เปิดกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ทั่วโลก เว็บดัง ‘กูเกิ้ล’แฉ ‘ไอซีที’แจ้งถอดคลิปหมิ่นฯอื้อ ‘ส.ศิวรักษ์’ แนะคอป.-กสม. กลั่นกรองก่อนเอาผิด
โดย เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ
จุดเริ่มต้นจากคดี ‘อากงSMS’ลุกลามก่อให้เกิดการปลุกระดม ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนหลายคนมองว่า เป็นความเข้าใจที่ผิดและส่อเจตนาแอบแฝง โดยเฉพาะการใช้ ‘อากง’เป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว หรือแอบแฝงให้เป็นประเด็นทางการเมือง เนื่องจากเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ของคนในสังคม กอปรกับการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่ช่วยปลุกกระพือประเด็นนี้ให้กลายเป็นเรื่อง ‘ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายเดวิด สเตร็คฟัส ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เขียนหนังสือ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เปิดเผยข้อมูลการเพิ่มขึ้นของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเวที เสวนาเรื่อง “การเมืองใน Lese Majesty Lese Majesty ในการเมือง” จัดโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยอ้างอิงข้อมูลของศาลยุติธรรมของไทยว่า ในปีที่ผ่านมา (2553) มีการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจำนวนทั้งสิ้น 478 คดี เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เทียบกับปี 2552 ซึ่งมี 164 คดี และปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 126 คดี
ศูนย์ข่าว TCIJ ตรวจสอบพบว่า www.google.com เปิดเผยเว็บไซต์ชื่อ Government Requests Tool แสดงข้อมูลจากการร้องขอจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ส่งคำร้องมายัง google ให้ลบข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ออกไป พร้อมทั้งได้ทำรายงานเผยแพร่ทุกๆ 6 เดือน พบว่า จากข้อมูลระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค.2554 กูเกิ้ลเปิดเผยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของไทยได้ส่งคำร้องไปยังกูเกิ้ล 2 ครั้ง เพื่อให้ถอดวีดิโอหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 225 ชิ้น ออกจากเว็บไซต์ยูทูบ www.youtue.com ซึ่งทางกูเกิ้ลได้ตอบรับคำร้องขอและปิดไม่ให้วีดิโอเหล่านั้น เข้าถึงได้จากประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 90 ของวีดิโอทั้งหมด
นอกจากนี้เว็บไซต์ Blognone มีการรายงานสอดคล้องกับรายงานของกูเกิ้ลด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังในปี 2553 โดยเฉพาะในปลายปี 2553 รัฐบาลไทยได้ส่งคำร้องไป 1 ครั้งเพื่อขอให้ถอนวีดิโอออกจาก YouTube จำนวน 43 ชิ้น และวีดิโอทั้งหมดถูกจำกัดไม่ให้สามารถเข้าถึงได้จากประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานว่ารัฐบาลไทยร้องขอข้อมูลผู้ใช้ ( User Data Requests) ไปยังกูเกิ้ล และจากผลสำรวจในประเทศแถบอาเซียนด้วยกันแล้ว พบว่า ประเทศไทยยังมีเนื้อหาที่ร้องขอให้กูเกิ้ลถอนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ออกจากเว็บไซต์สูงกว่าจีน ที่ร้องขอให้กูเกิ้ลถอนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 121 ชิ้น ออกจากระบบจากคำร้องขอถึง 3 ครั้ง และกูเกิ้ลไม่ทำตามคำขอของจีน 1 ครั้ง
ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสืบค้นข้อมูลตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
หมายเหตุ มาตรา 112แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21ตุลาคม พ.ศ.2519
เดิมทีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse Majesté Laws) เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้นประชาชนนั้นมักติพระองค์ ว่า พระองค์ทรงชรา จนทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงออก “ประกาศห้ามมิให้กราบบังคมทูลทัก อ้วน ผอม ดำขาว”ในปี พ.ศ.2395
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตรา “พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ.118” ในปี พ.ศ.2442 ซึ่งเป็นการกำหนดโทษของผู้ที่มีการกระทำลักษณะที่หมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาต่อพระมหากษัตริย์ บัญญัติว่า
ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล กระษัตราธิราชเจ้า โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า1,500 บาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย
ในปี พ.ศ.2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท รศ.118 และทรงตราใน “กฎหมายลักษณะอาญา รศ. 127”แทนซึ่งอยู่ในมาตราที่ 98 และ 100 มีใจความว่า
มาตรา 98 ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฏมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดีมกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า 5,000 บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
มาตรา 100 ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชชกาลหนึ่งรัชชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่า 2,000 บาทด้วยอีกโสตหนึ่ง
ต่อมาสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยกเลิก กฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 แต่ได้นำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นไปรวมอยู่ใน ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 โดยมาตรา 112 บัญญัติว่า
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
จากนั้น พ.ศ. 2519 ในสมัย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ออกประกาศ “คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41”เมื่อวันที่21 ตุลาคม 2519 โดยข้อ 1 ระบุให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.. 2499 มาตรา 112
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ทั้งนี้มีการประกาศใช้มาจนกระทั่งปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรไทย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 8 , ประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในมาตราต่างๆ ดังนี้ มาตรา 107 , 108,109,110,111 และ 112 ทั้งนี้ ในหมวด 4 ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 130, 131,132,133,134 และมาตรา 135
ในกรณีนี้มีนักวิชาการ นักกฎหมาย นักคิด นักเขียน หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีบทลงโทษรุนแรงเกินไป จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมองว่า ควรให้มีการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
อย่างไรก็ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชน เอาไว้ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ป้องกันมิให้การใช้สิทธิของประชาชนกระทบกระเทือนต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ศีลธรรมดีงามของประชาชน ไม่ให้มีการปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความตื่นกลัว หรือก่อความไม่สงบ หรือเผยแพร่ตีพิมพ์สิ่งอนาจาร เป็นต้น ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท เป็นต้น
ดังนั้นหากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็น่าจะเป็นการบัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในฐานะ ประมุขแห่งรัฐ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 8 “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคแรก บัญญัติ ไว้ว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีบทลงโทษที่รุนแรงและเฉียบขาดกว่าบทลงโทษของการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นของประชาชนทั่วไป ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เพื่อเป็นการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรี ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังปกป้องเกียรติภูมิและความมั่นคงของรัฐด้วย
นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่มีการออกกฎหมายป้องกันการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาทิเช่น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ปี 1814 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า The King’s person issacred; he cannot be censured or accused. The responsibility rests with his Council. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และจะถูกกล่าวหาหรือตรวจสอบมิได้)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก ปี 1953 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า The King shall not beanswerable for his actions;his person shall be sacrosanct. The Ministers shall be responsible for the conduct of government; their responsibility shall be defined by statute. (พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบจากการกระทำ องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐบาลนั้นความรับผิดชอบของพวกเขาจะถูกกำหนดโดยพระราชบัญญัติ)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ปี 1970 มาตรา 88 บัญญัติไว้ว่า The King’s person isinviolable; his ministers are accountable. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานอันละเมิดมิได้ รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน มาตรา 56 (3) บัญญัติไว้ว่า King is inviolable and shallnot be held accountable. His acts shall always be countersigned in the manner established in Article 64. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ และไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ ทางการเมือง)
รัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐลักเซมเบิร์ก มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า La personne du Grand-Duc estinviolable. (องค์แกรนด์ดยุกทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักภูฎาน มาตรา 2 (3) บัญญัติไว้ว่า 3. The title to the GoldenThrone of Bhutan shall vest in the legitimate descendants of Druk Gyalpo Ugyen Wangchuck asenshrined in the inviolable. (ราชบัลลังก์ของภูฏานจะมอบให้รัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายของพระเจ้า Druk Gyalpo Ugyen Wangchuck ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพไม่สามารถที่จะล่วงละเมิดได้)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮัชไมด์จอร์แดน มาตรา 30 บัญญัติไว้ว่า The King is the Head
of the State and is immune from any liability and responsibility. (พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐและได้รับการยกเว้นจากความผิดและความรับผิดชอบใดๆ)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า The King of Cambodia shallreign but shall not govern. The King shall be the Head of State for life. The King shall be inviolable.
(พระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติ แต่ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวทางการเมือง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพ และจะถูกล่วงละเมิดมิได้
รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น มาตรา 1 The Emperor shall be the symbol of the State and the unity ofthe people, deriving his position from the will of the people with whom resides sovereign power.(องค์สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นเครื่องแสดงแห่งรัฐ และความสามัคคีของคนในรัฐ ตำแหน่งของพระองค์ได้มาจากประชาชน และผู้ใช้อำนาจอธิปไตย)รัฐธรรมนูญแห่งมาเลเซีย มาตรา 32(1) There shall be a Supreme Head of the Federation, to becalled the Yang di-Pertuan Agong, who shall take precedence over all persons in the Federation and shall not be liable to any proceedings whatsoever in any court. (ให้เรียกผู้นำสูงสุดว่า ยังดี-เปอร์ตวน อากง ซึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะสูงสูงกว่าบุคคลในสมาพันธรัฐทุกคน และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดใด)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเลโซโธ มาตรา 44 (1) There shall be a King of Lesotho whoshall be a constitutional monarch and Head of State. ( พระมหากษัตริย์แห่งเลโซโธ นั้นเป็นประมุขของราชอาณาจักร เลโซโธ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสวาซีแลนด์ มาตรา 4 (1) King ( iNgwenyama )of Swazilandis an hereditary Head of State and shall have such official name as shall be designated on the occasion of his accession to the Throne. (พระมหากษัตริย์แห่งสวาซีแลนด์ เป็นประมุขแห่งรัฐ โดยสืบสายมาจากบรรพบุรุษ และ ต้องมีชื่ออย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ครองราชย์สมบัติ)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสวีเดน มาตรา 7 The King cannot be prosecuted for hisactions. Neither can a Regent be prosecuted for his actions as Head of State. (พระมหากษัตริย์ นั้นไม่สามารถถูกฟ้องร้องจากการกระทำของพระองค์ และผู้สำเร็จราชการก็เช่นเดียวกับประมุขแห่งรัฐ)
หรือแม้แต่บางประเทศในประมวลกฎหมายอาญาก็ยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหมือนไทยเช่นเดียวกัน อาทิเช่น
ประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศนอร์เวย์
มาตรา 101 ผู้กระทำความผิดฐานใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายอื่นๆต่อกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการหรือรัชทายาทจะต้องรับผิดชอบต่อการจำคุกในระยะไม่น้อยกว่าสองปี ถ้าบาดเจ็บสาหัสกายหรือสุขภาพ, มีโทษจำคุกในระยะไม่เกิน 21 ปี
ผู้ ใส่ร้ายป้ายสีทำให้เสื่อมเสีย ต่อกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการจะต้องรับผิดชอบต่อการกักกันหรือจำคุกสำหรับคำไม่เกินห้าปี
ประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศเนเธอร์แลนด์
มาตรา 111:การเจตนาดูหมิ่นดูแคลนพระมหากษัตริย์นั้นจะได้รับโทษ กักขังสูงสุด 5 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สี่.
มาตรา 112:การเจตนาดูหมิ่นดูแคลนพระราชินี รัชทายาทและคู่สมรสของรัชทายาทมีโทษ กักขังสูงสุด 4 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สี่.
มาตรา113:ผู้เขียน ผู้เปิดเผย หรือจำหน่าย สิ่งที่มีเนื้อหาที่ดูถูก ดูแคลน แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและคู่สมรสของรัชทายาท หรือผู้ที่มีในครอบครอง และมีส่วนในการกระทำเหล่านี้มีโทษ กักขังสูงสุด 1 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สาม
ขณะที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ มองถึงกรณีมาตรา 112ว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหามีอยู่ 2ระดับ ระดับแรกเป็นปัญหาระดับตัวบทที่ใช้บังคับอยู่ อีกระดับเป็นปัญหาที่ลึกกว่า คือเป็นปัญหาระดับอุดมการณ์
นายวรเจตน์กล่าวต่อว่า กรณีมาตรา 112ที่มีคนพูดถึงกว้างขวางในช่วงนี้ เพราะในเชิงการตีความ ไม่ได้ตีความสถานะพระมหากษัตริย์ให้รับกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆ จึงทำให้มีแนวโน้มในการขยายความหมายของตัวบทออกไป คำอธิบายทางตำราก็มีแนวโน้มสนับสนุนวิธีการตีความแบบนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน เมื่อหาความแน่นอนไม่ได้ คนก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะพูดถึงอย่างไร
นอกจากพูดในเชิงยอพระเกียรติ ไม่สามารถพูดในแง่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือองค์กรที่แวดล้อม โดยที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นไปด้วยความสุจริต ไม่ได้มุ่งหมายจะเลิกล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นการหมิ่นพระเกียรติ อาฆาตมาดร้าย ไม่ได้เป็นการทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง
นายวรเจตน์กล่าวด้วยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐ โดยปกติ ควรต้องถูกวิจารณ์ได้ในเชิงระบบ เหมือนในประเทศอื่นๆ แต่ในบ้านเราแค่ในบริบทสังคมก็เป็นปัญหาแล้ว เวลาใครพูดถึงสถาบัน เราถูกบังคับให้พูดถึงสถาบันในด้านเดียว มีคนบอกว่า ก็อย่าไปทำผิดสิ ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่มีปัญหาหรอก นี่ก็เป็นปัญหาวิธีคิดของคน ในแง่การมีปฏิสัมพันธ์กันในระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนรวมในเชิงการเมืองการปกครองมันปฏิเสธไม่ได้ อย่างที่บอก สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าห้ามพูดถึง ในด้านหนึ่ง คนที่พูดถึงในมุมเดียว ก็จะไม่เห็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยมันสำคัญและจำเป็น นี่ยังไม่รวมเรื่องโทษที่มันเกินกว่าเหตุ
ด้านนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียน ได้ให้สัมภาษณ์ ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV ในรายการ Intelligenceถึงประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า กฎหมายดังกล่าว มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันจริงหรือ ในความเห็นมองว่า กฎหมายมาตรานี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ เพราะมีปัญหาทั้งการตีความกฎหมาย การร้องทุกข์ กล่าวโทษ และอัตราโทษที่รุนแรงเกินไป ทั้งนี้ อยากเสนอให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นผู้กลั่นกรอง ก่อนจะมีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหานี้ พร้อมกับเสนอให้เปิดเวทีสาธารณะ แลกเปลี่ยนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยต้องมีความกล้าหาญพอที่จะเสนอแก้ไขมาตรานี้ ซึ่งวิธีการการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุด คือ การยึดหลัก "ทางสายกลาง" และ "ความโปร่งใส"
ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้กำกับกลุ่มงานตรวจสอบศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการทำงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไอซีทีประกาศหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูล ตามมาตรา 26ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะระบุตัวเป้าหมายและเก็บหลักฐานไว้พิสูจน์ จึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือมาช่วย ซึ่งระบบดังกล่าวต้องทำภายใต้กรอบกฎหมายและไม่กระทบเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่อยากย้ำเตือนประชาชน หากพบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรไปเผยแพร่หรือเขาไปดูหลายๆ ครั้ง สำหรับ www.facebook.com ก็ไม่ควรไปกดไลค์ (LIKE) หรือหากเป็นทวิตเตอร์ (www.twitter.com) ก็ไม่ควรไปฟอลโล่ต่อ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปค้นหาคำที่ไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว
พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า ในวันที่ 13ธันวาคมที่ผ่านมา ไอซีทีได้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงทั้งหมด 126 URL และศาลได้ออกหมายค้น 5เป้าหมาย ซึ่งทางคณะทำงานได้เข้าตรวจค้นและรวบรวมข้อมูล 2เป้าหมายแต่ไม่ได้มีการจับกุม
ขอบคุณภาพจากกูเกิ้ล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น