ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่จบลงง่าย หลังจากเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคัดค้านการออกกฎหมายให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นผิด
เมื่อปรากฎข่าวว่า ครม.ยิ่งลักษณ์ ได้พยายามช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ โดยเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้กระทำความผิดเนื่อง ในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.54 โดยตัดฐานความผิดกรณีผู้ต้องหาในคดียาเสพติด และคดีทุจริตออกไป เปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตที่ดินรัชดา 2 ปี ได้รับสิทธิ์พ่วงขอพระราชทานอภัยโทษด้วย
พลังของกลุ่มต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งม็อบเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามสามัคคี ที่ฝ่ายเพื่อไทยบอกว่า เป็น “ขาประจำ” แต่ด้วยเหตุผลคัดค้านเดียวกัน คือ การแก้ไขพรฎ.ครั้งนี้ล็อคเสปคให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ และร่างพรฎ.ที่ส่งให้กฤษฎีกาเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าก็ต่างจากเนื้อหาในพรฎ.พระ ราชทานอภัยโทษในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลสุรยุทธ์ รวมถึงรัฐบาลทักษิณ ที่ยึดเนื้อหาเดียวกัน
แต่รัฐบาลชิงตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อเห็นกระแสคัดค้านถักทอเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งม็อบพันธมิตรที่สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศชุมนุมใหญ่หน้าสำนักงานกฤษฎีกา กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มอาสาปกป้องแผ่นดินเข้าชื่อถอดถอน ครม.ทั้งคณะ และยื่นเรื่องคัดค้านพรฎ.ต่อสำนักงานองคมนตรี รวมถึงจัดเสวนากึ่งปราศรัยที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นพื้นที่จุดเริ่มเมื่อครั้งขับไล่รัฐบาลทักษิณปี 2548
จนที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องออกแถลงการณ์ว่า ไม่ขอรับประโยชน์ใดๆ จากพรฎ.ฉบับนี้ และเชื่อว่า รัฐบาลจะเข้าใจเจตนาดี ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่รับบทประธานในที่ประชุมครม.ลับ ออกมารับลูกว่า พรฎ.พระราชทานอภัยโทษไม่ได้เอื้อประโยชน์พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมสำทับว่า ไม่มีการแก้ไข ทุกตัวอักษรของร่างพรฎ.ฉบับนี้ เหมือนฉบับที่ผ่านมาสรุป ความพยายามช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังรัฐบาลทำงานได้เพียง 3 เดือน ท่ามกลางปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ไม่สำเร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศอีกครั้งว่า จะยังไม่กลับไทยจะมาก็ต่อเมื่อ ความปรองดองเกิดขึ้น และไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดความ ขัดแย้ง อยากเป็นคนช่วยแก้ปัญหามากกว่า
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยได้ประกาศตั้งแต่หาเสียงแล้วว่า จะแก้กฎหมายคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกรังแกจากการปฏิวัติ และจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น เมื่อเป็นรัฐบาล จึงเดินหน้าผลักดันการนิรโทษกรรมล้างโทษความผิดในเหตุการณ์การชุมนุมตั้งแต่ หลังปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 โดยรวมคดีทุจริตที่เกี่ยวพันพ.ต.ท.ทักษิณและรัฐมนตรีในยุครัฐบาลเพื่อไทย
ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า จะให้มีการออกพรบ.นิรโทษกรรมล้างไพ่ใหม่ทุกคดีเพื่อหยุดความขัดแย้ง สร้างความปรองดองของคนในชาติ
หากดูช่องทางในการล้างโทษ เคลียร์คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ มีอยู่หลายลู่ทาง
1. พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ แม้แนวทางนี้จะปิดตายแล้ว แต่ในปี 2555 ยังมีวโรกาสสำคัญ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในวันที่ 12 ส.ค. จึงต้องติดว่า จะมีการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษชั้นดีในวโรกาสนี้หรือไม่ และจะมีความพยายามแก้ไขพรฎ.พระราชทานอภัยโทษเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พ.ต. ท.ทักษิณ อีกหรือไม่เช่นกัน2. การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมวลชนกลุ่มเสื้อแดงจำนวน 3.6 ล้านคนที่ ได้ยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2553 รัฐบาลเพื่อไทยได้ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้โดยมี นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย รามคำแหง เป็นประธาน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
3. การออกพรบ.นิรโทษกรรม วิธีนี้จะต้องผ่านความเห็น ชอบในกลไกรัฐสภา โดยที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร และ ที่ประชุมวุฒิสภา เริ่มด้วยฝ่ายรัฐบาลต้องเสนอร่างเข้าที่ประชุมครม. คาดว่าจะเริ่มในปีหน้า 2555 จากนั้นส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบซึ่งต้องอยูในช่วงเปิดสมัยประชุมนัดหน้า ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค. 18 เม.ย.
ขั้นตอนการออกกฎหมายฉบับนี้ต้องเมื่อสภารับหลักการให้ความเห็นชอบ ต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาและส่งให้สภาเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นต้องเข้าที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณา ทั้ง สองสภาอาจต้องใช้เวลาพิจารณาหลายเดือนคาดว่า ระหว่าง 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความร้อนแรงทางการเมืองและแรงขับของรัฐบาลขณะนั้น เนื่องจากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังเป็นปมที่กลุ่มต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ เดินหน้าค้านที่อาจจุดม็อบเดือดขึ้นมาอีกครั้ง
และถึงแม้ว่า รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ชั้นในวุฒิสภา รัฐบาลไม่สามารถคุมสียง ส.ว. ได้ถนัดมือ อย่างไรก็ตาม หลักการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น วุฒิสภาแก้ไขได้เพียงเล็กน้อย ถ้าแก้มาก สภาผู้แทนฯมีสิทธิ์ยืนยันกลับไป ใช้ร่างแรกที่เสนอโดยรัฐบาล
หันมาดูเนื้อหาที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องการนิรโทษกรรมตามที่เคยประกาศไว้ คือ คดีการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมาทั้งการชุมนุมของเสื้อเหลืองที่ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน ฝ่ายเสื้อแดงกับคดีฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน คดีหมิ่นสถาบัน คดีก่อการร้าย ฯลฯ รวมถึงคดีทุจริตที่คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง คตส. มาตรวจสอบความผิดซึ่งคดีที่ศาลฎีกานักการเมือง ตัดสินไปแล้วคือ คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาโดยให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี คดีหวยบนดินตัดสินจำคุก นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง รวมถึงอดีต ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ และอดีตประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งฯ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ศาลจำหน่ายคดีออกไปชั่วคราว เพราะหลบหนี
4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลกำหนดว่า ต้นปีหน้าจะเริ่มกระบวนการแก้ไขได้โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่จะทำสองขยัก คือ แก้มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สองส่วนรวม 99 คน คือ สสร.จังหวัดที่จากการเลือกตั้ง กับ สสร. สายวิชาการ คาดว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6-8 เดือน เมื่อร่างเสร็จ จะทำประชามติถามความเห็นประชาชนจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเขียนบทนิรโทษกรรมล้างความผิดในบทเฉพาะกาลได้
5. ข้อเสนอของคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปรองดองที่จะออกมาพร้อมๆ กันในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป จะมีน้ำหนักต่อการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมและการปรองดอง
โดยเฉพาะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ที่เสนอให้ หยุดคดีแกนนำเสื้อเหลืองและเสื้อแดง และปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง โดยให้หน่วยงานที่ฟ้องคดีคือ อัยการหรือตำรวจถอนคดีออกจากศาล ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยเห็นด้วยทุกประการ
อีกคณะคือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สส.พรรคมาตุภูมิ อดีตผู้นำการรัฐประหารขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธาน
รายงานข่าวจากสื่อระบุว่า กมธ.ชุดนี้ที่ประกอบทุกพรรคการเมือง แต่ส่วนใหญ่เป็นพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมยกแผงทั้งคดีการเมือง และคดีทุจริต แต่กมธ.ไม่มีอำนาจสั่งการ ทำได้ก็เพียงเสนอความเห็นต่อสาธารณะ
อีกหนึ่งคณะที่รัฐบาลได้แต่งตั้ง คือ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มี ศ.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ ข้อเสนอแนะต่างๆในการใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม โดยต้องรายงานรัฐบาลทราบทุก 6 เดือน
ศ.อุกฤษออกแถลงการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ว่า แม้ไม่สามารถตั้งกรรมการได้ เพราะติดปัญหาน้ำท่วม แต่จะเดินหน้าทำงานหลังน้ำลดแน่นอน โดยจะให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและเลี่ยง “ความยุติธรรมสองมาตรฐาน” รวมทั้งให้ความเห็นในการเตรียมออกกฎหมาย เพื่อใช้บังคับแก่ประชาชน
ขณะเดียวกัน ในปีหน้าเมื่อเริ่มเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้ง ที่ประชุมสภาจะลงมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาข้อเสนอลบล้างผลพวงของการ ทำรัฐประหาร 19 ก.ย. จากคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ตามที่ แกนนำเสื้อแดง นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วนคาไว้ นายก่อแก้ว บอกว่า จุดประสงค์ที่เสนอเพื่อต้องการปกป้องประชาธิปไตย และให้ยกประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ หลังเกิดเหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 โดยอาจรวมถึงการนิรโทษกรรมของผู้ที่ถูกยึดอำนาจ ที่สำคัญต้องให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวด้วย
ทั้งสามคณะ คอป. คอ.นธ. และกมธ.นิติราษฎร์ จะมีผลสรุปออกมาที่ใกล้เคียงกัน คาดว่าจะมีรายงานออกมาได้ประมาณกลางปีหน้าจนถึงสิ้นปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งประจวบเหมาะในช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
6. หากพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับไทยเพื่อมารับโทษจำคุก 2 ปีหลัง จากเดินทางหนีออกนอกประเทศไป ก็ง่ายต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะได้รับความเห็นใจจากสังคมว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็กลับมารับโทษแล้วแม้อาจไม่ครบ 2 ปีก็ตามก็น่าจะนิรโทษกรรมกันได้
เขียนโดย isranews
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น