน์ในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน
ก็เป็นโครงการที่มีโครงการย่อยๆ หลายโครงการ
ซึ่งอาจสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก
เช่นกัน
การเติบโตและความเชื่อมโยงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงไม่ควรมุ่งหวังแต่ผล
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพิกเฉยต่อข้อห่วงกังวลของประชาชน
รวมถึงไม่ควรละเลยความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดผลกระทบทางลบขึ้นในพื้นที่
ดังนั้น ก่อนที่จะดำเนินโครงการนี้ในลำดับต่อไป
ผู้ลงทุนและรัฐบาลทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้
โดยเฉพาะรัฐบาลและผู้ลงทุนจากประเทศไทย
ซึ่งมีบทเรียนที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหามลภาวะและสุขภาพที่มาบตาพุด
จึงควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
โดยในเบื้องต้น
ผู้เขียนจะขอเสนอแนะแนวทางเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1) การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการนี้
จะต้องกระทำในลักษณะของการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์หรือ Strategic
Environmental Assessment (SEA) มิใช่การประเมินผลกระทบเป็นรายโครงการย่อย
เนื่องจากการประเมินผลกระทบเป็นรายโครงการย่อยจะแยกส่วน
และมองไม่เห็นผลกระทบสะสมหรือผลกระทบภาพรวม (หรือ cumulative impacts)
ที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด
ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เลย
การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ที่ดีจะช่วยให้เกิดการปรับปรุงแผนแม่บทของ
โครงการนี้ (รวมถึงการเลือกโครงการย่อยต่างๆ) ให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากร
ระบบนิเวศ และระบบวัฒนธรรมของพื้นที่ได้
2) การศึกษาเรื่องขีดความสามารถของทรัพยากรในการรองรับการขยายตัวทาง
เศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการรองรับมลพิษ (หรือ Carrying capacity)
ทั้งทางทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรน้ำ คุณภาพอากาศ และทรัพยากรป่าไม้
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
ในการวางแผนและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ มิฉะนั้น
จะเกิดปัญหาที่ตามมา คือ มีความต้องการใช้ทรัพยากร และมีการปล่อยมลสาร
จนเกินกว่าขีดความสามารถที่จะรองรับได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นที่มาบตาพุด
3) เพื่อมิให้ประชาชนในพื้นที่เสียโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประเมินผลกระทบต่างๆ ทั้งการประเมินผลกระทบในระดับยุทธศาสตร์
และการประเมินผลกระทบในโครงการย่อยควรพิจารณาแนวทางเลือกต่างๆ
ที่มีอยู่ให้รอบด้าน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่โครงการ
การเลือกประเภทของอุตสาหกรรม (เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมอาหาร)
การเลือกเทคโนโลยีที่ใช้ (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน
หรือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน)
มิใช่เป็นการประเมินผลกระทบตามกรอบของแผนแม่บทหรือแนวทางที่เจ้าของโครงการ
พัฒนาขึ้นแต่เพียงด้านเดียว
4) การดำเนินโครงการย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย
หรือที่เป็นประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ควรเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับที่ถือปฏิบัติในประเทศไทยเช่น
มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้า
ถึงข้อมูลและนำเสนอความคิดเห็นได้โดยตรง
เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบกับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน
จากโครงการที่ทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย
5) การประเมินผลกระทบจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคม
และทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้น จากการอพยพโยกย้ายของประชาชน
ทั้งการโยกย้ายประชาชนในพื้นที่เดิม
และการอพยพของแรงงานและสมาชิกในครัวเรือนเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม
โดยจะต้องมีแผนพัฒนาชุมชนที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและระบบวัฒนธรรม
รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตสำหรับประชากรทั้งสองกลุ่ม ขณะเดียวกัน
ก็ต้องเตรียมแผนป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากมลภาวะและอุบัติภัยที่
ชัดเจน
และควรมีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชนให้
ชัดเจน
6) เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพตามข้อ 5)
เป็นไปอย่างถูกต้องและรัดกุม
รวมถึงสามารถให้ประชาชนได้เข้าถึงและนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆ ตามข้อ
4) เจ้าของโครงการจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ
ทั้งในภาพรวมและในแต่ละโครงการย่อย
โดยข้อมูลที่เปิดเผยจะต้องครอบคลุมถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
สังคม และสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วย
7) ภาคประชาชนในพื้นที่และภาคประชาสังคมในพม่าจะมีบทบาทสำคัญในการผลัก
ดันข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่างๆ
ให้แปลงเป็นรูปธรรมในการดำเนินการที่จะคุ้มครองและสร้างเสริมสุขภาพของ
ประชาชนในพม่า
ภาคประชาชนในพื้นที่จึงควรศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความ
ห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่
รวมถึงความมุ่งหวังและทางเลือกในการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่
เพื่อให้ประชาคมอาเซียนได้รับทราบ
และร่วมกันสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่จะเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน
ในทุกๆ ประเทศ และทุกๆ พื้นที่
โดยอาจดำเนินการในลักษณะของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (หรือ
Community HIA) ที่มีการดำเนินการในประเทศไทย ในการนี้
ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทย
ซึ่งมีประสบการณ์ในการพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาเป็นเวลากว่า
สองทศวรรษแล้ว
จะมีส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์กับภาคประชาชนในพื้นที่
และภาคประชาสังคมในพม่า
8) การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ
สุขภาพในระยะยาว
หน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่จึงจำเป็นต้องเตรียมความ
พร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า
ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบ การเฝ้าระวังมลพิษและอุบัติภัย
การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ การตอบโต้อุบัติภัย
ความพร้อมของโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพต่างๆ ดังนั้น
หากรัฐบาลไทยเห็นว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐภายใต้กรอบของ
ประชาคมอาเซียนจริง
ก็ควรให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการสร้างกลไกและทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอต่อ
การรับมือความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว
กรณีศึกษาการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเป็น
ตัวอย่างสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า
การลงทุนในโครงการพัฒนาในอนาคตจะเป็นไปในลักษณะข้ามพรมแดน
ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น
การคุ้มครองและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในอาเซียนก็จำเป็นต้องก้าวข้าม
พรมแดนด้วยเช่นกัน ผ่านกลไกการเรียนรู้ร่วมกัน
โดยใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญ
ทั้งในระดับยุทธศาสตร์การพัฒนาในภาพรวม
ไปจนถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาในแต่ละพื้นที่
ความท้าทายจึงขึ้นอยู่กับว่า
การพัฒนาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของภาคประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปัจจุบัน จะก้าวทันย่างก้าวอันรวดเร็วของผู้ลงทุนข้ามชาติได้มากน้อยเพียงใด
และสามารถประสานข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ
เข้าสู่การปรับทิศทางการพัฒนา
หรือแนวทางการวางแผนในโครงการลงทุนข้ามชาติเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด
เป็นสำคัญ
________________________________________
[1] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “เจบิคเล็งปล่อยกู้3พันล.ดอลล์ สร้างท่าเรือ-นิคมฯทวายพม่า”
[2] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[3] พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 5 นิคมรวมกัน 31 ตร.กม.
[4] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[5] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “เจบิคเล็งปล่อยกู้3พันล.ดอลล์ สร้างท่าเรือ-นิคมฯทวายพม่า”
[6] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[7] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[8] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[9] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[10] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[11] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[12] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[13] สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) 14 พฤศจิกายน 2554. “RATCH เซ็น MOU ร่วมมือ ITD สร้างโรงไฟฟ้ารวม 4 พันเมกะวัตต์ในนิคมฯทวาย”
[14] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[15] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[16] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[17] โพสต์ทูเดย์ 27 ธันวาคม 2554 . “ITDทุนอื้อไม่เพิ่มทุน”
[18] ไทยรัฐออนไลน์ 22 ธันวาคม 2554. “ปตท.เล็งลงทุนธุรกิจพลังงานนิคมอุตฯทวายในพม่า”
[19] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[20] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 26 ธันวาคม 2554 “อิตาเลี่ยนไทยเชื่อนิคมฯทวายเป็นฮับคอนเทนเนอร์”
[21] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 26 ธันวาคม 2554 “อิตาเลี่ยนไทยเชื่อนิคมฯทวายเป็นฮับคอนเทนเนอร์”
[22] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[23] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[24] กรุงเทพธุรกิจ. 26 ธันวาคม 2554 “ทล.เล็งผุดมอเตอร์เวย์4.5หมื่นล.เชื่อมทวาย”
[25] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 26 ธันวาคม 2554 “อิตาเลี่ยนไทยเชื่อนิคมฯทวายเป็นฮับคอนเทนเนอร์”
[26] กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2554. “ทุนข้ามชาติทะลักเข้าทวาย”
[27] Dawei Development Association. 15 December 2011. Press Release
Disclosing the Desires of Local People on the Dawei Deep Seaport and
Special Economic Zone.
[28] Dawei Development Association. 15 December 2011. Press Release
Disclosing the Desires of Local People on the Dawei Deep Seaport and
Special Economic Zone.
[29] คำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เท่ากับ 0.96 กก./kWh
[30] ข้อมูลจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_carbon_dioxide_emissions
[31] ไม่รวมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อยู่อาศัย
[32] คำนวณจากอัตราการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมที่
6.25 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, ฝัน ร่าง สร้าง ทำ:
ผังเมืองทางเลือกเพื่อสุขภาวะ)
[33] คำนวณจากอัตราการปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนจากภาคอุตสาหกรรมที่ 5.0 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
[34] คำนวณจากอัตราการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กของภาคอุตสาหกรรมที่ 1.25 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
[35] คำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
[36] คำนวณจากอัตราการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่ 30,000 ลบ.ม./ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
[37] คำนวณจากข้อมูลรายการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการ Gheco-one
[38] คำนวณจากอัตราการเกิดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ 10.69 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
[39] คำนวณจากอัตราการเกิดกากของเสียอันตรายที่ 0.64 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
[40] คำนวณจากอัตราการเกิดขยะชุมชนที่ 1.43 ตัน/ตร.กม./วัน (มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, 2554, อ้างแล้ว)
ขอบคุณภาพจาก Google, Greenpeace, salweennews.org,
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง