วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สงครามไม้บรรทัด

คอลัมน์ : บ้านเกิดเมืองนอน : สงครามไม้บรรทัด
สงครามไม้บรรทัด
ผลงาน หลังสุดของคณะนิติราษฎร์ก่อให้เกิดความเห็นมากมาย ต่างกลุ่มต่างสำนักกฎหมาย ต่างแสดงความเห็นกันต่อเนื่อง แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549-ต้นไม้พิษ ผลไม้พิษ

คณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 19 คน อาทิ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ, ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ และ รศ.ศาสตรา โตอ่อน เป็นต้น ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ระบุว่า

หากกลุ่มนิติราษฎร์ถือว่าการ รัฐประหารเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบ จนถึงขนาดต้องลบล้างการกระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงการรัฐประหาร โดยคณะ รสช.2534 ย่อมต้องถือเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน

นอก จากนี้คณาจารย์นิติศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตกลุ่มนิติราษฎร์ โดยเห็นว่านักวิชาการที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางวิชาการ เป็นผู้ไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อันจะเป็นการสร้างค่านิยมผิดและทัศนคติที่ผิดพลาดแก่ประชาชน

ทั้งใน หลักนิติธรรม ย่อมต้องถือเป็นหลักการสำคัญต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางวาทกรรมสำหรับผู้หวังผลในการแสวงหาประโยชน์ส่วน ตนและพวกพ้อง

และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มิได้ยึดถือเพียงแค่หลักการเสียงข้างมากเป็นเสียงสวรรค์ โดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อย หรือไม่คำนึงความถูกต้องชอบธรรมที่มีอยู่ตามกฎหมาย
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เขียนบทความระบุว่า การรัฐประหารมีเพื่อยึดอำนาจ ไม่ใช่มีเพื่ออยากจะตรากฎหมาย จะเอาทฤษฎี “ต้นไม้พิษ ผลไม้พิษ” มาใช้ป้องปรามไม่ได้

“ผลพวงทางกฎหมายจากการรัฐประหารนั้น พูดก็พูดได้ แต่จะหยุดอยู่ตรงไหนในเรื่องอะไรบ้างมันอธิบายไม่ได้หรอกครับ ความสับสนคลุมเครือแค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอทางกฎหมาย เลย”
ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง “คณะนิติราษฎร์...ผลไม้พิษของฮิตเลอร์??” ระบุแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ออกมา ในขณะที่คนทั้งหลายกำลังเริ่มจะปรองดอง กลับถูกจุดประเด็นให้คลาดเคลื่อนหลงประเด็นและเกิดแตกแยกขึ้นมาอีก

ก่อน 19 ก.ย. กลุ่มนิติราษฎร์ไปอยู่ที่ไหน ถึงไม่รู้ว่าความขัดแย้งมีมาก่อน 19 ก.ย.
นาย คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวถึงข้อเสนอกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเท่าที่ควรว่าข้อเสนอทุกข้อเป็นอย่างไร และจะไม่ขอออกความเห็น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรายการ “ซูเปอร์ ซันเดย์” ความเห็นจากนักกฎหมาย หรือคนที่ศึกษาวิชากฎหมาย ส่วนผมเป็นเพียงลูกเหลืองแดงเมื่อ 60 ปีก่อนที่ศึกษาวิชาการบัญชี หลักวิชาการของผมคือตัวเลขทั้งสองด้านต้องสมดุลกัน แตกต่างแม้สตางค์แดงเดียวก็ไม่ได้

คนที่เป็นแฟนหนัง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” สงครามกายสิทธิ์ คราวนี้ก็ลองติดตามชมสงครามนักกฎหมาย ความบันเทิงเริงรมย์ระหว่าง “ไม้กายสิทธิ์” กับ “ไม้บรรทัด” คงให้รสชาติต่างกันแน่ครับคุณ...!!
 


ไท ทองเค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น