ดร.วิษณุ เครืองาม
ปีหนึ่งๆมีโอกาสสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง ทั้งที่เป็นโอกาสประจำ เช่น วันเฉลิมชนมพรรษา วัน
คล้ายวันราชาภิเษกสมรส วันฉัตรมงคล และโอกาสจร เช่น
ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ
อย่างคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
และสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 เมื่อไม่กี่วันมานี้
พอ
ถึงโอกาสอย่างนั้นเข้าทีหนึ่งก็มีเรื่องให้ต้องพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้า
อยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐทีหนึ่ง ไม่ว่าในเรื่องพระราชจริยวัตรอัธยาศัย
พระมหากรุณาธิคุณด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันสุดจะหาสิ่งใดเปรียบปาน
หรือพระปรีชาสามารถเข้าพระทัยในการประยุกต์สรรพวิทยามาใช้แก้ปัญหาของชาติ
บ้านเมืองได้อย่างเหมาะเจาะ
วันนี้ก็ต้องพูดถึงกันอีกครั้ง เรื่องอันเป็นมงคลยิ่งพูดถึงบ่อยๆ ยิ่งเป็นมงคลต่อผู้พูดและผู้ได้ยินได้ฟัง
พระราชบรรพบุรุษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางฝ่ายพระบรมราชชนกนั้นสืบย้อนไปได้ถึงรัชกาลที่ 1 และ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) พระราชบรรพบุรุษชั้นนี้มีเชื้อสายมอญ
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ 1 คือรัชกาลที่ 2 ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 และเจ้าสัวเงิน จีนแซ่ตันจากปักกิ่ง
พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 คือรัชกาลที่ 4 พระราชบรรพบุรุษชั้นนี้จึงมีเชื้อสายจีน วันตรุษวันสารทจึงยังมีพิธีเซ่นไหว้พระป้ายบรรพบุรุษตามแบบจีนจนบัดนี้
รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำเพย หลานปู่รัชกาลที่ 3 เป็นพระมเหสี ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ มีพระราชโอรสคือรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นหลานทวดรัชกาลที่ 1 หลานปู่รัชกาลที่ 2 และหลานทวด (ทางแม่) ของรัชกาลที่ 3
รัชกาลที่ 5 ทรง
สถาปนา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา พระราชธิดาในรัชกาลที่
4 แต่ต่างพระครรภ์กันเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี
ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และสมเด็จพระพันวัสสา
อัยยิกาเจ้าตามลำดับ
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบรมราชเทวีคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย
แต่เพราะทิวงคตเสียตั้งแต่วัยหนุ่ม ลำดับการสืบราชสมบัติจึงเคลื่อนไปยังพระราชโอรสพระองค์อื่นของรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าองค์อื่น ซึ่งได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6 และ 7
เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรง
สละราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุไม่มีพะราชอนุชาและพระราชโอรส
ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467
ซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น ลำดับการ
สืบราชสมบัติจึงย้อนกลับมาทางสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์
พระราชอนุชาในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
แต่
เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ ทิวงคตแล้ว
กฎมณเฑียรบาลยอมให้พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ
เลื่อนขึ้นมามีสิทธิรับราชสมบัติได้คือพระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าชายอานันทมหิดล ทรงเป็นรัชกาลที่ 8
เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคต
ใน พ.ศ. 2489 และยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส ราชสมบัติจึงตกแก่พระราชอนุชา
สมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล
ปัจจุบัน
รัชกาลที่ 9 จึงทรงเป็นหลานปู่รัชกาลที่ 5 หลานทวดรัชกาลที่ 4 เหลนทวดรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ส่วน
พระราชบรรพบุรุษทางฝ่ายพระบรมราชชนนีเป็นสามัญชน
เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้อยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ
และทรงได้ทุนไปศึกษาวิชาพยาบาลในสหรัฐอเมริกาจนได้ทรงพบรักกับสมเด็จเจ้าฟ้า
มหิดลฯ บัดนี้สตรีผู้ทรงบุญญาธิการนั้นคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระ
บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประสูติที่โรงพยาบาลชานเมืองบอสตันในมลรัฐแมสซาซู
เซตส์ สหรัฐอเมริกา โรงพยาบาลนั้นบัดนี้ย้ายที่ตั้งแล้ว
แต่ยังมีแก่ใจทำป้ายติดว่า ณ ที่แห่งนี้
ทารกซึ่งถือกำเนิดคนหนึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย
และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ประสูติในประเทศสหรัฐ
อเมริกา
วันนั้นคือวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 ขณะประสูติ ดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชาย และยังไม่มีเค้าว่าต่อไปจะได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ เหตุผลคือ รัชกาลที่ 7 ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระชนกก็ยังอยู่ พระเชษฐาก็ยังอยู่ และรัชกาลที่ 7 จะทรงสมมุติยกเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ใดเป็นรัชทายาทก็ได้
เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิรา ฯ ทรงทราบข่าวว่าหม่อมในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ประสูติพระกุมารเป็นชายก็ได้เสด็จไปเฝ้ารัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานพระนามแก่พระราชนัดดาซึ่งทรงตั้งให้ว่า “ภูมิพลอดุลเดช” แปลว่ามีเกียรติยศยิ่งใหญ่และเป็นกำลังของแผ่นดิน พระนามนี้แต่แรกไม่มี “ย” แต่ต่อมาเป็นภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อ
ครอบครัวมหิดลเสด็จกลับเมืองไทย
พระองค์เจ้าภูมิพลอดุยเดชได้ประทับอยู่ที่วังสระปทุมของสมเด็จพระศรีสวรินทิ
ราฯ พระอัยยิกา ทรงรับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี
ขณะที่พระพี่นางทรงเรียนที่โรงเรียนราชินี
พระเชษฐาทรงเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์
เมื่อพระชนกสิ้นพระชนม์ ครอบครัวมหิดลได้เสด็จไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ครั้น พ.ศ. 2477 พระโอรสพระองค์ใหญ่ในราชสกุลมหิดลได้เป็นรัชกาลที่ 8 พระโอรสพระองค์เล็กจึงได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชอนุชา
แต่แรกทรงเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์เพราะโปรดวิชาช่าง ครั้นเมื่อต้องทรงรับราชสมบัตินับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 จึงทรงเปลี่ยนไปศึกษาทางกฎหมายและการปกครอง
เคย
รับสั่งเล่าว่าได้ทรงศึกษากฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายปกครอง
กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ครั้งหนึ่งเคยทรงโต้แย้งทางวิชาการกับนักกฎหมายใหญ่ในขณะนั้นคือ ดร. หยุด แสงอุทัย จนต้องเปิดตำราเยอรมันว่ากันข้อนี้มา
สมกับที่ ดร. หยุด เคยเล่าให้ผมฟังว่า “มารู้ที่หลังว่าถูกของพระองค์ท่าน เพราะผมเองใช้ตำราหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่พระองค์ท่านทรงใช้ตำราฉบับแก้ไขใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ”
แม้จะทรงครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุยน 2489
แต่เพราะต้องเสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
และต้องรอให้การถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 8 ผ่านพ้นไป
จึงทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามโบราณราช
ประเพณี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งถือเป็นวันฉัตรมงคล แต่การนับอายุรัชกาลต้องนับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แล้ว
การ
เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวรในช่วงก่อน พ.ศ. 2500
เป็นการเริ่มการปฎิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์อย่างเต็มพระ
กำลัง
เริ่ม
ตั้งแต่การเสด็จออกทรงผนวช การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด
การเสด็จประพาสต่างประเทศ
การมีพระราชดำริเริ่มโครงการต่างๆมากมายเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐในการช่วย
เหลือประชาชน และการใกล้ชิดกับราษฎรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าตำรวจ ทหาร
ข้าราชการ พลเรือน นักศึกษา เกษตรกร ชาวเขา หรือพ่อค้าวาณิช
แม้
แต่กับรัฐบาล
ก็พระราชทานพระมหากรุณาแก่ทุกรัฐบาลโดยเสมอหน้าชนิดที่รัฐบาลใดจะอ้างว่าตน
ได้รับละอองแห่งพระมหากรุณามากน้อยต่างกันไม่ได้เลย
พระราชสิทธิในฐานะพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานคำแนะนำ คำ
ตักเตือน
พระราชสิทธิที่จะพระราชทานกำลังใจและพระราชสิทธิที่จะรับคำกราบทูลถวาย
รายงานข้อราชการบ้านเมืองนั้นทรงใช้แก่ทุกรัฐบาลโดยเสมอหน้ากัน
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลโดยหน้าที่ต่างๆกันถึง 15 ปี ผมขอยืนยันว่าพระองค์ทรงมีมาตรฐานเดียวโดยตลอด
จะต่างกันก็ที่โอกาส เช่น คณะรัฐมนตรีบางคณะเข้ามาในช่วงที่ทรงพระประชวร
บางคณะมีราชการงานเมืองต้องเข้าเฝ้าฯ ขอ
พระราชทานมหากรุณาบ่อยหรือห่างตามเหตุการณ์
ในการมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และการทรงงานใดๆ ไม่มีเลยสักเรื่องที่จะแสดงว่าทรงรับเอาประโยชน์ส่วนพระองค์แม้พสกนิกรจะเต็มใจถวาย
สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ คราวหนึ่งประจวบโอกาสครองราชย์ครอบ 25 ปี (พ.ศ. 2514) รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และถาวรวัตถุใหญ่โต “ที่สุดในประเทศ” ถวาย รับสั่งว่าสิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า นี่คือที่มาของถนนรัชดาภิเษก
สมัย
คุณบรรหารเป็นนายกฯ เคยกราบบังคมทูลว่า
จะสร้างทาวเวอร์หรือหอคอยสูงใหญ่ข้างสะพานพระราม 9 ใช้เป็นหอดูวิว
หอโทรคมนาคม และเฉลิมพระเกียรติ
รับสั่งว่าเทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคมและเปลืองเงินเปล่าๆ
นายกฯคนหนึ่งเคยกราบบังคมทูลถามว่า ที่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ตอนพลบค่ำคนมักมาจุดประทัดแก้บน บางทีก็ยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ดังรบกวนมาถึงสวนจิตรฯ หรือไม่ รับ
สั่งว่า อยู่ที่หลักการว่าทำอย่างนั้นผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ต้องห้าม
แต่ถ้าเป็นเสรีภาพก็ต้องปล่อยไป รำคาญหนวกหูก็ต้องทน
อย่าใช้มาตรฐานสวนจิตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลมาตัดสิน
สมัยนายกฯทักษิณ เคยกราบบังคมทูลว่า
เมื่อ
ประทับรักษาพระองค์ที่วังไกลกังวลอย่างนี้
รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังปรับปรุงวังไกลกังวล
ให้สะดวกสบายสมกับที่จะใช้เป็นที่ประทับยาวนนาน
รวมทั้งจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัยพร้อมทุกประการ
รับสั่งว่า การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคนถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเรื่องพระสำราญ “แค่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว”
รัฐบาลหลายคณะ เคยออกกฎหมายที่มุ่งจะเฉลิมพระเกียรติเช่นมีคำว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช”
มีพระราชกระแสให้รัฐบาลนำกลับไปปรับปรุงเพราะ “ไม่อาจทรงสถาปนาพระองค์เองได้” เช่นเดียวกับที่ใน พ.ศ. 2512 ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติยศทหารซึ่งถวายพระยศ ทางทหารเป็น จอมพล จนร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเองในที่สุด
รัชกาล
นี้ทรงลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายมาแล้ว ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
พระราชกฤษฎีกานับหมื่นฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษ
ฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความเป็นธรรมอีกหลายพันราย
บางรายขอพระราชทานยืมเงิน บางรายขอความเป็นธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย
ราย
หนึ่งพ่อตาย ลูกชายบวชหน้าไฟให้พ่อ อยู่มาก็ไม่ยอมสึก
แม่มีลูกชายคนเดียวทำหนังสือถวายฎีกาว่าเดือดร้อนหนัก
ขอพระมหากรุณาให้ลูกสึกมาช่วยเลี้ยงแม่เถิด
โปรดให้ตรวจสอบแล้วมีพระราชกระแสว่า แท้จริงแม่ไม่ได้อยากให้ลูกสึก
แต่ปัญหาคือแม่ลำบากยากจน จึงโปรดให้กรมประชาสงเคราะห์เข้าไปช่วยดูแล
สอนอาชีพให้และหาเครืองมือทำมาหากินไปให้แม่ ลงท้ายแม่ก็ทำมาหากินได้
ส่วนลูกก็อยู่ไปจนเป็นสมภาร
พระ
บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงเคราะห์ทั้งส่วนรวมและพระองค์เองเพื่อจะได้มี
พระอนามัยดีทรงงานเพื่อส่วนรวมต่อไป จึงทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ
ทรงเล่นคอมพิวเตอร์ ทรงฉายภาพ ทรงกีฬา ทรงวาดรูป ปั้นรูป ทรงงานไม้งานช่าง
จะทรงจับงานด้านใดก็ทรงทำได้ดี
ที่คนไม่ใคร่ทราบคือทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องภาษาไทย
การศึกษา ระบบสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข และพุทธศาสนา
ส่วนที่ทรงพระปรีชาทางดิน น้ำ ระบบระบายน้ำ
และการแก้ปัญหาจราจรนั้นเป็นที่ทราบทั่วไปอยู่แล้ว
เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมเคยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานคำแนะนำเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยหลายหน
ครั้งหนึ่งได้ถวาย “รายชื่อ” บุคคลให้ทรงแต่งตั้ง รับสั่งถามว่า ตั้งกี่คน ผมกราบบังคมทูลว่าคนเดียว ตรัสว่าคนเดียวเรียกว่า “ชื่อ” ถ้า “รายชื่อ” ต้องหลายคน
อีกคราวหนึ่ง มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาเพื่อทรงพิจารณา” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ถ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็อยู่บนกระหม่อมยังไม่ถึงฉัน ถ้าจะให้ถึงฉัน ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาเพื่อทรงพิจารณา”
ใน
ทางพระพุทธศาสนาก็ปรากฎว่าทรงรอบรู้ทั้งในทางปฎิบัติและปริยัติ
ทรงรู้จักพระเป็นอันมาก
เมื่อตรัสถึงเหตุการณ์ครั้งใดจะทรงย้อนไปถึงเรื่องราวครั้งเก่าก่อน เช่น “ครั้งสมเด็จพระสังฆราชยังเป็นพระญาณวราภรณ์” “ ครั้นเจ้าคุณประยุทธยังเป็นพระราชวรมุนี”
และ
เคยตรัสเล่าเรื่องราวความเป็นอัครศาสนูปถัมภก ว่า ต้องทรงอุปถัมภ์
และคุ้มครองทุกศาสนา โดยไม่เลือกปฎิบัติ ทรงเล่าพระราชทานว่า
ครั้งหนึ่งควีนจากประเทศหนึ่งทูลถามว่า
พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าแล้วชาวพุทธนับถืออะไรกัน เหตุใดไม่ยกพระพุทธเจ้าเป็น
god เสียเลย
ได้ทรงตอบว่า พุทธศาสนานับถือ “ธรรม”
เรานับถือธรรมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก
และได้ตรัสเล่าต่อไปว่า แม้ศาสนาอื่นก็ยังต้องทรงอุปถัมภ์
ฉะนั้นในฝ่ายพุทธศาสนาขอให้ทุกคนวางใจเถิดว่า จะเป็น เถรวาท มหายาน
รามัญนิกาย มหานิกาย ธรรมยุต
ก็ต้องทรงคุ้มครองและพระราชทานความเป็นธรรมเสมอกัน
รัชกาล
ที่ 5 นั้น อะไรที่ไม่เคยมีและไม่มีคนไทยคนใดนึกว่าชีวิตนี้จะมี
แต่ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีขึ้นเป็นขึ้นทั่วถ้วน เช่น โรงเรียน
โรงพยาบาล รถไฟ ไปรษณีย์ เลิกทาส จนคนรุ่นก่อนหน้านั้นต้องคิดว่าเหลือเชื่อ
แต่รัชกาลที่ 9นั้น อะไร
ที่ควรจะมีควรจะคิดออก ควรจะทำเป็นนานแล้ว
แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ใคร่คิดไม่ใคร่ทำ
ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีให้เป็นขึ้น เช่น เขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ
ถนน สะพาน การสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน คนประสบภัยธรรมชาติ
การแก้ปัญหาจราจร การเพิ่มผลผลิตการเกษตร การแก้ปัญหาความยากจน
ปัญหาพลังงาน
สมัยผมเป็นเลขาธิการ ครม. ต้อง
ทูลเกล้าฯถวายเอกสารใส่ซองขนาดใหญ่สีขาวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
รับสั่งต่อไป หน้าซองไม่ต้องเขียนเลขที่หนังสือ
จะได้หมุนเวียนกลับลงมาใช้หลายหน ไม่ต้องทิ้ง แม้แต่เรืองเล็กๆก็ควรประหยัด
เวลาร่างกฎหมายโปรดให้ถวายปะหน้า 2 แผ่น
เผื่อว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหมึกซึมเลอะ
จะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องรอถวายใหม่ เวลาตั้งรัฐมนตรีใหม่จะต้องเข้า
เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฎิญาณ
จะตรัสว่าให้รีบมาจะได้รีบไปทำงานไม่ต้องห่วงว่าติดเสาร์อาทิตย์
ประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ
พระมหากรุณาธิคุณปานนี้จะหาได้จากที่ไหนอีกเจ้าประคุณเอ๋ย!
ปี 2538 สมเด็จ
พระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต
ลองคิดดูว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวิปโยคขนาดไหน
เสด็จไปทรงสดับพระพิธีธรรมที่พระที่นั่งดุสิตฯ ทุกราตรี
แต่ทราบกันบ้างหรือไม่ว่าพอพระสวดจบ
เสด็จลงมาประทับที่พระที่นั่งราชกรัณยสภาใกล้ๆกัน
พระราชทานคำแนะนำการแก้ปัญหาจราจรแทบทุกคืน
ปี
2553 อยู่ระหว่างประชวรประทับในโรงพยาบาล
พระราชกรณียกิจอื่นภายนอกโรงพยาบาลทรงงดเสียเกือบสิ้น
แต่การเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
ทอดพระเนตรโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและเปิดสะพานระบายการจราจรเพื่อพสกนิกรของ
พระองค์ เป็นเรื่องที่ทรงถือเป็นกิจสำคัญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นยอดแห่งผู้อดทน อด
กลั้น
ในการประกอบพระราชกรณียกิจนั้นย่อมมีทั้งร้อนทั้งหนาวยาวนานและน่าเหนื่อย
หนัก ดูเอาจากการพระราชทานปริญญาบัตรเถิด
แม้แต่ที่ต้องทรงอดกลั้นด้วยขันติบารมีในคำจ้วงจาบหรือระคายเคืองเบื้องพระ
ยุคลบาทอีกไม่รู้เท่าไร อย่าลืมว่า พระชนมพรรษา 83 แล้ว ทรงงานมา 64 ปีแล้ว
ดะไลลามะเคยพูดว่าใครอย่ามาชมตัวท่านเลยว่าเป็นยอดคน ไปดูที่พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยเถิด
ผมเคยไปเฝ้าฯเจ้าชายจิกมี กษัตริย์หนุ่มแห่งภูฎาน ตรัสว่ากษัตริย์ของท่านเป็นแบบอย่างของข้าพเจ้าในการจะครองราชย์ให้คนรัก
สุลต่านบรูไนที่เป็นผู้แทนกษัตริย์ 25 ประเทศ ถวายพระพรในคราวฉลองการครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยทูลว่า การครองราชย์นานถึง 60 ปีเป็นเพียงตัวเลข สำคัญอยู่ที่ว่า 60 ปีนั้นได้ทำอะไร
“เป็น
ที่ประจักแล้วว่า ฝ่าพระบาททรงทำทุกอย่างตลอด 60 ปี
ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวไทย ชาวเอเซีย และชาวโลก
วาระนี้จึงทรงเป็นความภาคภูมิใจของบรรดาพระราชามหากษัตริย์ทั้งปวงโดยทั่ว
กัน”
เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2552 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ความสุขความสวัสดีของพระองค์จะมีได้ก็ด้วยการที่บ้านเมืองมีความเรียบร้อย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มีแต่ทรงให้พวกเรามาตลอด แต่พระราชดำรัสนี้มีนัยเป็นทั้งสิ่งที่ “ทรงหวัง” “ทรงบอกให้รู้” และ”ทรงขอ” ซึ่งน่าจะทรงประสงค์ยิ่งกว่าคำถวายพระพร ” ทรงพระเจริญ”
ไหนว่า ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย
แล้วเรื่องอย่างนี้เราคนไทยจะพร้อมใจกันจัดถวายได้ไหมครับ
0 0 0