การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 3 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลใช้โอกาสที่ประชาชน กำลังเดือดร้อนจากมหาอุทกภัย แอบช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษหนีคุกพ้นความผิด ด้วยการเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่ จ.สิงห์บุรี พร้อมมอบแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังน้ำลด และไม่สามารถเดินทางกลับ กทม.ได้ตามกำหนดการ ทำให้ต้องพักค้างคืนที่ จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 14 พ.ย. โดยอ้างว่าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เอ็มไอ 17 ของประเทศรัสเซีย ที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไม่สามารถบินตอนกลางคืนได้ เพราะไม่มีเรดาร์นำทางนั้น
จากกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวในกองทัพเปิดเผยโดยยืนยันว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวมีสมรรถภาพเพียงพอ และมีเรดาร์สามารถบินช่วงกลางคืนได้ แต่หากเรดาร์ไม่สามารถใช้การได้จริง นายกฯ สามารถประสานขอเครื่องลำอื่นไปทดแทนได้ ซึ่งกองทัพพร้อมที่จะจัดให้อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีการร้องขอมา จึงคิดว่า นายกฯ น่าจะมีเจตนาที่จะไม่กลับ กทม. เพราะดูจากกำหนดการที่คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นเครื่องเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ช้ากว่ากำหนดเดิมถึงเกือบ 1 ชั่วโมง เหมือนเป็นการถ่วงเวลาให้เข้าสู่ช่วงกลางคืนแล้วอ้างเรดาร์ทำให้ไม่สามารถ เดินทางได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 พ.ย.ว่า ทันทีที่คณะของนายกฯ และสื่อมวลชนเดินทางมาถึงกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ม.2 รอ.) ทุกคนในคณะต่างสวมเสื้อยืดสีขาว สกรีนข้อความและตราสัญลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยสีน้ำเงินชัดเจน แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมความพร้อมที่จะให้คณะพักค้างคืนที่ จ.สิงห์บุรี ไว้แล้ว
เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงในเวลา 11.00 น. และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนประมาณ 20 นาที จากนั้นเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คณะรัฐมนตรียังคงประชุมอยู่ แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไม่เข้าร่วมประชุม แต่ใช้เวลาช่วงดังกล่าวบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุมอาเซียน จากนั้นเมื่อเวลา 14.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐสภา
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.ที่มี ร.ต.อ.เฉลิมทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีวาระจร “ลับ” ในการพิจารณาและลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการ เข้ารับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 โดยเป็นการประชุมลับ มีการเชิญเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกทั้งหมด เหลือเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้น รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และยังมีการดึงเอกสารออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ตามระบบปกติอีกด้วย
ล็อกสเปกเพื่อนายใหญ่
รายงานข่าวแจ้งว่า เนื้อหาที่คณะรัฐมนตรีไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น มีการกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยระบุหลักเกณฑ์ของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวคือ เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นอกจากนั้นยังมีการตัดคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2553 ฉบับที่เขียนสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเนื้อหาระบุว่า ผู้คนที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดและไม่ เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นออก
ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบุถึงระยะเวลาการเข้ารับโทษ ซึ่งเท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเข้าข่ายได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับการคุมขังแม้แต่วันเดียว ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งตรงกับที่ ร.ต.อ.เฉลิมเคยทำเอกสารแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ และเขายืนยันมาตลอดว่าสามารถทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศโดยถูกกฎหมายได้
ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการออกกฎหมายอภัยโทษ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จากการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้มีการโยกย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง พ.ต.ท.สุชาติ วงศ์อนันตชัย มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน พร้อมกับยังมีการปรับปรุงโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ให้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษในคดีการเมือง เพื่อเตรียมใช้เป็นสถานที่คุมขัง พ.ต.ท.ทักษิณในระยะสั้นๆ อีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า มีการวางแผนเป็นขั้นตอน ร.ต.อ.เฉลิมได้รับมอบหมายให้เป็นรองนายกฯ คนที่ 3 ต่อจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ คนที่ 1 ซึ่งเดินทางร่วมคณะกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ คนที่ 2 ซึ่งติดภารกิจเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อรองนายกฯ 2 ลำดับแรกไม่อยู่ หน้าที่การเป็นประธานในที่ประชุมจึงตกมาถึง ร.ต.อ.เฉลิม
ก่อนหน้านี้ ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลได้มีการมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามาเป็นรองนายกฯ เพื่อดูแลเรื่องการขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง อีกทั้งรัฐบาลยังต้องการอาศัยช่วงชุลมุนที่พรรคฝ่ายค้านและประชาชนยังให้ ความสนใจเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในการเดินหน้าเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเห็นว่าหากรอให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ การเดินเรื่องขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณจะกระชั้นชิดเกินไป และอาจไม่สำเร็จ รวมไปถึงการอาศัยช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ทำการเดินหน้าเรื่องนี้ เพื่อพยายามกันไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหลีกเลี่ยงข้อครหาจากสังคมในการเอื้อประโยชน์ให้พี่ชายตัวเอง รวมถึงการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้
ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า อยากให้มีคนมาทำงานเพิ่มขึ้น คนที่มีอยู่อาจขาดประสบการณ์ ดังนั้นถ้ามีคนที่ติดล็อกอยู่มาช่วยน่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งคนที่เก่งส่วนใหญ่ก็ติดล็อกอยู่ ไม่ว่าจะทำ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย อดีต 109 กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ในการขอนิรโทษกรรม โดยอาศัยพระบารมีนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 5 ธันวาคม
วางแผนบีบในหลวง
รัฐมนตรีคนหนึ่งใน ครม.กล่าวว่า มีการหารือเรื่องนี้จริง เพื่อเป็นการดำเนินการการอภัยโทษเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ที่มีการดำเนินการทุกช่วงเวลามหามงคลเสมอ ขณะที่รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งกล่าวว่า ขณะมีการประชุมลับ ได้เดินออกจากห้องประชุมครม.เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปรัฐสภา แต่กรณีดังกล่าวมีการสั่งกำชับห้ามเผยแพร่หรือให้ข่าวนักข่าวเด็ดขาด และเมื่อมาทราบข่าวภายหลัง รู้สึกแปลกใจที่ ร.ต.อ.เฉลิมผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ถึงเวลาที่จะต้องทำเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลโดนวิจารณ์อย่างหนักว่าเอาเรื่องน้ำท่วมมาช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
โดยระหว่างการประชุมมาถึงวาระจรลับ ร.ต.อ.เฉลิมได้เชิญให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องประชุม จากนั้นได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา มีการหารือถึงการขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษ 2.6 หมื่นคน ส่วนกระบวนการต่างๆ เป็นพระราชอำนาจ และกระบวนการกว่าจะไปถึงยังมีการกลั่นกรองอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องส่งไปยังทำเนียบองคมนตรีก่อนจะถึงพระองค์
อย่างไรก็ดี หลังจากประชุมเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ต่างเดินมาประชุมที่รัฐสภาต่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 โดยไม่ลงมติ เพื่อหารือถึงคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถึงข้อปฏิบัติกรณีปราสาทพระวิหาร โดยเป็นการประชุมลับ แต่ก่อนที่จะเข้าประชุมรัฐมนตรีหลายคนที่พบผู้สื่อข่าวต่างปฏิเสธที่จะให้ สัมภาษณ์ และมีท่าทีหลีกเลี่ยงอย่างเห็นได้ชัด และระบุไปในทำนองเดียวกันว่า ไม่มี ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม หรือไม่ก็ไม่อยู่จนถึงวาระประชุมนี้
หลังการประชุม ครม. ร.ต.อ.เฉลิมปฏิเสธที่จะพูดกับผู้สื่อข่าวที่โทรศัพท์เข้าไปสอบถาม โดยกล่าวด้วยน้ำเสียงอย่างมีอารมณ์ว่า “ไม่พูด ไม่คุย ไม่ต้องมาถาม แล้วก็ไม่ต้องมาหาด้วย”
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แสดงความแปลกใจขณะที่เดินทางเข้าร่วมประชุมที่รัฐสภา โดยกล่าวเพียงว่า “รู้กันได้อย่างไร เดี๋ยวเขาตีปากเอา เขาไม่ให้พูด” เช่นเดียวกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ลูกเสือเสียชีพ อย่าเสียสัตย์ มันเป็นการประชุมลับ ไม่รู้เรื่อง ขออนุญาตนะครับ”
ส่วน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ยกมือขึ้นทั้งสองข้างเหมือนยอมแพ้เมื่อเจอผู้สื่อข่าว แล้วพูดว่า “โนคอมเมนต์” ก่อนจะเดินหนีขึ้นรถออกไปทันที
ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยออกตัวว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุม เพราะร่วมคณะไปกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี และเพิ่งกลับมาในช่วงสายวันนี้ ทั้งยังดึงผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะไปด้วยมายืนยันว่า ไปมาด้วยกัน ทำให้ไม่ทราบเรื่อง รวมทั้งยังไม่เห็นวาระการประชุมด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่รู้รายละเอียด ให้ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นคนชี้แจง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษถือเป็นวาระทั่วไปที่จะพิจารณากันในช่วงที่มีวาระสำคัญ เช่น เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการประชุม ครม.ที่ผ่านมาก็จะเป็นการพิจารณาแบบเปิดเผย แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมีการพิจารณาที่ไม่มีความโปร่งใส เพราะเป็นการประชุมลับ นอกจากนี้ การตัดเงื่อนไขคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการรับพระราชทานอภัยโทษ ก็ต้องถามว่ารัฐบาลตัดออกทำไม ทั้งที่สำนักงานกฤษฎีกาก็เคยคัดค้านมาก่อน สุดท้ายเมื่อฝ่ายการเมืองมีนโยบายออกมาแบบนี้ สำนักงานกฤษฎีกาก็คัดค้านไม่ได้
เขาบอกว่า ในส่วนของคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2553 ที่มีการระบุว่า ผู้ที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดและการ ทุจริตคอรัปชั่น แต่ใน พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับดังกล่าว ครม.กลับให้มีการตัดคำแนบท้ายออกไปนั้น อยากถามกลับว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจจะตัดในส่วนนี้ออกทำไม เพราะทำให้คิดได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะได้ประโยชน์ในส่วนนี้
แฉกัน "ยิ่งลักษณ์" ออก
“ผมทราบมาว่าการพิจารณา พ.ร.ฎ.อภัยโทษในวันนี้ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุม ครม.ตามปกติ ทำไมอยู่ๆ ถึงเป็นวาระสอดแทรกเข้ามาประชุมได้อย่างไร ซึ่งพอดีกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่าไม่สามารถเดินทางกลับมาจาก จ.สิงห์บุรีได้ทัน ผมเห็นว่าเป็นแผนการเพื่อให้นายกฯ ไม่ต้องมาเข้าร่วมประชุม เพราะหากนายกฯ มาประชุมและร่วมลงมติกับ ครม.ในเรื่องดังกล่าว จะเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกันและอาจมีความผิดได้” นายพีระพันธุ์กล่าว
สำหรับการร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้นๆ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จากนั้นจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือแจ้งมายังกองทัพบกเพื่อขอสนับสนุนยานพาหนะ รับ-ส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะติดตามและสื่อมวลชนรวมเกือบ 20 คน เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้ศูนย์การบินทหารบกจัดเฮลิคอปเตอร์สนับสนุน จึงได้จัดเฮลิคอปเตอร์แบบเอ็มไอ 17 จำนวน 1 ลำ ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 36 คน
ซึ่งในช่วงเย็น สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งกับกองทัพบกว่า นายกรัฐมนตรีและคณะจะพักค้างคืนที่ จ.สิงห์บุรี 1 คืน และจะเดินทางกลับ กทม.ในวันที่ 15 พ.ย. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจอยู่จึงยังเดินทางกลับไม่ได้ นักบินจึงได้นำเครื่องกลับไปที่ศูนย์การบินทหารบกในเวลา 19.30 น. ก่อนที่จะมารับคณะนายกฯ เดินทางกลับในช่วงเช้า
แหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพบกเปิดเผยว่า แม้ ฮ.เอ็มไอ 17 จะไม่มีเครื่องช่วยบินเวลากลางคืนอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ ฮ.สามารถเปิดไฟนำทางการบินและนำเครื่องบินได้หากทัศนวิสัยอยู่ในขั้นที่ดี ซึ่งคืนดังกล่าวไม่มีเมฆฝนและลมกระโชกแรง อีกทั้งระยะทางใกล้กับ กทม.
ทั้งนี้ เดิมนายกรัฐมนตรีจะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจ แต่ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ ฮ.เอ็มไอ 17 แทน ซึ่งการที่กองทัพบกเลือกส่ง ฮ.เอ็มไอ 17 ไปสนับสนุนภารกิจคณะนายกฯ เนื่องจากทางกรมยุทธการทหารบกพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสาร เห็นว่าจำนวนผู้โดยสารและสิ่งของต่างๆ ไม่เหมาะที่ใช้แบล็กฮอว์ก เพราะจำนวนคนมาก ถ้าใช้แบล็กฮอว์กจะต้องใช้ถึง 2 ลำ ซึ่งกองทัพบกยืนยันว่า การส่ง ฮ.เอ็มไอ 17 ไปเหมาะสมกับภารกิจ ไม่มีวาระอะไรซ่อนเร้น โดยขณะนี้มีแบล็กฮอว์กสามารถใช้ปฏิบัติภารกิจ 5 ลำ
สำหรับโครงการ ฮ.เอ็มไอ 17 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพ โดยได้ใช้งบประมาณจำนวน 995 ล้านบาท จัดซื้อจำนวน 3 ลำ ได้มีระบบการฝึกและทำการบินครบเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดย ฮ.เอ็มไอ 17 ได้เข้าบรรจุในกองทัพบกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงอเนกประสงค์จากประเทศรัสเซีย โดยมีการปรับปรุงสมรรถนะเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นกว่าเดิม และมีการปรับปรุงโครงสร้างของตัวเครื่อง รวมถึงส่วนหัวของเฮลิคอปเตอร์ให้เป็นแบบใหม่ที่ทันสมัย ด้วยการติดตามตั้งเรดาร์ ประตูทางออกด้านข้างสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามต้องการ และขยายความกว้างให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม โดยสามารถบรรจุกำลังพลได้ถึง 36 นาย
อีกทั้งได้รับการออกแบบให้ปฏิบัติงานได้ในทุกสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งมีการปรับรูปร่างลักษณะทั่วไป โดยเฉพาะส่วนหัวโดมเรดาร์ซึ่งเตรียมไว้สำหรับการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศ.
|
ที่มา ไทยโพสต์ และ ผู้จัดการ
คดียาก็ควรที่จะได้รับอภัยโทษ เพราะบ้างคนอาจไม่ได้ทำอาจโดนลูกพ่วง ควรที่จะอภัยโทษหรือควรที่จะพิจารณา
ตอบลบ