วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

ฤา ปรองดองจะเป็นผลไม้พิษ!



เมื่อไม่นานมานี้ ‘สยามประชาภิวัฒน์’ จัดเสวนาปฏิรูปประเทศไทยขึ้น โดย นายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกาและนักกฎหมายมหาชน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผลไม้มีพิษ เกิดจากต้นไม้ที่มีพิษจริงหรือไม่?” โดยเนื้อหาเน้นไปในเรื่องของ “เผด็จการนายทุนพรรคการเมือง” ด้านตัวแทนสถาบันพระปกเกล้า ยันผลวิจัยฯ ไม่ได้มองว่า รัฐประหาร 49 เป็นต้นไม้พิษ แต่ยอมรับที่ผ่านมา มีเผด็จการรัฐสภา และปัญหาทุจริต

จากประเด็นที่มีคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมีชื่อหลายแห่งมองว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย อันเนื่องจากมีที่มาจากการปฏิวัติ และชักชวนให้ล้มล้างผลพวงที่มาจากการปฏิวัติหรือการรัฐประหารปี 2549 เพราะเห็นว่าเป็นความไม่ชอบธรรมขัดกับหลักของประชาธิปไตยเปรียบเสมือนผลไม้ ที่มีพิษ มาจากต้นไม้ที่มีพิษ โดยผลไม้มีพิษที่มีการกล่าวถึง และยังเหลืออยู่ในขณะนี้ คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 กับผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ร่างขึ้นตามกระบวนการที่คณะปฏิวัติกำหนดไว้ และยังคงใช้ระบบสถาบันการเมืองที่เป็นระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ซึ่งการที่นายทุนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองจะมีอำนาจในการกำหนดตัวบุคคล ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ตนรู้สึกแปลกใจที่นักนิติศาสตร์ในปัจจุบันมองไม่เห็นอำนาจนายทุนพรรคการ เมือง ที่มีอยู่เหนือรัฐบาล และเหนือ ส.ส. ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า อาจารย์ นิติศาสตร์ และนักวิชาการมองดูการบริหารประเทศเหมือนกับกำลังดูละครบนเวที

นายอมร ยังเห็นว่าผลงานการพิจารณาคดี ของ คตส. ที่ในรายงานผลการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า ที่การเสนอให้เพิกถอนผลทางกฎหมาย ที่ดำเนินการ คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการใหม่ตามกระบวนการยุติธรรม โดยให้เหตุผลเพียงว่าเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และลดเงื่อนไขข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ตนเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าไม่ได้ชี้แจงว่า การดำเนินคดีในศาลยุติธรรมได้ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ซึ่งข้อเสนอนี้ไม่แตกต่างกับข้อเสนอของคณะอาจารย์นิติศาสตร์ รวมทั้งไม่ชี้แจงให้ชัดเจนว่าเหตุใดกระบวนการของ คตส.ไม่เป็นการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งไม่ได้วิจัยให้เห็นว่ากระบวนการในขั้นตอนใด ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรม

“หากมีการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมใหม่นั้น ผมก็ ไม่เข้าใจว่า จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมได้มากกว่าการ สอบสวนของ คตส.อย่างไร เพราะในปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่า การปฏิวัติเมื่อปี 2549 เกิดความล้มเหลวที่ไม่ได้มีการศึกษาปัญหาของประเทศมาก่อน ว่าเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติ ที่เป็นความไร้ประสิทธิภาพการควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน จนทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง และไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้นั้น เกิดมาจากอะไร” นายอมร กล่าว และว่า “หลังจากนี้ประเทศ จะไม่มีอนาคตหากไม่มีการยกเลิกระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน และประเทศไทยอย่าเพิ่งคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ หรือปัญหาการเสียดินแดนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากแก้ระบบการบริหารประเทศยังไม่ได้ ก็คงแก้ปัญหาไม่ได้” นายอมร กล่าว

แม้สถาบันพระปกเกล้าได้ทำรายงานการวิจัยแนวทางการ ปรองดองแห่งชาติ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง แห่งชาติ ข้อเสนอ ของงานวิจัยดังกล่าวกลับตรงกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ราวกับคัดลอกกันมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการยกเลิกผลทางกฎหมายของ คตส.ด้วยข้ออ้างตาม วาทกรรม “ต้นไม้มีพิษ ย่อมให้ผลไม้ที่มีพิษ”

หลังจากจบการปาฐกถา เข้าช่วงของการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การปรองดอง VS การปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร นักวิชาการวิทยาลัย การเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะคณะผู้วิจัยของโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

น.ส.ณัชชาภัทร กล่าวว่า ในฐานะ 1 ในคณะผู้วิจัยฯ มองว่า รัฐประหารปี 2549 ไม่ใช่ต้นไม้พิษ และคตส.ไม่ใช่ผลไม้พิษ แต่ค้นพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีอะไรปรองดอง รวมทั้งการล้มล้างผลพวงรัฐประหารไม่ได้ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ เพราะยังมีเผด็จการรัฐสภา และเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เนื่องจากมีปัญหา นายทุนพรรคการเมือง ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ขณะที่ภาคประชาชนก็ต้องเข้ามามีบทบาทตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง ซึ่งตนขอเรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบพร้อมกับสถาบันพระปกเกล้า ในการนำผลการวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติไปใช้ เพราะเกรงว่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง และเกรงว่าจะมีการใช้เสียงข้างมากลากไป

สำหรับการนิรโทษกรรมนั้น ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้รับประโยชน์ แต่คนที่ได้รับประโยชน์จะเป็นผู้ที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในรายงานเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน คือจะไม่ดึงสถาบันลงมาเล่นการเมือง รวมทั้งต้องมีการยกเลิกหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะถือเป็นการยั่วยุ ทั้งนี้ น.ส.ณัชชาภัทร กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตนมาดี เพราะอยู่ในกลุ่มที่ถือมีดพร้อมจะแทงสถาบันพระปกเกล้า และถูกตราหน้าเป็นจำเลยสังคม ซึ่งยืนยันว่าตนมาเพื่อปรองดอง และทุกคำถามจะนำกลับไปเขียนรายงานให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบ

ด้านนายพิชาย กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับสถาบันพระปกเกล้าอย่างรุนแรงที่ไม่กล้าประกาศจุดยืน และไม่ถอนรายงาน ผลการวิจัยการสร้างความปรองดองออกจากสภาฯ เหตุใดคนของสถาบันพระปกเกล้าจึงไปเชื่อว่าสภาฯ จะไม่ใช้เสียงข้างมากลากไป เพราะ พล.อ.สนธิ และพรรคเพื่อไทยมีสัญญาณชัดเจน ว่าขณะนี้ ได้เลยขั้นตอนของสถาบันพระปกเกล้าแล้ว และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะมีการนำงานวิจัยไปสู่เป้าหมายตั้งแต่แรก คือการนิรโทษกรรม ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้าเสนอข้อเสนอต่างๆ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ ทั้งที่มีการวิเคราะห์แต่ไม่ครบถ้วน

ข้อเสนอที่ระบุว่า ให้มีการพูดคุย แต่ในข้อเสนอระยะสั้น และระยะยาว สถาบันพระปกเกล้าไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่าต้องทำข้อ 1 ก่อน เพียงแต่บอกให้พูดคุยประเด็นต่างๆ และการเสนอ 4 ประเด็น ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่วิเคราะห์แต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีการเสนอภายใต้งานที่เป็นกลาง แต่เป็นข้อเสนอที่ชี้นำ ซึ่งตนเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ความปรองดอง แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม การที่ยินยอมให้รัฐสภาพิจารณาผลการวิจัยต่อไปนั้น สถาบันพระปกเกล้าก็เปรียบเสมือนการเอาเรือที่ตัวเองสร้างขึ้นไปให้โจรนั่งไป ปล้นประเทศ ซึ่งตนขอเรียกร้องให้มีการนำผลการวิจัยออกจากสภาฯ ในทันที เพราะคิดว่าขณะนี้สถาบันพระปกเกล้ากลายเป็นเหยื่อของนายทุน

ด้าน นายจุมพล กล่าวว่า ผลการวิจัยเป็นการบรรยายให้ครบองค์ประกอบไม่ได้ชี้ชัดว่ามีอะไรบ้าง รวมทั้งรากเหง้าของความขัดแย้ง เกิดจากตัวนักการเมืองที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง หรือการมุ่งรักษาประเทศชาติ และประชาธิปไตยเสียงข้างมาก หรือประชาธิปไตยจริยธรรมที่ไม่ได้อธิบายความแตกต่าง ให้สังคมได้ตระหนัก ขณะที่กระบวนการพูดคุย ที่ไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสินนั้น แต่ กมธ.ปรองดอง กลับใช้เสียงข้างมากเสนอเข้าไปในสภาฯ โดยไม่ฟังผู้อื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน ว่า การได้มาซึ่งเสียงข้างมาก อยู่ในบริบทความรู้ ความเข้าใจว่า ตัวเองใช้เสียงข้างมากหรือไม่ โดยไม่เข้าใจสาระสำคัญของเสียง

“ทั้งนี้การปรองดอง โดยการปรองดองกับการปฏิรูปประเทศไทย ต้องทำทั้งประเทศ ต้องปรองดองทั้งหมดไม่ใช่บางส่วน หรือบางกลุ่มในสังคม แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าการปรองดองนั้น ใครจะปรองดองกับใคร ซึ่งอยากให้เกิดการปรองดองจากประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้มากที่สุด” นายจุมพล กล่าว

สุดท้ายแล้วการปรองดองเองหรือไม่ที่จะกลายเป็น ผลไม้พิษ ซึ่งอาจปลูกโดยน้ำมือของสถาบันพระปกเกล้าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจะมีใครที่แอบหยิบเมล็ดไปใส่มือผู้ปลูกก็หารู้ได้ไม่..ประเทศไทยจะ ปรองดองกันแบบไหนหนอ???



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น