วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โครงการพระราชดำริ‘คลองลัดโพธิ์’หนึ่งในพระอัจฉริยภาพ

เป็นที่แจ้งประจักษ์ชัดว่าน้ำพระ ทัยแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริง นับจากที่ทรงมีปฐมบรมราชโองการเมื่อคราวเสด็จ เถลิงถวัลยครองสิริราชสมบัติว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” กระทั่งถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 60 ปีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรม หรือธรรมของพระราชาด้วยพระวิริยอุตสาหะสร้างความร่มเย็นผาสุก และความอุดมสมบูรณ์แก่ประเทศชาติ ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีพระราชกรณียกิจสำคัญๆ อีกน้อย ใหญ่เกิดขึ้นอย่างมากมาย

โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งเรื่องของน้ำท่วม น้ำใช้ในภาคการ เกษตร ไปจนกระทั่งเรื่องของปัญหาน้ำเสีย พระองค์ทรงสนพระทัยในการแก้ปัญหาทุกๆ เรื่อง กระทั่งก่อเกิดเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริหลายๆ โครงการทั้งเรื่องของคันกั้นน้ำ, ทางผันน้ำ, เขื่อนเก็บกักน้ำ ฯลฯ ล่าสุดกรณีโครงการคลองลัดโพธิ์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าขานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีมหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

ย้อนอดีตเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ถือเป็นอีกหน้าในประวัติศาสตร์ไทยเพราะนอกจากจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทาง ชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ยังได้ เสด็จไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพาน ภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ที่อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ด้วย ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในห้วงเวลาประทับฟื้นฟู พระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่เพราะด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ประกอบกับสายพระเนตรอันยาวไกลที่หวังจะปัดเป่าแก้ไขความทุกข์ร้อนของประชาชน

โดยเฉพาะเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางในปี 2538 พระองค์ได้ทรงพระราชทานแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมแก่ นายรุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทาน พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และนายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรม ชลประทาน และกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาในขณะนั้น ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการ ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร เพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงสู่ทะเลได้สะดวกและ รวดเร็วขึ้น อันจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างดี

โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้รับสนองพระราชดำริดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์จากเดิมที่มีสภาพตื้น เขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือขนาด กว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ความยาวรวม 600 เมตร

ด้วยพระอัจฉริยภาพ คลองลัดโพธิ์บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ ตำบลบางกระเจ้า จากเดิมที่ตื้นเขิน กว้างเพียง 10-15 เมตร ได้กลายเป็นคลองน้ำลึก ลด ระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้า พระยา จาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร อีกทั้งลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที นอกจากนี้พลังน้ำที่ระบายผ่านคลองยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเพิ่มทาง เลือกในการใช้ไฟฟ้าและลดภาวะโลกร้อนจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ได้ด้วย ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้ง แต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 161.4 ล้านบาท/ปี และประโยชน์ ทางอ้อมอื่นๆ ทั้งช่วยลดภาระการป้องกันน้ำท่วม ลด การสูญเสียทรัพย์สินและเวลาในการเดินทาง ประหยัด ค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำ ของระบบป้องกันน้ำท่วมเดิม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงลดภาระการบริหารงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้าของภาครัฐได้อีกด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งแห่งอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่าง หาที่สุดมิได้ สำหรับโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อีกหน้าในประวัติศาสตร์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น