วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ระบบงานยุติธรรมจะกลายเป็น "ไส้ติ่ง- กาฝาก"
“จรัญ ภักดีธนากุล” เชื่อทำโพลสำรวจความเชื่อมั่นคนไทยต่อระบบงานยุติธรรม ผลจะออกมาต่ำกว่า 50% แน่ แนะ'ศาล อัยการ ตร. ทนาย' เร่งปฏิรูปตนเอง ระบุสื่อ-ปชช. วิจารณ์ศาลได้ แต่ต้องติเพื่อก่อ-สร้างสรรค์
วันที่ 21 พฤษภาคม สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง รุ่นที่ 3 (บสส. 3) โดย ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยาย ในหัวข้อ "หลักกฎหมายและปัญหาการบังคับใช้" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ศ.จรัญ กล่าวถึงการทำหน้าที่ผู้พิพากษา หรือคนที่ทำงานด้านกฎหมายทั้งหมด ควรจะยึดแนวทาง 4 ประเด็นของโสเครติสไว้เป็นหลักคิด ได้แก่ ฟังอย่างตั้งใจ ไตร่ตรองด้วยปัญญา เจรจาอย่างบัณฑิต และวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม รวมทั้ง “สื่อ” ด้วยที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างดีก่อน เพราะหากเอียงไปด้านใด สังคมก็จะมีปัญหา
“ที่ผ่านมาสื่อมักจะลงข่าวตัดสินคดีไปก่อนศาล ขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมก็เชื่อว่า สื่อลงข่าวถูกต้อง นั่นหมายวามว่า หากศาลตัดสินตรงข้ามกับสื่อ สังคมก็จะประณาม"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ระบบงานยุติธรรมตั้งอยู่บนความเชื่อของสังคม ดังนั้น เมื่อข้อมูลต่างกัน ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก ระบบงานยุติธรรมก็จะเสื่อมอยู่ดี ซึ่งความเสื่อมนั้นไม่สามารถวัดเป็นปริมาณ หรือวัดเป็นดีกรีได้ว่า มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเมื่อไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ระบบงานยุติธรรมก็จะกลายเป็น "ไส้ติ่ง" ของสังคม เป็น "กาฝาก" ที่สังคมต้องเลี้ยงไว้ด้วยราคาแพงมาก
สำหรับการทำโพลสำรวจความเชื่อมั่นของคนไทยทั่วประเทศต่อความเชื่อถือและพอใจในระบบงานยุติธรรมนั้น ศ.จรัญ กล่าวว่า หากมีการสำรวจออกมาก็เชื่อว่า ผลจะออกมาต่ำกว่า 50% ซึ่งไม่ว่าระบบงานยุติธรรมพิจารณาอะไร หากไม่กระทบใครก็รับได้ แต่หากกระทบกระเทือนก็ต้องโดนวิจารณ์
ส่วนจะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จะต้องเริ่มต้นที่คนในระบบงานยุติธรรมก่อน เพราะไม่มีใครสามารถปรับปรุงหรือปฏิรูปศาล ไม่ว่าศาลไหน ระบบสถาบันอัยการที่ยิ่งใหญ่ สถาบันตำรวจที่คุมอำนาจไม่ทั่วประเทศ และระบบทนายความ 4-5 หมื่นคนที่ไม่อยู่ในระบบราชการได้ มีการดูแลกันเอง
"หากใครทะเล่อทะล่าไปปรับปรุงศาล อาจจะพลาดพลั้งเสียทีศาลได้ มีทางเดียวที่ปรับปรุงระบบงานยุติธรรม ระบบกฎหมาย รวมไปถึงการออกกฎหมายต่างๆ ได้ คือ ความรู้ความเข้าใจร่วมกันของประชาชนว่าถึงเวลาที่เราจะปฏิรูปกฎหมายและระบบ งานยุติธรรม"ศ.จรัญ กล่าว และว่า แต่หากศาลไม่ปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ในที่สุดประชาชนก็จะล้มล้าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายที่สุดในประเทศไทย เพราะจะเปลี่ยนไปสู่ขั้วอีกด้านหนึ่ง ฉะนั้น กลุ่มที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลง คือ นักกฎหมาย เพราะไม่ได้ผลิตอะไรให้สังคมเลย
ศ.จรัญ กล่าวถึงจุดอ่อนของศาลและข้อจำกัดของกฎหมาย คือ การตัดสินที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามสำนวนความ ไม่สามารถพิพากษาได้นอกเหนือจากข้อเรียกร้องของโจทก์ แต่ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องเชื่อข้อเท็จจริงตามโจทก์ฟ้องทั้งหมด ศาลสามารถสืบพยานและเรียกผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาต่อได้ อันเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อให้ความจริงปรากฏและให้สังคมเชื่อได้ว่าศาลไม่ เชื่อตามสำนวนจนเกินไป
ศ.จรัญ กล่าวอีกว่า อยากเห็นสื่อสาธารณะบ้านเรามีส่วนช่วยสอบทานหลายๆ ระบบในสังคม เช่น ในระบบงานยุติธรรม สื่อต้องมีศักยภาพพอที่จะดูออกว่า อะไรจริง เท็จ เพื่อจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด แต่ปัจจุบันยังพบว่า มีการนำข้อมูลที่เป็นเท็จมานำเสนอเพื่อเล่นงานกัน ทั้งนี้ ควรจะถือเป็นจุดร่วมกันระหว่างการทำงานของสื่อกับกฎหมายในการเชื่อมโยง ข้อมูลหรือสอบทาน ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ในแต่ละสาขาวิชาชีพต้องคิดเองว่าอะไรจะต่อเนื่องไปจากแค่ตรวจสอบความจริง ความเท็จ
“แม้ในการทำงานจำเป็นต้องมีเครือข่าย แต่ไม่ควรเป็นการทำงานในลักษณะช่วยเหลือกันเพื่อเอื้อประโยชน์ หรือปกปิดความผิดพลาดของกัน เพราะการร่วมกันทำงานที่ดีให้สังคม ยิ่งใหญ่กว่าสถาบันที่เราทำงานอยู่”
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการบรรยายมีการตอบข้อซักถาม ในประเด็นการวิจารณ์คำพิพากษาของศาล ศ.จรัญ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่การจะทำเช่นนั้น ต้องมีการตรวจสอบให้แน่นอนก่อนว่าข้อ วิจารณ์นั้นมีความถูกต้อง และมีเจตนาที่ชัดเจนว่าต้องการติเพื่อก่อ ในทางสร้างสรรค์ ถูกต้องและเป็นธรรมต่อสังคม ไม่ใช่เพื่อสร้างความเสื่อมศรัทธาระบบงานยุติธรรมในใจคน ทั้งนี้ สื่อสาธารณะควรมีพื้นที่เฉพาะที่จะใช้วิพากษ์วิจารณ์ศาลทุกระดับ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและวิจารณ์ไปในทางสร้างสรรค์
สำหรับประเด็นการรณรงค์โหวตโนของกลุ่มการเมืองนั้น ศ.จรัญ กล่าวว่า แม้จะมีเจตนาดี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพมาตรฐานในสังคมให้ดีขึ้น และเป็นการสั่งสอนนักเลือกตั้งที่ไม่เห็นประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แต่กลับไม่เห็นประโยชน์ และไม่เห็นด้วยกับวิธีการ เหมือนเป็นการ “หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว”
“แม้ว่า ตรวจดูกฎหมายไม่ผิดก็ตาม แต่ทุกคนมีสิทธิ์เสนอแนวทางแม้จะเป็นการสร้างมูลเหตุจูงใจ สิ่งที่ต้องคำนึง คือ แนวทางเหล่านั้นต้องไม่ขึ้นกับคนใด ตระกูลใดหรือพรรคใด เพราะจะขัดกับแนวทางที่เอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ปัจจุบันนี้การจูงใจด้วยวาทะอารมณ์ง่ายกว่าการจูงใจด้วยสติปัญญา อยากให้สังคมไทยกลับมาสู่สังคมสติปัญญา พยายามละทิ้งความรู้สึกเอียงในแต่ละด้านลงไปให้มาก”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น