บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หลักฐาน ส.ส.ชั่ว – ข้าราชการ เลว.ทั้งในทำเนียบ มหาดไทย ฯลฯ “รุมทึ้ง” สิ่งของบริจาค

หลักฐาน ส.ส.ชั่ว – ข้าราชการ เลว.ทั้งในทำเนียบ มหาดไทย ฯลฯ “รุมทึ้ง” สิ่งของบริจาคช่วยอย่างหน้าด้านที่สุด… ทั้ง ๆ ที่มีเงินส่วนตัว และเงินงบประมาณให้ซื้อ


                                                                                       ภาณุมาศ ทักษณา

 หนังสือพิมพ์มติชน วันนี้ 2 พ.ย.54 พาดหัวข่าวการเมืองในหน้า 11 ว่า    “มท.” เปิดบัญชี “ของบริจาค”  “ส.ส.- หน่วยงานรัฐ” ขอไปอื้อ
         เนื้อข่าวระบุว่า นาย พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย (มท.)กล่าวถึงตัวเลขของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รับมอบอุปกรณ์หนักและแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ว่า
         สิ่งที่ได้รับมอบจากเอกชนและประชาชน ประกอบด้วย เรือชนิดต่าง ๆ เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก – ขนาดใหญ่ ท่อสูบน้ำพญานาค เครื่องปั่นไฟ จานดาวเทียม โทรทัศน์จอแบบ เสื้อชูชีพ ไปจนถึงสุขาชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
         รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบทะเบียนคุมยอดสิ่งของบริจาค ซึ่งมีการบริจาคทั้งจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนับร้อยราย
         แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งของบริจาคบางส่วน มีรายชื่อผู้ขอรับบริจาครายเดิม หรือมีชื่อที่ไม่ได้ระบุชัดเจน เช่น
         ส.ส.กา รุณ , เลขาฯท่านเฉลิม, ทีมงาน ส.ส.สุชาติ(คุณอรนิช) โดยไม่ได้ระบุพื้นที่ช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า “ลงบัญชี” โดยไม่ระบุชื่อผู้รับ หรือพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งยังมีหน่วยงานของรัฐขอรับสิ่งของบริจาคโดยไม่ได้ระบุพื้นที่ช่วย เหลือ อาทิ
กระทรวงมหาดไทย เบิกท่อสูบน้ำพญานาค 6 อัน เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 6 เครื่อง,
กระทรวงอุตสาหกรรม เบิกท่อสูบน้ำพญานาค 13 อัน เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 13 เครื่อง,
ทำเนียบรัฐบาล เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก 10 เครื่อง เรือไฟเบอร์กลาส 30 ลำ,
สำนักนายกรัฐมนตรี เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 เครื่อง เรือไฟเบอร์กลาส 100 ลำ
        รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ที่ขอเบิกของบริจาคมากที่สุดคือ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท รับท่อสูบน้ำพญานาค 40 อัน เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 40 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก 40 เครื่อง เรือ HDPE พาย 2 ที่นั่ง 30 ลำ เรือไฟเบอร์กลาส 20 ลำ
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานของรัฐบาล ทำไมจึงมีการขอรับบริจาคสิ่งของที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่กำลังได้รับ ความเดือดร้อนและขาดแคลน ทั้งที่สามารถจะตั้งงบประมาณเบิกจ่ายได้เอง ทั้งนี้สิ่งของที่มีอยู่บัญชี ถูกเริ่มทยอยเบิกตั้งแต่วันที่ 18 – 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
ในฐานะที่เป็นผู้สื่อข่าวที่เคยสัมผัสบรรยากาศทำนองนี้มาก่อน ผมขอตอบผู้สื่อข่าวของมติชนที่ตั้งข้อสังเกตท้ายข่าวว่า
…นี่คือวิธีการยักยอกทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาอย่างหน้าด้านที่สุดของ ส.ส.ชั่ว และข้าราชการเลว ละครับ
        ส.ส.ชั่วที่มาขอเบิกสิ่งของเหล่านั้นไป จะเอาไปเขียนป้ายชื่อตัวเองแปะเอาไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อนำไป “แจก” ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านย่อมเข้าใจโดยซื่อว่า ส.ส.ผู้นั้นคงควักกระเป๋าซื้อมาให้ด้วยความเมตตาสงสาร.. ชาวบ้านหลายคนคงไม่รู้หลอกว่า สิ่งของที่ ส.ส.ชั่วคนนั้นเอาไปจ่าย เบิกมาจากของที่ชาวบ้านเขาทำบุญมา
         และ ข้าราชการเลว ก็ขอเบิกสิ่งของเหล่านั้นไป อาจจะเอาไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกน้ำท่วม หรือเอาไปให้ชาวบ้านก็ตาม ข้าราชการเลวเหล่านี้อาจถือโอกาสนำมาแสดงเป็นหลักฐานว่าได้ “ซื้อมา” ตามที่ “ตั้งเบิก”เอาไว้ พูดง่าย ๆ คือ เบิกเงินไปซื้อ แต่ไม่ต้องซื้อ เพราะเอาของที่เขาแจกมาสวมรอยแทน นั่นเอง
         ผมเห็นข่าวสิ่งของบริจาคที่ตกค้างที่ ศปภ.ดอนเมือง แล้วมีใครออกมาตอแหลว่าเป็น เสื้อผ้าเก่า ๆ จะเอาไปซักก่อน แล้วจึงนำไปบริจาค แล้วอยากหัวเราะให้ฟันหัก
         สมัยผมเป็นนักข่าวใหม่ ๆ เคยไปทำข่าวในศูนย์ทำนองนี้มาแล้วครับ ตอนนั้นในศูนย์ไม่รู้ว่าใครเป็นใครหรอกครับ มีทั้งข้าราชการ และอาสาสมัคร ไปเอาเสื้อผ้าและของบริจาคใส่ถุง
          แต่ ก่อนที่จะหยิบเสื้อหรือกางเกงใส่ถุง มีผู้หญิงคนหนึ่งยกเสื้อมาทาบตัวเอง หรือดูเนื้อผ้าด้วยนะคุณ (ฮา) หากเห็นว่าตัวไหนยังใหม่ ดูมีราคาดี ก็จะซุกไว้ใกล้ ๆ ตูด เอ๊ย สะโพกของตัวเอง พอไม่มีใครมองก็จะแอบใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาล(เดี่ยวนี้ถุงแบบนี้ไม่มีให้เห็น แล้วครับ)
         รุ่งขึ้น ผมเอาลงข่าว ปรากฏว่า ถูกด่าเปิง… ผมถูกด่านะครับไม่ใช่ยัยคนนั้น(ฮา) และหน่วยงานนั้นก็ห้ามผมเข้าไปทำข่าวอีก
         อย่าให้บอกเลยว่าหน่วยไหน เพราะเหตุการณ์ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว และยัยคนนั้นก็อาจจะตายไปแล้วก็ได้ – ผมแค่ยกมาเป็นตัวอย่างว่า คนเลวมีจริง ๆ ครับ
          ข่าวชิ้นนี้ จึงไม่ต่างไปจาก หลักฐาน หรือ “ใบเสร็จ” ที่นักการเมืองชั่ว และข้าราชการเลว คงปฏิเสธไม่ได้ และเรื่องนี้ไม่ควรจบแค่นี้นะครับ
          ฝาก นักข่าวมติชนที่ทำข่าวนี้ “จิก” ต่อไปครับ และขยายผลไปให้ถึง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคิดมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ช.) ด้วยนะครับ
            กระชากหน้ากาก ลากไส้ ไอ้หรืออีเหล่านั้นออกมาประจานให้ได้ครับ เผลอ ๆ ข่าวนี้อาจทำให้คุณได้รางวัลฟูลิเซอร์ก็ได้นะครับ ทำเป็นเล่นไป.

One Response to “หลักฐาน ส.ส.ชั่ว – ข้าราชการ เลว.ทั้งในทำเนียบ มหาดไทย ฯลฯ “รุมทึ้ง” สิ่งของบริจาคช่วยอย่างหน้าด้านที่สุด… ทั้ง ๆ ที่มีเงินส่วนตัว และเงินงบประมาณให้ซื้อ”

เผยแผนเปิดเหมืองโปแตช 2555 ปักธง ‘อุดร – สกล’

อก.เตรียมแผนเปิดปากเหมืองโปแตชภาคอีสานปีหน้า เล็งเป้าอุดรธานี-สกลนคร ส่วนในพื้นที่เริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมแนบ อีไอเอ ‘เอ็นจีโออีสาน’ เผย ทส.ปลดล็อคกฎหมายแร่ สบช่องทุนจีนเขมือบทรัพยากร ชี้อาจมีการลดพื้นที่ขอประทานบัตร เลี่ยงกลุ่มต่อต้าน

เร่งจัดฉาก เกณฑ์ผู้นำ อปท. และชาวบ้านสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแนบ อีไอเอ
 
วันนี้ (4 พ.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ว่า ได้มีความเคลื่อนไหวของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน เพื่อทำเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ มีการจัดเวทีในระดับพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตามขั้นตอนการขอ อนุญาตประทานบัตร ที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่5) พ.ศ.2545 
 
เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. เป็นต้นมา บริษัทเอพีพีซี ได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในช่วงต้นเดือน พ.ย.ระหว่างวันที่ 1-6 จะดำเนินการกับชาวบ้านในพื้นที่ ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ที่บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี
 
นางยุพาพร รักษาภักดี สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ตำบลหนองไผ่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เธอพร้อมด้วยสมาชิกสท.ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ มีแผนจะจัดกระบวนการดังกล่าวกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครบทุกตำบลในเขตเหมือง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
 
“ข้อมูลชี้แจงส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะพูดถึงผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นและชุมชนจะได้รับ เช่น ค่าภาคหลวงแร่ การจ้างงาน การสร้างรายได้ แต่ไม่บอกว่าจะมีผลกระทบ หรือหากเกิดผลกระทบขึ้นจริงบริษัทฯ ก็จะมีมาตรการแก้ไขได้ หลังจากนั้นก็ให้กรอกแบบสำรวจความคิดเห็น และลงชื่อในหนังสือแสดงเจตจำนงการมีส่วนร่วมที่บริษัทฯ เตรียมไว้” นางยุพาพรกล่าว 
 
นางยุพาพรกล่าวต่อมาว่า บริษัทฯ จะจัดเวทีให้ครบทั้ง 5 ตำบลในเขตพื้นที่เหมือง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งผู้นำ และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้าน และการให้ความเห็นชอบของ อบต.หรือ สท.หลังจากมีการปิดประกาศแผนที่เขตคำขอประทานบัตร
 
กพร.เตรียมแผนเปิดปากเหมืองโปแตชภาคอีสาน ให้สำเร็จในปีหน้า
 
ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับแหล่งข่าวภายในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการ เหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนการผลักดันให้ใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อให้สามารถเปิดหน้าเหมืองและทำการผลิตแร่โปแตชให้ได้ภายในปี พ.ศ.2555 โดยเล็งเป้าในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร หรือที่ใดที่หนึ่งก่อน 
 
โดยเฉพาะแหล่งอุดรใต้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการลดพื้นที่คำขอประทานบัตรให้เล็กลงจากเดิม ที่ บริษัทเอพีพีซี ขอไว้กว่า 2.6 หมื่นไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน โดยใช้วิธีการให้อนุญาตทีละแปลงแล้วค่อยขยายต่อแปลงอื่นในภายหลัง
 
แหล่งข่าวยังเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ กพร.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ (Strategic Environmental Assessment) โครงการพัฒนาแหล่งแร่โปแตช ภาคอีสาน โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน ซึ่งเมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะชงเรื่องให้ กพร.เพื่อมีความชอบธรรม ต่อการออกใบอนุญาตประทานบัตร ในพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอ ให้สามารถทำการเปิดเหมืองได้ทันที
 
เผย ทส.ปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสองตามกฎหมายแร่ สบช่องทุนจีนจ้องเขมือบทรัพยากร
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้เปิดเผยเอกสาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ให้ยื่นคำขออาชญาบัตรในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนาม
 
นายสุวิทย์กล่าวด้วยว่า เหมืองโปแตชสกลนคร บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 120,000ไร่ ตั้งแต่ ปี 47 แต่ยังติด ม.6 ทวิ วรรคสอง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดพื้นที่ ดังนั้น จากเอกสารจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการรับลูกของกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสอง ตามกฎหมายแร่ เพื่อให้เอกชนยื่นขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจได้เป็นกรณีพิเศษ และสามารถยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำการผลิตแร่โปแตช ได้ตามขั้นตอน ซึ่งก็จะนำไปสู่การผลักดันเหมืองโปแตช โดยที่มีกลุ่มการเมืองคอยชักใย
 
“ทุนจากประเทศจีนที่มีเงินมหาศาล กำลังรุกหนักโดยการชี้นำของนักธุรกิจสายสมาคมมิตรภาพไทย-จีน และผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ตั้งแต่สมัยนายพินิจ จารุสมบัติ ยังเป็นรมต.กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้ตกเป็นของประชาชน” นายสุวิทย์กล่าว
 
คาดลดพื้นที่คำขอประทานบัตร หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้าน
 
เลขา กป.อพช.ภาคอีสาน ต่อมาว่า ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี บริษัทเอพีพีซี พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเลือกเกณฑ์เอาแต่กลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการฯ เข้าร่วมเวที แล้วอ้างว่านี่คือกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปประกอบรายงานอีไอเอ และขั้นตอนประทานบัตร ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม
 
“ในพื้นที่อุดรฯ มีกลุ่มชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเลือกทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่เห็นด้วย เพื่อให้เสร็จทันกับการศึกษา เอสอีเอ ของ กพร.ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีการลดขนาดพื้นที่ประทานบัตรลงเหลือแค่ 5,000 ไร่ จาก 2.6 หมื่นไร่ เพื่อให้ทันเปิดเหมืองในปีหน้า” นายสุวิทย์กล่าว  
 
 
รายงานโดย: เดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
 

ภาพถ่ายไทยก่อน-หลังน้ำท่วม




ภาพถ่ายไทยก่อน-หลังน้ำท่วม



edition.cnn.com เผยภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบประเทศไทย ก่อน-หลังน้ำท่วม ผู้เชี่ยวชาญสับ! เติบโตแบบไร้การวางแผน

          4 พ.ย.54 สำนักข่าวต่างประเทศ เผยภาพถ่ายดาวเทียม ที่ถ่ายได้ในช่วงก่อน และหลังเกิดน้ำท่วมในไทย ที่แสดงให้เห็นสภาพภูมิประเทศว่า ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งเห็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของพื้นที่ ก่อน-หลังน้ำท่วม ของประเทศไทย




          ภาพถ่ายด้วยระบบ โมเดอเรท เรสโซลูชั่น อิมเมจจิ้ง สเป็คโตรเรดิโอมีเทอร์ (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) บนดาวเทียมเทอร์ร่า ขององค์การบริหารอวกาศ และการบินแห่งชาติของสหรัฐ หรือ นาซ่า ได้แสดงให้เห็นภาพของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่ง เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อศตวรรษที่ 14 บริเวณจุดบรรจบกันของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ และครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนานนามว่าเป็น " เวนิซแห่งตะวันออก "
          ปัจจุบัน เมืองเก่าแก่แห่งนี้ อาจได้รับคำนิยามใหม่ หลังจากถนนทุกสายกลายเป็นแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่โอบอ้อมพื้นที่เพาะปลูก และที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplains) จมหายไปในน้ำ ซึ่งเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมระบบแอดวานซ์ แลนด์ อิมเมจเจอร์ (Advanced Land Imager) ของนาซ่า ที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมปีนี้
          สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN ได้ประเมินว่า มีพื้นที่เพาะปลูก 1 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นไร่ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั่วประเทศไทย ส่วน ในเขตเศรษฐกิจก็จมอยู่ในน้ำ และมีโรงงานราว 1 พันแห่งที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ การที่ไทยได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางการผลิตให้กับบรรดาบริษัทอิเล็คทรอนิคส์หลายร้อยแห่ง ทำให้คาดว่า จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติครั้งนี้ เป็นมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลล่าร์ หรือราว 9หมื่นล้านบาท
          บริเวณทางเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินดอนเมือง ซึ่งให้บริการเฉพาะเที่ยวบินในประเทศ ได้ปิดทำการมาตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม หลังจากรันเวย์จมน้ำ ทำให้เที่ยวบินต่าง ๆ ต้องไปใช้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ได้รับการปกป้องจากคันกั้นน้ำ
          IUCN ระบุว่า ที่ราบน้ำท่วมถึงโดยธรรมชาติ มีความสำคัญต่อการเก็บกักน้ำในช่วงน้ำท่วม และเมื่อรวมกับพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) และช่องทางสำหรับน้ำไหลผ่านด้วยแล้ว ก็จะช่วยจำกัดความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำท่วมได้
          คเนศ ปันกาเร ผู้อำนวยการโครงการน้ำของ IUCN ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้ความเป็นเชิงเสียดสีว่า นี่เป็นกรณีที่สุดคลาสสิคของเมืองที่ทำอะไรแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ระบบระบายน้ำหายไป ที่ราบน้ำท่วมถึงก็หายไป ต้นไม้ที่คอยช่วยดูดซับน้ำก็หายไปหมด สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้เห็นถึงการเติบโตที่ไม่ได้มีการวางแผนใด ๆ


...............................................
(หมายเหตุ : ที่มา : edition.cnn.com)



คมชัดลึก

แผนมหาชนรัฐ – “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” : กาจ กาจสงคราม


ช่วงนี้ผมกำลังศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงปี ๒๔๗๕ อยู่ครับซึ่งเรื่องราวการเมืองไทยในยุคเปลี่ยนผ่านจาก “สมบูรณายาสิทธิราชย์” เป็น “ประชาธิปไตย” เนื้อหาเข้มข้นเหลือเกิน บรรดา “ตัวละครการเมือง” ยุคนั้นเท่าที่ดูๆ “มีไม่กี่คน” แต่ทว่า “ไม่กี่คน” นั้นก็ได้สร้างสรรค์การเมืองไทยจนกลายเป็น “บันทึก” ที่คนรุ่นหลังๆสมควรจะมาศึกษา และค้นคว้าเป็นอย่างมาก
ยุคนั้นสมัยนั้นมีกลุ่มนายทหาร และพลเรือนหัวก้าวหน้าที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ได้คิดการใหญ่หมายเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ หรือที่เราเรียกว่า “ปฏิวัติ ๒๔๗๕” บรรดานักวิชาการ ตลอดจนคนรุ่นใหม่ๆหลายๆคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำในครั้งนั้น “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่ประการใด แต่ทว่าก็มีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่แย้งว่าการอภิวัฒน์(ปฏิวัติ)ในครั้งนั้น ไม่ใช่ชิงสุกก่อนห่ามอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่สถานการณ์ในตอนนั้น “สุกงอม” พอดีต่างหากเล่า!
ไม่ว่าจะ ชิงสุกก่อนห่าม หรือ สุกงอมพอดี ก็ตามที(ไว้จะว่าในวันหลัง)เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ผ่านพ้นมาด้วยดี ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อแต่ประการใด คงเหลือไว้แต่ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ที่กลายเป็น “ฉากหน้า” ให้คนในยุคนี้ได้ “แอบอ้าง” กันเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น!
จะว่าไป “ตัวละครการเมือง” ท่านหนึ่งผมมักจะเจอชื่อท่านบ่อยๆในฐานะที่เป็น “คณะราษฎร” และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการต่างๆมากมาย แต่เราๆท่านๆมักจะไม่ได้คุ้นหูคุ้นชื่อสักเท่าไหร่ ท่านที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้คือ “หลวงกาจสงคราม” – กาจ  กาจสงคราม
หลวงกาจสงคราม (กาจ กาจสงคราม) หนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหาร เดิมชื่อ เทียน  เก่งระดมยิง จบโรงเรียนนายร้อยทหารบก รับราชการทหารอยู่ที่เชียงใหม่และที่พระนคร หลังจากนั้นหลวงพิบูลสงคราม(จอมพล ป. พิบูลสงคราม)ได้ชักชวนให้เข้าร่วมการปฏิวัติด้วย ซึ่งหลังการปฏิวัติหลวงกาจสงครามถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในคณะ ราษฎร และมีความใกล้ชิดกับหลวงพิบูลสงคราม จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ในพระนคร และหลวงกาจสงครามก็ได้เข้าร่วมการรัฐประหารครั้งแรกซึ่งนำโดยพระยาพหลพล พยุหเสนา และได้เข้าร่วมในการปราบ “กบฎบวรเดช” จนได้รับ บาดเจ็บ ซึ่งรัฐบาลได้ปูนบำเน็จและย้ายให้ไปควบคุมกรมอากาศยาน(กองทัพอากาศ) และหลังจากนั้นหลวงกาจสงครามก็ได้เป็นเสนาธิการกองทัพอากาศคนแรก แต่เนื่องด้วยหลวงกาจสงครามมีความขัดแย้งกับนายทหารในกองทัพอากาศทำให้ รัฐบาลย้ายให้หลวงกาศสงครามไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร
ด้วยความ ที่หลวงกา จสงครามมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับจอมพล ป. เป็นพิเศษทำให้เมื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนาตรี หลวงกาจสงครามก็ได้เป็นรัฐมนตรี จนเมื่อญี่ปุ่นบุกไทย จอมพล ป. ยอมรับกองทัพญี่ปุ่นทำให้หลวงกาจสงครามไม่พอใจลาออกจากรัฐมนตรีและได้เข้า ร่วมกับ “ปรีดี  พนมยงค์” ในภาระกิจ “เสรีไทย”
หลวงกา จสงครามได้เข้าร่วมกับปรัดี พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคสหชีพซึ่งเป็นพรรคของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน แต่เพราะความคิดเห็นและแนวทางหลายๆอย่างไม่ตรงกันทำให้หลวงกาจสงครามได้ถอย ห่างออกจากกลุ่มคณะราษฎรสายของปรีดี(พลเรือน)และเริ่มมีแนวโน้มในการต่อต้าน แนวทางประชาธิปไตยของปรีดี  พนมยงค์อยู่เนืองๆ
ครั้งหนึ่งหลวงกาจสงครามได้อภิปรายโจมตีรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ ว่า “พอเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้ไม่กี่วัน เราก็เสียองค์พระมหากษัตริย์”
หลังจาก นั้นหลวงกาจสงครามก็รวบรวมนายทหาร(ส่วนใหญ่จะนอกประจำการ)และพลเรือนทำ การรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และตั้งนายควง  อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่คณะรัฐประหารประกาศตัวไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่ขอยุ่งงานการเมืองใดๆทั้ง สิ้นทั้งปวง!
โดยที่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นหลวงกาจสงครามก็เป็นผู้ที่ มีส่วนร่วมสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งโดยตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารหลวงกาจสงคราม ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้วและซ่อนไว้ที่ “ใต้ตุ่ม” หลังจากรัฐประหารเสร็จท่านก็นำออกมาปรับปรุงก่อนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๐ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้รับฉายาว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม”
และหลวงกาจสงครามนี้เองที่เป็นผู้เปิดเผยแผนการ “มหาชนรัฐ” ใส่ความปรีดี  พนมยงค์ ว่ามีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคมหาชนรัฐที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยเป็น “สาธารณรัฐ” จนเป็นที่โจษจัญไปทั่วและเกิดการจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายรายซึ่งล้วนแต่เป็น กลุ่มของนายปรีดี หลวงกาจสงครามอ้างเรื่องแผนมหาชนรัฐว่าจะก่อให้เกิดการวินาศกรรมครั้งใหญ่ จึงได้ตัดสินใจรัฐประหารเสียก่อน (ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับตนเองและคณะรัฐประหาร) แต่ทว่าหลังจากการตรวจสอบแล้วก็พบว่าแผนมหาชนรัฐนี้เป็นเพียงรัฐธรรมนูญ ของอเมริกา รวมทั้งผู้ต้องหาที่จับมามากมายก็ไม่มีหลักฐานสืบสาวไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับ แผนการมหาชนรัฐ ทำให้ต้องปล่อยไป ทำให้คณะรัฐประหารต้องยอมวางมือในเรื่องนี้ปล่อยให้ตำรวจจัดการแทน นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเป็นอย่างมาก
แต่ ผลจากการรัฐประหารในครั้งนั้นทำให้เป็นการ “ปิดฉาก” คณะราษฎรฝ่ายปรีดี จากศูนย์กลางอำนาจ และเป็นการเริ่มตันของคณะราษฎรฝ่ายทหารที่นำโดยจอมพล ป. และทำให้การเมืองไทยตกอยู่ใต้อำนาจกองทัพอีกครั้ง
และหลัง จากการเลือกตั้งในปี ๒๔๙๑ นายควง  อภัยวงศ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และหลังจากการริหารประเทศเพียงไม่นาน หลวงกาจสงครามพร้อมนายทหารสี่คนก็เดินทางไปที่บ้านพักของนายควงบังคับให้นาย ควงลาออกจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายควงก็ลาออกแต่โดยดี เราเรียกการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “รัฐประหารเงียบ” และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม”
ชีวะประวัติคร่าวๆของ “หลวงกาจสงคราม” ท่านนี้ไม่ธรรมดานะครับ เรียกได้ว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญๆหลายๆอย่างในอดีตมาโดยตลอด แต่ทว่ามีน้อยคนนักหล่ะครับที่จะจำได้ว่ามีคนชื่อ “กาจ  กาจสงคราม” คนนี้อยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่ด้วย!!!!

***หมาย เหตุ บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในวันที่ ๘ พฤศจิกายน เป็นวันที่หลวงกาจสงครามได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ครับ

EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ ?


โดย กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงเวลาปัจจุบันมีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนได้สนับสนุนการใช้ EM (Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายข้อเท็จจริงและให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ EM และจะกล่าวถึงกรณีศึกษาในการบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่มุ่งหวังถึงประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน
ปัญหาน้ำเน่าอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่สารอินทรีย์ในน้ำมีปริมาณสูง เมื่อเกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จึงส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณลดลง และในที่สุดอาจก่อให้เกิดสภาวะไร้อากาศซึ่งส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ค่าการละลายออกซิเจนนับเป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ โดยในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่เน่าเสีย โดยทั่วไปจะมีค่าการละลายออกซิเจนประมาณ 3 - 7 มิลลิกรัมต่อลิตร การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจนสามารถอธิบายอย่างง่ายดังนี้
EM (Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่ม Lactic acid bacteria 2) กลุ่ม Yeast และ 3) กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) เป็นต้น โดยทั่วไป จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม (ปริมาณที่มากไปหรือใส่เข้าไปในสภาวะหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม) ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม
อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้งาน EM กล่าวคือ จุลินทรีย์ใน EM ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวไม่มีความสามารถในการสร้างออกซิเจนแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์ประกอบของ EM ball หรือ Micro ball ซึ่งมีการปั้นโดยใช้องค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กากน้ำตาล และ รำข้าว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างผลกระทบของสารอินทรีย์ข้างต้นต่อการเน่าเสียของแหล่งน้ำ อาทิ
  • กรณีกากน้ำตาล ที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่า เช่น การลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และกรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
  • กรณีรำข้าว อาจพิจารณาการที่เรานำรำข้าว หรือ เศษอาหาร ไปทิ้งไว้ในน้ำในปริมาณมากๆ และเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมส่งผลให้น้ำเน่าเสียเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อโยน EM ball ลงในแหล่งน้ำจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำใน บริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง โดยสารอินทรีย์ดังกล่าวที่ยังคงเหลืออยู่ย่อมก่อให้เกิดความต้องการออกซิเจน ในน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงได้  และแม้แต่จุลินทรีย์ใน EM เอง เมื่อตายไปก็นับเป็นแหล่งสารอินทรีย์ในน้ำเช่นกันซึ่งก็ยังต้องใช้ออกซิเจน ในการย่อยสลายเช่นกัน  ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์ (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น)
ทั้งนี้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำท่วมขังควรกระทำภายใต้สภาวะที่มีอากาศหรือ ออกซิเจนเท่านั้น  การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศถือได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในแหล่ง น้ำ โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่าการบำบัดสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมีลักษณะแตกต่างจากการ บำบัดสารอินทรีย์ในสุขา และการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ย  (ซึ่งมีการใช้ EM ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่เป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงคุณภาพแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพแหล่งน้ำดังที่กล่าวไว้ในบท ความก่อนหน้านี้ (http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3881)
ถึงแม้ EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่นและทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง กล่าวคือน้ำดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้และไม่ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด และอาจยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ได้อยู่  นอกจากนี้ หากมองถึงประเด็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM ในแบบต่างๆ ด้วยตนเอง จุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอ EM และ น้ำหมักชีวภาพอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวังและไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกๆ หน่วยงานและภาคส่วนที่มีสนับสนุนการใช้ EM เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง
ผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้) ได้ให้ข้อมูลว่าจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพยายามจัดการ แก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่รณรงค์ร่วมกันใช้ EM เพื่อบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น (กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถของ EM ในการบำบัดน้ำเสีย และพบว่า EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ในการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่แนะนำการใช้ EM ในการบำบัดน้ำเสียในสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สึนามิซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียถูกทำลาย ทางหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยการเติมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในท่อบำบัดน้ำเสีย  และเลือกใช้การตกตะกอน (Sedimentation) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) เพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว รวมถึงได้มีการวางแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราวโดยใช้ระบบบำบัดทาง ชีวภาพร่วมกับการตกตะกอน และการฆ่าเชื้อโรค  (Biological treatment - Sedimentation - Disinfection) ส่วนในบริเวณชนบทนั้น ดำเนินการบำบัดน้ำเสียโดยทำการรวบรวมน้ำเสีย และทำการการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกระทั่งระบบบำบัดขนาดเล็กได้รับการฟื้นฟู
ทั้งนี้ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจดีถึงความปรารถนาดีของทุกฝ่ายในการช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้น หากแต่อยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของ EM เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในปัจจุบัน
Content maintained by (04 Nov 11)
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง